ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2543 |
---|---|
ผู้เขียน | บุญเตือน ศรีวรพจน์ |
เผยแพร่ |
เรื่องราวของสุนทรภู่ที่เล่าเรียนรับรู้กันอยู่ทุกวันนี้ ข้อมูลส่วนใหญ่ได้มาจาก “ประวัติสุนทรภู่” ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2465 ในสมัยที่ทรงดำรงตำแหน่งสภานายกหอพระสมุดวชิรญาณ
นอกจากนี้แล้วยังมีเกร็ดประวัติที่ได้จากคำเล่าขานกันสืบๆ มา ในลักษณะของตำนาน และอีกส่วนหนึ่งเป็นข้อมูลที่ได้จากการศึกษาวิเคราะห์ของนักวิชาการวรรณคดี ซึ่งข้อมูลที่ได้มักอยู่ในรูปของการสันนิษฐาน หรือคาดคะเนว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น ควรจะเป็นอย่างนี้
ก่อนที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจะทรงพระนิพนธ์ประวัติสนทรภู่ขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2465 นั้น มีผู้คิดรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับสุนทรภู่ไว้บ้างแล้ว คือ ประวัติสุนทรภู่ ของพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์)
ท่านผู้นี้ได้รวบรวมเรื่องราวประวัติบุคคลสำคัญไว้เป็นอันมาก รวมถึงตำนานศรีปราชญ์ที่เชื่อถือใช้เป็นตำรามาจนปัจจุบัน
พระยาปริยัติธรรมธาดาเป็นชาวเมืองเพชรบุรี รับราชการในกรมศึกษาธิการในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมารับราชการพิเศษเป็นผู้ช่วยหอพระสมุดวชิรญาณ และเป็นกำลังสำคัญในการดำเนินงานของหอพระสมุด สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าไว้ในนิทานโบราณคดีเรื่องหนังสือหอหลวงว่า
“บางที่ได้หนังสือดีอย่างแปลกประหลาด จะเล่าเป็นตัวอย่างดังครั้งหนึ่งพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) เมื่อยังเป็นที่หลวงประเสริฐอักษรนิติ ไปเห็นยายแก่กำลังเอาสมุดดำรวมใส่กระชุบ้านแห่งหนึ่ง ถามว่าจะเอาไปไหน แกบอกว่าจะเอาไปเผาไปทำสมุกสำหรับลงรัก พระยาปริยัติฯ ขออ่านดู แกก็ส่งมาให้ทั้งกระชุ พบหนังสือพงศาวดารเมืองไทยแต่ครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเล่มหนึ่งอยู่ในพวกที่จะเผานั้น…” หนังสือพงศาวดารฉบับนั้นสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงตั้งชื่อว่า “พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ” เพื่อเป็นเกียรติยศแก่ผู้พบ
เรื่องราวของสุนทรภู่ที่พระยาปริยัติธรรมธาดารวบรวมไว้เมื่อ พ.ศ. 2456 นั้น ข้อมูลส่วนใหญ่ได้มาโดยการสืบถามจากญาติและบุคคลที่รู้จักมีชีวิตทันได้เห็นสุนทรภู่ เนื้อหาของหนังสือประวัติเล่มนี้ตอนต้นอยู่ในลักษณะของการเก็บข้อมูลดิบ บันทึกตามคำบอกเล่า ตอนท้ายจึงเรียบเรียงเป็นบทสรุป (พิมพ์อยู่ในเล่มนี้แล้ว)
ต้นฉบับหนังสือประวัติสุนทรภู่เล่มดังกล่าว เป็นสำเนาถ่ายจากตัวพิมพ์ดีด เก็บรักษาไว้ในตู้เอกสารเก่าของกองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร เนื้อหาประกอบด้วย เกร็ดต่างๆ เกี่ยวกับสุนทรภู่ บางเรื่องเหมือนกับในพระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ แต่บางเรื่องไม่เคยปรากฏในที่อื่นๆ มาก่อน เรื่องราวเหล่านี้น่าจะเป็นความจริง เพราะผู้ที่เล่ายังอยู่ในสมัยใกล้เคียงกับเจ้าของประวัติ
ตามที่ทราบกันมาว่า มารดาของสุนทรภู่เป็นพระนมของเจ้าครอกกำพร้า พระธิดาในกรมพระราชวังหลัง ประวัติสุนทรภู่ฉบับพระยาปริยัติฯ ยังบอกชัดเจนว่า สุนทรภู่เกิดที่พระราชวังหลัง
หลังจากได้รับการศึกษาจากสำนักวัดชีปะขาวแล้วก็ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระโอรสของกรมพระราชวังหลัง “…ได้ความจากเจ้าคุณพิมลธรรมวัดระฆังว่า พระสุนทรภู่ (พระสุนทรโวหาร ภู่) ได้เคยพำนักอยู่วัดระฆังโดยมาก คือ กินวัด นอนวัด ด้วยหมายความว่าเป็นข้าพึ่งบุญอยู่ในพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ ซึ่งทรงผนวชอยู่ที่วัดนั้น…”
สุนทรภู่คงจะมีมิตรสหายและเที่ยวไปมาตามวัดต่างๆ ในแถบนั้น รวมถึงทางฝั่งพระนครด้วย ส่วนบ้านเรือนหลักแหล่งนั้นน่าจะพักอยู่ที่เรือนของมารดาแถวพระราชวังหลังนั่นเอง
สาเหตุที่สุนทรภู่จะได้เข้ารับราชการในวังหลวงกับพระบาทสมเด็จพระพุทธนภาลัยนั้น นายแก้วภักดีฯ เล่าให้พระยาปริยัติฯ บันทึกไว้ว่า คราวหนึ่งขณะทรงนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ ตอนพรรณนารถของสหัสสเดชะ ซึ่งมีขนาดใหญ่โดเหลือปราบ “…ทรงประชุมจินตกวีหลายนายแล้วไม่มีใครต่อให้รถวิ่งไปได้ จึงรับสั่งว่ามีใครบ้างอีกไหม ท่านข้าราชการผู้หนึ่งกราบทูลว่า ยังมีอีกคนหนึ่งชื่อนายภู่ เป็นศิษย์พระวัดมหาธาตุ ก็รับสั่งให้ไปพาตัวมาเฝ้า พอทอดพระเนตรเห็นเข้าก็รับสั่งว่า ฮึ รูปร่างมันเป็นครกกะเบือดินนี่พ่อเฮยเอา ไหนๆ มาแล้วก็ให้แก้ดูที่…” สุนทรภู่พิจารณาความแล้วต่อพระราชนิพนธ์ว่า “เทียมสิงห์วิ่งวางข้างละแสน…” ปรากฏว่าทรงพอพระราชหฤทัยยิ่งนัก สุนทรภู่จึงมีโอกาสได้รับราชการใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
“สุนทรภู่นี้มีกล่าวกันอีกว่า เมื่อเวลารับราชการอยู่นั้น บ้านช่องไม่มี อยู่เรือประทุน มีผู้เห็นโดยมากว่าจอดเรืออยู่ท่าช้างวังหลวงเสมอๆ เพราะจำได้แม่นยำ คือแลเห็นสำรับคู่หนึ่ง ปิดผาชีแดงตั้งอยู่หน้าเรือเสมอ นัยว่าที่ต้องจอดเรืออยู่ที่ท่าช้างวังหลวงนี้ มีเกี่ยวกับราชการที่รับสั่งให้หาเนืองๆ ต่างว่าทรงพระราชนิพนธ์เรื่องใดขึ้น ก็เป็นต้องตามหาตัวมาให้เป็นคนฟัง คอยทักท้วงในบางแห่งอยู่เสมอๆ เพราะฉะนั้นจึงต้องจอดเรืออยู่ที่นั่นเป็นนิตย์…”
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยสวรรคต สิ้นแผ่นดินสิ้นกลิ่นสุคนธ์ตลบแล้ว วาสนาของสุนทรภู่ก็สิ้นเหมือนกลิ่นสุคนธ์ ดังที่ท่านกล่าวไว้ในนิราศภูเขาทอง สุนทรภู่ต้องออกบวชเปลี่ยนที่จำพรรษาไปหลายวัด เช่น วัดราชบูรณะ วัดสระเกศ และวัดเทพธิดาราม เป็นต้น
ขณะจำพรรษาที่วัดสระเกศนั้น มีเรื่องเล่าว่า สมเด็จพระวันรัต (แดง) วัดสุทัศน์ เคยบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ที่วัดสระเกศมาก่อน ได้เคยรู้จักกับท่านสุนทรภู่ “…แลว่า พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) นี้บวชอยู่วัดสระเกศ ได้เป็นศิษย์สุนทรภู่ จึงได้เอาต้นร่างพระไชยสุริยาไว้ได้…ท่านสุนทรภู่เมื่อบวชอยู่วัดสระเกศนั้นได้แต่งหนังสือนั้น…”
วัดสระเกศและวัดเทพธิดารามตั้งอยู่ใกล้กับคลองมหานาค ซึ่งรัชกาลที่ 1 โปรดฯ ให้ขุดขึ้น สำหรับเป็นที่ชาวพระนครเล่นดอกสร้อยสักวาเหมือนเช่นครั้งกรุงเก่า และการเล่นสักวาในคลองมหานาคยังคงมีเล่นสืบมาจนในรัชกาล 3 คราวหนึ่งหมื่นเทพสวัสดิ์ (บัว) ปลัดกรมของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ได้นิมนต์ให้พระภิกษุสุนทรภู่ลงเรือเป็นต้นบทบอกสักวา เล่ากันว่าถึงจะไม่เห็นตัวผู้บอกบท แต่พอได้ฟังกลอนก็รู้ว่า “ขรัวครู” เข้ามานั่งอยู่ในวงสักวาด้วย
สุนทรภู่คงได้เป็นผู้บอกบทสักวาวงในสังกัดกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพเป็นประจำ และน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ท่านมาจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม อันเป็นพระอารามที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างพระราชทานกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระราชธิดาที่ทรงพระเมตตาเป็นพิเศษ
ตลอดรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสุนทรภู่ต้องอยู่ในสมณเพศโดยตลอด จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสวยราชย์ และอุปราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณีกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีรับสั่งให้สุนทรภู่ลาสิกขามารับราชการ ในกรมพระอาลักษณ์ฝ่ายพระบวรราชวัง
“…สืบได้แต่เจ้าคุณธรรมถาวร วัดระฆัง ทราบอยู่แต่ตอนภายหลังว่า เมื่อท่านสุนทรภู่ชราลงแล้ว กราบถวายบังคมลาออกนอกราชการ รวบรวมได้ทุนทรัพย์ได้พอสมควร แล้วไปซื้อสวนอยู่ตำบลบางระมาด…แลสวนนั้นก็ไม่ได้ทำประโยชน์อันใด ให้อ้ายโข่บ่าวดูแลรักษา ท่านสุนทรภู่ก็อยู่ที่สวนนั้น หากินทางแต่งหนังสือบทกลอนอะไรไปตามเพลง
นัยว่าท่านชราหนักลง ก็ได้ถึงแก่กรรมที่บ้านสวนนั้นเอง มีปรากฏบุตรที่มีชื่อเสียง คือเณรหนุพัดนั้น…หมอสมิทได้ตั้งโรงพิมพ์ เก็บหนังสือของท่านอาจารย์ มีพระอภัยมณี เป็นต้น พิมพ์ขายจนรุ่มรวย แล้วคิดถึงท่านอาจารย์สุนทรภู่ เที่ยวสืบหาพระหาญาติก็ได้ตัวท่านพัดมาบำเหน็จบำนาญจนเต็มใจรักที่จะให้ได้ หลวงพรหมา จันยืนยันว่าได้เป็นผู้คุ้นเคยกับท่านสุนทรภู่มากว่า เวลาทำศพที่วัดใหม่ชิโนรสนี้เอง ท่านยังได้ไปขมาศพในการฌาปนกิจนั้นด้วย…”
วัดใหม่ชิโนรสหรือวัดชิโนรสาราม ที่เผาศพสุนทรภู่นั้นตั้งอยู่ในคลองมอญ ใกล้สวนนันทอุทยาน กรมสมเด็จพระปรมานชิตชิโนรสทรงสร้างค้างไว้แต่รัชกาลที่ 3 ครั้นถึงรัชกาลที่ 4 ทรงสร้างต่อจนสำเร็จบริบูรณ์ เมื่อแรกสร้างนั้นมีพระประสงค์จะให้เป็นพระอารามเล็กๆ ในสวน
ท่านมหากวีสุนทรภู่ถือกำเนิดบริเวณพระราชวังหลัง ถึงแก่กรรมที่สวนบางระมาด เผาศพที่วัดชิโนรส นับได้ว่าท่านเป็นชาวฝั่งธนฯ โดยแท้
อ่านเพิ่มเติม :
- สุนทรภู่ : บรรพชนและวังหลัง
- สุนทรภู่ต้องร่อนเร่เพราะแก้กลอนรัชกาลที่ 3 !!?
- “สุนทรภู่” เล่าประสบการณ์เห็น “ผี” เจอภูตผีปีศาจมาแล้วแทบทุกชนิด!
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2565