หลวงพ่อโต แห่ง วัดพนัญเชิงเคยเสียหายเพราะถูกสรงน้ำ จนต้องปฏิสังขรณ์ใหม่!?

หลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง จ. พระนครศรีอยุธยา
หลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง จ. พระนครศรีอยุธยา

“หลวงพ่อโต” หรือชื่อเต็ม ๆ ว่า “พระพุทธไตรรัตนนายก” ที่ วัดพนัญเชิง จ. พระนครศรีอยุธยา ถือเป็นพระพุทธรูปที่มีความสวยงาม ใหญ่โต ทั้งยังมีความศักดิ์สิทธิ์และประวัติศาสตร์อันยาวนานตั้งแต่สมัยอยุธยา จึงได้รับการเคารพนับถืออย่างมาจากประชาชนคนทั่วไป 

แต่รู้หรือไม่ว่าครั้งหนึ่ง หลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง เคยถูกสรงน้ำในเทศกาลสงกรานต์ จนต่อมาต้องซ่อมแซมใหม่…

ไม่ปรากฏหลักฐานว่า “หลวงพ่อโต” สร้างขึ้นโดยใคร แต่มีการสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นพร้อมวัด ในหลักฐานอย่าง “พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์” ให้ข้อมูลไว้ว่า แรกสถาปนาพระพุทธเจ้าพแนงเชิง จุลศักราช ๖๘๖” หรือสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1867 นั่นเอง 

นอกจากนี้ในหนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัด ยังกล่าวว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นผู้โปรดให้ช่างมอญสร้าง และถวายพระนามว่า “พระบรมไตรโลกนารถ” และในจดหมายของแกมเฟอร์ ชาวต่างชาติที่เข้ามาในอยุธยา ประมาณ พ.ศ. 2233 ยังระบุไว้เช่นเดียวกันว่าเป็นของมอญ

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวความเป็นมาของหลวงพ่อโต แห่งวัดพนัญเชิง จ. พระนครศรีอยุธยา ที่หลายคนต่างให้ความเคารพและอยู่คู่บ้านคู่เมืองมาเป็นระยะเวลาหลายชั่วอายุคน

กลับมาที่เรื่องหลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง เคยถูกสรงน้ำในเทศกาลสงกรานต์ จนต่อมาต้องซ่อมแซมใหม่ เรื่องนี้หลายคนที่เพิ่งเคยได้ยินน่าจะตกใจอยู่ไม่น้อย เพราะจากรูปลักษณ์ขององค์ท่านแล้ว สูงใหญ่ ไม่น่าจะเสียหายได้ง่าย

แต่เรื่องนี้ ส. พลายน้อย ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2553 เป็นคนบอกเล่าไว้ว่า… 

“ผู้คนที่อยู่ใกล้วัดพนัญเชิงก็จะพากันไปสรงน้ำหลวงพ่อโต… สมัยเมื่อ 50-60 ปีก่อนโน้น ผู้คนพากันเอาน้ำไปฉีดและสาดที่องค์พระ ซึ่งทำให้องค์พระพุทธรูปเสียหาย ต่อมาภายหลังเมื่อปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมปิดทองใหม่เรียบร้อยแล้ว จึงได้หล่อเป็นองค์จำลองขึ้น 

เมื่อมีผู้ประสงค์จะปิดทองหรือสรงน้ำในวันสงกรานต์ก็เชิญออกมาข้างนอกวิหารให้ประชาชนสรงน้ำ ผู้ที่จะสรงน้ำก็ไม่ต้องเข้าไปเบียดเสียดกันข้างในวิหารและสถานที่ก็ไม่สกปรก”

จึงทำให้ทราบว่าครั้งหนึ่งองค์ท่านเคยถูกสรงน้ำ จนต่อมาต้องปฏิสังขรณ์ใหม่และสร้างองค์จำลองขึ้น เพื่อให้ทุกคนได้สักการะบูชาในวันมหาสงกรานต์นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ส. พลายน้อย. (2547). ตรุษสงกรานต์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน.

https://bit.ly/4alFNfs


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 มีนาคม 2567