ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2527 |
---|---|
ผู้เขียน | ดร. บี. เจ. เตรวิล |
เผยแพร่ |
เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2527 ที่ระบบอินเทอร์เน็ต ยังไม่แพร่หลาย การสืบค้นเอกสารเก่าที่น่าสนใจยังคงทำได้เพียงถ่ายเอกสารจากเอกสารชั้นต้น ดร.บี.เจ.เตรวิล จาก Asian History Centre แห่ง The Australian National University ได้เขียนรีวิววิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของพระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ ไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ตอนท้ายของบทความ ดร.เตรวิลเขียนว่า
“เป็นความยินดีอย่างยิ่งสำหรับข้าพเจ้า ในอันที่ได้แนะนำหนังสือเล่มนี้ต่อสาธารชนในประเทศไทย ถ้าแม้ว่าผู้อ่านท่านใดต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม หรือหากมีปรารถนาให้ข้าพเจ้าสำเนาหน้าใดหน้าหนึ่ง ขอให้ติดต่อกับข้าพเจ้าได้โดยสะดวกใจตามที่อยู่ต่อไปนี้…”
พร้อมกับให้ที่อยู่ในการติดต่อ เพื่อแบ่งปั่นข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทยแก่นักวิชาการไทย วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เป็นอย่างไร จึงขอยกรีวิวของดร.เตรวิล มาดังนี้
เมื่อไวๆมานี้ เพื่อนคนได้ให้หนังสือภาษาเยอรมันที่หายากเล่มหนึ่งแก่ข้าพเจ้า ชื่อหนังสือ Die Landwirtschaft in Siam เขียนโดย Dilock Prinz von Siam หนังสือเล่มดังกล่าวนี้ตีพิมพ์ในปี 1907 (พ.ศ. 2449/2450) หรือ 77 ปีล่วงมาแล้ว ชื่อหนังสือนั้นอาจแปลเป็นพากย์ไทยได้ว่า การเศรษฐกิจในประเทศสยาม โดย พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ เป็นวิทยานิพนธ์ของพระองค์ที่ทรงเสนอเพื่อรับปริญญาดุษฎีบัณฑิต ณ มหาวิทยาลัยทุบบิงเงน (บ้างสำนวนแปลว่าทึบบิงเงน) ประเทศเยอรมนี หนังสือเล่มนี้
เป็นหนังสือที่หาได้ยาก และในเมืองก็ไม่มีมากสักกี่ท่านเลย ที่จะอาจอ่านได้อย่างสะดวกดายนัก
ทุกวันนี้ที่จะหาคนพอรู้พระนามของพระองค์เจ้าดิลกฯ ได้ก็ทั้งยากเต็มที พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 44 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีเจ้าจอมมารดาทิพเกสรชาวเชียงใหม่เป็นพระมารดา พระองค์ก็ทรงเช่นกับเจ้านายพี่น้องทั้งหลายนั้นเอง
กล่าวคือ ได้เสด็จยังต่างแดนเพื่อทรงรับการศึกษา เมื่อแรกที่ประเทศอังกฤษ สืบมาก็ที่ประเทศเยอรมนี ครั้นเมื่อเสด็จคืนกลับสู่สยาม ทรงได้เป็นอำมาตย์เอก เจ้ากรมพลัมภังกระทรวงมหาดไทย
ต่อมาทรงได้รับการเฉลิมฉลองพระยศเป็นกรมหมื่นในปี พ.ศ. 2455 เลื่อนเป็นมหาอำมาตย์ตรีคงในตำแหน่งในกระทรวงมหาดไทย เป็นที่น่าเศร้าสดลยิ่งที่พระองค์ต่องสิ้นพระชนม์ลงด้วยพระเศียรต้องกระสุนปืนเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2455 ขณะมีพระชนมายุ 29 พรรษา
ในบทความขนาดสั้นนี้ ข้าพเจ้ามีความปรารถนาที่จะเสนอความโดยย่อเกี่ยวกับวิทยานิพนธ์ของพระองค์ บางทีเราอาจจะได้เรียนรู้ถึงบางสิ่งบางประการเกี่ยวกับสมาชิกพระองค์หนึ่งของราชวงศ์ที่ไม่สู้จะมีผู้รู้จักพระองค์นักบ้างก็เป็นได้ ประการหนึ่ง ในการที่สาธยายความถึงเนื้อหาสาระของหนังสือเล่มนี้ ข้าพเจ้าอาจพอช่วยการค้นคว้าวิจัยของชาวไทยบางท่านในเวลาข้างหน้าต่อไปได้บ้าง ในส่วนอันเกี่ยวแก่ประวัติศาสตร์สังคมและเศรษฐกิจของประเทศนี้ ด้วยการแนะหนังสืออันหาได้ยากและทรงค่ายิ่งเล่มนี้แก่เขาผู้นั้น (เวลานี้ นักวิชาการไทยกำลังเริ่มต้นลงมืแปลหนังสือเล่มนี้ออกเป็นภาษาไทยแล้ว โดยการอุดหนุนของมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์แห่งประเทศไทย)
รูปเล่มหนังสือดูเป็นหลักฐานแน่นหนามั่นคงอยู่ เป็นส่วนเนื้อหาตำราเสีย 216 หน้า กับตารางเป็นแผ่นพับขนาดใหญ่ 8 แผ่นประกบอยู่ในตอนท้าย
บทแรก เป็นข้อพรรณากว้างๆ ทางด้านภูมิศาสตร์ของสยาม อันรวบรวมเอารัฐไทรบุรี, กะลันตัน แลตรังกานู เข้าไว้ด้วย ซึ่งในขณะที่ทางหนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์ออกเผยแพร่นั้น ยังเป็นส่วนหนึ่งของพระราชอาณาจักรสยามอยู่ ทว่าอย่างไรก็ตามที ข้อพรรณนาของพระองค์เกี่ยวกับทะเลสาบเขมร ที่ว่าอยู่ระหว่างแดนต่อแดนสยามกับเขมรนั้น ก็ไม่ต้องกับที่เป็นจริงในเวลานั้นแล้ว ตลอดทั้งเล่ม พระองค์เจ้าดิลกฯ หาได้รับรองนำพาต่อการรุกเข้ายึดครองของฝรั่งเศสในระยะไล่ๆ กันนั้นไม่ บางที่จะเนื่องมาแต่ความขมขื่นพระทัยแลความรู้สึกอันเดือดพล่านอขงพระองค์ต่อเรื่องการปฏิบัติที่สยารมได้รับจากฝรั่งเศสก็เป็นได้
บทที่สอง ทรงกล่าวถึงระบบกฎหมาย พระเจ้าแผ่นดินแลเจ้านายบรมวงศานุวงศ์ เจ้าเมืองออก ขุนนางข้าราชการ ราษฎร แลทาส ในแต่ละส่วนนั้นก็ยังซอยย่อยลงไปอีกตามลำดับชั้น ทรงให้รายละเอียดเกี่ยวกับแรงงานเกณฑ์ไว้เป็นจำนวนมาก ตลอดถึงทั้งข้อสังเกตบางประการในเรื่องเลขสม (พวกไม่มีสังกัดที่พยายามเลี่ยงการสัก)[*] ซึ่งจะเป็นที่น่าสนใจมากต่อนักประวัติศาสตร์ ทรงใส่พระทัยเป็นพิเศษต่อผลกระทบจากฎหมายใหม่ที่ตราออกในปี 1899 (พ.ศ. 2441/2442) แหละก็อีกเช่นกัน ระบบกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไปในปี 1900 (พ.ศ.2442/2443) ในเรื่องการสมรสและระบบมรดก ก็ได้ทรงสาธกในส่วนรายละเอียดไว้ไม่น้อยทีเดียว
ในบทต่อมา ทรงเค้าโครงการกว้างๆ เกี่ยวกันการเศรษฐกิจของชาวสยาม ทรงกำหนดอธิบายประเทศสยามว่า เป็นรัฐเกษตรกรรมแท้ๆ ในพระมติของพระองค์เจ้าดิลกฯ นั้น ที่การอุตวสาหกรรมไม่อาจหยั่งรากลงในสยามได้ ก็ด้วยอาศันมาแต่เหตุ 3 ประการคือ
1.ประเทศสยามขาดแคลนแหล่งทรัพยากรธรรชาติ อาทิ เช่น เหล็ก
2.ประชาชนในเขตอากาศร้อนหาได้ทำงานโดยอุปนิสัยอย่างชนิดที่การอุตสาหกรรมจะพึงต้องการไม่
3.การเกษตรกรรมยังคงขยายออกไป แหละได้ผลตอบแทนมาง่ายกว่าแลงามกว่า
บางตอนต่อๆ มาในบทนี้ (หน้า 71) ผู้ทรงนิพนธ์ทรงตั้งข้อสังเกตว่า อุปสรรคอันใหญ่หลวงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของสยามก็คือการขาดแคลนเงินทุนแลสินเชื่อ นี่เป็นข้อสังเกตที่อยู่ข้างจะสอดคล้องกับช่วงเวลาระยะนั้นมาก (หน้า 94) ทั้งทรงเร่งเร้าให้รัฐบาลปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีแหละให้ทบทวนฐานรายได้ของรัฐเสียใหม่ด้วย
ผู้ทรงนิพนธ์ได้ให้รายละเอียดแก่เราในเรื่องการถือครองที่ดินว่า อัตราโดยเฉลี่ยต่อครอบครัวหนึ่งๆ คือ 80-100 ไร่ และในที่ที่น้ำท่วมถึงดีก็เขยิบขึ้นไปจนถึง 200 ไร่ ราคาที่ดินก็มีตั้งแต่ระดับต่ำ กล่าวคือบาทหนึ่งต่อไร่ไปจนสูงถึง 80 บาท
ส่วนที่น่าสนใจนั้นเกี่ยวกับเรื่องปัญหาผู้ใช้แรงงาน ผู้ใช้แรงงานที่ร่อนเร่รับจ้างนี้ส่วนข้างมากสุดมาจากดินแดนส่วนที่อัตคัตแร้นแค้นของสยาม ทำงานปีละ 9 เดือน ได้รับอาหารและที่พักฟรี กับค่าจ้างอีก 80 บาท อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้แรงงานส่วนนี้ก็ถุกรุกโดนแรงงานที่มีราคาถูกว่าของคนจีน พวกกุลีนั้นหลับนอนได้โดยไม่ต้องมีชายคาคุ้มหัว หรือแม้ในเรือ กุลีหกหรือเจ็ดคนก็อาจจะเข้าหุ้นค่าอาหารกัน ซึ่งน้อยเพียสักสลึงเดียว หรือสลึงเฟื้อง พระองค์เจ้าดิลกฯ ทรงเร่งเร้ารัฐบาลให้ดำเนินการ:
1.การเก็บภาษีที่ไม่เท่ากัน อันเป็นที่ชื่นชอบของพวกคนจีนเท่านั้น ควรจได้ยกเลิกไปเสียที
2.การอพยพเข้ามาของคนจีน ควรจะยอมรัแบต่เฉพาะพวกที่ร่ำรวย
ข้อพรรณาของท่านผู้ทรงนิพนธ์เกี่ยวกับผู้ใช้แรงงานชาวสยามนั้น กระจ่างชัดเทีเดียว
(หน้า 105) “ชาวสยามยอมอดยากหิวโหยเสียดีกว่าที่จะยอมมีชีวิตแบบพวกกุลีจีน พวกเขายะโสกับความเป็นอิสระ เขาจะยอมเชื่อฟังก็แต่ในสิ่งที่เข้ากับเขาได้เท่านั้น นี้จึงเป็นเรื่องไม่สู้ง่ายนักสำหรับรัฐบาลในอันที่จะปกครองพวกเขา ผู้ใช้แรงงานชาวสยามรักสนุกเฮฮา ผ้านุ่งห่มดีๆ แลของสวยของงาม ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาจะจ่ายสิ่งที่ได้มาด้วยการทำงานหนักกลางเปลวแดดได้อย่างคล่องมือ พวกเขาพร้อมเสมอที่จะชวนญาติมิตรมาร่วมวงกินอาหารมื้อใหญ่ มีมโหรีแลฟ้อนรำบำเรอ พวกเขายินดีที่จะจ่ายประดาสิ่งที่เขามีอยู่ทั้งหมดออกไป จะมีก็แต่ต่อเมื่อเขาจำเป็นจะต้องใช้เงินอีกคราวเท่านั้น เขาจึงจะหวนกลับไปทำงานกันอีก ฉะนั้นแหละ เขาก็ต้องทำง่ารหนักเป็นสองเท่าของกุลีจีน”
อิทธิพลของพุทธศาสนาก็เป็นสิ่งเลวร้ายต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต อย่างน้อยก็ในพระมติของท่านผู้ทรงนิพนธ์ พระองค์ทรงตั้งข้อสังเกตเป็นพิเศษถึงความไม่สมัครใจของชาวสยามในอันที่จะเลี้ยงหมูและงัวควายไว้เป็นอาหาร
ในบทที่สี่ อันเป็นบทที่ยาวที่สุด ได้ทรงพรรณาแบบวิธีการการผลิตทางการเกษตรไว้อย่าละเอียดลออมากที่เดียว แรกก็คือเพาะปลูกพืชพันธ์ แล้วก็เรื่องสัตว์เลี้ยงในบ้าน ผู้เชี่ยวชาญเป็นพิเศษในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของสยาม จะได้พบตารางและรูปแบบผังจำลองอันมีคุณค่าเป็นจำนวนมาก ที่พระองค์เจ้าดิลกฯ ทรงรวบรวมจากเอกสารของสยาม ซึ่งปัจจุบันบางอย่างอาจจะหาได้ยากแล้ว ข้อมูลสถิติที่พระองค์ทรงนำมาแสดงลงไว้ คลุมคร่าวๆ ในช่วงพงศ. 2413 ถึง พ.ศ. 2448 เช่นว่า ถ้าท่านประสงค์จะรู้ว่ามีม้าสักกี่ตัวที่เลี้ยงอยู่ในพิษณุโลกใน พ.ศ. 2447 พระองค์เจ้าดิลกฯ ก็จะทรงหาคำตอบไว้ให้ ว่า 2,572 ตัว หรือหากท่านต้องการทราบราคาไข่ในปี พ.ศ. 2445 ในบางกอก คำตอยก็จะหาได้ในหน้า 182
บทสุดท้ายประกอบขึ้นด้วยข้อสรุปจากการค้นพบที่สำคัญๆ บางเรื่อง กับข้อความเห็น ซึ่งข้าพเจ้าจะขอแปลแต่เฉพาะย่อ หน้าสุดท้ายเท่านั้น
“อาศัยเหตุนั้นก็คงจะเป็นที่น่ายิ่งดีนัก ถ้าหากรัฐบาลจะยอมช่วยเหลือด้วยการก่อตั้งชมรมผู้บริโภคและระบบสหกรณ์ออม ทรัพย์ขึ้นมา แหละขยับขยายวงออกไป กับทั้งถ้าหากว่ารัฐบาลจะได้ยอมดำเนินการทางกฎหมายอันจำเป็นการนี้สืบไป”
ตารางผนวก 8 ตารางก็เป็นที่น่าสนใจต่อนักประวัติศาสตร์อยู่ไม่น้อยเช่นกัน ตารางเหล่านี้เกี่ยวโยงอยู่กับเนื้อหาแต่หาก ใหญ่โตเกินกว่าที่จะจัดวางไว้ในที่อันเหมาะสมได้ และจะต้องอ่านโดยแนบเนื่องกับส่วนเนื้อหาตำรา
เป็นความยินดีอย่างยิ่งสำหรับข้าพเจ้า ในอันที่ได้แนะนำหนังสือเล่มนี้ต่อสาธารชนในประเทศไทย ถ้าแม้ว่าผู้อ่านท่านใดต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม หรือหากมีปรารถนาให้ข้าพเจ้าสำเนาหน้าใดหน้าหนึ่ง ขอให้ติดต่อกับข้าพเจ้าได้โดยสะดวกใจตามที่อยู่ต่อไปนี้ :
DR. B.J TERWIEL
ASIAN HISTORY CENTRE THE AUSTRALIAN NATUONAL UNIVERSITY
P.O.BOX 4 CANBERRA ACT AUSTARALIA 2061
[*] คำอธิบายของพระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ-ผู้แปล
คลิกอ่านเพิ่มเติม : ประวัติ พระองค์เจ้าดิลกฯ “ดอกเตอร์พระองค์แรก” แห่งราชวงศ์จักรี
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่ิอ 25 มีนาคม 2562