ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2548 |
---|---|
ผู้เขียน | ไกรฤกษ์ นานา |
เผยแพร่ |
การเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกในรัชกาลที่ 5 ปี พ.ศ. 2440 กับการเสด็จฯ ครั้งหลัง พ.ศ. 2450 มีจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน แต่สอดคล้องสัมพันธ์กันอยู่อย่างต่อเนื่องเป็นที่น่าประหลาดใจ
กล่าวคือ ในครั้งแรก รัชกาลที่ 5 เสด็จอย่างเป็นทางการเพื่อไปเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ เพื่อหาวิถีทางยุติปัญหาข้อพิพาทที่สยามต้องประสบกับประเทศมหาอำนาจที่คุกคามสยามอยู่ ตั้งแต่เสด็จนิวัตมาก็เป็นช่วงเวลาของการดำเนินพระราชวิเทโศบายตามช่องทางที่ทรงค้นพบ แต่หลังจากนั้นอีก 10 ปี ความตรากตรำจากการที่ทรงงานอย่างหนักเพราะสาเหตุแรก บั่นทอนพระพลานามัยทำให้พระวรกายเกิดทรุดโทรมไม่เป็นปรกติ ส่งผลให้คณะแพทย์ชาวต่างประเทศถวายคำแนะนำให้เสด็จไปรักษาพระองค์ เพื่อบำบัดพระโรคภายใน และพักผ่อนพระราชหฤทัยให้ว่างเว้นจากพระราชภารกิจเป็นการชั่วคราว “อีกครั้งหนึ่ง” ในทวีปยุโรป [3]
รัชกาลที่ 5 มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 อย่างไม่เป็นทางการว่า
“การที่มาครั้งนี้ เปนความคิดถูกไม่มีข้อระแวงเลย เชื่อว่ากลับไปแล้วคงจะได้กำไรส่วนความศุขกายไปบ้างเปนอันมาก ในเรื่องยศศักดิ์ฉันไม่ขวนขวาย เพราะคิดเหนเสียว่าเมืองเรามันเลวนัยตาฝรั่งอยู่มากนัก แต่ส่วนฉันเปนที่ถูกอารมณ์ นับว่าสนุกเพลิดเพลิน คือได้เที่ยวต้น การเที่ยวต้นที่นี่มันตัดกังวลได้หลายอย่าง คือพาหนะเรามีรถมอเตอคาไปมาได้ทันใจ ไม่เหนจเหนื่อยเมื่อยล้าด้วยอากาศมันไม่ร้อนรน ได้เหนอไรแปลกๆ ถึงไม่สนุกไม่งามก็เปนที่พึงใจแก่ฉัน
เมื่อรวมความทั้งหมดในการมายุโรปคราวนี้ออกจะเปนธุงดงค์ ตรงกันข้ามกับคราวก่อน เปนถูกงานพระราชพิธี ครั้งนี้คงจะเปนที่ไปจมอยู่ที่บาดฮอมบวร์กแห่งหนึ่ง บาเดนแห่งหนึ่ง นอร์เวย์แห่งหนึ่ง นับว่าครึ่งเวลาที่อยู่ในยุโรป อีกครึ่งหนึ่งนั้นจะเปนเวลาที่ไปฉันเปรี้ยวฉันหวานในพระนคร ส่วนอาการของฉันนั้นเข้าทีนัก ฉันบูชาท่านโปรเฟสเซอไฟลเนอเสียมากแล้ว ขอผัดอีกหน่อยหนึ่ง พอแน่ใจจะคุยให้ฟัง เวลานี้มันยังไม่เชิงอิมปรูฟแท้ ทั้งที่ดีขึ้นเปนอันมาก” [3]
ข้อมูลที่อ้างถึงการเดินทางไปรักษาพระองค์ในยุโรปสมัยนั้นเป็นเรื่องยากต่อการสืบค้น รายละเอียดที่น่าเชื่อถือที่สุดเข้าใจว่าปรากฏอยู่ในพระราชหัตถเลขา ร.5 ที่ทรงมีถึงสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล (หรือสมเด็จหญิงน้อย) ในพระราชนิพนธ์ “ไกลบ้าน” เท่านั้น เป็นเวลากว่า 90 ปี ที่คนไทยในเยอรมนีร่ำลือกันถึง “อนุสรณ์รัชกาลที่ 5” ที่ประดิษฐานอยู่ภายในสุสานอนุสาวรีย์ของเจ้าแผ่นดินเยอรมัน ที่เมืองบาดฮอมบวร์ก (Bad Homburg) อยู่ทางตอนเหนือของนครแฟรงก์เฟิร์ต
ซึ่งนับถือกันว่าเป็นอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 เพียงแห่งเดียวในทวีปยุโรป อันเป็นสัญลักษณ์จากการเสด็จประพาสยุโรปครั้งหลังที่ “ถึงยุค” จริง และเป็นที่สันนิษฐานว่าจะเป็นสถานที่เดียวกันกับที่ตรัสถึงอยู่ใน “ไกลบ้าน”
แต่รายละเอียดจาก “ไกลบ้าน” ก็เป็นเพียงเหตุการณ์ประจำวันทำนองบิดาเล่าให้บุตรฟัง เพื่อให้เกิดมโนภาพเท่านั้น ในขณะที่พระราชหัตถเลขาที่ทรงมีถึงบุคคลอื่นๆ ในเรื่องเดียวกัน กลับมีนัยยะทางการเมืองเคลือบแฝงอยู่ ทำให้เห็นมุมมองจากอีกมิติหนึ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน ทว่าความลี้ลับของบ่อน้ำจุฬาลงกรณ์ที่เมืองนี้ก็มีอยู่ต่อไป เพราะถึงจะถูกกล่าวอยู่มากใน “ไกลบ้าน” แต่ก็ไม่มีข้อพิสูจน์ว่ามีอยู่จริง
จนกระทั่งวันนี้ “หลักฐานใหม่” เป็นพยานปากเอกนำทางไปสู่กระบวนการค้นพบบ่อน้ำประวัติศาสตร์และชี้นำที่มาของ “ศาลาครอบบ่อน้ำ” ว่าทั้งที่ถูกสร้างขึ้นจริงแต่ก็เกิดขึ้นอย่างผิดวัตถุประสงค์ ทั้ง 2 เหตุการณ์ดำเนินอยู่ระหว่างรอยต่อของรัชกาลที่ 5 และที่ 6 มีผลทำให้คำชี้แจงสำคัญตกหล่นสูญหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ไทย
ก่อนจะมาเป็น “ศาลาไทย” หรือที่เยอรมันเรียก Siamesischer Tempel และ “บ่อน้ำจุฬาลงกรณ์” หรือ Chulalongkorn Quelle นั้น สุสานสุริยกษัตริย์ ณ บาดฮอมบวร์ก มีที่มาอันน่าตื่นเต้นไม่แพ้กัน
เอกสารทางการของเทศบาลนครบาดฮอมบวร์ก พิมพ์เป็นภาษาเยอรมัน บรรยายที่มาของเมืองสปาแห่งนี้ว่า
“บาดฮอมบวร์ก ถือกำเนิดขึ้นจากเมืองโบราณที่เคยเป็นป่าล่าสัตว์ของเจ้านายปรัสเซียในอดีต จนกระทั่งในคริสตศตวรรษที่ 19 นี้เองที่มีการค้นพบว่า ที่นี่เป็นศูนย์รวมของ “ตาน้ำใต้บาดาล” มีคุณสมบัติรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ชงัดนัก ประมาณปี ค.ศ. 1880 (พ.ศ. 2423) ไกเซอเฟเดอริกที่ 3 แห่งปรัสเซีย และพระอัครมเหษีชาวอังกฤษ ผู้เป็นพระราชธิดาองค์โตของสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียแห่งอังกฤษ ได้เสด็จมาที่เมืองนี้ แล้วจึงมีพระบรมราชโองการให้พัฒนาเมืองขึ้นเป็น “สปาหลวง” แห่งใหม่ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการที่เจ้านายปรัสเซียจะแปรพระราชฐานมาประทับพักผ่อน และสรงน้ำแร่วิเศษ ณ ที่นี้ นอกจากนั้นยังมีพระสหายของไกเซออีกหลายพระองค์ก็เคยเสด็จมาที่นี่ พระราชอาคันตุกะเหล่านี้ได้สร้างอนุสรณ์ประจำรัชกาลครอบบ่อน้ำต่างๆ ไว้เป็นที่ระลึกในภายหลัง” [5]
ข้อมูลชั้นต้นชำระแล้ว ตรงกับพระราชดำรัสในรัชกาลที่ 5 ที่ทรงเล่าพระราชทานสมเด็จหญิงน้อยเพิ่มเติมว่า
“เมืองนี้พึ่งจะมารู้สึกกันขึ้นเรื่องน้ำเรื่องท่าเหล่านี้ เมื่อ 50 ปีเท่านั้น เวลานั้นเปนเมืองเจ้า เจ้าครองเมืองไปได้เจ้าอังกฤษมาเปนเมีย เจ้าอังกฤษผู้หญิงคนนั้น เปนคนคิดเริ่มสร้างอะไรๆ ให้เปนที่อาบน้ำขึ้น มีอภินิหารคล้ายกับพระครูส่าน แลท่านเจ้ามาสร้างพระบาทวัดบางว้าแลวัดสามปลื้ม บารมีถึงได้มอนิวเมนต์ [อนุสาวรีย์] เอมเปอเรอแลเอมเปรสเฟรเดอริกก็เกี่ยวด้วยอังกฤษ จึงมาโปรดปรานที่นี้ ทรงปฏิสังขรณ์มาชั้นหนึ่งยกขึ้นเป็นพระอารามหลวง แต่มาเฟื่องฟูหนักก็เพราะเอมเปอเรอวิลเลียมที่ ๒ [พระสหายสนิทของรัชกาลที่ ๕ ในเวลานั้น-ผู้เขียน] แลกิงเอดเวอด เอมเปอเรอ เปนเจ้าของพระอาราม กิงเอดเวอดเปนหัวน่ามรรคทายก เสด็จไปมาตั้งต้นขึ้นก็ชักโยงสัปรุษอังกฤษมาติดที่นี่มากขึ้น เพราะฉนั้นในที่นี้จึงมีคนอังกฤษแลเยอรมันมาเที่ยวมากกว่าชาติอื่น องค์ของที่อาบน้ำ ก็ต้องมีป๊ากอันหนึ่งมีที่อาบน้ำอยู่ในนั้น สำหรับใครจะไปอาบแลเดินเล่นได้” [2]
ข้อเท็จจริงเบื้องหลังเหตุผลทางด้านพระพลานามัย ผสมผสานกับการเปลี่ยนขั้วพันธมิตรในระยะนั้น จากรัสเซียเป็นเยอรมนี เป็นแรงขับเคลื่อนให้รัชกาลที่ 5 ทรงเลือกที่จะเสด็จไปเยอรมนี เพื่อรักษาพระองค์ ณ สถานที่นั้น ข้อมูลอันลึกซึ้งต่อไปนี้ไม่พบในพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จหญิงน้อย แต่กลับพบว่าทรงนำไปเล่าให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทราบ
4 มีนาคม ร.ศ. 125 (พ.ศ. 2449)
สวนดุสิต
ถึงกรมดำรงฯ
“…ตัวฉันเองรู้ว่าได้ลงมือไม่สบายจริงๆ มาสัก 4-5 ปีแล้ว แต่ที่ไม่สบายจนน่ากลัว รู้ว่าเปนโรคลึกนั้นใน 3 ปีมานี้ สังเกตดูว่าทวีขึ้นทุกปี ในปีนี้เปนมากดังเช่นเห็นอยู่แล้ว เพราะไม่มีหมอในเวลานั้น เปนเวลาตาอ้วน [หมอโบเมอ ชาวเยอรมัน] อยู่ที่บางปอินจึงได้เอามาดูผเอิญตาอ้วนก็วางยาถูก จนอาการคลายขึ้นเปนลำดับ
แต่ฉันมีความคิดวิตกอยู่ในการที่จะไปยุโรปคราวนี้เรื่องหนึ่งด้วยเรื่องไข้เจ็บ หมอฝรั่งในเมืองไทยไม่ใช่จะไม่มีดี เช่นหมอไรเตอร์ [ชาวเบลเยียม] แกมีความรู้จริงๆ แต่เหมือนปทัดเก่ามักจะตายดั้น ให้กินยาตามเคยซึ่งไม่มีคุณอะไรไม่มีโทษอะไร ถ้าฉันอยู่ได้ต่อล้อต่อเถียงกันได้ แต่ลำพังคนไข้ซึ่งมีอำนาจน้อยแลไม่เข้าใจโต้เถียงชี้แจงอาการ เหนื่อยหน่ายใจก็หันลงไปหาหมอไทยๆ ที่จะมีความรู้ดีก็น้อยนักหนาฤาไม่มี ที่โทรมอยู่แล้วก็จะโทรมหนักไป
ครั้นฉันจะหาหมอปัวซ์ [ชาวฝรั่งเศส] ซึ่งล่ำลือกันว่าดีนัก ฉันก็ไม่ชอบที่จะหาเอง เพราะกลัวฝรั่งเศสจะมาผูกขาดให้หมอหลวงต้องเปนหมอฝรั่งเศส ครั้นจะเปลี่ยนก็เปนที่หมองหมางทางพระราชไมตรี ข้อขัดข้องอันนี้ก็มีเฉพาะตัวฉัน ซึ่งเปนตัวแมลงปอลิติก [เรื่องกวนใจทางการเมือง] ไม่เกี่ยวข้องด้วยครอบครัว…” [3]
จุฬาลงกรณ์ ปร.
จะเห็นได้ว่า แม้แต่การบำบัดรักษาพระโรค ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับ “การเมือง” เลย ก็ยังต้องมีเหตุผลทาง “การเมือง” แอบแฝงอยู่ด้วยเสมอ แล้วยังมีความพยายามของกลุ่มแพทย์เยอรมันที่ต้องการให้โครงการนี้คงอยู่ในมือคนเยอรมันต่อไป โดยวิธีกีดกันหมอชาติอื่นๆ ออกไปเสีย ดังในกรณีของหมอปัวซ์ชาวฝรั่งเศส เป็นเหตุให้รัชกาลที่ 5 ต้องทรงตัดพระทัยไม่ให้ผูกมัดติดพันในการรักษาพระองค์กับหมอฝรั่งเศส แต่ถึงกระนั้นก็ยังทรงรักษาน้ำใจไว้ โดยสับเปลี่ยนให้หมอฝรั่งเศสไปรักษาดูแล “ครอบครัว” ของพระองค์แทน
การเสด็จกลับไปเยอรมนีโดยไม่รีรอเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญของรัชกาลที่ 5 สืบเนื่องมาจากบทบาทใหม่ของไกเซอร์ชัดเจนขึ้น ในอันที่จะสนับสนุนให้มหาอำนาจทั้งสี่ คือ เยอรมนี รัสเซีย อังกฤษ และฝรั่งเศส ร่วมมือกันรับรองเอกราชของสยาม เป็นความต่อเนื่องทางพระราชวิเทโศบายใหม่ๆ ที่กำลังทรงปรับเปลี่ยน เพราะทรงแน่พระทัยว่า “เยอรมนี” จะเป็นตัวแปรสำคัญในกลุ่มมหาอำนาจยุโรปที่ต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของสยาม ตรัสว่า
“ถ้าเปนคนอื่นก็อินคอนวิเนียน [ไม่สะดวก] แต่นี่เปนเอมเปอเรอเยอรมันเลยต้องฮุบ” [3]
แม้แต่ยานพาหนะที่นำขบวนเสด็จสู่ยุโรปในคราวนี้ ก็ทรงใช้เรือเยอรมันที่ชื่อ “ซักซัน” เป็นหลัก เป็นการแสดงออกถึงความลำเอียงในพระราชหฤทัย
ไกเซอร์เยอรมัน ซึ่งบัดนี้กลายเป็นพันธมิตรที่รู้ใจ ได้ทรงแสดงท่าทีตอบสนองด้วยไมตรีจิต ความรู้สึกอันน่าประทับใจนี้ไม่สามารถซ่อนไว้ได้ในพระพจนารถ
“การที่มารักษาตัวในฮอมเบิคนี้ ฉันก็เหนกิริยาเอมเปอเรอ [จักรพรรดิเยอรมัน] อยู่แล้วว่าชอบ แต่ยังไม่คิดเหนเลยว่าจะโปรดอี๋มากถึงเพียงนี้ เวลาฉันอยู่ปารีสสู้เสด็จมาเองถึงที่นี่ [หมายถึงล่วงหน้ามาฮอมบวร์ก] เพราะทรงรับเปนธุระแขงแรงมาก เปนลักษณะปรูดไปปรูดมาของเอมเปอเรอ สั่งให้ลูกชายที่ 2 คอยรับ สอนจนกระทั่งให้ติดตราจักรีอย่างที่เอมเปอเรอนึกเอง เสด็จไปตรวจคัวร์เฮาส์ [โรงอาบน้ำ] แลที่ต่างๆ สั่งให้จัดการรับรองให้เหมือนอย่างเอมเปอเรอเสด็จมา นี่แกเปนคนอย่างที่เรียกว่าตัชชิจริงๆ [สร้างความประทับใจ] ที่อาบน้ำอันนี้เปนของเอมเปอเรอคิดบำรุงขึ้นเอง ที่มาที่นี่นั้นก็ถูกใจเข้าไปกระทงหนึ่งแล้ว ยังซ้ำหมอก็เปนเยอรมัน เปนที่เลื่องลือด้วยคุณวิชาของชาติ ถูกพระทัยเข้าไปอีกกระทงหนึ่งด้วย” [3]
เคล็ดลับของบาดฮอมบวร์ก นอกจากจะเป็นเมืองเจ้าที่ภูมิฐานสง่างาม ราษฎรแสดงความเป็นมิตร พร้อมสรรพด้วยมดหมอหยูกยาที่ไกเซอร์ “เรคอมเมน” แล้ว ที่นี่ยังมี “บ่อน้ำวิเศษ” ที่สามารถรักษาสารพัดโรคร้ายที่ทรงเป็นกังวลอยู่ได้
คุณสมบัติของน้ำวิเศษนี้ ทรงเล่าให้สมเด็จหญิงน้อยของพระองค์ฟังว่า
“น้ำนั้นมีคุณวิเศษต่างกัน แต่ชั่วที่นี่เองยังมีต่างกันถึง 8 อย่าง 9 อย่าง ที่อาบน้ำเหล่านี้คือท่านอาจารย์รดน้ำมนต์ทั้งนั้น พ่อนับถือว่าเปนการมีคุณได้จริง ที่นี่เจ้านายตั้งแต่เอมเปอเรอเปนต้นสรงปีละครั้ง ฝรั่งไม่สู้จะผิดกันกับไทยนัก เจ้าแผ่นดินอาจจะตั้งต้นแฟชั่นอะไรๆ ได้เหมือนกัน ที่อาไศรยเอมเปอเรอวิลเลี่ยมองค์นี้กับกิงเอดเวอดอังกฤษสองคน ชักโยงคนมาได้เปนอันมาก นานไปคงจะเปนที่สำคัญแลใหญ่โตขึ้นได้อีกมาก” [2]
นอกจากน้ำที่ใช้ดื่มจะมีสรรพคุณเป็นยาแล้ว ยังสามารถใช้น้ำชนิดเดียวกับอาบได้ด้วย คุณประโยชน์ของการอาบน้ำแร่จะช่วยทำให้เลือดลมในร่างกายเดินดีขึ้น แพทย์และวิธีการรักษามีส่วนโน้มน้าวจิตใจให้คนไข้เกิดความเลื่อมใสขึ้นด้วย
“การที่จะไปวางยาเช่นนี้ในบางกอกเปนพ้นวิไสย ยาไปไม่ถึงกลายเสียก่อน หมอฟอนนอรเดน แลหมอเบอมาก็ไม่สามารถวางได้ จะวางยาขนานนี้ได้แต่เฉพาะเปนโปรเฟสเซอที่ชำนิชำนาญมาก ท่านโปรเฟสเซอทั้งหลายสมมุติให้โปรเฟสเซอเกรลเปนผู้ที่วางยาจึงต้องเปนหมอวิเศษ ยิ่งประเสริฐขึ้นไปอีก เปนเมืองเราเขาเรียกลัทธิวัดน้ำมนต์อย่างหนึ่งแต่ไม่ใช่นุ่ง [ไม่หลอกลวง]” [2]
ความคืบหน้าของการรักษาที่บาดฮอมบวร์ก ซึ่งทำให้พระองค์ทรงมีพระอาการดีขึ้นและหายวันหายคืน กำลังจะเป็นเกลียวใจที่ทำให้รัชกาลที่ 5 ทรงผูกพันกับเมืองนี้ยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งได้รับการยืนยัน “เป็นครั้งแรก” ในวันหนึ่งภายหลังเสด็จจากการสรงน้ำแร่ประจำวันแล้ว
“อาบน้ำแล้วได้เดินดูบ่ออีก 2 บ่อ แลดูสูบน้ำซึ่งสำหรับสูบขึ้นไปในโรงที่อาบน้ำ ตั้งเครื่องจักรไฟฟ้าจมลงไปอยู่ในดิน สูบกันไปวันยังค่ำ เขาคิดจะเจาะบ่อใหม่อีกบ่อหนึ่งให้ชื่อพ่อ ในวันที่ 21 เดือนกันยายน แลคิดจะทำรูปไว้ที่บ่อนั้น เขาคิดปฤกษาหาฤากันแต่ยังไม่ได้บอกเปนฟอมัล ได้ทราบว่าเอมเปอเรอสั่งให้มีรายงานบอกอาการพ่อไปกราบทูล เดี๋ยวนี้เขาบอกรายงานกันอยู่เสมอ” [2]
ประมาณปี พ.ศ. 2540 ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปเยือนบาดฮอมบวร์กครั้งแรก พบว่าท้ายสวนขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “คัวร์ป๊าก” นั้นมีอาคาร “คัวร์เฮาส์” โบราณยืนตระหง่านอยู่ โดยมีชื่อสลักไว้ว่า “ไกเซอร์วิลเลียมส์บาด” ในภายหลังพบว่าเป็นโรงอาบน้ำที่รัชกาลที่ 5 ตรัสถึงนั่นเอง เป็นเรื่องน่าทึ่งอย่างยิ่งที่มารู้อีกว่า โรงอาบน้ำแห่งเดียวกัน บัดนี้คือสปาที่ยังดำเนินกิจการอยู่ตามปกติ และน้ำวิเศษที่พบที่นี่ก็ยังถูกสูบขึ้นมาใช้ไม่หมดสิ้น แต่เนื่องจากเป็นสถานพยาบาลที่เข้มงวดกวดขัน นักสำรวจชาวบ้านอย่างเราไม่มีกิจธุระที่จะเข้าไปยุ่มย่ามได้ จุดสนใจของคนไทยที่มาบาดฮอมบวร์ก ยังเป็นเพียงศาลาไทยที่งดงามเท่านั้น
ศาลาไทยนี่เองที่เป็นอนุสรณ์ในรัชกาลที่ 5 ติดตั้งอยู่ด้วยพระบรมรูปหล่อแบบนูนต่ำ ห่อบนแผ่นทองแดง ซึ่งเชื่อถือกันว่าเป็นอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 แห่งเดียวในทวีปยุโรปที่หลงเหลือมาจากการเสด็จประพาสยุโรป พ.ศ. 2450 และพอจะอนุมานได้ว่าเป็นองค์เดียวกันกับที่มีพระราชปรารภว่า “คิดจะทำรูปพ่อไว้ที่บ่อนั้น” ในไกลบ้าน
แต่อนิจจาข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสถานที่นี้ยังเลือนรางสำหรับคนทั่วไป เป็นที่นับถือกันเแต่เพียงว่า ที่แห่งนี้เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยในเยอรมนีมานานกว่า 90 ปี ตลอดเวลาที่ผ่านมาคงมีเพียงพระราชนิพนธ์ไกลบ้านเท่านั้นที่สื่อย้อนกลับไปถึง “ศาลาปริศนา” ที่บาดฮอมบวร์ก
“ไกลบ้าน” ระบุอย่างน่าเชื่อถือต่อไปอีกว่า รัชกาลที่ 5 เสด็จไปเปิดบ่อน้ำของพระองค์แล้วจริง
“เวลาเที่ยงไปที่เปิดบ่อแต่งตัวฟรอกโก๊ด บ่อนี้อยู่ข้างหลังไกเซอร์วิลเลียมบาด เปนทุ่งใหญ่ยังไม่ได้ทำสวนออกไปถึง ลักษณะที่เจาะก็เหมือนกับเจาะบ่อน้ำธรรมดา ปากบ่อทำเปนรูปใบบัว น้ำเดือดพลั่งๆ แต่น้ำที่นี่เปนน้ำเย็นทั้งนั้น เขาตั้งกระโจมสามขาหุ้มผ้าสูงคร่อมอยู่ที่บ่อ มีคนไปประชุมเปนอันมาก แล้วแมร์ตำบลฮอมเบิคอ่านแอดเดรส ให้ชื่อบ่อว่า “โกนิคจุฬาลงกรณ์” แล้วเชิญไปเยี่ยมดูที่บ่อนั้น ตักน้ำขึ้นมาให้ชิมด้วยถ้วยเงินใบใหญ่แล้วกลับมาที่พลับพลา แมร์เรียกให้เชียร์คือฮุเรแล้วร้องเพลงอีกบทหนึ่ง เปนสิ้นการเปิดบ่อเท่านั้น ถ้าเล่าเช่นนี้ดูเหมือนการนั้นเล็กน้อยเต็มที แต่ที่จริงอยู่ข้างเปนการใหญ่” [2]
เมื่อนำเหตุการณ์ทั้งหมดมาเรียบเรียงลำดับใหม่ จึงพบว่าขณะที่ทรงพระราชนิพนธ์ไกลบ้านนั้น ศาลาไทย “ยังไม่ได้สร้างขึ้น” ยิ่งไปกว่านั้น “บ่อน้ำจุฬาลงกรณ์” ที่ได้ทรงเปิดจริงในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 21 กันยายน พ.ศ. 2450 ก็ถูกทอดทิ้งอย่างน่าเวทนา หลังจากที่รัชกาลที่ 5 เสด็จนิวัตกลับกรุงสยาม ด้วยปัญหาบางอย่างซึ่งจะได้อธิบายต่อไป
จากการค้นคว้าต่อมาเป็นเวลาหลายปี ทั้งในเมืองไทยและเมืองเยอรมัน ไม่พบเบาะแสอื่นๆ อีกที่ชี้ชัดว่า ศาลาไทยรัชกาลที่ 5 สร้างขึ้นเมื่อใด และที่สำคัญคือ บ่อน้ำจุฬาลงกรณ์ได้สาบสูญหายไปข้างไหน?
จนกระทั่งวันหนึ่ง หนังสืองานศพเก่าๆ เล่มหนึ่งเผยความลับบางอย่างออกมาจนได้ ข้อพิสูจน์ใหม่ที่พบยืนยันความคืบหน้าของ “ศาลาครอบบ่อน้ำ” ซึ่งสามารถโยงใยไปถึงบ่อน้ำจุฬาลงกรณ์อีกครั้งได้อย่างมหัศจรรย์
“หลักฐานใหม่” ถ่ายทอดอยู่ในพระราชหัตถเลขา ร.5 ถึงเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล) อดีตเสนาบดีกระทรวงวัง ใน พ.ศ. 2452 ครั้งยังมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร รวม 5 ฉบับ ดังนี้
(ฉบับที่ 1)
28 ตุลาคม ร.ศ. 128
สวนดุสิต
พระยาอนุรักษ์
“…ความวิตกทุกข์ร้อนมีอยู่อีกเรื่องหนึ่ง รับเขาไว้ที่เมืองฮอมเบิคว่าจะทำศาลาครอบบ่อน้ำจุฬาลงกรณ์ ซึ่งเป็นการรู้ทั่วประเทศ ข้าร้อนใจเหลือที่จะร้อนใจ จะคิดอ่านประการใดจึงจะได้ทำศาลานั้น การที่ทำศาลานั้นไม่ใหญ่โตอะไร ศาลาขื่อ 8 ศอก จะเป็นจตุรมุขฤา 8 เหลี่ยม ฤามุขยาว 2 มุข สั้น 2 มุข ถ้าหากว่าจะสงเคราะห์ได้จะชี้แจงให้ฟังตลอด พระยาราชสงคราม ฤาเจ้าต๋ง ฤาพระยาสามภพก็เห็นจะคิดได้ ว่าจะเอาอย่างไร ส่งให้ช่างเขาไปต่อตัวอย่างมาดู ไม่ดีก็แก้ไข แกทนได้เพราะไม่มีใครรู้จัก แต่อ้ายเราเหลวเข้ามันจะเสียคนอยู่ในกระดาษปลิวว่อนไปทั่วพิภพ ขอให้ได้พึ่งพาอาไศรยบ้าง” [4]
สยามินทร์
(ฉบับที่ 2)
20 พฤศจิกายน ร.ศ. 128
สวนดุสิต
พระยาอนุรักษ์
“นึกขึ้นมาได้ถึงความคิดเจ้าที่จะทำศาลาอวดเนื้อไม้ที่ฮอมเบอคนั้น เห็นจะไม่ได้การ ด้วยเหตุว่าศาลานั้นโถงเหมือนยังตัวไม้อยู่กลางแจ้งทั้งหมด อากาศเมืองฝรั่งมันไม่เหมือนเมืองเรา เรือนฝากระดานของเราถูกฝนเปียกแล้วก็แห้งไป ถ้าเมืองฝรั่งเช่นนี้ สโนเกาะเป็นน้ำจับอยู่ตั้งเดือนกลัวไม้จะผุเร็ว เพราะฉนั้นความคิดเจ้าเห็นจะขัดเสียแล้ว จะต้องไปข้างทางทาสี ถ้ารดน้ำ (ลงรักปิดทอง) ได้จะงามมาก” [4]
สยามินทร์
(ฉบับที่ 3)
22 พฤศจิกายน ร.ศ. 126
พระยาอนุรักษ์
“…ถ้าหากว่าเราจะทำแต่ศาลาหลังเดียวส่งออกไป เขาก็คงคิดทำเชิงเทินนั้นตามลำพังความคิดของเขา อาจจะเป็นฝรั่งหมดเหลือแต่ไส้ในเป็นไทยก็ดูได้ แต่ไม่เก่งเหมือนเชิงเทินแลพนักกับทั้งกระไดแลพลสิงห์เป็นอย่างไทยด้วย การที่จะทำนั้นเขาทำได้ เว้นแต่เราต้องให้ตัวอย่าง ข้อที่ลำบากอยู่เดี๋ยวนี้เพียงทำไมจะพูดกันแก่ผู้ซึ่งสามารถให้ตัวอย่างลักษณช่างอย่างไทยเข้าใจได้ เพราะช่างไทยก็ไม่เคยเห็น ฤาไม่เคยอ่านถึงลักษณของบ่อน้ำเช่นนี้เลย ถ้าจะบอกชี้แจงให้ลเอียดออกจะเป็นดูถูก แต่ครั้นไม่เข้าใจชัดจะถามใครก็น่าอายมันจึงได้เลยค้างๆ ไป เพราะนึกไม่ออกว่าเป็นอย่างไร แต่เหตุไฉนจึงเข้าใจยากกันเป็นที่สุด จะเป็นด้วยความไม่สามารถของตัวข้าเองที่จะอธิบายให้เข้าใจ…” [4]
สยามินทร์
(ฉบับที่ 4)
บางปอิน
วันที่ 22 พฤศจิกายน ร.ศ. 128
พระยาอนุรักษ์
ความขอบใจเจ้าในเรื่องที่ทำตัวอย่างศาลาสำเร็จ แต่ยังรู้สึกอึดอัดด้วยเรื่องจะพูดถึงบริเวณที่ตั้งศาลาให้เข้าใจกันต่อไปอีกไม่ได้เหมือนอย่างกรมหลวงนริศร เพราะเหตุที่ไม่ได้ไปเห็น ฤาไม่เคยเห็นรูปแลไม่เคยอ่านเรื่อง ว่าลักษณบ่อน้ำเช่นนี้ เขาทำกันอย่างไร พื้นแผ่นดินภูมิประเทศเป็นอย่างไร ยากที่จะคิดเดาเห็น จะอธิบายกันมันก็ออกจะขันๆ ไป เช่นกับจะพูดว่าอันลักษณบ่อน้ำสปริงเมืองฝรั่งเช่นนี้ มันเหมือนอย่างพะเนียดที่มีเชิงเทินอยู่รอบ แต่แผ่นดินข้างนอกสูงขึ้นเสมอแนวหลังเชิงเทิน ในคอกเป็นบ่อลึกแต่ไม่ใช่บ่อน้ำ เป็นลานพะเนียดอยู่ในที่ต่ำ ตรงศาลเจ้าเป็นปากท่อสปริงที่น้ำขึ้น โรงที่เราจะปลูกเดี๋ยวนี้ปลูกครอบศาลเจ้า แต่คงยังเหลือชานพะเนียดในคอกแลนอกคอก ไปจนกระทั่งถึงเชิงเทินคอกนั้น ยังเป็นที่แจ้งอยู่อีกมาก จะให้กว้างเท่าใดแคบเท่าใดได้ แต่บนหลังเชิงเทินที่ต่อกับพื้นต่ำ อาจเดินมาบนพื้นแผ่นดินราบๆ แล้วตกหลุมโครมได้ ดังนี้ฉันใด
คราวนี้บ่อน้ำเมืองฝรั่งนี้ ขุดเป็นสระลงไปเสียทีหนึ่ง แล้วจึงฝังท่อ อย่างเช่นอารติเชี่ยนเวลที่ทำกันอยู่อึงๆ เดี๋ยวนี้ สระนั้นจะลึกฤาตื้นแล้วแต่แรงน้ำ เขาขุดลงไปจนถึงที่พอแรงน้ำจะพ่นขึ้นปากท่อได้ปุดๆ ไหลอยู่เสมอ พนักกำแพงแก้วนั้นคือกันปากสระไม่ให้คนเดินไปตกสระ แลมีกระไดเดินลงไปในสระ พื้นสระนั้นแห้งน้ำไม่ขึ้นมาถึง จึงได้ปูพื้นศิลาเสียเต็มที่ โรงที่เราจะทำเดี๋ยวนี้จะตั้งคร่อมบ่อกลางซึ่งกว้าง ๔ ศอกอยู่กลางสระนั้น ถ้าแลดูบนแผ่นดินจะเห็นเหมือนอย่างศาลานี้จมอยู่ในกลางสระ เพราะฉะนั้น ถ้าศาลารูปร่างสูงโอ่โถงหน่อยหนึ่ง จึงจะแลเห็นงาม
แต่ลึกแลกว้างอะไรที่ว่าเหล่านี้ พูดต่างว่าทั้งนั้น จริงจะเอาเท่าไรก็ได้ จะขุดให้กลมทั้งข้างนอกกลมทั้งข้างในก็ได้ ฤาจะให้สระรีได้กับรูปศาลา บ่อในกลมเช่นนั้นก็ได้ จะให้ขอบสระห่างศาลากี่ศอกกี่วาก็ได้ ไม่เป็นที่ขัดข้องอะไรเลย คราวนี้เห็นจะค่อยเข้าใจแจ่มแจ้งดีขึ้น
สยามินทร์
(ฉบับที่ 5)
บางปอิน
23 พฤศจิกายน ร.ศ. 128
พระยาอนุรักษ์
“ได้รับหนังสือตอบเรื่องสระที่ฮอมเบอก เป็นที่พอใจอย่างยิ่ง เห็นแล้วว่าเจ้าเข้าใจการที่จะทำอย่างไรตลอด ถ้าผู้พูดตั้งใจจะพูดให้เข้าใจ ผู้ฟังตั้งใจจะฟัง แต่ถ้าผู้พูดๆ เหมือนเสียงเครื่องจักร ผู้ฟังไปพ้นแล้วสิ้นหนวกหูก็ลืมเท่านั้น ก็ไม่มีทางจะเข้าใจได้อยู่เอง” [4]
สยามินทร์
ประเมินความได้ว่า ภายหลังเสด็จนิวัตสยามแล้ว อีก 2 ปี “ศาลาครอบบ่อน้ำ” ก็ยังไม่ได้สร้าง เป็นแต่มีพระราชดำริให้ข้าราชการหลายคนคิดแบบออกมา โดยมีพระยาอนุรักษ์เป็นแม่กอง แต่อุปสรรคที่บังตาอยู่คือ สถาปัตยกรรมทรงไทยไม่ลงตัว เมื่อนำไปเลียนแบบของฝรั่ง และช่างไทยไม่สามารถเข้าใจในการนำไปประยุกต์ทำถวายได้ นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องโครงไม้ทำศาลาไม่เหมาะที่จะทำให้ใหญ่โตครอบบ่อน้ำที่กว้างใหญ่ ตามพระราชดำรัสว่า “เหมือนอย่างศาลานี้จมอยู่ในกลางสระ”
หลังจากหมายรับสั่งในพระราชหัตถเลขาฉบับที่ (5) แล้ว เรื่องก็ขาดหายไปเฉยๆ อย่างน่าประหลาดใจ ทำให้ไม่อาจจับต้นชนปลายได้อีกต่อไปว่า ศาลาไทยนั้นถูกสร้างขึ้นครอบบ่อน้ำจุฬาลงกรณ์ “สำเร็จหรือไม่?”
ข้อมูลช็อกโลกชิ้นสุดท้าย พบอีกครั้งในประเทศไทย ปรากฏอยู่ในพระราชนิพนธ์เบ็ดเตล็ด ทรงไว้เพียง 3 วัน ก่อนการเสด็จสวรรคตในรัชกาลที่ 5 ตรัสถึง “อุปสรรคใหม่” ที่ทำให้การสร้างศาลาครอบบ่อน้ำไม่อาจดำเนินการต่อไปได้ เพราะเหตุขัดข้องบางประการ
สวนดุสิต
วันที่ 20 ตุลาคม รัตนโกสินทรศก 129
ถึง กรมหลวงเทวะวงษ์วโรประการ
ได้รับหนังสือมีมายังกรมขุนสมมตอมรพันธุ์ ที่ 237/6092 ลงวันที่ 18 เดือนนี้ เรื่องปลูกศาลาบ่อน้ำที่เมืองฮอมเบิกว่า บัดนี้ พระยาศรีธรรมศาส์นมีบอกมาว่า แฮร์วันเตอร์เลอบเค ตำแหน่งเบอร์เกอมาสเตอร์ ของเมืองฮอมเบิก แจ้งว่า เมื่อลงมือปลูกสร้างศาลาเสร็จแล้ว จะมีการฉลองแลได้ทำบาญชีรายชื่อผู้เกี่ยวข้องแก่การนั้นมาขอตรา 8 นาย พระยาศรีธรรมศาส์นเห็นว่า เป็นการล่วงลามมากอยู่ ถ้าจะเห็นควรให้แต่ 3 นาย และการปลูกสร้างศาลานี้ มิสเตอร์ลอตซ์รับแต่ที่จะรับหีบเครื่องไม้ที่ส่งจากกรุงเทพฯ ให้แก่เจ้าพนักงานของเมืองฮอมเบิก ส่วนการปลูกสร้างเป็นธุระมิวนิสิเปอลของเมืองฮอมเบิก แลว่ามิสเตอร์ลอตซ์แจ้งว่า มิวนิสิเปอลได้บอกว่า บ่อน้ำที่เจาะไว้แต่เดิม เอมเปอเรอได้ให้ผู้อำนวยการย้ายที่มาเจาะขึ้นใหม่ในที่ใกล้ๆ กับบ่อที่เป็นส่วนของเอมเปอเรอให้เจาะเป็นคู่กัน ได้ใช้จ่ายเงินค่าย้ายบ่อ 25,000 มารค ขอให้มิสเตอร์ลอตซ์ช่วยขอเงินใช้ให้แก่เมืองฮอมเบิกด้วย มิสเตอร์ลอตซ์ได้บอกให้มิวนิเปอลพูดมายังสถานทูต พระยาศรีธรรมศาส์นได้คอยฟังการเรื่องนี้ ยังหาได้รับคำชี้แจงจากมิวนิสิเปอลประการใดไม่ ส่งสำเนาใบบอกพระยาศรีธรรมศาส์น กับสำเนาคำแปลหนังสือเบอร์เกอมาสเตอร์มาด้วยนั้นทราบแล้ว เรื่องราวมันจะลำบากเสียแล้ว ดูเข้าใจกันไปคนละทาง 2 ทาง เห็นจะไม่จบง่ายๆ [1]
จุฬาลงกรณ์ ปร.
หมายความว่า ไกเซอร์วิลเลียมส์ที่ 2 มีพระบรมราชโองการขัดขวางการสร้างศาลาไทย “ครอบ” บ่อน้ำจุฬาลงกรณ์เสียเอง กล่าวคือ ทรงแนะให้ไปขุดบ่อแห่งใหม่ในอีกมุมหนึ่งของส่วนคัวร์ป๊าก ด้วยความปรารถนาดีจะให้บ่อจุฬาลงกรณ์ ไปตั้งอยู่ใกล้ๆ บ่อวิลเลียมส์ที่ 2 ของพระองค์ แต่จากพระราชหัตถเลขาชิ้นตัดเชือกนี้ แสดงว่ารัชกาลที่ 5 ไม่ทรงพอพระทัยที่จะย้ายบ่อจุฬาลงกรณ์ไปจากที่เดิม เรื่องทั้งหมดยุติลงอย่างกะทันหันใน 3 วันหลังจากพระราชหัตถเลขาฉบับสุดท้าย เพราะรัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคตเสียก่อน ท่ามกลางความตระหนกตกใจของคนทั้งประเทศ
24 เมษายน 2547 ผู้เขียนได้รับการแนะนำโดยบังเอิญ ให้รู้จักกับคุณปีเตอร์ บรุกไมเยอร์ (Peter P. Burckmaier) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการของสปา ไกเซอร์วิลเลียมส์บาด คุณปีเตอร์ไม่มีโอกาสได้ล่วงรู้เรื่องราวในพระราชหัตถเลขา ร.5 ของพวกเราเลย แต่ด้วยความสนใจในประวัติศาสตร์ตอนนี้เป็นส่วนตัว แกได้ค้นพบว่า
1. บ่อน้ำจุฬาลงกรณ์บ่อเดิม ที่รัชกาลที่ 5 เสด็จไปเปิดในวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2450 ยังคงตั้งอยู่ ณ ตำแหน่งเดิม และไม่มีการขุดบ่อใหม่เกิดขึ้น เพราะความวุ่นวายทางการเมืองในมหาสงครามโลกครั้งที่ 1 ปะทุขึ้นเสียก่อนในเยอรมนี โดยไกเซอร์วิลเลียมส์ที่ 2 เป็นผู้ประกาศสงคราม
2. ศาลาไทย และอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 สร้างสำเร็จในปี พ.ศ. 2457 (ค.ศ. 1914) ช่วงต้นรัชกาลที่ 6 โดยฝีมือช่างเยอรมันจากมิวนิก และจากวัสดุที่ส่งออกไปจากสยามเมื่อต้นรัชกาลที่ 6 และสันนิษฐานได้แต่เพียงว่า ศาลาไทยถูกย้ายไปสร้างให้อยู่ใกล้บ่อน้ำของไกเซอร์จริง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ตั้งของศาลาไทยในทุกวันนี้ [5]
สรุปได้อีกครั้งว่า บ่อน้ำจุฬาลงกรณ์ตั้งอยู่ ณ จุดจุดเดิมไม่ได้โยกย้ายไปไหน ทำให้อยู่ในสภาพถูกทิ้งร้างลงในที่สุด ส่วนศาลาไทยสร้างขึ้นในอีก 4 ปีถัดมา (พ.ศ. 2457) หลังจากที่รัชกาลที่ 5 สวรรคตไปแล้ว ตามพระราชประสงค์ของไกเซอร์ดังกล่าว ศาลาและบ่อจุฬาลงกรณ์จึงแยกกันอยู่ในระยะรัศมีประมาณ 500 เมตร จนบัดนี้ [5]
คุณปีเตอร์ถามผู้เขียนว่า อยากจะเห็น “บ่อน้ำจุฬาลงกรณ์” ตัวจริงหรือไม่? จะพาไปดู! แล้วยังบอกอีกว่า เดี๋ยวนี้รัฐบาลเยอรมันยังได้สร้างถนนเล็กๆ ในคัวร์ป๊าก และขนานนามว่าถนนจุฬาลงกรณ์ ไว้เป็นพระเกียรติยศอีกด้วย
นั่นคือที่มาทั้งหมดของบ่อน้ำวิเศษ ในรัชกาลที่ 5 ซึ่งพบแล้วว่ามีอยู่จริง ท่ามกลางอนุสาวรีย์เจ้าแผ่นดินยุโรปครอบบ่อน้ำอื่นๆ อีกนับ 10 แห่ง ที่ฝังตัวอยู่อย่างซ่อนเร้น ณ สถานที่แห่งนี้ รวมเป็นส่วนหนึ่งของตำนานสุสานสุริยกษัตริย์อันน่าภาคภูมิใจ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เอกสารอ้างอิง :
[1] ประมวลพระราชนิพนธ์เบ็ดเตล็ด ใน ร.5. พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ ม.ล.ประจวบ กล้วยไม้, 2508.
[2] พระราชนิพนธ์ไกลบ้าน. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จฯ เจ้าฟ้านิภานภดลฯ. มกราคม 2479.
[3] พระราชหัตถเลขา ร.5 ถึงกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 พ.ศ. 2450. พิมพ์ในงานพระเมรุ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร. กรุงเทพฯ, 2491.
[4] พระราชหัตถเลขา ร.5 ถึงเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล). พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าพระยาธรรมาฯ. 2485.
[5] Kurpark Bad Homburg V.D. Hohe (เอกสารแนะนำเมืองของเทศบาลนครบาดฮอมบวร์ก), 1993.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 พฤษภาคม 2562