ความหมายและนัยของพิธีสรงน้ำพระมุรธาภิเษก ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับ น้ำสรงพระมูรธาภิเษกจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์

“มุรธาภิเษก” แปลว่า การรดน้ำที่พระเศียร น้ำที่รดเรียกว่า “น้ำมุรธาภิเษก” ที่ผ่านการทำพิธีกรรมมาแล้ว ดังนั้นการสรงพระมุรธาภิเษกจึงเป็นการชำระล้างให้สะอาดและศักดิ์สิทธิ์ ในแง่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจึงหมายถึง การยกให้หรือการแต่งตั้งโดยการทำพิธีรดน้ำ ซึ่งตามคติความเชื่อของพราหมณ์ ถือว่าการยกให้ผู้ใดเป็นใหญ่ทรงสิทธิ์อำนาจนั้นจะต้องทำด้วยพิธีรดน้ำศักดิ์สิทธิ์

ผศ. ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อธิบายว่า เนื่องจากสภาพภูมิอากาศในไทยเป็นเมืองร้อน การอาบน้ำเป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะการอาบน้ำเพื่อชำระร่างกายให้สะอาดก่อนเข้าพิธีกรรมทางศาสนาซึ่งเป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไป แต่การมุรธาภิเษก มีความสำคัญอย่างหนึ่งคือการรดน้ำครั้งนี้คือการเปลี่ยน ได้รับอำนาจ หรือเปลี่ยนสถานะเป็นผู้มีอำนาจอย่างสมบูรณ์สุดในอาณาจักร

ธรรมเนียมการมุรธาภิเษกเพื่อสถาปนาอำนาจหรือยกให้บุคคลที่ได้รับการมุรธาภิเษกให้เป็นผู้ยิ่งใหญ่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ของทางศาสนาพราหมณ์ที่มีอายุเก่ากว่าพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น แนวคิดเรื่องมุรธาภิเษกเกิดมาอย่างน้อย 3,000 ปีเป็นขั้นต่ำ

การมุรธาภิเษกเป็นการรดน้ำเพื่อให้เทวดารดน้ำพระอินทร์เพื่อให้พระอินทร์เป็นเทวดาที่ยิ่งใหญ่บนสวรรค์ พิธีกรรมนี้จึงถูกจำลองในพิภพมนุษย์ กล่าวคือเปลี่ยนจากพระอินทร์เป็นพระราชา และขุนนางอำมาตย์แทน

แนวคิดเรื่องมุรธาภิเษกในศาสนาพราหมณ์

แนวคิดเรื่องมุรธาภิเษกในศาสนาพราหมณ์นั้น พุทธศาสนาเองก็ยอมรับแนวคิดนี้ มีหลักฐานปรากฏว่าคำว่าอภิเษกในวรรณกรรมฝ่ายบาลีหมายถึง The Coronation คือสถาปนาหรือบรมราชาภิเษกเช่นเดียวกัน มีฉากจิตรกรรมปรากฏที่ถ้ำอชันตา ตอนสรงมุรธาภิเษกพระมหาชนก ซึ่งคือเรื่องหนึ่งในชาดกที่รู้จักกันดี

แนวคิดเรื่องมุรธาภิเษกในหลักฐานการบรมราชาภิเษกปรากฏในไทยโดยหลักฐานที่เห็นชัดสุดจากศิลาจารึกปากน้ำมูล และจารึกถ้ำภูหมาไนซึ่งเป็นของพระเจ้ามเหนทรวรมัน ก็กล่าวถึงคำว่าอภิเษก อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการทำอภิเษกครั้งนั้นมีลักษณะอย่างไรนั้น ยังไม่สามารถระบุได้ เพราะไม่มีรายละเอียดจารึกไว้

ในจารึกสุโขทัยก็มีพูดถึงการอภิเษกเหมือนกันแต่ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดมากนัก หลักฐานถัดมาคือปรากฏอยู่ในกฏมณเฑียรบาล ในที่นี้คือกฎหมายว่าด้วยขนบธรรมเนียม ข้อปฏิบัติของข้าราชการสมัยกรุงศรีอยุธยา ตราขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทำให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าในสมัยอยุธยา การอภิเษกมีเกิดขึ้นหลายครั้ง ในแต่ละครั้งมีความหมายไม่เหมือนกัน

รายละเอียดของการสรงพระมุรธาภิเษก

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มณฑปพระกระยาสนาน เป็นสถานที่สำหรับพระมหากษัตริย์สรงสนานโดยจะประดิษฐานบริเวณชาลารอยต่อพระที่นั่งไพศาลทักษิณ กับ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในหมู่พระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง 

มณฑปพระกระยาสนานมีลักษณะเป็นมณฑปหุ้มผ้าขาวแต่งด้วยเครื่องทองคำ เพดานดาดผ้าขาว มีสหัสธารา สำหรับไขน้ำพระมุรธาภิเษกจากบนเพดานให้โปรยลงยังที่สรง ผูกพระวิสูตรขาวทั้ง 4 ด้าน ภายในมณฑปตั้งตั่งอุทุมพรหรือไม้มะเดื่อบนถาดทองรองน้ำสรง

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ร.7 พ.ศ.2468 สรงมุรธาภิเษกในพระมณฑปกระยาสนาน สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ ถวายน้ำมนต์

เมื่อใกล้พระฤกษ์สรงพระมุรธาภิเษก พระมหากษัตริย์ทรงพระภูษาเศวตพัสตร์ ทรงสะพักขาวขลิบทองคำ แล้วเสด็จขึ้นบนพระมณฑปพระกระยาสนานประทับเหนือตั่งไม้มะเดื่อ

ตั่งไม้มะเดื่อหรือตั่งอุทุมพรเป็นตั่งรูปกลมสี่ขา หุ้มผ้าขาว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระบรมราชาธิบายในพระราชพิธีสิบสองเดือนไว้ว่า ใช้สำหรับผู้ได้รับอภิเษกเฉพาะพระมหากษัตริย์ พระอัครมเหสี พระราชเทวี สมเด็จพระสังฆราช และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าเมื่อลงสรงโสกันต์รับพระสุพรรณบัฏเท่านั้น

ในวันสรงพระมุรธาภิเษกเบื้องพระพักตร์ทอดเครื่องพระครอบพระมุรธาภิเษกสนานบนถาดสรงพระพักตร์ ส่วนบริเวณพื้นอ่างที่รองรับพระบาทนั้น จะทอดใบไม้นามกาลกิณีให้ทรงเหยียบในเวลาสรง เช่น ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงเหยียบใบกระถิน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงเหยียบใบตะขบ และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงเหยียบใบอ้อ เป็นต้น

ในระหว่างพิธีพระมหากษัตริย์จะต้องประทับหันหลังให้กับทิศที่เป็นกาลกิณีของวันประกอบพิธี ส่วนเบื้องพระพักตร์จะหันสู่ทิศที่เป็นมงคล เช่น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงแปรพระพักตร์ไปยังทิศตะวันออกเฉียงเหนือ, รัชกาลที่ 6 ทรงแปรพระพักตร์ยังทิศตะวันออกเฉียงใต้เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม แม้วันสรงพระมุรธาภิเษกจะเป็นวันใดก็ตาม พระมหากษัตริย์อาจทรงเลือกแปรพระพักตร์สู่ทิศบูรพา ดังพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 9 ทรงแปรพระพักตร์สู่ทิศตะวันออก ตามพระราชประสงค์

เมื่อขึ้นประทับในมณฑปแล้วสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงวักน้ำจากพระครอบพระมุรธาภิเษกสรงพระเจ้าหรือเส้นผมเป็นปฐม เมื่อถึงมหาอุดมมงคลฤกษ์ โหรลั่นฆ้องชัย เจ้าพนักงานภูษามาลาไขสหัสธาราโปรยน้ำพระมุรธาภิเษกจากเพดานมณฑป การถวายพระมุรธาภิเษกด้วยสหัสธารานั้น รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระบรมราชาธิบายว่า ถือเป็นเกียรติยศใหญ่สำหรับพระมหากษัตริย์เท่านั้น

รัชกาลที่ 9 ประทับ ณ มณฑปพระกระยาสนาน พระราชพิธีบรมราชาภิเษก 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493

ขณะสรงพระมุรธาภิเษก พระสงฆ์จะเจริญชัยมงคลคาถา เจ้าพนักงานประโคมแตรสังข์ดุริยางค์ดนตรี ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ทหารกองแก้วจินดายิงปืนตามกำลังวันที่ของวันประกอบพระราชพิธี

ทหารกองจินดา ในรัชกาลที่ 9 ทรงเปลี่ยนเป็นทหารปืนใหญ่แทนเป็นผู้ยิงปืนมหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร มหาปราบยุค เฉลิมพระเกียรติยศ ระหว่างนั้น เจ้าพนักงานจะยกพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ในพระที่นั่งองค์ต่าง ๆ ขึ้นพร้อมกันทุกแห่งด้วย เมื่อถึงเวลานี้เป็นพิธีการประกาศพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์

เมื่อเสร็จขั้นตอนตรงนี้แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็จะเปลี่ยนฉลองพระองค์เสร็จ แล้วจะเสด็จเข้ามายังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เพื่อประทับบนพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ มีลักษณะเป็นพระที่นั่งทรงแปดเหลี่ยม ที่พระองค์ท่านจะทรงรับน้ำอภิเษกจากพราหมณ์ พระราชบัณฑิต รวมทั้งผู้แทนจากราษฎร ทรงรับน้ำอภิเษกให้ครบทั้งแปดทิศ การทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายน้ำอภิเษกให้ครบทั้งแปดทิศ เปรียบเสมือนการที่ราษฎรจากทั่วทุกสารทิศร่วมกันทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระราชอำนาจ รวมถึงความจงรักภักดีให้กับพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่