เปิดที่มาชื่อ “สามย่าน” แหล่งเรียน แหล่งเที่ยว ศูนย์กลางเศรษฐกิจสำคัญของกรุงเทพฯ

สะพานเฉลิมเดช 57 หน้า วัดหัวลำโพง สามย่าน
ภาพลงสีสะพานเฉลิมเดช 57 เป็นสะพานข้ามคลองหัวลำโพง เชื่อมถนนสี่พระยากับถนนพญาไทย ปัจจุบันอยู่บริเวณสี่แยกหน้าวัดหัวลำโพงและแถวแยกอาคารจามจุรีสแควร์ (ขอบคุณภาพจาก เฟซบุ๊ก สยามพหุรงค์ โดย หนุ่มรัตนะ)

สามย่าน เป็นแหล่งเรียน เพราะมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นแหล่งเที่ยว เพราะมีพื้นที่ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ เช่น จามจุรีสแควร์ สามย่านมิตรทาวน์ ห่างไปไม่ไกลนักยังมีศูนย์การค้าชื่อดังอีกหลายแห่ง สามย่านทุกวันนี้จึงเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสำคัญแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ

แม้จะคุ้นชื่อกันดี แต่รู้ไหมว่าย่านทั้งหลายที่ประกอบเข้าด้วยกันเป็นสามย่าน มีย่านไหนบ้าง?

Advertisement

สามย่านเป็นหนึ่งในชุมชนเก่าแก่ของกรุงเทพฯ เติบโตขึ้นจากการขยายตัวของย่านเยาวราช โดยใน พ.ศ. 2400 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการขุดคลองตั้งแต่ป้อมผลาญไพรีราบ (บริเวณหัวลำโพง) ไปจนถึงคลองพระโขนง และเรียกถนนที่ตัดเลียบคลองว่า “ถนนตรง”

ต่อมาในปี 2459 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการก่อสร้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกิดการพัฒนาพื้นที่รอบ ๆ มหาวิทยาลัย และมีการตัดถนนเชื่อมกัน 3 สาย เพื่อความสะดวกในการเดินทาง ได้แก่ ถนนพระรามสี่ (เดิมชื่อถนนตรง) ถนนสี่พระยา และถนนพญาไท ต่อมาจึงเรียกพื้นที่บริเวณที่ถนนทั้ง 3 สายตัดกันว่าสามย่านนั่นเอง

ช่วงแรก สามย่านยังไม่ได้เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญมากนัก เห็นได้จากช่วงทศวรรษ 2460 หลังการก่อสร้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวนผู้อยู่อาศัยบริเวณนี้ยังมีน้อย ปรากฏหลักฐานที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดทำขึ้น เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ปี 2467 พบว่า มีคนอยู่อาศัยเรียกว่าเป็นหมู่บ้านได้เพียง 3 บริเวณ คือ สะพานเหลือง สามย่าน และตลาดเจริญผล นอกนั้นพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสวนผักและสวนมะลิ

ในทศวรรษ 2500 เมื่อการศึกษาขยายตัว จำนวนนิสิตมีมากขึ้น ประกอบกับมีการพัฒนาพื้นที่เมืองส่วนต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ ส่งผลต่อพัฒนาการของสามย่าน จนกลายเป็นย่านเศรษฐกิจที่สำคัญเช่นทุกวันนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

อังคณา นาคเกิด. (7 กันยายน 2561). “สามย่าน” ประตูเชื่อมเมืองเก่าสู่ไลฟ์สไตล์คนเมือง. สืบค้นเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2566. เข้าถึงจาก สามย่านประตูเชื่อมเมืองเก่าสู่ไลฟ์สไตล์คนเมือง – Urban Creature

ธาดา รัชกิจ. (27 กรกฎาคม 2560). สามย่านเปลี่ยนผ่านแต่ไม่เปลี่ยนแปลง. สืบค้นเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2566. เข้าถึงจาก สามย่านเปลี่ยนผ่านแต่ไม่เปลี่ยนแปลง – CULTURED CREATURES

100 ปี การบริหารจัดการที่ดินเขตจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพฯ: สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2560.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2566