ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
“บางรัก” เป็นชื่อ ตำบล, อำเภอ และเขต ที่เปลี่ยนไปตามเหตุการณ์บ้านเมือง โดยเป็นที่ตั้งบ้านเรือนของชาวต่างชาติมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เรื่อยมาจนกระทั่งสมัยรัตนโกสินทร์ เนื่องจากพื้นที่ด้านตะวันตกเป็นทำเลทอง ติดกับเส้นทางการคมนาคมสำคัญ คือ “แม่น้ำเจ้าพระยา”
ก่อนที่จะมีการตัดถนนเจริญกรุง “บางรัก” มีความสำคัญเพราะเป็นที่จอดเรือ, ท่าเรือ หลังการลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริง (พ.ศ. 2398) ชาติตะวันตกอีกหลายประเทศเข้าติดต่อค้าขาย, ชาวต่างชาติที่ไทยว่าจ้างเป็นที่ปรึกษา และมีการจัดตั้งสถานกงสุลในย่านบางรักถึงบางคอแหลม ต่อมาเมื่อมีการตัดถนนเจริญกรุง (พ.ศ. 2404) ก็เกิดความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่บางรักอย่างรวดเร็ว ทำให้บางรักเป็นทั้งที่ทำการสถานกงสุล, ย่านธุรกิจ และแหล่งบันเทิง
ที่ตั้งสถานกงสุล
ดังที่กล่าวไปข้างต้น การที่บางรักมีพื้นที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นเส้นทางการคมนาคมสำคัญในเวลานั้น จึงมีสถานกงสุลต่างชาติในพื้นที่จำนวนมาก เช่น สถานกงสุลโปรตุเกส, สถานกงสุลอังกฤษ, สถานกงสุลสหรัฐอเมริกา, สถานกงสุลฝรั่งเศส ฯลฯ สถานกงสุลเหล่านี้ทำให้เกิดสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกในพื้นที่
ถึงสมัยรัชกาลที่ 5 กรุงเทพฯ รุ่งเรืองกลายเป็นเมืองการค้าอย่างสมบูรณ์ แม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มแออัดด้วยเรือกลไฟตลอดทั้งวันสร้างมลภาวะทางเสียง ขณะที่พื้นที่ริมน้ำก็มีโรงสีข้าวที่ทำให้เกิดขี้เถ้า และเสียงเครื่องสีข้าวที่ดังตลอดเวลา สถานกงสุลต่างๆ จึงเริ่มย้ายออกไป เหลือเพียงสถานกงสุลโปรตุเกส หรือสถานทูตโปรตุเกสในปัจจุบัน เป็นต้น
ย่านธุรกิจ
พื้นที่บางรักมีห้างร้านของชาวต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวตะวันตก ซึ่งส่วนใหญ่มีฐานะกิจการที่ดำเนินการไม่ใช่การค้ารายย่อย แต่เป็นร้านขายสินค้าที่มีความหลากหลาย อยู่ในอาคารใหญ่ริมถนนเจริญกรุง ที่เรียกกันว่า “ห้าง” เช่น ห้างฟาร์ค แอนด์ ไบเด็ก (ที่คนไทยเรียกห้างสิงโต), ห้างขายยาบีกริม เป็นต้น
ยังมีธุรกิจอื่น เช่น โรงแรมชื่อดังอย่าง โรงแรมโอเรียนเต็ล ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยังไม่มีการตัดถนนเจริญกรุง ต่อมาก็มีโรงแรมอื่นๆ เกิดตามมา เช่น โฮเต็ลโตรกาเดโร, โฮเต็ลเวมเบล นอกจากนี้ก็มี โรงหนังฮ่องกง (พ.ศ. 2460)
และกิจการของชาวจีนที่เข้ามาหลังการตัดถนนเจริญกรุง เช่น โรงสีข้าว, โรงเลื่อย, โรงงานน้ำมะเน็ด, โรงน้ำแข็ง, ห้องเย็น โดยเฉพาะห้องเย็นที่ทำให้มีการนำเข้าอาหารต่างประเทศเข้ามาจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็นไก่งวง, หมูแฮม, เนยแข็ง, ผลไม้ต่างประเทศ ฯลฯ
แหล่งบันเทิงยามค่ำคืน
ตั้งแต่โรงแรมโอเรียนเต็ลถึงถนนสี่พระยา มีสถานบันเทิงที่เป็นร้านเหล้า, ร้านอาหาร ในลักษณะเดียวกับไนต์คลับหรือบาร์ปัจจุบัน เช่น เบลีวิวบาร์, สะแปล็นดิดบาร์ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีสโมสรหรือคลับ เพื่อเป็นที่รวมตัว พบปะสังสรรค์กัน เช่น ยูไนเต็ดคลับ (พ.ศ. 2423), ดอยเชอร์คลับ ของเยอรมัน (พ.ศ. 2433), บริติชคลับ ของอังกฤษ (พ.ศ. 2446) และสถานที่เต้นรำที่เรียกว่า “ฮอลล์” อยู่แถวถนนสุรวงศ์ ที่มีชื่อในเวลานั้นเช่น โรสฮอลล์, เวมบลี้, มูแลงรูจ ฯลฯ
อนึ่ง บางรัก ปัจจุบันประกอบด้วย 5 แขวง คือ มหาพฤฒาราม, สีลม, สุริยวงศ์, บางรัก และสี่พระยา มีอาณาเขตทิศเหนือและทิศตะวันออก ติดต่อกับเขตปทุมวัน มีถนนพระรามที่ 4 เป็นเส้นแบ่งเขต ทิศใต้ ติดต่อกับเขตสาทร มีคลองสาทรเป็นเส้นแบ่งเขต ทิศตะวันตก ติดต่อกับเขตคลองสาน มีแนวกึ่งกลางแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นแบ่งเขต ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ติดต่อกับเขตสัมพันธวงศ์ มีคลองผดุงกรุงเกษมเป็นเส้นแบ่งเขต
อ่านเพิ่มเติม :
ข้อมูลจาก :
วรางคณา นิพัทธ์สุขกิจ. “การเปลี่ยนแปลงของย่านบางรักภายหลังการตัดถนนเจริญกรุง สมัยรัชกาลที่ 4-6 (พ.ศ. 2394-2468)” ใน, วารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีที่ 43 ฉบับที่ 2 (กรกฏาคม-ธันวาคม 2564)
อาทิพร ผาจันดา. 100 ปี ถนนเจริญกรุงกับการเปลี่ยนแปลงและสังคม (พ.ศ. 2411-2511). ปริญญานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปีการศึกษา 2564.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2566