สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระราชสมภพ 17 เมษายน พ.ศ. 2277 หรือเดือนใด ปีใด?

พระบรมราชานุสาวรีย์ พระเจ้าตาก พระเจ้ากรุงธนบุรี วงเวียนใหญ่ อนุสาวรีย์พระเจ้าตาก สมเด็จพระเจ้าตากสิน
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน ณ วงเวียนใหญ่ ธนบุรี

หลักฐานชั้นต้น หรือหลักฐานที่สัมพันธ์ใกล้ชิดกับหลักฐานชั้นต้นเพียงชิ้นเดียวเท่านั้น ที่พอทำให้ทราบปีประสูติของ “พระเจ้ากรุงธนบุรี” ได้ นั่นก็คือ จดหมายเหตุโหร ซึ่งระบุพระชนมายุเมื่อวันสวรรคตเอาไว้

พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับแรกที่บอกพระชนมายุเมื่อเสด็จสวรรคต ก็คือฉบับที่มักจะกล่าวกันว่า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสเป็นผู้ชำระ (พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี แผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ 4) เข้าใจว่า จากพระราชพงศาวดารนี้เอง ที่เป็นผู้ให้ปีประสูติแก่หลักฐานชั้นรองเกี่ยวกับพระราชประวัติทั้งหมด

Advertisement

เพราะฉะนั้นจึงไม่มีปัญหาขัดแย้งกันในเรื่องปีประสูติว่าคือ พ.ศ. 2277 อันเป็นปีที่ 3 ในรัชกาลพระเจ้าบรมโกศ หากถือตามจดหมายเหตุโหรว่า เสด็จสวรรคตเมื่อพระชนมายุได้ 48 ปี กับ 15 วัน (จดหมายเหตุโหร) และหลักฐานของฝรั่งเศส ซึ่งได้ฟังข่าวลือหลังเหตุการณ์นานหลายเดือน กล่าวว่าพระองค์ได้ถูกประหารเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2325 (Histoire de la Mission de Siam)

ถ้าเป็นดังนั้น พระเจ้ากรุงธนบุรี ก็ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2277

เอกสารเรื่อง อภินิหารบรรพบุรุษ ที่เล่าถึงตำนานพระเจ้าตาก ก่อนเสวยราชสมบัติ ที่ถูกนำมาใช้อ้างอิงบ่อยที่สุด

อย่างไรก็ตาม หลักฐานไทยกล่าวว่า พระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จสวรรคตในวันที่ 6 เมษายน เพราะฉะนั้นพระองค์ก็ทรงพระราชสมภพ ในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2277

การคำนวณนี้ตรงกันกับที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานข้อมูลแก่หมอสมิธในการเขียนประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งระบุว่า พระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงพระราชสมภพในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2277

อย่างไรก็ตาม หนังสือ อภินิหารบรรพบุรุษ ระบุวันพระราชสมภพโดยปราศจากหลักฐานอย่างใดว่าเป็นวันแรม 15 ค่ำ เดือน 5 จ.ศ. 1096 ซึ่งบางท่านก็คำนวณว่าเป็นวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2277 บ้างก็ว่าวันที่ 15 เมษายน และบ้างก็ว่า 7 เมษายน อันเป็นวันที่เผอิญตรงกับวันกรุงแตก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือ “การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี” เขียนโดย นิธิ เอียวศรีวงศ์. พิมพ์ครั้งที่ 12. สนพ.มติชน, 2559.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 เมษายน 2561