จากอยุธยาถึงธนบุรี: ศักราช ว.ด.ป. ลำดับเหตุการณ์สำคัญในพระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ณ วัดพรานนก จ.พระนครศรีอยุธยา

จากอยุธยาถึงธนบุรี: ศักราช วันเดือนปี และลำดับเหตุการณ์สำคัญในพระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ จากวันเสาร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ.2309 ถึงวันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2310 (วัดพิชัย/อยุธยา – จันทบุรี – ค่ายโพธิ์สามต้น – สถาปนากรุงธนบุรี)

วันเสาร์ ขึ้น 4 ค่ำ เดือนยี่ จุลศักราช 1128 ปีจออัฐศก (ตรงกับวันเสาร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ.2309)

– ออกจากวัดพิชัย อยุธยา ฝ่าวงล้อมพม่าเลียบคลองข้าวเม่าไปทางหัวเมืองตะวันออก

– จำนวนไพร่พลเมื่อแรกออกจากวัดพิชัยนั้นไม่เป็นที่แน่ชัด (จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีระบุว่ามีราว 500 คน ขณะที่พระราชพงศาวดารระบุว่ามีราว 1,000 คน)     

วันอาทิตย์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือนยี่ จุลศักราช 1128 ปีจออัฐศก (ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 4 มกราคม พ.ศ.2309)

ถึงตำบลบ้านข้าวเม่า ตกดึกทอดพระเนตรเห็นเพลิงลุกโชติช่วงจนท้องฟ้าแดงฉานที่ในพระนคร (มีตำนานท้องถิ่นว่า ชาวบ้านสามัญชนในละแวกย่านนำเอาข้าวเม่าและลูกธนูมามอบให้) 

– เช้าตรู่, ถึงวัดสามบัณฑิต พบพระภิกษุมอญ 3 รูปกำลังเดินออกบิณฑบาต

สาย, รบพม่าที่บ้านโพสาวหาญ (มีตำนานนางโพกับพรรคพวกชาวบ้านยกมาช่วยรบพม่าจนสิ้นชีพในที่รบ)  

บ่าย, รบพม่าที่คลองชนะ (มีตำนานขุนชนะ นายทหารที่ติดตามออกจากกรุงศรีอยุธยามาสิ้นชีพในที่รบ)

วันจันทร์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือนยี่ จุลศักราช 1128 ปีจออัฐศก (ตรงกับวันจันทร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ.2309)

เช้า, เสด็จถึงบ้านพรานนก พักทัพ เที่ยวลาดหาอาหาร พบทัพพม่าที่มาจากปากน้ำโยทกา จึงให้ดักซุ่มโจมตีด้วยอาวุธปืนไฟ ทัพพม่าแตกพ่ายไป (มีตำนานนายพรานชื่อนก บ้างว่าเป็นพรานล่านก มาช่วยหาอาหาร นำอาหารมาให้ และช่วยซุ่มโจมตีพม่า)    

– บ่าย, พบขุนชำนาญไพรสณฑ์ นายกองช้าง ที่ได้รับมอบหมายให้นำช้างจากเขตแขวงนครนายกไปยังกรุงศรีอยุธยาเพื่อใช้ในการศึกกับพม่า แต่ได้มอบช้างดังกล่าวให้แก่พระยาตากและอาสานำทางไปจนถึงบ้านดง

วันพุธ ขึ้น 8 ค่ำ เดือนยี่ จุลศักราช 1128 ปีจออัฐศก (ตรงกับวันพุธที่ 7 มกราคม พ.ศ.2309)

– ขุนหมื่นทนายบ้านดงไม่ยอมอ่อนน้อม แถมยังรวบรวมชาวบ้านดงจะยกมาโจมตี ตัดสินพระทัยทำศึกปราบขุนหมื่นทนายชาวบ้านดง มีชัยชนะ ได้ช้างม้า ผู้คน อาวุธปืน และเสบียงอาหารเป็นอันมาก นับเป็นชุมชนแรกที่ไม่ใช่พม่าที่พระยาตากต้องนำกำลังเข้าตีในหัวเมืองตามเส้นทางเดินทัพ

– เสด็จต่อมาประทับแรมที่ตำบลหนองไม้ซุง

วันศุกร์ ขึ้น 10 ค่ำ เดือนยี่ จุลศักราช 1128 ปีจออัฐศก (ตรงกับวันศุกร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ.2309)

– เสด็จถึงบ้านนาเริ่ง แขวงนครนายก

วันเสาร์ ขึ้น 11 ค่ำ เดือนยี่ จุลศักราช 1128 ปีจออัฐศก (ตรงกับวันเสาร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ.2309)

เสด็จถึงเมืองบางคาง (ปราจีนบุรี) แวะหยุดพักทัพ ณ วัดบางคาง ได้รับการต้อนรับจากชาวเมืองเป็นอย่างดี

– ราวบ่ายคล้อย, เสด็จข้ามแม่น้ำปราจีนบุรีที่บริเวณด่านกบแจะ (บริเวณวัดกระแจะ ต.ท่างาม อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี)  

– เสด็จไปตามชายดงศรีมหาโพธิ์ ระหว่างนี้ประทับแรมที่ไหนบ้างไม่เป็นที่แน่ชัด  เนื่องจากขอบเขตของ “ดงศรีมหาโพธิ์” ครอบคลุมพื้นที่กว้างมาก แต่พิจารณาจากชุมชนโบราณในเส้นทางเดินทัพมีอยู่หลายแห่ง อาทิ บ้านคู้ลำพัน (ในอ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี), บริเวณโบราณสถานลายพระหัตถ์-เทวสถานพานทอง (ในอ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี), วัดต้นโพธิ์ (ในอ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี), สระมรกต (ในอ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี), โคกหัวข้าว (ในอ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา), บ่อนางสิบสอง (ในอ.ราชสาส์น จ.ฉะเชิงเทรา), วัดท่าลาดเหนือ-วัดท่าลาดใต้ (ในอ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา) เป็นต้น

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ณ วัดใหญ่อินทาราม อ.เมือง จ.ชลบุรี

วันจันทร์ ขึ้น 13 ค่ำ เดือนยี่ จุลศักราช 1128 ปีจออัฐศก (ตรงกับวันจันทร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ.2309)

หยุดประทับหุงหาอาหาร ณ สำนักหนองน้ำ เพื่อรอพระเชียงเงิน ขุนพิพิธวาที และนักองค์ราม เป็นเวลา 3 วัน

– เช้าวันที่ 14 มกราคม พ.ศ.2309 เมื่อทั้งสามมาถึง พระยาตากสังเกตเห็นว่า พระเชียงเงินมีกิริยาไม่เป็นใจด้วยการศึก จึงสั่งให้โบย 30 ที และจะประหารชีวิต แต่เหล่านายทัพนายกองทูลขอชีวิตไว้       

– บ่ายวันที่ 14 มกราคม พ.ศ.2309 กองหน้าพบทัพพม่ากำลังยกออกจากปากน้ำเจ้าโล้ (บริเวณจุดบรรจบระหว่างแม่น้ำบางปะกงกับคลองท่าลาด) จึงให้วางปืนซุ่มยิงโจมตี ทัพพม่าแตกพ่ายไป 

– วันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2309 ถึงวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2309 เสด็จผ่านบ้านทองหลาง ด่านเงิน แปลงยาว วัดโบสถ์ ตะพานทอง บางปลาสร้อย บางพระ และบางละมุง ตามลำดับ (บริเวณอ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี มีตำนานนายพรานชื่อ “ทอง” หรือ “พรานทอง”)  

วันจันทร์ แรม 5 ค่ำ เดือนยี่ จุลศักราช 1128 ปีจออัฐศก (ตรงกับวันจันทร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ.2309)

-เสด็จถึงบ้านนาเกลือ นายกล่ำผู้นำชาวบ้านนาเกลือแรกจะนำพรรคพวกเข้าตีทัพ  แต่เมื่อพบว่าทัพพระยาตากมีกำลังพรั่งพร้อมด้วยช้างม้า ผู้คน และอาวุธ นายกล่ำก็ยอมสวามิภักดิ์ ให้การต้อนรับ เสด็จพักแรมเป็นเวลา 1 คืน  

วันพุธ แรม 7 ค่ำ เดือนยี่ จุลศักราช 1128 ปีจออัฐศก (ตรงกับวันอังคารที่ 21 มกราคม พ.ศ.2309)

– เสด็จถึงบ้านนาจอมเทียน ประทับแรม 1 คืน (ตำนานพระนางจอมเทียนก่อแก้วพิกุลที่วัดนาจอมเทียน)

วันพฤหัสบดี แรม 8 ค่ำ เดือนยี่ จุลศักราช 1128 ปีจออัฐศก (ตรงกับวันที่ 22 มกราคม พ.ศ.2309)

– เสด็จถึงทุ่งไก่เตี้ย ประทับแรมเป็นเวลา 2 คืน (ทำการเกลี้ยกล่อมกลุ่มโจรสลัดและนักเลงท้องถิ่น)

วันเสาร์ แรม 10 ค่ำ เดือนยี่ จุลศักราช 1128 ปีจออัฐศก (ตรงกับวันเสาร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ.2309)

– เสด็จออกจากชายทะเลทุ่งไก่เตี้ยมุ่งไปยังเมืองระยอง (ผ่านบริเวณแสมสาร ห้วยโป่ง มาบตาพุด บ้านฉาง)     

วันอาทิตย์ แรม 11 ค่ำ เดือนยี่ จุลศักราช 1128 ปีจออัฐศก (ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 25 มกราคม พ.ศ.2309)

เสด็จถึงบ้านหินโข่ง (บางแห่งว่า “หินโด่ง” หรือ “หินโคร่ง”)  

วันจันทร์ แรม 12 ค่ำ เดือนยี่ จุลศักราช 1128 ปีจออัฐศก (ตรงกับวันจันทร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ.2309)

เสด็จถึงบ้านน้ำเก่า (บริเวณวัดน้ำคอก-วัดบ้านเก่า อ.บ้านค่าย จ.ระยอง)

– เส้นทางในเครือข่ายตำนาน อาทิ เมืองพญาเร่ เขาชะอาง ละหารไร่ บ้านไข้ (บ้านค่าย) เป็นต้น    

วันอังคาร แรม 13 ค่ำ เดือนยี่ จุลศักราช 1128 ปีจออัฐศก (ตรงกับวันอังคารที่ 27 มกราคม พ.ศ.2309)

เสด็จถึงเมืองระยองที่ท่าประดู่ แล้วไปประทับ ณ วัดลุ่ม (วัดลุ่มมหาชัยชุมพล) ตั้งค่ายรายบริเวณวัดลุ่ม-วัดเนิน พระระยองและชาวเมืองระยองให้การต้อนรับ นำอาหารและข้าวสาร 1 เกวียนมามอบให้

ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ณ วัดลุ่มมหาชัยชุมพล อ.เมือง จ.ระยอง

วันพฤหัสบดี แรม 15 ค่ำ เดือนยี่ จุลศักราช 1128 ปีจออัฐศก (ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม พ.ศ.2309)

– ทรงทราบข่าวว่าขุนจ่าเมืองด้วงกับพรรคพวกรวบรวมกำลังคนจะยกมาปล้นค่าย

– ทรงเรียกพระระยองมาไต่สวนแล้วให้คุมตัวไว้ ตรัสสั่งให้เตรียมการรับศึก

– เวลาค่ำประมาณ 1 ทุ่มเศษ ขุนจ่าเมืองด้วงกับพรรคพวกกรมการเมืองระยอง ยกกำลังมา ฝ่ายขุนจ่าเมืองด้วงถูกยิงบาดเจ็บล้มตาย ขณะกำลังข้ามสะพานหน้าวัดเนิน แตกพ่ายไป 

– เข้ายึดเมืองระยอง ประกาศเจตนารมณ์กอบกู้บ้านเมือง ตั้งเป็นศูนย์กลางรวบรวมทรัพยากร 

วันศุกร์ ขึ้น 8 ค่ำ เดือนสาม จุลศักราช 1128 ปีจออัฐศก (ตรงกับวันศุกร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2309)

– ทรงจัดส่งคนญวนชื่อ “นายเผือก” กับเขมรชื่อ “นักมา” พร้อมข้าหลวงอีก 3 คน เป็นตัวแทนไปเจรจาเกลี้ยกล่อมพระยาจันทบุรี โดยแล่นเรือสำเภาใช้ใบออกจากปากน้ำระยองไป

วันอังคาร ขึ้น 12 ค่ำ เดือนสาม จุลศักราช 1128 ปีจออัฐศก (ตรงกับวันอังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2309)

นายเผือกญวนกับนักมาเขมรแล่นเรือถึงปากน้ำจันทบุรี ใช้เวลา 5 วัน (จำนวนเวลานี้อาจดูนานเกินจริง เมื่อพิจารณาระยะทางเดินเรือจากระยองถึงแหลมสิงห์ จันทบุรี แต่ช่วงนั้นเป็นฤดูมรสุม อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไปถึงจันทบุรีได้ล่าช้ากว่าปกติ)

วันพุธ ขึ้น 13 ค่ำ เดือนสาม จุลศักราช 1128 ปีจออัฐศก (ตรงกับวันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2309)

นักมาเขมร นายเผือกญวน และข้าหลวง เข้าพบพระยาจันทบุรี การเจรจาประสบผลสำเร็จ พระยาจันทบุรีตอบตกลงจะให้ความร่วมมือในการรบกับพม่ากอบกู้กรุงศรีอยุธยา เมื่อคณะข้าหลวงจะกลับมาระยอง พระยาจันทบุรีได้ให้คนนำข้าวสารอาหารแห้งบรรทุกใส่ลำเรือมาถวายเป็นจำนวนกว่า 4 เกวียน 

วันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือนสาม จุลศักราช 1128 ปีจออัฐศก (ตรงกับวันศุกร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2309)

คณะข้าหลวงเดินเรือจากจันทบุรีกลับมาถึงปากน้ำระยอง

วันอังคาร แรม 11 ค่ำ เดือนสาม จุลศักราช 1128 ปีจออัฐศก (ตรงกับวันอังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2309)

หลวงบางละมุง ผู้รั้งเมืองบางละมุง และนายบุญเมือง มหาดเล็ก พร้อมกับไพร่ 20 คน ถือหนังสือของสุกี้พระนายกองแห่งค่ายโพธิ์สามต้น จะไปส่งให้กับพระยาจันทบุรี หนังสือนั้นมีความว่า ให้พระยาจันทบุรีส่งเครื่องราชบรรณาการต้นไม้เงินทองไปยังค่ายโพธิ์สามต้น ระหว่างทางกำลังผ่านเขตแขวงเมืองระยอง หลวงบางละมุงกับพรรคพวกถูกฝ่ายพระเจ้าตากจับกุมตัวได้ ขุนนางกราบทูลให้ประหารชีวิต แต่ทรงรู้จักกับหลวงบางละมุงผู้นี้มาแต่กาลก่อนและยังรู้ว่าหลวงบางละมุงมีความสนิทชิดเชื้อกับพระยาจันทบุรี จึงให้ปล่อยเดินทางต่อไปยังจันทบุรีเพื่อแจ้งข้อราชการของพระองค์ต่อพระยาจันทบุรีแทน (คาดว่าเป็นเรื่องที่ทรงจะให้เรือของพระยาราชาเศรษฐี (มักเทียนตู) จากเมืองพุทไธมาศ (ฮาเตียน) ได้แล่นผ่านมายังระยอง โดยไม่ถูกกีดขวางจากพระยาจันทบุรี)  

วันเสาร์ ขึ้น 1 ค่ำ เดือนสี่ จุลศักราช 1128 ปีจออัฐศก (ตรงกับวันเสาร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2309)

ทำหนังสือถึงพระยาราชาเศรษฐี (มักเทียนตู) เจ้าเมืองพุทไธมาศ (ฮาเตียน) แจ้งข่าวสารและขอความช่วยเหลือในการทำศึกกับพม่า โดยมอบให้พระพิชัย นายบุญมี พร้อมข้าหลวงเป็นตัวแทนไปเจรจากับพระยาราชาเศรษฐี (เนื่องจากมักเทียนตูเคยส่งข้าวเสบียงมาให้แก่พระเจ้าเอกทัศน์ แต่แล่นเรือผ่านเมืองบางกอกขึ้นไปไม่ได้ เพราะพม่าเข้ายึดไว้แล้ว จึงล่าถอยกลับไป) 

วันเสาร์ แรม 14 ค่ำ เดือนสี่ จุลศักราช 1128 ปีจออัฐศก (ตรงกับวันเสาร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2309)

พระพิชัยกับนายบุญมีพร้อมข้าหลวงกลับจากเมืองพุทไธมาศ แจ้งว่าพระยาราชาเศรษฐีติดขัดด้วยลมมรสุม ไม่เป็นเวลาเหมาะจะให้ออกเรือมา เมื่อหมดฤดูแล้วจะยกมาช่วยในราวเดือน 8 ถึงเดือน 10 ของปีถัดไป (กรกฎาคม-กันยายน พ.ศ.2310)

วันอังคาร ขึ้น 9 ค่ำ เดือนห้า จุลศักราช 1129 ปีกุนนพศก (ตรงกับวันอังคารที่ 7 เมษายน พ.ศ.2310)

เสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า

– เกิดก๊กอิสระต่างๆ ไม่ขึ้นแก่กัน คือ ก๊กสุกี้พระนายกอง, ก๊กเจ้าพระพิษณุโลก, ก๊กเจ้าพระฝาง, ก๊กเจ้านครศรีธรรมราช, ก๊กเจ้าพิมาย, ก๊กพระยาจันทบุรี และเจ้าตากที่ตั้งอยู่ระยองเวลานั้นก็ถือเป็นอีก “ก๊ก” หนึ่งด้วย นอกจากนี้ในหัวเมืองชายทะเลตะวันออกยังมีนายทองอยู่นกเล็กที่ชลบุรีกับขุนรามหมื่นซ่องที่ปากน้ำประแส ต่างก็ตั้งตนเป็นใหญ่ขึ้นด้วยเช่นกัน    

ปากน้ำประแส อ.แกลง จ.ระยอง

วันจันทร์ แรม 14 ค่ำ เดือนห้า จุลศักราช 1129 ปีกุนนพศก (ตรงกับวันจันทร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ.2310)

เรียกประชุมปรึกษาเหล่าบรรดานายทัพนายกอง ทรงดำริจะปราบปรามกลุ่มโจรสลัดที่ตั้งตัวเป็นใหญ่อันมีผู้นำคือ “นายทองอยู่นกเล็ก” กับ “ขุนรามหมื่นซ่อง”    

วันพฤหัสบดี ขึ้น 3 ค่ำ เดือนหก จุลศักราช 1129 ปีกุนนพศก (ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 30 เมษายน พ.ศ.2310)

เสด็จยกทัพถึงบ้านหนองมน อยู่ในเส้นทางก่อนข้ามเขาสามมุขและอ่างศิลามาบางปลาสร้อยในเวลาเพียง 1 วัน   

วันศุกร์ ขึ้น 4 ค่ำ เดือนหก จุลศักราช 1129 ปีกุนนพศก (ตรงกับวันศุกร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2310)

ยกทัพถึงชายทะเลบางปลาสร้อย ตั้งทัพหลวงอยู่ที่หน้าวัดหลวง (วัดใหญ่อินทาราม) รายถึงตำหนักเก๋งจีน (ศาลเจ้าเกียนอันเก๋ง) ส่งนายชื่นชาวบ้านค่ายกับนายบุญรอดแขนอ่อน  ซึ่งรู้จักกับนายทองอยู่นกเล็กออกไปเจรจาเกลี้ยกล่อม   

– ก่อนหน้านั้นเล็กน้อยเมื่อนายทองอยู่นกเล็กทราบว่าพระยาตากยกมา ได้พาพรรคพวกหลบไปตั้งอยู่ที่เขาบางทราย แต่การเจรจาเกลี้ยกล่อมโดยนายชื่นกับนายบุญรอดแขนอ่อนประสบความสำเร็จ นายทองอยู่นกเล็กยอมอ่อนน้อมแต่โดยดี จึงมิได้มีการสู้รบกัน   

– ทรงแต่งตั้งนายทองอยู่นกเล็กเป็น “พระยาอนุราชบุรีศรีมหาสมุทร” เจ้าเมืองชลบุรี

วันศุกร์ ขึ้น 11 ค่ำ เดือนหก จุลศักราช 1129 ปีกุนนพศก (ตรงกับวันศุกร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ.2310)

เสด็จกลับจากชลบุรีถึงระยอง

วันเสาร์ ขึ้น 12 ค่ำ เดือนหก จุลศักราช 1129 ปีกุนนพศก (ตรงกับวันเสาร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2310)

ยกออกจากเมืองระยองจะไปปราบขุนรามหมื่นซ่องและพรรคพวก โดยเกลี้ยกล่อมผู้คนตามรายทาง อาทิ บ้านเก่า บ้านค่าย บ้านนาตาขวัญ บ้านแลง เขาประดู่ บ้านทะเลน้อย เป็นต้น

วันพฤหัสบดี แรม 2 ค่ำ เดือนหก จุลศักราช 1129 ปีกุนนพศก (ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2310)

ถึงเมืองแกลง ตั้งทัพพักแรมอยู่ที่วัดราชบัลลังก์

– ตั้งค่ายมั่นและเปิดฉากรบขั้นแตกหักกับขุนรามหมื่นซ่อง สูญเสียทหารไทยจีนกว่า 400 คน ฝ่ายพระเจ้าตากได้รับชัยชนะ ขุนรามหมื่นซ่องหนีไปเข้ากับพระยาจันทบุรี 

– พระยาจันทบุรีเมื่อได้ขุนรามหมื่นซ่องมาเข้าพวก ก็แปรพักตร์หันมาเป็นปฏิปักษ์ต่อพระเจ้าตาก  คิดอ่านตั้งตนเป็นใหญ่แต่ลำพังไม่สนใจจะร่วมกอบกู้ราชอาณาจักร   

วันจันทร์ แรม 6 ค่ำ เดือนหก จุลศักราช 1129 ปีกุนนพศก (ตรงกับวันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2310)

เสด็จออกจากปากน้ำประแสมุ่งตรงไปยังจันทบุรี ผ่านบ้านตะเคียนทอง พังราด กองดิน สนามชัย ใช้เวลา 5 วันถึงตำบลบางกะจะหัวแหวน ตั้งทัพพักพลอยู่ที่วัดพลับบางกะจะ

วันเสาร์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือนเจ็ด จุลศักราช 1129 ปีกุนนพศก (ตรงกับวันเสาร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2310)

เสด็จถึงเมืองจันทบุรี ตั้งค่ายที่วัดแก้วริมเมือง(บริเวณเยื้องจุดบรรจบกันระหว่างคลองท่าช้างกับคลองท่าสิงห์ ห่างแนวกำแพงเมืองไม่น้อยกว่า 2 กม.)

– ระหว่างเดินทัพจากบางกะจะหัวแหวนมาเมืองจันทบุรี พระยาจันทบุรีแสร้งทำกลอุบายว่าเปลี่ยนใจยอมอ่อนน้อมพร้อมกับส่งข้าหลวงมานำทางเพื่อหวังให้เสด็จไปทางทิศใต้ของเมือง พระยาจันทบุรีกับพวกจะลอบโจมตีระหว่างข้ามแม่น้ำ แต่ทรงล่วงรู้กลอุบายจึงสั่งให้กองหน้าไม่ไปตามทางที่ข้าหลวงบอก ให้เดินตัดตรงไปทางทิศเหนือของเมืองบริเวณตรงข้ามประตูท่าช้าง

วันอาทิตย์ ขึ้น 4 ค่ำ เดือนเจ็ด จุลศักราช 1129 ปีกุนนพศก (ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2310)

เวลากลางวัน พระยาจันทบุรีแสร้งทำกลอุบายให้พระสงฆ์มาทูลเชิญเสด็จเข้าเมือง เพื่อจะจับกุม แต่ก็ทรงล่วงรู้แผนการนี้อีก จึงบ่ายเบี่ยงว่าธรรมดาผู้น้อยควรจะมาคำนับผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่จะไปคำนับผู้น้อยนั้นไม่บังควร    

แนวกำแพงเมืองจันทบุรีเก่า

วันจันทร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือนเจ็ด จุลศักราช 1129 ปีกุนนพศก (ตรงกับวันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2310)

กลางดึกเพลายาม 3 (ราวเที่ยงคืนถึงตีสาม) ยกทัพเข้าตีเมืองจันทบุรี ได้รับชัยชนะ พระยาจันทบุรีกับครอบครัวลงเรือหลบหนีไปเมืองพุทไธมาศ ส่วนขุนรามหมื่นซ่องเป็นบุคคลสาบสูญ ไม่มีหลักฐานกล่าวถึงอีกเลย 

– พระราชพงศาวดารระบุว่า หัวค่ำก่อนยกเข้าตีเมืองเมื่อไพร่พลรับประทานอาหารเสร็จแล้ว รับสั่งให้สาดเทอาหารที่เหลือทิ้งและทุบต่อยทำลายหม้อข้าวหม้อแกงเสีย ให้ไปกินข้าวเช้าเอาที่ในเมืองจันทบุรี ถ้าไม่ได้ก็ขอให้ตายด้วยกันเสียเถิด 

วันจันทร์ ขึ้น 12 ค่ำ เดือนเจ็ด จุลศักราช 1129 ปีกุนนพศก (ตรงกับวันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.2310)

เสด็จยกทัพถึงทุ่งใหญ่ แบ่งทัพเป็น 2 กอง กองหนึ่งไปทางทะเล อีกกองเป็นกองทัพหลวงยกไปทางสถลมารค ผ่านวัดทองทั่ว เขาสละบาปวัดตะปอนน้อย วัดตะปอนใหญ่ วัดท่าเกวียน เขาสมิง วัดบุปผาราม วัดโยธานิมิต คลองใหญ่ บ้านด่านท่าเรือ เข้าตีกองสำเภาจีนที่อยู่ภายใต้การนำของจีนเจียมที่ทุ่งใหญ่ (บริเวณช่วงคลองน้ำเชี่ยว-แหลมงอบ-เกาะช้าง) จีนเจียมยอมแพ้และยกธิดาให้เป็นชายา ได้เรือสำเภาจากทุ่งใหญ่กว่า 50 ลำ 

วันเสาร์ แรม 2 ค่ำ เดือนเจ็ด จุลศักราช 1129 ปีกุนนพศก (ตรงกับวันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ.2310)

– เสด็จกลับเมืองจันทบุรี   

– ต่อเรือและซ่อมดัดแปลงเรืออยู่ที่อู่ต่อเรือบ้านเสม็ดงามได้เรือรบกว่า 100 ลำ

ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ณ อู่ต่อเรือบ้านเสม็ดงาม อ.เมือง จ.จันทบุรี

วันพุธ แรม 15 ค่ำ เดือนสิบ จุลศักราช 1129 ปีกุนนพศก (ตรงกับวันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ.2310)

จัดการปกครองเมืองจันทบุรี ตั้งพระยาพิพิธ (จันเหลียน) เป็นเจ้าเมือง แบ่งกำลังไว้ดูแลจันทบุรีไว้ส่วนหนึ่ง

– เสด็จยกทัพทางเรือ เรือ 100 ลำ ไพร่พลราว 5,000 เศษ ออกจากจันทบุรีมุ่งสู่งกรุงศรีอยุธยา  

ไม่ระบุวันเดือนปี  แต่คาดว่าเป็นเหตุการณ์ระหว่างวันที่ 25 กันยายน พ.ศ.2310 ถึง วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ.2310

เมื่อขบวนเรือแล่นถึงบริเวณอ่าวบางปลาสร้อย (คาดว่าทอดสมออยู่เกาะสีชัง) ทรงให้เรียกตัวนายทองอยู่นกเล็กซึ่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองชลบุรี พร้อมหลวงพล ขุนอินเชียง และพรรคพวกกรมการเมืองชลบุรีอีกจำนวนหนึ่ง เข้าเฝ้าเพื่อไต่สวนว่ายังประพฤติเป็นโจรสลัดเที่ยวปล้นตีชิงสำเภาลูกค้าวาณิชย์อยู่ดังแต่ก่อนหรือไม่ และได้มีพฤติการณ์กีดขวางกักตัวไม่ให้ผู้คนที่จะเดินทางไปหาพระองค์ที่จันทบุรีหรือไม่   

– ผลการพิจารณาไต่สวนได้ความเป็นสัตย์จริงแล้ว ก็ให้ประหารชีวิตนายทองอยู่นกเล็ก พร้อมหลวงพล ขุนอินเชียง ด้วยวิธีจับถ่วงน้ำทะเล (พระราชพงศาวดารฉบับหมอบรัดเลระบุว่า เหตุที่ทรงให้ประหารด้วยวิธีนี้เป็นเพราะนายทองอยู่นกเล็กกับพวกมีวิชาอาคมอยู่ยงคงกระพันฟันแทงไม่เข้า)   

– จากนั้นทรงแต่งตั้งบุตรชายคนโตของปลัดยกกระบัตรเมืองจันทบุรี (แขก) ซึ่งมีความชอบในคราวตีเมืองจันทบุรีเป็น “พระยาชลบุราณุรักษ์” (หวัง) เจ้าเมืองชลบุรี แทนนายทองอยู่นกเล็กที่ถูกประหารชีวิตไปนั้น

วันพฤหัสบดี แรม 14 ค่ำ เดือนสิบเอ็ด จุลศักราช 1129 ปีกุนนพศก (ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2310)

– รุ่งเช้า, กองเรือเจ้าตากเข้าสู่ปากน้ำเจ้าพระยา

– ราว 3 ทุ่มเศษ เสด็จถึงเมืองบางกอก (ธนบุรี) เข้าตีนายทองอิน ผู้ซึ่งพม่าตั้งไว้รักษาเมือง  นายทองอินหลบหนีขึ้นไปหานายทองสุก (สุกี้พระนายกอง) ณ ค่ายโพธิ์สามต้น

วันเสาร์ ขึ้น 2 ค่ำ เดือนสิบสอง จุลศักราช 1129 ปีกุนนพศก (ตรงกับวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2310)

– กองเรือเจ้าตากถึงเกาะเมืองอยุธยา ประทับพักทัพค้างแรม 1 คืน (ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าประทับที่ใด คาดว่าน่าจะเป็นที่ตำบลหัวรอ)    

รุ่งเช้าของวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2310 ถึงค่ำวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ.2310     

– ยกทัพเข้าตีค่ายโพธิ์สามต้น โดยแบ่งกำลังออกเป็น 2 กอง กองหนึ่งไปตีมองญ่าที่ค่ายโพธิ์สามต้นฝั่งตะวันออก (บริเวณวัดหงษ์) อีกกองยกไปตีค่ายพระนายกอง ซึ่งเป็นค่ายโพธิ์สามต้นฝั่งตะวันตก (ของแม่น้ำโพธิ์สามต้น) ค่ายฝั่งตะวันออกนี้เป็นค่ายใหญ่ตั้งรายริมแม่น้ำโพธิ์สามต้นตั้งแต่วัดโพธิ์ (ร้าง) ถึงวัดกำแพง (ร้าง) ตรงบริเวณกึ่งกลางซึ่งเป็นศูนย์บัญชาการและที่อยู่ของสุกี้พระนายกองมีการสร้างเป็นค่ายทำด้วยไม้สูงใหญ่และแข็งแรง    

– ใช้เวลาตีกว่า 3 วัน ตีค่ายมองญ่า (ค่ายโพธิ์สามต้นฝั่งตะวันออก) วันหนึ่ง อีกวันถัดมายกไปล้อมค่ายสุกี้ (ศูนย์บัญชาการกลางของค่ายโพธิ์สามต้น) แต่บุกเข้าค่ายไม่ได้ แม้ทัพที่ไปตีค่ายมองญ่ายกมารวมแล้วก็ตาม จึงให้ล้อมไว้และรับสั่งให้ทำบันไดสำหรับปีนค่าย อีกวันต่อมาในขณะที่กำลังปีนเข้าค่ายจวนจะสำเร็จอยู่นั้น สุกี้ก็ยอมแพ้โดยให้เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ผู้ว่าที่ออกญาพระคลังซึ่งรู้จักกับพระเจ้าตากมาแต่กาลก่อน เป็นผู้มาเจรจา (ความตอนนี้พระราชพงศาวดารกล่าวขัดแย้งกัน บางฉบับว่าสุกี้สู้รบจนตัวตายในค่ายโพธิ์สามต้นคราวพระเจ้าตากปีนค่ายนั้น บางฉบับว่าทรงไว้ชีวิตสุกี้ภายหลังหลบหนีไปเข้ากับกรมหมื่นเทพพิพิธที่พิมาย)  

วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2310 ถึง วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2310

– ทรงส่งคนไปเจรจาเกลี้ยกล่อมเจ้าเมืองลพบุรี และรับเอาเจ้านายเชื้อพระวงศ์ที่หลบหนีไปลพบุรีลงมาอยุธยา (แต่เสด็จลงไปธนบุรีเสียก่อน เลยให้ตามลงไปธนบุรีแทน)

– ให้ขุดพระศพพระเจ้าเอกทัศน์มาทำพิธีถวายพระเพลิง

– สำรวจสภาพความเสียหายของกรุงศรีอยุธยา 

– พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และฉบับบริติชมิวเซียมกรุงลอนดอน ระบุว่า ขณะนั้นยังทรงประทับอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้น ขณะที่พระราชพงศาวดารฉบับพระพนรัตน์ ฉบับกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ฉบับพระราชหัตถเลขา และฉบับร.ศ.120 ต่างระบุว่า เสด็จมาประทับอยู่ที่พระที่นั่งทรงปืนในพระบรมมหาราชวังอยุธยา และทรงพระสุบินนิมิตว่าอดีตกษัตริย์อยุธยามาไล่ไม่ให้อยู่

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ที่หน้าพระราชวังเดิม กรุงธนบุรี

วันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือนสิบสอง จุลศักราช 1129 ปีกุนนพศก (ตรงกับวันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2310)

– เสด็จออกจากค่ายโพธิ์สามต้นลงมาธนบุรี และตั้งกรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ (จากจดหมายเหตุโหร และโคลงยอยศพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงทำพิธีปราบดาภิเษกเมื่อพ.ศ.2311 และพิธีราชาภิเษกเมื่อ พ.ศ.2314)

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2563