สุนทรภู่เขียนกลอนเฉลี่ยกี่คำต่อวัน เอาเวลาช่วงไหนเป็น “ขี้เมา”?

หุ่นขี้ผึ้ง สุนทรภู่
หุ่นขี้ผึ้งสุนทรภู่ ที่พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย จังหวัดนครปฐม ประกอบกับฉากหลัง เป็นภาพประกอบเนื้อหา

“อาลักษณ์ขี้เมา เจ้าชู้ อยู่อย่างไพร่ ไร้เคหา” เป็นภาพจำของ สุนทรภู่ ที่เคยอยู่ในความคิดของคนทั่วไป ที่สำคัญคือประเด็นเรื่อง “ขี้เมา” ซึ่งคนทั่วไปอาจมองอย่างนั้น แต่หากพิจารณาข้อมูลแง่ผลงานทั้งเชิงปริมาณประกอบกับข้อมูลเชิงลึกแล้วจะบ่งชี้ว่าสุนทรภู่แตกต่างจากที่รับรู้กัน

ข้อมูลอีกด้านที่พบก็โต้แย้งว่า สุนทรภู่เป็นกวีที่รู้เท่าทันโลก เกิดที่วังหลัง และยังเป็น “ผู้ดี” ไม่ใช่อาลักษณ์ขี้เมาแต่แต่งหนังสือดี โดยในนิราศเมืองเพชร ที่อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว ชำระมีใจความที่บ่งชี้ว่าบรรพชนของสุนทรภู่อยู่ในตระกูล “พราหมณ์” ชาวเมืองเพชรบุรี จากเนื้อหาส่วนที่ว่า

“…เป็นถิ่นฐานบ้านพราหมณ์รามราช ล้วนโคตรญาติย่ายายฝ่ายวงศา…
ที่เหล่ากอหลอเหลือในเนื้อญาติ เป็นเชื้อชาติเพชรบุรียังมีหลาย”

สุจิตต์ วงษ์เทศ อธิบายว่า “พราหมณ์รามราช” หมายถึงบริเวณที่เคยเป็นบ้านเมืองและรัฐของราชวงศ์โจฬะ ภายหลังมีชื่อเรียกว่า “โจฬมณฑล” (Coromandel) ในตอนใต้ของอินเดีย

ขณะที่ล้อม เพ็งแก้ว เขียนบทความตั้งข้อสังเกตว่าสุนทรภู่ขี้เมาจริงหรือ? โดยมองว่าในการพิจารณาพฤติกรรมของบุคคลใดบุคคลหนึ่งในอดีต ผลงานของบุคคลผู้นั้นน่าจะได้รับการพิจารณาเป็นประเด็นแรก ฉะนั้นก่อนจะตกลงใจว่าสุนทรภู่เป็นคนขี้เมาจริงหรือไม่ ก็น่าจะได้พิจารณาผลงานของท่านเป็นประเด็นแรก และในที่นี้ก็จะนําเสนอเพียงด้านปริมาณเพียงด้านเดียว

ผลงานที่เป็นประเภทกลอน

1. พระอภัยมณี
หอพระสมุดสอบชําระไว้ 64 ตอน ยาว 25,102 คํากลอน
กรมศิลปากรสอบชําระต่ออีกกว่า 63 ตอน ยาวไม่ต่ำกว่า 23,588 คํากลอน

2. สิงหไกรภพ (ฉบับ พ. ณ ประมวญมารค) ยาว 6,540 คํากลอน

3. ลักษณวงศ์ (ฉบับ พ. ณ ประมวญมารค) ยาว 4,546 คำกลอน

4. โคบุตร (ฉบับ พ. ณ ประมวญมารค) ยาว 2,606 คํากลอน

5. นิราศ 8 เรื่อง รวมยาว 3,174 คํากลอน

6. เสภา 2 เรื่อง รวมยาว 1,798 คํากลอน

งานประเภทอื่น

1. โคลง 1 เรื่อง 463 บท
2. กาพย์ 1 เรื่อง 119 บท
3. บทเห่กล่อม 4 เรื่อง 778 บท

งานที่ยังไม่ได้ตรวจสอบ และยังไม่พบต้นฉบับอีกหลายเรื่อง โดยประมาณแล้ว สุนทรภู่สร้างผลงานไว้ไม่น้อยกว่า 60,000 คํากลอน

ล้อม เพ็งแก้ว คํานวณว่า คนเราใช้เวลานอนในวันหนึ่ง ๆ ประมาณ 1 ใน 3 ทํากิจอื่น ๆ อีกประมาณเท่ากัน มีเวลาทํางานอย่างจริงจังประมาณไม่เกิน 8 ชั่วโมง หรือ 1 ใน 3 เช่นเดียวกัน

สุนทรภู่ถึงแก่กรรมเมื่ออายุประมาณ 70 ปี ประมาณว่าผลงานทั้งหมดผลิตขึ้นในช่วงอายุ 20-70 ปี

เวลาเขียนกลอนซึ่งประมาณสูงสุด 1 ใน 3 ก็เท่ากับประมาณ 16 ปี ในช่วง 16 ปี สุนทรภู่มีผลงานเป็นกลอนประมาณ 60,000 คำกลอน เฉลี่ยปีละประมาณ 3,600 คำกลอน เดือนละ 300 คำกลอน และวันละ 10 คำกลอน ซึ่งล้อม เพ็งแก้ว ตั้งคำถามว่า “ขี้เมา” ที่มีศักยภาพแต่งกลอนออกมาเป็นผลงานแบบที่สุนทรภู่สร้างออกมาหรือ

ในแง่ข้อมูลเชิงลึก สุจิตต์ วงษ์เทศ วิเคราะห์ว่า สุนทรภู่อยู่วังหลังตั้งแต่เกิด จนถึงอายุ 23 และรับราชการวังหลวงจนอายุ 38 ปี แล้วบวชเป็นพระภิกษุอีก 18 ปี จนอายุ 56 เชื่อว่าควรมีช่วงเวลาที่กินเหล้าเมายาบ้างระหว่างอายุ 20-38 ปี ซึ่งยังไม่ได้แต่งหนังสือเป็นชิ้นเป็นอันที่โดดเด่น เช่น นิราศเมืองแกลง นิราศพระบาท เสภากำเนิดพลายงาม ฯลฯ

แต่ในช่วงที่บวชเป็นพระ 18 ปี (ซึ่งไม่ได้แตะสุรา) สุนทรภู่สร้างผลงานแต่งหนังสือวรรณคดีนิพนธ์ยิ่งใหญ่ อาทิ นิราศภูเขาทอง นิราศเมืองเพชร โคลงนิราศสุพรรณ เพลงยาวถวายโอวาท กาพย์พระไชยสุริยา รำพันพิลาป แต่ที่เป็นระดับนานาชาติคือ พระอภัยมณี

สุจิตต์ วงษ์เทศ ตั้งข้อสังเกตว่า “ถ้าขี้เมาจริง อย่างนั้นก็แต่งหนังสือดีไม่ได้ ถึงแต่งได้ก็ไม่มากเท่าที่มีอยู่ และยังมีต้นฉบับหายไปหาไม่พบอีกไม่น้อย ย่อมเป็นพยานในตัวเองว่าสุนทรภู่ไม่มีเวลาอย่างอื่น นอกจากแต่งหนังสือและศึกษาค้นคว้าแสวงหาความรู้ แล้วเรียนรู้เท่าทันโลก”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ล้อม เพ็งแก้ว. “สุนทรภู่ขี้เมาจริงหรือ?”. ศิลปวัฒนธรรม, ปีที่ 7 ฉบับที่ 8 มิถุนายน 2529

สุจิตต์ วงษ์เทศ. สุนทรภู่เกิดวังหลัง ผู้ดี “บางกอก” มหากวีกระฎุมพี มีวิชารู้เท่าทันโลก. กรุงเทพฯ : มติชน, 2547


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2561