ผู้เขียน | เสมียนอารีย์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ท่านเคยสงสัยหรือไม่ว่า คนไทยเริ่มดื่ม “กาแฟ” กันมาตั้งแต่เมื่อใด?
ในที่นี้ต้องเท้าความไปที่ประวัติความเป็นมาของกาแฟกันสักหน่อย กาแฟมีถิ่นกำเนิดบริเวณทวีปแอฟริกา แล้วแพร่พันธุ์นำมาปลูกในดินแดนอาระเบีย ก่อนจะกระจายไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก
ในช่วงที่กาแฟถูกนำไปเผยแพร่ในดินแดนอาระเบียนั้น ดินแดนที่ตอบรับกาแฟเป็นแห่งแรกคือ เยเมน ในช่วงปลายศตวรรษที่ 14 ถึงต้นศตวรรษที่ 15 ในช่วงเวลานั้น กาแฟส่วนใหญ่เป็นของรับประทานสำหรับผู้นับถือศาสนาอิสลามนิกายซูฟี โดยเชื่อว่าการเคี้ยวเมล็ดกาแฟจะใช้ขจัดความง่วงในระหว่างการดำเนินพิธีกรรมทางศาสนาในช่วงกลางคืน และเพื่อใช้เป็นยาเสริมความสามารถในการเข้าถึงพระเจ้า
ต่อมา กาแฟก็ได้แพร่กระจายไปทั่วทั้งคาบสมุทรอาระเบียไปพร้อมกับผู้นับถือศาสนาอิสลามนิกายซูฟี ทั้งในไคโร ดามัสกัส และเมกกะ จากนั้นการดื่มกาแฟก็ได้รับความนิยมควบคู่กับการเผยแผ่ศาสนาอิสลามในอินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
กาแฟจึงน่าจะแพร่เข้าสู่ดินแดนประเทศไทยตั้งแต่สมัย กรุงศรีอยุธยา
ลา ลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามายัง กรุงศรีอยุธยา ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ บันทึกถึงกาแฟว่า “อนึ่ง แขกมัวร์ในประเทศสยามดื่มกาแฟ ซึ่งมาจากเมืองอาหรับ และชาวปอรตุเกศนั้นดื่มโกโก้ เมื่อมีส่งมาจากมนิลาเมืองหลวงของประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งนำมาจากอินเดียภาคตะวันออกในเขตคุ้มครองของสเปญอีกทอดหนึ่ง”
เชื่อว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยาอาจมีคนไทยได้ทดลองดื่มกาแฟบ้างแล้วเป็นแน่ แต่คงไม่เป็นที่นิยมมากนัก คงดื่มมากกันในหมู่แขกมัวร์ หรือก็คือชาวมุสลิมจากเปอร์เซีย (แถบประเทศอิหร่านในปัจจุบัน) ส่วนเครื่องดื่มของคนไทยสมัยนั้นที่นิยมคือ น้ำเปล่า หรือน้ำบริสุทธิ์อบให้หอม น้ำชาอย่างจีน เหล้า ทั้งที่เป็นเหล้าองุ่น และเหล้าพื้นบ้านที่หมักจากข้าว
ถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ยังคงปรากฏหลักฐานของกาแฟ อยู่ในบทพระราชนิพนธ์ “อิเหนา” ในสมัยรัชกาลที่ 2 ความว่า
“บ้างตั้งเครื่องบูชาระย้าแก้ว เป็นถ่องแถวสดสีไม่มีหมอง
คลังสมบัติจัดขันน้ำพานรอง กระโถนทองเหลืองตั้งเป็นแถวทิว
กรมท่าต้มน้ำชาเร็วรวด น้ำตาลกรวดลูกกาแฝ่แก้หิว
ใส่ถ้วยอย่างใหม่ลายริ้วริ้ว มีหูหิ้วลายทองรองจาน”
จะเห็นได้ว่า น้ำชา (อย่างจีน) ยังคงเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมอยู่ ส่วนกาแฟก็เริ่มมีบทบาทเข้ามาเป็นเครื่องดื่มอีกชนิดในสังคมชนชั้นสูง โดยเฉพาะการใส่ถ้วย “อย่างใหม่” นี้ก็น่าจะสะท้อนถึงถ้วยและจานรองกาแฟแบบตะวันตกที่เข้าสู่สยามแล้ว
แต่ที่มีบันทึกเป็นหลักฐานค่อนข้างแน่ชัดว่า คนไทยโดยเฉพาะขุนนางและชนชั้นสูงเริ่มดื่มกาแฟนั้น เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
โดยหมอบรัดเลย์ มิชชันารีชาวอเมริกันที่เข้ามายังสยามกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ โดยภายหลังจากหมอบรัดเลย์ปลูกฝีสำเร็จ จนได้รับความดีความชอบจากรัชกาลที่ 3 พระราชทานเงินให้หมอบรัดเลย์ 3 ชั่ง ราว 145 ดอลลาร์ หมอบรัดเลย์เดินทางไปรับเงินพระราชทานที่บ้านของพระคลัง ซึ่งน่าจะเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) เจ้าพระยาพระคลังในสมัยรัชกาลที่ 3 และได้ดื่มกาแฟในบ้านของขุนนางผู้ใหญ่แห่งตระกูลบุนนาค ดังที่หมอบรัดเลย์บันทึกว่า
“พระเจ้าอยู่หัวทรงซาบซึ้งพระราชหฤทัยในการทำงานบริการประชาชนของข้าพเจ้า แต่แทบไม่เคยคิดเลยว่าจะได้เห็นในรูปอื่นนอกเหนือจากเป็นวาจาเท่านั้น พระคลังส่งคนรับใช้มาพาข้าพเจ้าไปที่บ้านเพื่อรับพระราชทานเงินหลวงนั้น ข้าพเจ้าทำตาม และได้รับการต้อนรับอย่างให้เกียรติเป็นพิเศษ มีของกินคือกาแฟอย่างดี ซึ่งขณะนั้นเป็นเครื่องดื่มอันหายากในสยาม ตระเตรียมไว้โดยเฉพาะสำหรับข้าพเจ้า พวกผู้ดีและเจ้าขุนมูลนายบางคนกำลังเริ่มกินกาแฟเลียนแบบชาวต่างชาติ พระคลังรู้ว่าข้าพเจ้าชินต่อการกินกาแฟทุกวันจึงจัดหามาไว้ให้”
จากบันทึกของหมอบรัดเลย์ชี้ชัดว่า กาแฟในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นของหายาก จึงสันนิษฐานได้ว่า กาแฟในสมัยนั้นคงมีราคาสูง และยังไม่เป็นที่นิยมในหมู่ราษฎรโดยทั่วไป
ในยุคแรกคงมีแต่ชนชั้นสูงและขุนนางชาวสยามรวมทั้งชาวต่างชาติเท่านั้นที่ได้ลิ้มรสชาติของกาแฟ
อ่านเพิ่มเติม :
- เส้นทาง “กาแฟ” จากพืช ถึงเครื่องดื่มทางศาสนา แล้วเป็นธุรกิจฮิตทั่วโลกได้อย่างไร
- ตามรอย “กาแฟเอี๊ยะแซ” ตำนานร้านอมตะในชุมชนจีน จุดป้อนอาชีพให้คนเพิ่งตั้งตัวสมัยก่อน
- เบียร์-ไวน์-เหล้า-กาแฟ-ชา-โคลา: เครื่องดื่มเล่าประวัติศาสตร์
อ้างอิง :
ลา ลูแบร์, ซิมอน เดอ. สันต์ ท. โกมลบุตร (แปล). จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 2. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2548.
แชรแวส, นิโกลาส. ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 2. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2550.
คเณศ กังวานสุรไกร. กาแฟ : ประวัติและพัฒนาการการดื่ม. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 30 : ฉบับที่ 6, เมษายน 2552.
ห้องสมุดดิจิทัลวัชรญาณ. บทละคร เรื่อง อิเหนา, จาก https://bit.ly/3rKVV65
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 มิถุนายน 2565