ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
ณ มหาวิทยาลัยทึบบิงเงน มหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ที่เมืองทึบบิงเงน ทางตอนใต้ของเยอรมนี ปี พ.ศ. 2450 มีพระราชโอรสของกษัตริย์ 2 พระองค์กับปริญญาระดับปริญญาเอกพร้อมกัน
หนึ่งคือ Dr. August Wilhelm Prinz von Preusen หรือ เจ้าชายออกกัส วิลเฮลม์ แห่งปรัสเซีย พระเจ้าลูกยาเธอองค์ที่ 4 ของไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2 หนึ่งคือ Dr. Dilock Prinz von Siam หรือ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ พระราชโอรสลำดับที่ 44 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งสยามประเทศ
พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ เป็นสมาชิกพระองค์แรกของราชวงศ์จักรีที่ได้ “ดอกเตอร์”
ดิลกนพรัฐ: ศรีเชียงใหม่
พระประวัติของพระองค์เจ้าดิลกนพรัฐนั้น มีปรากฏในหนังสือ “ราชสกุลวงศ์” ตอน “พระราชโอรสพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5” ดังนี้
“ที่ 44 พระองค์เจ้าชายดิลกนพรัฐ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสรรควิสัยนรบดี) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาทิพเกสร เมื่อวันเสาร์ เดือน 6 ขึ้น 9 ค่ำ ปีวอก ฉศก จ.ศ. 1246 ตรงกับวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2427 เมื่อ พ.ศ. 2440 ได้เสด็จไปทรงศึกษาในประเทศอังกฤษและเยอรมนี เป็นดอกเตอร์วิทสตาตส์วิสเซนซัฟท์ (Doktor der Staatswissenschaften) ในมหาวิทยาลัยทึบบิงเงน (University of Tubingen)ในรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2451 เป็นปลัดกรม (พิเศษ) แผนกอัยการต่างประเทศ กรมฝ่ายเหนือ กระทรวงมหาดไทย ครั้น พ.ศ. 2452 เป็นปลัดสำรวจ กรมฝ่ายเหนือ กระทรวงมหาดไทย ต่อมา พ.ศ. 2453 เป็นเจ้ากรม กรมเลขานุการ กระทรวงมหาดไทย และได้รับตำแหน่งเจ้ากรมพลำภัง
ถึงรัชกาลที่ 6 เมื่อปีชวด จัตวาศก จ.ศ. 1274 พ.ศ. 2455 ทรงสถาปนาเป็นพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นสรรควิสัยนรบดี และเลื่อนเป็นมหาอำมาตย์ตรี คงตำแหน่งในกระทรวงมหาดไทย สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 6 เมื่อวันอาทิตย์ เดือนยี่ ขึ้น 6 ค่ำ ปีชวด จัตวาศก จ.ศ. 1274 ตรงกับวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2455 พระชันษา 29 ปี พระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุ วัดราชาธิวาส เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2457”
เจ้าจอมมารดาเจ้าทิพเกสร นับเป็นเจ้านายฝ่ายเหนือท่านแรกที่เข้ามาเป็นบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ก่อนหน้าพระราชชายาเจ้าดารารัศมีหลายปี) ท่านยังเป็นหลานทวดของพระเจ้ากาวิละ พระเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 1 โดยเจ้าจอมมารดาเจ้าทิพเกสรเป็นธิดาของของเจ้าสุริยะ (บุตรชายคนเดียวของเจ้าหนานวงศ์ โอรสองค์ที่ 3 ของพระเจ้ากาวิละ) กับเจ้าหญิงสุวัณณา เหตุที่ทรงมีสายพระโลหิตสัมพันธ์กับเจ้านายฝ่ายเหนือเช่นนี้ พระราชโอรสที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเจ้าทิพเกสรจึงได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระราชบิดาว่า “ดิลกนพรัฐ” อันมีความหมายสำคัญ
สมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ทรงบันทึกไว้ในจดหมายเหตุรายวัน แต่ครั้งทรงพระเยาว์ ถึงพระนามนี้ว่า
“…เสด็จขึ้นเกือบค่ำ เสด็จลงสมโภชน้องชายลูกทิพย์เกษร ทูลหม่อมบนประทานชื่อว่า ดิลกนพรัฐ สมเด็จแม่ทรงแปลประทานเราว่า ศรีเมืองเชียงใหม่…”
นักเรียนนอก
เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2440, การเสด็จประพาสยุโรปครั้งนั้นมีพระราชโอรสตามเสด็จ 4 พระองค์ คือสมเด็จเจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย (กรมขุนศรีธรรมราชธํารงฤทธิ์), สมเด็จเจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร (กรมหลวง ลพบุรีราเมศวร์), พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ (กรมหลวงสิงหวิกรม เกรียงไกร), และพระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ (กรมหมื่นสรรควิสัยนรบดี) ขณะมีพระชันษาได้ 13 ปีบริบูรณ์นอกจากนั้นก็มีพระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส (กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ซึ่งเป็นพระโอรสในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ) และนักเรียนอื่นๆ อีก 14 นาย
เมื่อถึงอังกฤษ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐได้ทรงเข้าเรียนที่โรงเรียนวอร์เรนฮิลล์ เพื่อศึกษาในระดับประถมศึกษาตอนปลาย ก่อนที่จะย้ายไปเรียนที่โรงเรียนมัธยมชาร์เตอร์เฮ้าส์ ทั้งๆ ที่โรงเรียนมัธยมกินนอนที่อีตัน ได้ตกลงรับเข้าศึกษาแล้ว เหตุผลที่พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐมิได้เสด็จไปเข้าอีตัน ก็เพราะพระยาพระเสด็จฯ เมื่อยังเป็นพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ ผู้ซึ่งได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้า ให้เป็นผู้ดูแลการศึกษาของพระราชโอรสในอังกฤษขณะนั้น มีความดําริเห็นว่าพระเจ้าลูกยาเธอยังขาด “ความพร้อม” ที่จะไปเรียนที่อีตัน
ต่อมาในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2443 พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ ได้เสด็จกลับกรุงเทพฯ เพราะเจ้าจอมมารดาเจ้าทิพเกสรป่วยหนักและถึงอนิจกรรมในไม่ช้า ด้วยพระองค์ไม่มีเจ้าพี่หรือเจ้าน้องร่วมพระมารดา คราวนั้นพระเจ้าลูกยาเธอฯ ได้ประทับอยู่เมืองไทยนานถึง 8 เดือน จนกระทั่งเสร็จสิ้นงานศพของพระมารดา จึงทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เสด็จกลับไปศึกษาต่อที่อังกฤษในเดือนมิถุนายน 2444
การว่างเว้นการเรียนไปนานหลายเดือนทําให้พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐทรงเรียนตามพระสหายในชั้นเรียนไม่ทัน จึงต้องทรงย้ายไปเข้าเรียนที่โรงเรียนมัธยมของเอกชนที่แครมเม่อร์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดําริมาตั้งแต่แรกแล้วที่จะให้พระราชโอรสพระองค์นี้ได้ศึกษาวิชาพลเรือน โดยเจ้าพระยาพระเสด็จฯ ผู้ดูแลการศึกษาของพระเจ้าลูกยาเธอในอังกฤษขณะนั้นก็ได้จัดแนวการศึกษาของพระองค์เจ้าดิลกฯ ไปสู่วิชาการปกครอง
ความขยันขันแข็งในการเล่าเรียนของพระราชโอรสเป็นที่ประจักษ์ กันโดยทั่วไปตั้งแต่เสด็จมาถึงประเทศอังกฤษ โดยทรงมีความมุ่งมั่น ในการแสวงหาความรู้อย่างแท้จริง สําหรับที่มีพระราชกระแสรับสังว่า
“…ชายดิลก เป็นคนตาสั้นข้างหนึ่ง ตามตํารา เขาก็จะไม่เอาเป็นทหารกันอยู่ ควรจะจัดให้เล่าเรียนฝ่ายพลเรือน ดิลกนั้นเป็นคนขยันในการเล่าเรียน มีไอเดียเป็นลาวๆ อยู่บ้าง ถ้าไม่มีความรู้อาจจะฟุ้งซ่านได้เล็กน้อย แต่เป็นคนไม่สู้กล้า ยังจะเอาเป็นแน่ไม่ได้ ด้วยอยู่ในเวลากําลังที่จะเปลี่ยนแปลง นี่แลเป็นการที่สังเกตได้ในอัธยาศัยทั้งเก่าทั้งใหม่ดังนี้ แต่ต้องสังเกตเมื่อเวลาเจริญขึ้นต่อไป เมื่อตรวจเห็นผิดถูกประการใด ขอให้บอกมาให้ทราบ แลคอยสังเกตตาไว้ จัดการป้องกันแลแก้ไขเข้าหา ให้ทางที่จะเสียหย่อน ไป ให้สิ่งที่หย่อนอยู่เจริญขึ้น”
ตรงที่ทรงกล่าวว่า “มีไอเดียเป็นลาวๆ” นั้น อาจพระองค์เจ้าดิลกนพรัฐทรงเป็นพระราชโอรสเพียงพระองค์เดียวที่มีเจ้าจอมมารดาเป็นชาวเหนือ ซึ่งในสมัยนั้นยังถือว่าเป็น “ลาว”
ในปีเดียวกันนี้ ปรากฏว่าพระองค์เจ้าดิลกนพรัฐทรงมีความขัดแย้งกับพระยาประสิทธิศัลยการและนายเวอร์นี ซึ่งได้รับหน้าที่ผู้ดูแลการศึกษาของบรรดาพระราชโอรสในอังกฤษขณะนั้น เรื่องโรงเรียนที่ผู้ดูแลฯ จัดให้ทรงเข้าศึกษา พระองค์เจ้าดิลกฯ ได้ทรงมีลายหัตถ์ ถึงพระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) ผู้ซึ่งคงจะมีทัศนคติสอดคล้องต้องกัน ปรารภถึงปัญหาการศึกษาเล่าเรียนว่าไม่ต้องพระประสงค์ที่จะอยู่โรงเรียนของเอกชน พระยาสุริยานุวัตร อัครราชทูต ณ กรุงปารีส ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลความว่า ผู้ดูแลฯ มักจะตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ไปโดยไม่รับฟังเหตุผลจากพระเจ้าลูกยาเธอฯ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดําริว่า พระยาสุริยานุวัตร ดูเหมือนจะเชื่อพระเจ้าลูกยาเธอฯ มากเกินไป และทรงกล่าวถึงพระราชโอรสว่าเมื่อกลับเมืองไทยก็มิได้แสดงความเฉลียวฉลาด และก็ไม่ค่อยจะแข็งแรงด้วย หากเป็นผู้มีความเพียร ดังนั้นเมื่อเรียนที่อังกฤษมีปัญหาก็ควรจะให้ย้ายไปเรียนที่เยอรมัน แม้จะต้องเริ่มต้นกันใหม่ก็คงจะไม่ “ถอยหลังเข้าคลองเท่าไรนัก”
ในที่สุดก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ ย้ายไปศึกษาที่เยอรมนีในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2444
ในระหว่างที่พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนมัธยมที่เมืองฮาลเล ภายใต้การควบคุมดูแลของ ดร. ตริน ศาสตราจารย์ชาวเยอรมัน, พระองค์ทรงมีความขยันหมั่นเพียร เป็นอย่างสูงจนสามารถเรียนรู้ภาษาเยอรมันได้อย่างแตกฉานและสําเร็จชั้นมัธยมศึกษาภายในเวลาเพียง 2 ปีเท่านั้น
ดอกเตอร์พระองค์แรกในราชวงศ์
พ.ศ. 2446 เมื่อมีพระชันษา 15 ปีบริบูรณ์ และได้ประทับอยู่ในยุโรปมาแล้วกว่า 6 ปี พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ ได้ทรงเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยมิวนิคในหลักสูตรวิชา “เศรษฐกิจการเมือง” พระองค์ทรงเลือกศึกษาวิชาที่เน้นในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม, ลัทธิเศรษฐกิจ, เศรษฐศาสตร์แรงงาน ตลอดจนวิชารัฐศาสตร์ คือวิชาที่เกี่ยวกับการเมืองและการปกครอง
การเล่าเรียนของพระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ มีความเป็นไปฉันใดเราไม่ทราบ แต่ในปี 2446 สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ พระราชโอรสซึ่งกําลังทรงศึกษาวิชาทหารอยู่ในเยอรมัน มีความบางตอนที่ทรงกล่าวถึง “ตาดิลก” (เวลานั้นเสด็จไปเยอรมันแล้ว) จากข้อความนั้นเหมือนมีปัญหาบางประการเกิดขึ้น ทรงกล่าวว่า
“ขอแรงให้ช่วยแก้ไขตาดิลก ตามแต่จะมีอานุภาพแก้ไขอย่างไรได้ แกจะฟู้ๆ อย่างไรตามที่ได้รับหนังสือพระยาวิสูตร ว่าอยากจะไปเรียนตํารวจภูธร พระยาสุริยาก็ได้ห้าม แต่แกออกไม่พอๆ คราวนี้มิสเตอร์เกฮิเนียสไปเยี่ยม ได้ความว่า แกรู้ภาษาเยอรมันน้อยนัก ไปอยู่บ้านตาโปรเฟซเซออไรจําไม่ได้ กินเข้าลงมากินเข้าแล้วก็กลับเข้าห้องอ่านสือ
มร.เกฮิเนียสไปตักเตือน แกออกจะยิ้มเยาะยิ้มเย้ยเอา คําที่ว่านี้ เขาใช้คำว่าเกือบจะเปนเช่นนั้นจริงด้วย จนถึงตาเกฮิเนียสแกจะออกกลัวเปนบ้า เว้นแต่แกพูดไม่ออกมาชัด พ่อได้เขียนหนังสือไปถึงตัวฉบับหนึ่ง แต่คเนใจแกยากว่าอย่างไรจะแก้หาย สังเกตดูๆ เหมือนกับแกเลื่อมใสอยากจะเอาอย่างเจ้าอยู่ ให้คิดอ่านหาเวลาพบ แลลองหยั่งแกดูว่าเนื้อความมันเพียงไร แลจะพูดจาผันแปรแก้ไข เอาเป็นที่ อย่างไรให้แกประพฤติตัวเปนคนๆ ได้ ขอเวลาให้ลองคิดอ่านดูให้เตมฝีมือสักที…”
ใน พ.ศ. 2446 ระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยมิวนิค พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐเสด็จไปประเทศโปรตุเกสในช่วงที่มหาวิทยาลัยปิดภาคคฤดูร้อน โดยมิได้ทรงแจ้งให้สถานทูตไทยที่กรุงเบอร์ลินทราบ มีเพียงมหาดเล็กคนสนิทเท่านั้นที่ตามเสด็จ ตอนข้ามแดนพระองค์เจ้าดิลกนพรัฐทรงถูกเจ้าหน้าที่ศุลกากรจับกุมในข้อหานำบุหรี่เข้าประเทศในจํานวนเกินกว่าที่กฎหมายอนุญาต ปรากฏเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์เมืองอังกฤษ พระยาวิสูตรโกษา (ฟัก สาณะเสน) อัครราชทูตสยาม ณ กรุงเบอร์ลินได้ทําหนังสือทูลเกล้าฯ ถวาย รายงานเข้าไปยังกรุงเทพฯ ทําให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกริ้ว และมีพระราชกระแสให้ส่งพระราชโอรสกลับเมืองไทย
ขณะนั้น พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) ทราบเรื่องดังกล่าวก็รีบทําหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยให้เหตุผลว่าเรื่องนี้ หนังสือพิมพ์อังกฤษลงข่าวเกินกว่าเหตุ เพราะการละเมิดกฎหมายอันเกี่ยวกับภาษี ณ ด่านศุลกากรทุกหนทุกแห่งเป็นเรื่องปกติที่มิใช่เป็นการกระทําผิดที่ร้ายแรงแต่ประการใด พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐไม่เคยมีความประพฤติเสียหาย ทรงขยันหมั่นเพียรในการเล่าเรียนมาก ซึ่งคาดว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้าก็จะทรงสําเร็จการศึกษาแล้ว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงพิจารณาตามที่พระยาสุริยานุวัตรกราบบังคมทูลแล้ว จึงพระราชทานพระราชานุญาตให้พระราชโอรสทรงศึกษาต่อไป
ภายหลังที่ได้ทรงศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยมิวนิคเป็นเวลา 2 ปี พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐก็ได้ทรงย้ายไปศึกษาในแขนงวิชาเดียวกัน ณ มหาวิทยาลัยทึบบิงเงิน ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงของเยอรมนีตอนใต้อีกแห่งหนึ่ง เมืองทึบบิงเงนอันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ใกล้กับเมืองสตูตท์การ์ต และอยู่ไปทางทิศตะวันตกของเมืองมิวนิค
สำหรับพระองค์เจ้าดิลกนพรัฐทรงสําเร็จการศึกษาในหลักสูตรปริญญาดอกเตอร์ทางเศรษฐศาสตร์ เรียกเป็นภาษาเยอรมันว่า “ดอกเตอร์วิทสตาตส์ วิสเซนชัฟท์” คือดุษฎีบัณฑิตของรัฐในวิชาเศรษฐศาสตร์ โดยทรงทำพระวิทยานิพนธ์เป็นภาษาเยอรมันเรื่อง “เกษตรกรรมในสยาม: บทวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ”
ซึ่งในบรรดาพระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 จํานวน 9 พระองค์ที่ทรงมุ่งศึกษาวิชาการทางพลเรือนโดยเฉพาะนั้น ก็จะมีเพียง 4 พระองค์เท่านั้นที่ทรงได้รับปริญญาจากมหาวิทยาลัย คือกรมหลวงราชบุรีฯ ได้ปริญญา บี.เอ. จากออกซฟอร์ด, กรมหลวงลพบุรีฯ และกรมขุนเพ็ชรบูรณ์ฯ ได้ปริญญา จากเคมบริดจ์, และองค์ที่ 4 ก็คือกรมหมื่นสรรควิสัยนรบดี หรือพระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ ที่ได้ดุษฎีบัณฑิต
หลังจากที่พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐทรงกลับมาเมืองไทยแล้ว ทรงเข้ารับราชการ ซึ่งขออ้างจาก“เรื่องเฉลิมพระยศเจ้านาย” ที่บันทึกไว้ ดังนี้
“ครั้นรัตนโกสินทร์ศก 126 เสร็จการศึกษาแล้ว ได้เสด็จกลับมารับราชการ ในกระทรวงมหาดไทย ในหน้าที่ปลัดกรมพิเศษแผนกอัยการต่างประเทศ แล้วเป็นปลัดสํารวจกรมมหาดไทยฝ่ายเหนือ และเป็นเจ้ากรมเลขานุการเป็นลําดับมา ในบัดนี้ได้ ดํารงพระเกียรติยศในตําแหน่งผู้ช่วยราชปลัด ทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย และเจ้ากรมพลําพัง ทรงพระปรีชาสามารถ อาจให้ราชากิจในหน้าที่นั้น ๆ สําเร็จโดยเรียบร้อยตลอดมา บัดนี้ก็ทรงวัยวุฒิสมควรจะได้รับพระเกียติยศ เป็นเจ้าต่างกรมพระองค์ 1 ได้”
ประกาศฉบับนี้ออกในปี พ.ศ. 2455 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 เวลานั้นทรงมีชนมพรรษาได้ 28 และปีนี้ก็เป็นปีสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพของพระองค์
มีข้อมูลชนิดเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย เกี่ยวกับพระองค์ดิลกนพรัฐอีกเรื่องหนึ่ง ที่ควรกล่าวไว้ในที่นี้ด้วย บางที่จะแสดงให้เห็นถึงพระนิสัยบางประการของพระองค์ได้
เมื่อปี 2453 ปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 5 เวลานั้นเสร็จการศึกษากลับมาเมืองไทยแล้ว วันหนึ่งหลังจากที่ทรงไปร่วมงานพระราชพิธี ได้ขับรถเพื่อเสด็จกลับวัง พอถึงมุมวังเปรมประชากรของกรมหลวงชุมพรฯ รถรางซึ่งแล่นมาเร็วเต็มที่และมิได้ให้สัญญาณก็พ้นมุมออกมา พอชนเอารถของพระองค์ตกลงไปในคลอง ทั้งพระองค์และมหาดเล็กไม่บาดเจ็บอะไรนักนอกจากฟกช้ำดําเขียว ฉลองพระองค์เต็มยศกันกระจกที่แหลกละเอียดไว้ได้
สิ่งแรกทรงกระทําเมื่อขึ้นมาจากคลองแล้ว แทนที่จะทรงตั้งศาลชําระความคนขับรถรางตรงนั้นเอง กลับเสด็จไปแจ้งความที่โรงพักเพื่อให้ตํารวจตัดสินคดี ความทราบถึง พระเนตรพระกรรณ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงทรงมีพระราชหัตถเลขาไปถึงเจ้าพระยายมราชว่า “แก (คือพระองค์ดิลกนพรัฐ) งุ่มง่ามไปโรงพักเปล่าๆ ควรจะไปหาเจ้าพระยายมราชจะสงเคราะห์ได้อย่างไร ขอให้ช่วยสงเคราะห์ด้วย”
การที่พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐทรงไปแจ้งความกับตํารวจ ไม่ตั้งศาลเตี้ย ไม่แม้แต่จะคิดไปหาเจ้าพระยายมราช เสนาบดีนครบาล ทั้งหมดนี้ออกจะผิดวิสัยของเวลานั้น พระองค์เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดิน เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่
ด้านชีวิตส่วนพระองค์เป็นที่เข้าใจว่าพระองค์เจ้าดิลกนพรัฐค่อนข้างจะทรงว้าเหว่ เพราะพระมารดาสิ้นพระชนม์ตั้งแต่ พ.ศ. 2443 และทรงไม่มีเจ้าพี่เจ้าน้องร่วมพระมารดาแม้แต่พระองค์เดียว อย่างไรก็ตามพระองค์ยังทรงมีพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ซึ่งทรงเป็นพระธิดาของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ พระเจ้าเชียงใหม่ที่ 7 และมีความเกี่ยวข้องเป็นญาติของเจ้าจอมมารดาเจ้าทิพเกสร พระมารดาของพระองค์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขอให้ช่วยดูแลพระราชโอรส และทำให้พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐทรงมีโอกาสพบกับเจ้าสิริมา ณ เชียงใหม่ ธิดาเจ้าคำวงศ์ จนได้ทรงหมั้นกับเจ้าสิริมา ณ เชียงใหม่
แต่กลับเกิดโศกนาฏกรรมขึ้น วันหนึ่งเจ้าสิริมาเสียชีวิตอย่างคาดไม่ถึง เมื่อเป็นตะคริวขณะที่กำลังว่ายน้ำเล่นในสระน้ำ พระราชวังดุสิต เมื่อทราบข่าวร้าย พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐก็ทรงเสียพระทัยจนทรงพระประชวร แล้วต่อมาก็ได้ปลงพระชนม์เองด้วยพระแสงปืน เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2455 ขณะมีพระชันษา 29 ปี อันเป็นการปิดฉากดอกเตอร์พระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี
ข้อมูลจาก :
ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพ็ชร, เศรษฐกิจสยาม บทวิเคราะห์ในพระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ กรมหมื่นสรรควิสัยบดีฯ, สำนักพิมพ์มติชน พฤศจิกายน 2544
สุพจน์ แจ้งเร็ว. “ศรีเมืองเชียงใหม่”, นิตยสารศิลปวัฒนธรรม พฤษภาคม 2547
สรศัลย์ แพ่งสภา. “จดหมายถึงบรรณาธิการ พระองค์ดิลกเจ้าชายผู้ถูกลืม”, นิตยสารศิลปวัฒนธรรม กรกฎาคม 2547
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 มีนาคม 2562