กรุงเทพฯ ที่มีเขมร (จาม) ขุดคูเมือง และลาวสร้างกำแพงพระนคร

ภาพมุมสูง กรุงเทพมหานคร กรุงเทพฯ มองเห็น พระบรมมหาราชวัง สนามหลวง
ภาพมุมสูงของกรุงเทพฯ ที่เห็นบริเวณพระบรมมหาราชวัง, สนามหลวง (ภาพจาก สมุดภาพแห่งกรุงเทพมหานคร 220 ปี, สำนักผังเมืองกรุงเทพมหานคร, 2546)

เมื่อรัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนา กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวง การก่อสร้างต่างก็ค่อยๆ เริ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพระบรมมหาราชวัง, ประตูและป้อมปราการของพระราชวัง, กำแพงพระนคร ฯลฯ บรรดาฝีมือช่างและแรงงานต่างๆ ก็มีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งในจำนวนนั้นมี เขมร (จาม) ลาว ที่เข้ามาทำงาน และตั้งรกรากอยู่มาในชั้นลูกหลาน

สุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนอธิบายไว้ใน กรุงเทพฯ มาจากไหน ว่า

Advertisement

งานก่อสร้างพระนครเริ่มจริงๆ เมื่อ พ.ศ. 2326 พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์จดว่า โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกองสักเลกไพร่หลวงสมกําลังและเลกหัวเมืองทั้งปวง แล้วให้เกณฑ์ทําอิฐขึ้นใหม่บ้าง ให้ไปรื้ออิฐกําแพงเมืองกรุงเก่าบ้าง ลงมือก่อสร้างพระนคร ทั้งพระบรมมหาราชวังและพระราชวังบวรสถานมงคล

โปรดให้รื้อป้อมวิชเยนทร์และกําแพงเมืองธนบุรีฟากตะวันออก ตรงที่เรียกว่าคลองคูเมืองเดิมออก ขยายพระนครให้กว้างออกไปกว่าเก่า (ถึงตรงที่เป็นคลองบางลําพูปัจจุบัน)

เกณฑ์เขมรเข้ามาขุดคลองคูพระนครด้านตะวันออก ตั้งแต่วัดบางลําพู หรือวัดสังเวชไปออกแม่น้ำข้างใต้ที่วัดเชิงเลนหรือวัดบพิตรพิมุข แล้วพระราชทานชื่อว่าคลองรอบกรุง

ขุดคลองเชื่อมคลองรอบกรุงกับคลองคูเมืองเดิม 2 คลอง คลองหนึ่งคือคลองข้างวัดราชบพิธ อีกคลองหนึ่งข้างวัดราชนัดดากับวัดเทพธิดา ทำสะพานช้างและสะพานน้อยข้ามคลองภายในพระนครหลายตําบล

ขุดคลองใหญ่เหนือวัดสะแก ปัจจุบันคือวัดสระเกศ พระราชทานนามว่าคลองมหานาค เป็นที่สําหรับประชาชนชาวพระนครจะได้ลงเรือไปประชุมเล่นเพลงและสักวาในเทศกาลฤดูน้ำเหมือนอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยาเก่า

เขมร ที่ถูกเกณฑ์มีหลายพวก แต่พวกหนึ่งเป็น จาม ที่เข้ารีตอิสลามอยู่ในเมืองเขมร เมื่อขุดคลองคูเมืองและคลองมหานาคแล้ว ก็โปรดให้ตั้งบ้านสองฝั่งคลองสืบมาถึงทุกวันนี้ เรียกบ้านครัว หมายถึงถูกกวาดต้อน มาทั้งครอบครัว เลยเรียก ยกครัว กลายเป็นบ้านครัวในปัจจุบัน

นอกจากนี้ยังโปรดให้เกณฑ์ลาว (คืออีสานทุกวันนี้) เมืองเวียงจัน ตลอดจนหัวเมืองลาวริมแม่น้ำโขงฟากตะวันตก เข้ามาขุดรากก่อกําแพงพระนคร และสร้างป้อมเป็นระยะๆ รอบพระนคร

ลาว ที่ถูกเกณฑ์ทั้งหมดนี้ไม่ได้กลับถิ่นเดิม เพราะการสร้างบ้านแปลงเมืองไม่ได้เสร็จในคราวเดียว หากทําต่อเนื่องหลายรัชกาล พวกที่เกณฑ์มาจึงตั้งหลักแหล่งกระจายทั่วไป ตามแต่นายงานจะสั่งให้อยู่ตรงไหน ทํางานที่ไหน ที่สุดแล้วก็สืบโคตรตระกูลลูกหลานตั้งหลักแหล่งถาวรอยู่ในบางกอกกลาย เป็นคนกรุงเทพฯ

ในเอกสารเก่าบอกว่า พระนครเมื่อแรกสร้างมีกําแพงพระนครและคูพระนครยาว 175 เส้นเศษ (7 กิโลเมตรเศษ) มีเนื้อที่ในกําแพงพระนคร 2,163 ไร่ กําแพงสูงประมาณ 7 ศอก (3.60 เมตร) หนาประมาณ 5 ศอก (2.70 เมตร) มีประตู 63 ประตู เป็นประตูใหญ่ กว้างประมาณ 8 ศอก (4.20 เมตร) สูงประมาณ 9 ศอก (4.50 เมตร) 16 ประตู เป็นประตูช่องกุด (ประตูเล็ก) กว้างประมาณ 5 ศอก (2.70 เมตร) สูงประมาณ 4 ศอกคืบ (2.40 เมตร) 47 ประตู มีป้อม 14 ป้อม

ทุกวันนี้เหลือซากอยู่สองป้อม คือป้อมพระสุเมรุกับป้อมมหากาฬ

นอกจากนั้นยังมีประตูเข้าออกอยู่ระหว่างป้อม เช่น ประตูสามยอด เป็นประตูใหญ่มีสามยอด กับประตูเล็กเรียกประตูช่องกุดเป็นระยะๆ แล้ว ยังมีประตูผีเป็นช่องขนศพจากในเมืองไปเผานอกเมืองด้วย

กําแพงพระนครด้านแม่น้ำเจ้าพระยาที่เป็นวังหลวงกับวังหน้า จะใช้กําแพงวังเป็นกําแพงป้องกันพระนครเช่นเดียวกับพระนครศรีอยุธยา

ในเวลาเมื่อทําการสร้างกําแพงพระนครนั้น พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์จดว่า จะสร้างสะพานช้างข้ามคลองรอบกรุง แต่พระผู้ใหญ่สมัยนั้นถวายพระพรทักท้วงว่าจะเป็นอันตรายต่อพระนคร เลยให้งดไว้ไม่สร้าง ดังนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

สุจิตต์ วงษ์เทศ. กรุงเทพฯ มาจากไหน, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก กุมภาพันธ์ 2548


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2562