“กฎแห่งกรรม” ของ ท.เลียงพิบูลย์ ละครคุณธรรมยุคแรก ฮิตมากจนกวาดยอดขายรวมกว่าล้านเล่ม

ท.เลียงพิบูลย์ กฎแห่งกรรม
งานเขียนชุด "กฎแห่งกรรม" โดย ท.เลียงพิบูลย์ (ภาพจากห้องสมุดธรรมศาสตร์)

“ละครคุณธรรม” ที่ให้แง่คิดสอนใจแบบทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย แต่ด้วยยุคนี้ที่โซเชียลมีเดียที่เข้าถึงทุกคนได้ง่ายกว่าโทรทัศน์ ทำให้ละครคุณธรรมดังเปรี้ยงปร้าง แต่ถ้าย้อนไปในยุคก่อนที่หนังสือยังเป็นช่องทางหลัก บ้านเรามี “กฎแห่งกรรม” โดย ท.เลียงพิบูลย์ ที่ได้รับความนิยมถึงขั้นกวาดยอดขายรวมกว่าล้านเล่มมาแล้ว

อาสา คำภา วิเคราะห์ถึงการนับถือพระพุทธศาสนาที่หลากหลายในสังคมไทยไว้อย่างน่าสนใจ ทั้งประเด็นพุทธศาสนาแบบชนชั้นกลางของไทย ที่มีทั้ง “พระเซเลบ” นักบวชสตรี และประเด็นอื่นๆ ชวนติดตาม ในผลงานเล่มล่าสุดของเขาอย่าง “ลอกคราบพุทธแท้: ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาชนชั้นกลางไทยร่วมสมัย” (สำนักพิมพ์มติชน)

หนึ่งในแง่มุมที่อาสานำเสนอคือ งานเขียนชุด “กฎแห่งกรรม” ของ ท.เลียงพิบูลย์ หรือ ทองหยก เลียงพิบูลย์ ผลงานสุดฮิตเมื่อ 50-60 กว่าปีก่อน

ท.เลียงพิบูลย์ เป็นชาวจีนสยาม เรียนหนังสือตามระบบการศึกษาไทย เมื่อโตมาก็สืบทอดกิจการห้างยนตร์ภัณฑ์พานิชย์ของตระกูล ความเป็นชนชั้นกลางในเมืองกรุง ทำให้เขาใช้ชีวิตในขนบอันดีของสังคม ทั้งกตัญญูต่อผู้ใหญ่ โอบอ้อมอารีต่อเพื่อนฝูง ทั้งยังมีภาคชีวิตโลดโผนอย่างเที่ยวเล่น ยิงนก กินดื่ม “ผิดศีล” เป็นครั้งคราว ซึ่งประสบการณ์ชีวิตเหล่านี้ต่อมาจะกลายเป็นวัตถุดิบชั้นดีในการเขียน

อาสา เล่าว่า จุดเริ่มต้นในการเขียนงานให้แง่คิดทางศาสนาของ ท.เลียงพิบูลย์ เกิดจากเจ้าตัวเข้าโรงพยาบาลด้วยพิษสุราจนเกือบเอาชีวิตไม่รอดในช่วงทศวรรษ 2470 อาการเจ็บป่วยครั้งนั้นนำเขาไปสู่สิ่งที่เชื่อว่าเป็นโลกหลังความตาย

ท.เลียงพิบูลย์ได้พบกับ “ผู้วิเศษ” ที่พาไปท่องนรก-สวรรค์ เมื่อรอดกลับมาจึงตัดสินใจบอกเล่าเรื่องราวให้คนทั่วไปได้รับรู้ผ่านงานเขียน แต่กว่าผลงานจะได้พิมพ์ก็เมื่อ พ.ศ. 2501 ด้วยเหตุผลว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ห้ามไว้ เพราะยังไม่ถึงเวลาอันสมควร

ชุดงานเขียน “กฎแห่งกรรม” เป็นรวมเรื่องสั้น โครงเรื่องกล่าวถึงประสบการณ์ของคนที่เจอเรื่องราวทั้งดีและร้าย จุดเด่นคือไม่เน้นเรื่องกรรมชาติที่แล้ว แต่โฟกัสที่กรรมซึ่งส่งผลในชาตินี้ ทำให้กรรมเป็นเรื่องใกล้ตัวและเห็นผลได้ตรงหน้า

เรื่องราวมีทั้งประสบการณ์ของ ท.เลียงพิบูลย์ เอง เช่นครั้งหนึ่งเขาไปเที่ยวต่างจังหวัด แต่เกือบไปมีเรื่องกับชายฉกรรจ์เจ้าถิ่นด้วยความเข้าใจผิด แต่สถานการณ์ก็คลี่คลายด้วยดี เมื่อหนึ่งในกลุ่มเจ้าถิ่นเดินมายกมือไหว้ทักทายเขา เมื่อไล่เรียงกันแล้วถึงได้พบว่า เมื่อก่อน ท.เลียงพิบูลย์เคยช่วยเหลือชายคนนี้ไว้

อาสา ยกตัวอย่างอีกว่า เรื่องสั้นบางเรื่อง เช่น “ชตากรรม” ก็เป็นเรื่องแต่ง ใช้ฉากสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ชายคนหนึ่งได้รับคำทำนายว่า ดวงชะตาจะถึงฆาตใน 1 ปีข้างหน้า ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังมุ่งมั่นทำความดีช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป เมื่อไปตรวจดวงชะตาอีกครั้งก็พบว่า ดวงที่ถึงฆาตนั้นได้เคลื่อนผ่านไปแล้ว เพราะเขาทำความดีไว้มาก

หรือเรื่อง “คนมีบาป” มีฉากเป็นเหตุการณ์สมัยรัชกาลที่ 5-7 ชาย 2 คนเป็นเพื่อนสนิทกัน คนหนึ่งเป็นลูกเศรษฐีได้บอกความลับที่ซ่อนทรัพย์สินให้เพื่อนอีกคน ปรากฏว่าพอได้ยินแล้วก็เกิดความละโมบ จึงฆ่าเพื่อนตัวเองเพื่อฮุบสมบัติ แม้จะร่ำรวย แต่ท้ายสุดก็ต้องรับกรรมจนกระทั่งสูญเสียทุกอย่าง

“สำหรับจุดมุ่งหมายของงานเขียนก็คือเน้นย้ำจุดสำคัญ คือ ‘ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว’ น่าสนใจว่าความคิดนี้ด้านหนึ่งก็สอดรับอย่างมีนัยสำคัญกับ ‘โอวาทปาฏิโมกข์’ (ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส) ที่ได้รับการพร่ำสอนในแบบเรียนวิชาพระพุทธศาสนาว่าคือ ‘หัวใจพุทธศาสนา’” อาสา วิเคราะห์ แล้วบอกด้วยว่า

งานเขียนชุด “กฎแห่งกรรม” ถูกผลิตซ้ำต่อเนื่องตลอดระยะเวลาหลายสิบปี ด้วยตัวบทที่มีไม่น้อยกว่า 262 เรื่อง กล่าวกันว่า สถิติการจัดพิมพ์รวมเล่มของหนังสือชุดนี้มียอดเกินกว่าล้านเล่ม ซึ่งผู้เสพงานส่วนใหญ่คือชนชั้นกลางที่อ่านออกเขียนได้ และยังได้รับการเผยแพร่ผ่านวิทยุกระจายเสียงในสถานีวิทยุ รวมทั้งเคยถูกนำไปทำละครโทรทัศน์ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 ในช่วงทศวรรษ 2520

ทุกวันนี้ “ละครคุณธรรม” แพร่หลายอยู่ในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย แม้บทบางเรื่องดูไม่น่าเป็นไปได้ แต่เมื่อขึ้นชื่อว่า “ละคร” แล้ว นอกจากความสมจริง แก่นของเรื่องก็คงเป็นคติสอนใจที่คนดูจะได้รับนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

อาสา คำภา. ลอกคราบพุทธแท้: ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาชนชั้นกลางไทยร่วมสมัย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2567.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 เมษายน 2567