สุนทรภู่ต้องร่อนเร่เพราะแก้กลอนรัชกาลที่ 3 !!?

สุนทรภู่ อนุสาวรีย์สุนทรภู่ ระยอง
อนุสาวรีย์สุนทรภู่ ที่ตำบลบ้านกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง

สุนทรภู่ ยอดจินตกวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งยังเป็นกวีที่ได้รับการยกย่องและได้รับความนิยมมาจนถึงยุคปัจจุบัน จากชื่อเสียง ความนิยมเหล่านี้จึงน่าจะอนุมานได้ว่า ท่านคงจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่สุขสำราญ ได้รับความเคารพ การให้เกียรติมาโดยตลอด

หากแต่ในความเป็นจริงแล้ว ชีวิตของคนนั้นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป สุนทรภู่ท่านเองก็เช่นกัน ช่วงชีวิตของท่านก็ย่อมมีทั้งช่วงที่เจริญรุ่งเรืองที่สุดและช่วงที่ต้องตกยาก ได้รับความลำบากเช่นกัน

พระสุนทรโวหาร (ภู่) เกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329  ในเขตพระราชวังหลัง ท่านใช้ชีวิตอยู่ในเขตชุมชนวัดระฆังฯ มาตั้งแต่เกิด โดยได้รับการศึกษาจาก “สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(ขุน)” ที่วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร ภายหลังจึงได้เข้ารับราชการเป็นอาลักษณ์ในราชสำนักของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

ช่วงที่สุนทรภู่รับราชการในรัชกาลที่ 2 นี้เอง คือช่วงที่ชีวิตของท่านมีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุด

เนื่องจากรัชกาลที่ 2 ทรงโปรดกวีเป็นอย่างมาก พระองค์จึงได้ให้การอุปถัมภ์กวีไว้ในราชสำนักจำนวนมาก สุนทรภู่เองก็เป็นหนึ่งในกวีที่พระองค์ทรงโปรด เพราะเมื่อพระราชนิพนธ์เรื่องใดหรือความตอนใดติดขัดก็จะทรงปรึกษาหรือให้สุนทรภู่เป็นผู้แก้ จนเป็นที่พอพระทัยของพระองค์

ทว่าต่อมาก็ได้เกิดเหตุอันเป็นชนวนที่นำไปสู่การถูกปลดจากราชการของสุนทรภู่ คือ “พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว” ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงพระยศเป็น “พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์” ทรงปรึกษาและรับสั่งให้สุนทรภู่นั้นตรวจแก้ไขบทพระราชนิพนธ์เรื่อง อิเหนา ตอนบุษบาเล่นธาร เมื่อท้าวดาหาไปใช้บน ซึ่งตอนนั้นสุนทรภู่ก็กราบทูลว่าดีแล้ว แต่เมื่อทรงอ่านถวายพระราชบิดา ขณะที่ประชุมกวี สุนทรภู่ได้กล่าวขอแก้ความในบทพระราชนิพนธ์จาก

น้ำใสไหลเย็นแลเห็นตัว   ว่ายแหวกกอบัวอยู่ไหวไหว

โดยแก้เป็น

“น้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลา   ว่ายแหวกปทุมาอยู่ไหวไหว”

การที่สุนทรภู่แก้ความต่อหน้าที่ประชุมกวีเช่นนี้ จึงก่อให้เกิดความไม่พอพระทัยแก่พระองค์มาก และยังเกิดเหตุคล้ายเช่นนี้อีกในคราวที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระราชทานบทพระราชนิพนธ์เรื่อง สังข์ทอง ตอนท้าวสามลจะให้ธิดาทั้งเจ็ดเลือกคู่ แก่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

แต่ความไม่พอพระทัยเพราะถูกแก้กลอนบางส่วนในบทพระราชนิพนธ์จะมีอิทธิพลมากพอที่จะให้รัชกาลที่ 3 ทรงปลดสุนทรภู่เชียวหรือ?

สุนทรภู่ อนุสาวรีย์สุนทรภู่ ระยอง
อนุสาวรีย์สุนทรภู่ ณ ตำบลบ้านกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง

สาเหตุที่สุนทรภู่ต้องออกร่อนเร่นั้น ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะเหตุผลทางการเมืองด้วยประการหนึ่ง

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 จะมีผู้มีอำนาจทางการเมืองมากอยู่ 3 บุคคล ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว, กรมหลวงรักษรณเรศร(หม่อมไกรสร) และ สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี

สุนทรภู่นั้นก็คงจะใฝ่อยู่ในสมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี ทำให้เมื่อพระองค์นั้นเกิดความไม่ลงรอยกับรัชกาลที่ 3 สุนทรภู่จึงได้รับผลกระทบไปด้วย โดยเฉพาะหลังจากที่สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีสิ้นพระชนม์ จึงทำให้สุนทรภู่ยิ่งได้รับความลำบากมากยิ่งขึ้น เพราะมีผู้ที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามอยู่ในราชสำนักอีกเป็นจำนวนมาก

ประกอบกับมีครั้งหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และกรมหลวงรักษรณเรศร(หม่อมไกรสร) ทรงถูกบัตรสนเท่ห์ที่มีใจความต่อว่าอย่างรุนแรง สุนทรภู่นั้นจึงตกเป็นหนึ่งในผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้เขียนบัตรสนเท่ห์นี้ขึ้น ทำให้สุนทรภู่ต้องหลีกหนีราชภัยไปหลบซ่อนอยู่ในถ้ำเขาหลวง เมืองเพชรบุรี

ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นครองราชย์ สุนทรภู่จึงได้ออกจากราชการและออกบวช โดยมีเหตุผลว่าเป็นการถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่ในอีกแง่หนึ่งนั้นเองก็อาจเป็นการบวชเพื่อหลบเลี่ยงจากอิทธิพลทางการเมืองได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

บุญชัย ใจเย็น. (2556). ชายในหม่อมห้าม.  กรุงเทพฯ : ปราชญ์.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 มิถุนายน 2561