กลางคืนกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 5 น่ากลัว วังเวง และมีคนทำผีหลอก

กลางคืนกรุงเทพฯ
บริเวณ “ผ่านฟ้า” ช่วงปลายรัชกาลที่ 4

กลางคืนกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 5 น่ากลัว วังเวง และมีคนทำผีหลอก

บทความนี้ คัดย่อมาจาก “ชีวิตพ่อ” ซึ่งเป็นบทความหนึ่งในหนังสืออนุสรณ์ในงานเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพ หลวงพิสูจน์พาณิชยลักษณ์ (หม่อมหลวงเพิ่มยศ อิศรเสนา) ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม พุทธศักราช 2528

“ชีวิตพ่อ” เรียบเรียงโดย  พชร อิศรเสนา บุตรชาย ได้ข้อมูลจากบันทึกจำนวนมากของ “พ่อ” หรือ หลวงพิสูจน์พาณิชยลักษณ์ (พ.ศ. 2446-2528) ที่อยู่ในอนุทิน สมุดนักเรียน สมุดฉีก เศษกระดาษ ฯลฯ

Advertisement

เนื้อหาที่ยกมาเป็นเรื่องในวัยเด็กของหลวงพิสูจน์พาณิชยลักษณ์ ที่ทำให้เห็นวิถีชีวิตและสังคมเมื่อประมาณ พ.ศ. 2452 หรือช่วงปลาย รัชกาลที่ 5 ไว้ดังนี้ [จัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]


 

เมื่อพ่ออายุได้ประมาณ 7 ขวบ พ่อไปเข้าโรงเรียนปฐมมหาธาตุ พ่อเคยเล่าว่าเมื่อก่อนเข้าโรงเรียนนั้น คุณย่าเป็นคนสอนให้เขียนพยัญชนะและสระในภาษาไทย รวมทั้งเขียนตัวเลขต่างๆ นอกจากนั้นแล้ว พ่อเองก็มักจะไปหาญาติท่านที่บวชและจำพรรษาอยู่ที่วัดทองปุ (วัดชนะสงคราม) เพื่อฟังนิทานบ้าง ฟังธรรมบ้าง เรียนเขียนอ่านบ้าง

การไปวัดทองปุนั้นจะต้องออกเดินทางหลังบ้านลัดไปตามหนอง บึง คลอง มีทางเดินกรุยเฉพาะตัว และถ้าไปตอนโพล้เพล้และกลับตอนดึก ก็จะต้องถือตะเกียงรั้วหรือตะเกียงเจ้าพายุส่องทาง บางครั้งก็คบไต้

หลวงพิสูจน์พาณิชยลักษณ์ เมื่อเป็นนักเรียนมหาดเล็กหลวง

พ่อเล่าว่า มักจะมีพวกเด็กหนุ่มๆ คอยหลอกหลอนคนที่สัญจรไปมา โดยเอาผ้าขาวคลุมตัว แล้วก็เอาไฟส่องใต้คางร้องเสียงครวญคราง บางครั้งก็เป่าลูกเป่าแลบลิ้นยาวออกมา น่ากลัวและวังเวงพอสมควร พ่อว่าเมื่อเวลาขากลับนั้นจะต้องข่มใจว่ามิใช่ผีจริง เป็นผีคนหลอก แต่ก็มักจะเผลอตัววิ่งเตลิดเปิดเปิงทิ้งข้าวทิ้งของเพราะคุมสติไม่อยู่ เมื่อข้าวของหายก็ถูกคุณย่าต่อว่าต่อขาน

จึงครั้งหนึ่งทนต่อไปไม่ได้เมื่อถูกหลอกก็ทุ่มตะเกียงใส่ ผีไฟไหม้วิ่งเตลิดหนีไป แต่ก็ไม่วายที่คุณย่าจะตำหนิติเตียนว่าทำของเสียหาย เกิดอันตรายแก่ผู้คน แต่พ่อก็พอใจเพราะอย่างน้อยก็ระบายความคับแค้นใจ และตั้งแต่นั้นมา ก็ไม่ค่อยจะถูกผีหลอก และถึงแม้จะถูกหลอกก็คุมสติไว้อยู่ แม้ตัวเองก็ไม่แน่ใจ บางครั้งบางคราวว่าผีที่มาหลอกนั้นเป็นผีคนหรือผีจริง

บริเวณ “ผ่านฟ้า” ช่วงปลาย รัชกาลที่ 4
บริเวณ “ผ่านฟ้า” ช่วงปลายรัชกาลที่ 4

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2565