ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
ใครคือเจ้านายนักเรียนนอก ที่เป็น “ดอกเตอร์คนแรก” ของราชวงศ์จักรี
“ดอกเตอร์พระองค์แรก” แห่งราชวงศ์จักรี คือ Dr. Dilock Prinz von Siam หรือ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ เป็นดอกเตอร์วิทสตาตส์วิสเซนซัฟท์ (Doktor der Staatswissenschaften) มหาวิทยาลัยทึบบิงเงน มหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ที่เมืองทึบบิงเงน ทางตอนใต้ของเยอรมนี
พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ พระโอรสเชื้อสายเจ้านายฝ่ายเหนือ
พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ (พ.ศ. 2427-2455) ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 44 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาทิพเกสร-เจ้านายฝ่ายเหนือท่านแรกที่เข้ามาเป็นบาทบริจาริกาในรัชกาลที่ 5 (ก่อนหน้าพระราชชายาเจ้าดารารัศมีหลายปี) โดยเป็นหลานทวดของพระเจ้ากาวิละ พระเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 1
ระหว่างเดือนเมษายน-ธันวาคม พ.ศ. 2440 รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก ครั้งนั้นมีพระราชโอรสตามเสด็จ 4 พระองค์ หนึ่งในนั้นคือ พระองค์เจ้าดิลกฯ ที่ตามเสด็จเพื่อการศึกษา พระองค์ทรงเข้าเรียนที่โรงเรียนวอร์เรนฮิลล์ ประเทศอังกฤษ เพื่อศึกษาในระดับประถมศึกษาตอนปลาย ก่อนที่จะย้ายไปเรียนที่โรงเรียนมัธยมชาร์เตอร์เฮ้าส์
แต่แล้วก็เกิด “ข่าวร้าย”
เดือนตุลาคม พ.ศ. 2443 พระองค์เจ้าดิลกฯ เสด็จกลับกรุงเทพฯ เพราะเจ้าจอมมารดาเจ้าทิพเกสรป่วยหนัก และถึงอนิจกรรมในไม่ช้า ด้วยพระองค์ไม่มีเจ้าพี่หรือเจ้าน้องร่วมพระมารดา คราวนั้นพระองค์เจ้าดิลกฯ ประทับอยู่เมืองไทยนานถึง 8 เดือน จนกระทั่งเสร็จสิ้นงานศพของพระมารดา จึงทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เสด็จกลับไปศึกษาต่อที่อังกฤษ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2444
การว่างเว้นการเรียนไปนาน ทำให้พระองค์ทรงเรียนไม่ทันพระสหายในชั้น จึงต้องทรงย้ายไปเข้าเรียนที่โรงเรียนมัธยมของเอกชนที่แครมเม่อร์ จากนั้นไม่นานก็ทรงย้ายไปศึกษาที่โรงเรียนมัธยมที่เมืองฮาลเล เยอรมนี ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2444 ภายใต้การควบคุมดูแลของ ดร. ตริน ศาสตราจารย์ชาวเยอรมัน
ที่นั่น พระองค์ทรงมีความขยันหมั่นเพียรเป็นอย่างสูง จนสามารถเรียนรู้ภาษาเยอรมันได้อย่างแตกฉาน และสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาภายในเวลาเพียง 2 ปีเท่านั้น
พ.ศ. 2446 พระองค์เจ้าดิลกฯ ทรงเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยมิวนิคในหลักสูตรวิชา “เศรษฐกิจการเมือง” ที่เน้นการศึกษาในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม, ลัทธิเศรษฐกิจ, เศรษฐศาสตร์แรงงาน ตลอดจนวิชารัฐศาสตร์ คือวิชาที่เกี่ยวกับการเมืองและการปกครอง
หลังจากทรงศึกษาที่มหาวิทยาลัยมิวนิคเป็นเวลา 2 ปี พระองค์ทรงย้ายไปศึกษาในแขนงวิชาเดียวกัน ณ มหาวิทยาลัยทึบบิงเงิน มหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงของเยอรมนี
พ.ศ. 2450 ทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ โดยทรงทำวิทยานิพนธ์เป็นภาษาเยอรมันเรื่อง “เกษตรกรรมในสยาม: บทวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ”
การรับปริญญาในปีนั้น มีพระราชโอรสของกษัตริย์ 2 พระองค์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกพร้อมกัน หนึ่งคือ เจ้าชายออกกัส วิลเฮลม์ แห่งปรัสเซีย พระราชโอรสของไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2 และพระองค์เจ้าดิลกฯ จากสยาม
ในบรรดาพระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 จำนวน 9 พระองค์ ที่ทรงมุ่งศึกษาวิชาการทางพลเรือนโดยเฉพาะ มีเพียง 4 พระองค์เท่านั้นที่ทรงได้รับปริญญาจากมหาวิทยาลัย คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ได้ปริญญาจากออกซฟอร์ด, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย ได้ปริญญาจากเคมบริดจ์ และองค์ที่ 4 ก็คือ กรมหมื่นสรรควิสัยนรบดี หรือพระองค์เจ้าดิลกฯ ที่ได้ดุษฎีบัณฑิต
หากชีวิตส่วนพระองค์กลับอาภัพและโดดเดี่ยวยิ่ง
พระองค์ค่อนข้างจะทรงว้าเหว่ ด้วยพระมารดาสิ้นพระชนม์ตั้งแต่พระองค์มีชันษาเพียง 16 ปี ทั้งทรงไม่มีเจ้าพี่เจ้าน้องร่วมพระมารดาแม้แต่พระองค์เดียว ทรงมีเพียงพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ที่มีความเกี่ยวข้องเป็นญาติพระมารดา ซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงขอให้ช่วยดูแลพระราชโอรส นั่นทำให้พระองค์เจ้าดิลกฯ ทรงมีโอกาสพบกับ เจ้าสิริมา ณ เชียงใหม่ ธิดาเจ้าคำวงศ์ และมีการหมั้นหมาย
แต่กลับเกิดโศกนาฏกรรมขึ้นอีกคราว ด้วยเจ้าสิริมาเสียชีวิตอย่างคาดไม่ถึง เมื่อเป็นตะคริวขณะกำลังว่ายน้ำเล่นในสระน้ำ พระราชวังดุสิต
เมื่อทราบข่าวร้าย พระองค์เจ้าดิลกฯ ก็ทรงเสียพระทัยจนทรงพระประชวร ต่อมาก็ได้ปลงพระชนม์เองด้วยพระแสงปืน เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2455 ขณะมีพระชันษา 29 ปี เป็นการปิดฉากดอกเตอร์พระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี
อ่านเพิ่มเติม :
- “เจ้าทิพเกษร” เจ้านายเชียงใหม่พระองค์แรก ที่ถวายตัวในรัชกาลที่ 5
- วิทยานิพนธ์เกี่ยวกับเมืองไทยโดย “พระองค์เจ้าดิลกฯ” ดอกเตอร์คนแรกของราชวงศ์จักรี
- รัชกาลที่ 5 ทรงหมั้นหมาย “เจ้าดารารัศมี” ด้วยพระกุณฑลระย้าเพชร จริงหรือ?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพ็ชร, เศรษฐกิจสยาม บทวิเคราะห์ในพระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ กรมหมื่นสรรควิสัยบดีฯ, สำนักพิมพ์มติชน พฤศจิกายน 2544.
สุพจน์ แจ้งเร็ว. “ศรีเมืองเชียงใหม่” ใน, ศิลปวัฒนธรรม พฤษภาคม 2547.
สรศัลย์ แพ่งสภา. “จดหมายถึงบรรณาธิการ พระองค์ดิลกเจ้าชายผู้ถูกลืม” ใน, ศิลปวัฒนธรรม กรกฎาคม 2547.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 เมษายน 2567