26 กรกฎาคม 1956 อียิปต์ยึด “คลองสุเอซ” คืนจาก “อังกฤษ-ฝรั่งเศส”

อียิปต์ คลองสุเอซ เรือ กู้ซาก สะพาน
เรือเยอรมันเข้ากู้ซากสะพานเอลฟาร์เดน (El Fardane) ที่ถูกทำลายโดยอียิปต์เพื่อปิดคลองสุเอซ ในช่วงต้นปี 1957 หลังอังกฤษและฝรั่งเศสถอนทัพออกไปแล้วในเดือนธันวาคม 1956 (AFP PHOTO / AIME TOUCHARD)

วันที่ 26 กรกฎาคม 1956 (พ.ศ. 2499) กาเมล อับเดล นัสเซอร์ (Gamel Abdel Nasser) ประธานาธิบดีของ “อียิปต์” ในขณะนั้น ประกาศยึด “คลองสุเอซ” เป็นสมบัติของรัฐ หลังจากคลองที่เชื่อมต่อทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับทะเลแดงแห่งนี้ตกอยู่ภายใต้การครอบครองของกลุ่มผลประโยชน์ต่างชาติมาโดยตลอด (ส่วนใหญ่เป็นอังกฤษและฝรั่งเศส)

อียิปต์ยึดคลองสุเอซ

วิกฤติคลองสุเอซเกิดขึ้นหลังสหรัฐฯ และอังกฤษบิดพลิ้วปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่อียิปต์ในการสร้างเขื่อนสูงแห่งอัสวัน (Aswan High Dam) ตามที่เคยรับปากไว้ อียิปต์ซึ่งเริ่มมีสัมพันธ์แนบแน่นกับเชโกสโลวาเกีย และโซเวียตมากขึ้นจึงตัดสินใจประกาศใช้กฎอัยการศึก ยึดบริษัทคลองสุเอซ (Suez Canal Company) ซึ่งผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่เป็นชาวฝรั่งเศสและอังกฤษ โดยหวังว่าการเก็บค่าผ่านทางภายใน 5 ปี จะช่วยให้มีทุนมากพอที่จะสร้างเขื่อนดังกล่าวได้

ภาพถ่ายในเดือนธันวาคม 1956 ชาวอียิปต์ปีนรูปปั้น Ferdinand de Lesseps (นักการทูตฝรั่งเศสผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาคลองสุเอซ) เพื่อนำธงชาติฝรั่งเศสมาเผาทำลาย (AFP PHOTO / AFP ARCHIVES)
ภาพถ่ายในเดือนธันวาคม 1956 ชาวอียิปต์ปีนรูปปั้น Ferdinand de Lesseps (นักการทูตฝรั่งเศสผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาคลองสุเอซ) เพื่อนำธงชาติฝรั่งเศสมาเผาทำลาย (AFP PHOTO / AFP ARCHIVES)

“นี่คือเงินของเรา คลองสุเอซเป็นของเรา คลองสุเอซสร้างขึ้นโดยชาวอียิปต์ และชาวอียิปต์ 120,000 คน ต้องตายระหว่างการก่อสร้าง ดังนั้นเราจะก่อสร้างเขื่อนด้วยวิถีทางของเราเอง”

“เราถูกบริษัทคลองสุเอสแย่งเงินจำนวน 35 ล้านปอนด์อียิปต์ไปในแต่ละปี เราควรเอาเงินนี้มาสร้างเขื่อน เราต้องพึ่งพาความเข้มแข็ง แขนขาและเงินทุนของเราเอง” นัสเซอร์ประกาศ

พันธมิตรอังกฤษ-ฝรั่งเศส

หลังมาตรการทางการทูตเพื่อคลี่คลายปัญหาล้มเหลว อังกฤษและฝรั่งเศสจึงเตรียมกำลังทหารเพื่อเข้ายึดคลองสุเอซ รวมถึงหาทางกำจัดนัสเซอร์ออกจากอำนาจ โดยมีอิสราเอลเป็นพันธมิตรสำคัญในภูมิภาค หลังนัสเซอร์สร้างความไม่พอใจให้อิสราเอลด้วยการปิดช่องแคบไทแรน (Straits of Tiran) ทางออกสู่ทะเลแดงจากอ่าวอะกาบา (Gulf of Aqaba) รวมถึงการสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธในอิสราเอล

ปลายเดือนตุลาคมปีเดียวกันอิสราเอลได้เคลื่อนพลเข้าสู่คลองสุเอซ ทำให้กองทัพอียิปต์ต้องถอยร่น ฝ่ายอังกฤษและฝรั่งเศสก็เดินหน้าตามแผนพร้อมกับเรียกร้องให้ทั้งอิสราเอลและอียิปต์ถอนทัพออกจากคลองพิพาท

ต่อมาในวันที่ 5-6 พฤศจิกายน อังกฤษและฝรั่งเศสได้ยกพลขึ้นบกที่ท่าเรือซาอิด (Port Said) และท่าเรือฟูอัด (Port Fuad) เริ่มครอบครองพื้นที่บางส่วนของคลองสุเอซ ทำให้เกิดแรงต่อต้านจากประชาชนภายในประเทศผู้รุกรานเอง รวมถึงสหรัฐฯ ที่เกรงว่า พฤติกรรมดังกล่าวของอังกฤษและฝรั่งเศสอาจทำให้โซเวียตเข้าแทรกแซง จึงได้อาศัยองค์การสหประชาชาติผ่านมติต่างๆ จนนำไปสู่การยุติการรุกรานอียิปต์ โดยอังกฤษและฝรั่งเศสได้ถอนทัพออกไปในเดือนธันวาคม ส่วนอิสราเอลถอนทัพในเดือนมีนาคมปีถัดมา

หลังเหตุการณ์นัสเซอร์กลายเป็นผู้ชนะและวีรบุรุษของขบวนการชาตินิยมอียิปต์ และการต่อสู้เพื่อชาวอาหรับ ด้านอิสราเอลแม้จะไม่ได้สิทธิในการเดินเรืออย่างเสรีผ่านคลองสุเอซ แต่ก็ได้สิทธิในการเดินเรือผ่านช่องแคบไทแรน ขณะที่อังกฤษและฝรั่งเศสต้องสูญเสียอิทธิพลเกือบทั้งหมดในตะวันออกกลางไปจากเหตุการณ์นี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

“Suez Crisis”. Encyclopedia Britannica. <https://global.britannica.com/event/Suez-Crisis>

“Egypt Nationalizes Suez Canal Company; Will Use Revenues to Build Aswan Dam”. The New York Times. <http://query.nytimes.com/mem/archive-free/pdf?res=9400E0DE103FE03BBC4F51DFB166838D649EDE>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 กรกฎาคม 2561