ผู้เขียน | อารยา ธงรัตกัมพล |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อกล่าวถึง “สุนทรภู่” คงไม่พ้นกับคำพูดที่กล่าวขานกันว่า เป็นกวีเอกที่มีฝีมือยอดเยี่ยมของไทย และเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ด้วยผลงานที่รังสรรค์ขึ้นอย่างมีเอกลักษณ์ อีกทั้งยังเป็นกวีที่มีช่วงชีวิตอยู่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 4 ดังคำกล่าวที่ว่า “กวีสี่แผ่นดิน”
ผลงานของสุนทรภู่ มีความโดดเด่นทั้งในด้านการใช้ภาษา เนื้อหา และกลวิธีการประพันธ์ โดยจะเป็นวรรณคดีประเภทนิราศ นิทาน สุภาษิต บทละคร เสภา บทเห่กล่อม รวมทั้งหมด 23 เรื่อง
สุนทรภู่เป็นเลิศในการแต่งกลอนสุภาพ (กลอนตลาด) โดยจะขึ้นต้นแบบกลอนเพลงด้วยวรรครับ และลงท้ายด้วย “เอย” มีคำสัมผัสที่เป็นระบบระเบียบปรากฏอยู่ในทุกวรรค เป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้ผลงานของสุนทรภู่เป็นที่จดจำของผู้อ่านวรรณคดี ทั้งยังเข้าถึงใจประชาชนธรรมดาได้มาก สามารถอ่าน ตีความ และถอดความได้ง่าย เหตุนี้จึงทำให้สุนทรภู่กลายเป็นบุคคลที่มีผู้ชื่นชอบทั้งชนชั้นสูงและชาวบ้านทั่วไปอย่างกว้างขวาง
นอกเหนือจากความโดดเด่นด้านการประพันธ์แล้ว ตัวตนของสุนทรภู่ก็มีส่วนในการสร้างเสน่ห์ให้กับตนเอง จนเป็นที่นิยมชมชอบของบุคคลอื่นอีกในหลายๆ ด้าน
เสน่ห์ในด้านแรกคือ การเป็นคนที่มีคารมดีในการใช้คำพูดคำจา หรือมี “วาทศิลป์” เห็นได้จากผลงานของสุนทรภู่ที่มักบรรยายหรือพรรณนาเหตุการณ์ พร้อมสื่ออารมณ์ในวรรณคดีเรื่องต่างๆ ได้อย่างลึกซึ้ง ปกติกวีจะสื่อความคิดผ่านวรรณคดีออกมาในรูปแบบและภาษาของตนเองอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการที่ผลงานของสุนทรภู่มีความสละสลวยในด้านของภาษา สามารถสื่ออารมณ์ชัดเจนเข้าถึงความรู้สึกของผู้อ่านได้ ทั้งหมดนี้มาจากคารมทางคำพูดและวาทศิลป์ของสุนทรภู่เองล้วนๆ เป็นเสน่ห์ที่โดดเด่นอย่างเห็นได้ชัด
ตัวอย่าง วรรคทองในบทอัศจรรย์ เรื่องพระอภัยมณี ตอนพระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง
๏ ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน
แม้เกิดในใต้ฟ้าสุธาธาร ขอพบพานพิศวาสไม่คลาดคลา
แม้เนื้อเย็นเป็นห้วงมหรรณพ พี่ขอพบศรีสวัสดิ์เป็นมัจฉา
แม่เป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา เชยผกาโกสุมปทุมทอง
เจ้าเป็นถ้ำอำไพขอให้พี่ เป็นราชสีห์สมสู่เป็นคู่สอง
จะติดตามทรามสงวนนวลละออง เป็นคู่ครองพิศวาสทุกชาติไป
เสน่ห์ต่อมาคือในเรื่องผู้หญิง (วิเคราะห์จากบริบทสมัยนั้น) สันนิษฐานว่าสุนทรภู่มีภรรยาและหญิงสาวมาชื่นชอบอยู่หลายคน ที่กล่าวถึงอยู่บ่อยครั้งคือ แม่จัน แม่นิ่ม และแม่ม่วง สุนทรภู่มักกล่าวถึงนางอันเป็นที่รักในนิราศ เช่น นิราศพระบาท ที่พูดถึงเรื่องทะเลาะกับแม่จัน โดยแม่จันเป็นฝ่ายโกรธสุนทรภู่ แต่ตนต้องออกเดินทาง ทำให้ไม่ได้สะสางเรื่องราวให้เรียบร้อยก่อนแยกจากกัน เป็นเหตุให้สุนทรภู่เกิดความไม่สบายใจ แสดงถึงความเอาใจใส่ต่อหญิงผู้เป็นที่รัก ไม่ว่าจะเดินทางไปที่ไหน เห็นอะไร ก็ครวญถึงนางอันเป็นที่รักเสมอ รวมถึงใช้ถ้อยคำในการประพันธ์ได้อย่างเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึก จึงไม่แปลกที่จะมีหญิงสาวหลายๆ คนมาหลงเสน่ห์ หรือชื่นชอบสุนทรภู่กันอย่างมากมาย
ตัวอย่าง ต้นเรื่องนิราศพระบาท ที่กล่าวถึงแม่จันโกรธสุนทรภู่ ซึ่งสุนทรภู่รู้สึกไม่สบายใจและอดเป็นห่วงแม่จันไม่ได้ ในขณะที่ตนเองก็ต้องเดินทางจากไปไกล
๏ โอ้อาลัยใจหายไม่วายห่วง
ดังศรสักปักซ้ำระกำทรวง เสียดายดวงจันทราพะงางาม
เจ้าคุมแค้นแสนโกรธพิโรธพี่ แต่เดือนยี่จนย่างเข้าเดือนสาม
จนพระหน่อสุริย์วงศ์ทรงพระนาม จากอารามแรมร้างทางกันดาร
ด้วยเรียมรองมุลิกาเป็นข้าบาท จำนิราศร้างนุชสุดสงสาร
ตามเสด็จเสร็จโดยแดนแสนกันดาร นมัสการรอยบาทพระศาสดา ฯ
สุนทรภู่ยังมีแนวคิดสมัยใหม่แบบตะวันตก เห็นได้จากเรื่องพระอภัยมณีที่ระบุว่าพระอภัยมณีกับศรีสุวรรณพูดได้หลายภาษา และสุนทรภู่ยังมีความรู้ทางด้านภูมิศาสตร์ โดยสมมุติเกาะต่างๆ รอบทะเลอันดามันมาใส่ในเรื่องพระอภัยมณี เช่น เมืองลังกาคือศรีลังกา ทั้งยังนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ไปแปลงแต่งในเนื้อเรื่องด้วย เช่น ตอนนางละเวงวัณฬาส่งกองทัพ 9 ทัพมาตีเมืองผลึก ก็คล้ายคลึงกับเหตุการณ์สงคราม 9 ทัพ ในสมัยรัชกาลที่ 1 ตัวละครนางละเวงวัณฬาก็ได้แรงบันดาลใจมาจากพระราชินีวิกตอเรียของอังกฤษ เป็นต้น
นอกจากนี้ สุนทรภู่ยังเป็นกวีคนแรกๆ ที่ให้บทบาทตัวละครผู้หญิงในวรรณคดีเปลี่ยนไปจากขนบวัฒนธรรมแบบเดิมๆ คือ มีความเก่งกาจ และมีสติปัญญาฉลาดหลักแหลม สามารถเป็นเจ้าเมืองได้เหมือนตัวละครชาย แตกต่างจากตัวละครหญิงแบบเดิมที่มักโอนอ่อนตามใจตัวเอกอีกฝ่ายโดยง่าย ไม่ว่าจะเรื่องความคิดการกระทำ หรือการเล้าโลมก็ตาม
ตัวอย่าง เรื่องพระอภัยมณี ตอนที่นางสุวรรณมาลีได้รับบาดเจ็บในสนามรบ แต่ก็ยังอดทนกลับไปทำแผลแล้วจะมาสู้ใหม่ โดยบอกให้สุดสาครช่วยรับมือไว้ก่อน แสดงถึงความกล้าหาญของผู้หญิง
๏ ฝ่ายโฉมยงองค์มิ่งมเหสี เมื่อไพรีรุมจับรับไม่ไหว
ถูกเกาทัณฑ์กลั้นแกล้งแข็งพระทัย เอาสไบพันทับให้ลับตา
…………………………………………… ………………………………
แม่นี้ถูกลูกธนูอยู่ไม่ได้ จะไปใส่ยาแก้แผลสมาน
สักครู่หนึ่งจึงจะมาไม่ช้านาน พ่อช่วยต้านตั้งมั่นกันพารา
การเป็นผู้มีความรู้อย่างแตกฉานทางด้านวรรณคดี ก็เป็นเสน่ห์อีกด้านหนึ่งของสุนทรภู่ สุนทรภู่ได้รับการศึกษาที่สำนักวัดชีปะขาว (วัดศรีสุดารามในปัจจุบัน) ทำให้เป็นบุคคลที่มีความรู้ในการอ่านเขียน และได้เข้ารับราชการในกรมพระคลังสวน ทั้งยังสร้างสรรค์ผลงานได้ตั้งแต่อายุ 20 ปี ก่อนจะได้รับตำแหน่งเป็นขุนสุนทรโวหารในสมัยรัชกาลที่ 2 รวมถึงตำแหน่งพระสุนทรโวหารในสมัยรัชกาลที่ 4
เห็นได้ว่าผลงานเรื่องต่างๆ ของสุนทรภู่ ไม่ว่าจะเป็นนิราศหรือกลอนนิยาย มักแทรกสุภาษิตคำพังเพย คำเปรียบเทียบต่างๆ เอาไว้เสมอ แสดงถึงการได้รับการศึกษามามาก และสามารถนำสิ่งเหล่านั้นมาแทรกในผลงานได้อย่างแนบเนียน อีกทั้งสุนทรภู่เองก็เคยเป็นครูสอนหนังสือที่สำนักวัดชีปะขาว จึงให้ความสำคัญกับการศึกษา มีการแฝงคำสอนต่างๆ ไว้ในวรรณคดี เพื่อให้ผู้อ่านเอาใจใส่ในการร่ำเรียนศึกษาวิชา เหมือนกับตัวของสุนทรภู่เองที่สนใจใฝ่ศึกษาหาความรู้ และมีความรู้อันกว้างขวางอย่างยิ่ง
ตัวอย่าง เรื่องพระอภัยมณี ตอนพระเจ้าตาสั่งสอนสุดสาคร
๏ แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์ มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด
ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน
…………………………………….. …………………………………………
แม้นใครรักรักมั่งชังชังตอบ ให้รอบคอบคิดอ่านนะหลานหนา
รู้สิ่งไรไม่สู้รู้วิชา รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี
เสน่ห์อีกด้านหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ ความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงทำให้ชีวิตของสุนทรภู่มีความรุ่งเรืองมาก โดยเฉพาะในสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และแม้หลังจากสิ้นรัชกาลไปแล้ว สุนทรภู่ก็ยังคงความจงรักภักดีต่อพระองค์ไม่เสื่อมคลาย อย่างที่เห็นการรำพันถึงพระมหากรุณาธิคุณในผลงานเรื่องต่างๆ แสดงถึงความเป็นผู้จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ผู้มีพระคุณ และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สุนทรภู่ได้กลับมารับราชการอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 4 ก็เป็นได้
ตัวอย่าง นิราศภูเขาทอง แสดงความอาลัยถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2
๏ พระนิพพานปานประหนึ่งศีศะขาด ด้วยไร้ญาติยากแค้นถึงแสนเข็ญ
ทั้งโรคซ้ำกรรมซัดวิบัติเปน ไม่เลงเห็นที่ซึ่งจะพึ่งพา
จะสร้างพรตอดส่าห์ส่งบุญถวาย ประพฤฒิฝ่ายสมถะทั้งวสา
เปนสิ่งของฉลองคุณมุลิกา ขอเปนข้าเคียงพระบาททุกชาติไป
ผลงานที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ มาจากตัวตนของกวีผู้ประพันธ์เองด้วยส่วนหนึ่ง ลักษณะนิสัยและตัวตนของกวีมีผลให้สามารถสะท้อนความคิดผ่านออกมาเป็นตัวหนังสือ และสื่อออกไปอย่างที่ใจคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เหตุผลที่วรรณคดีของ “สุนทรภู่” ได้รับความนิยมมาจนถึงสมัยปัจจุบันนี้ มาจากการสื่อความหมายให้เข้าใจได้อย่างง่าย มีประโยชน์เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ทำการศึกษา แม้ว่าสุนทรภู่จะไม่ใช่บุคคลที่ดีพร้อมไปเสียทุกประการ แต่สุนทรภู่ก็เป็นกวีผู้มีเสน่ห์จากตัวตนที่สะท้อนผ่านผลงานออกมาอย่างยอดเยี่ยมโดยมีแนวคิดและมุมมองแบบใหม่ ดังสมญา “มหากวีกระฎุมพี” อย่างที่ คุณนิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้เคยกล่าวไว้อย่างไม่มีข้อสงสัย
อ่านเพิ่มเติม :
- สุนทรภู่เขียนกลอนเฉลี่ยกี่คำต่อวัน เอาเวลาช่วงไหนเป็น “ขี้เมา”?
- สุนทรภู่ ชาวฝั่งธนฯ เกิดวังหลัง ตายในสวนบางระมาด เผาศพที่วัดชิโนรส
- สุนทรภู่ ต้องกินเหล้าจึงประพันธ์ได้ดีจริงหรือ?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
บรรณานุกรม :
ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต. 2548. พระอภัยมณี: มณีแห่งวรรณคดีไทย. วารสารราชบัณฑิตยสถาน ปีที่30 (ฉบับที่ 3 กรกฎาคม-กันยายน): 764-784.
สุจิตต์ วงษ์เทศ. 2537. พระอภัยมณีมีฉากอยู่ทะเลอันดามัน อ่าวเบงกอล และมหาสมุทรอินเดีย. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 15 (ฉบับที่ 8 มิถุนายน): 77-90.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 มิถุนายน 2562