“นางกวัก” คือใคร? ไฉนมาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เรียกโชภลาภ-เงินทอง

นางกวัก
(ภาพจาก หนังสือ ตำราพรหมชาติ ฉบับราษฎร)

ตั้งแต่ก่อนทศวรรษ 2530 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในกลุ่มให้โชคลาภและความมั่งคั่งร่ำรวยที่คนไทยนิยมมากที่สุดเห็นจะเป็น “นางกวัก” แต่น้อยคนนักจะรู้ว่า ชื่อจริง ๆ ของนางกวักคือ นางสุภาวดี เป็นบุคคลที่มีตัวตนอยู่ในพุทธประวัติเมื่อครั้งสมัยพุทธกาล

สตรีท่านนี้มาเกี่ยวข้องกับการ “กวัก” เรียกเงินทอง โชคลาภ และความมั่งคั่งได้อย่างไร?

ก่อนอื่นต้องชี้แจงเสียหน่อยว่า เหตุใดเรื่องของความร่ำรวยที่ดูเหมือนจะมีพื้นฐานมาจากความอยากได้อยากมี จึงไม่ใช่สิ่งต้องห้ามในพุทธศาสนา ก็ในเมื่อเรื่องเล่าของ “นางกวัก” ที่เกี่ยวกับการเรียกเงินทองในการทำมาค้าขายยังเป็นส่วนหนึ่งของพุทธประวัติ นั่นเพราะอันที่จริงพระพุทธเจ้าเองไม่เคยกล่าวว่า “กำไร” เป็นอวิชชาแต่อย่างใด การมีโชคลาภและเพิ่มพูนเงินตราจึงไม่ใช่สิ่งผิดแปลกจากหลักศาสนา หากกระทำโดยสุจริต

ดังจะเห็นการบูชาในพุทธศาสนาแบบเถรวาทเองยังกลายเป็นสินค้าหรือเครื่องผลิตโภคทรัพย์ได้ ชี้ให้เห็นว่า ศาสนาพุทธมิได้ปิดกั้นการแสวงหาความร่ำรวยระหว่างที่มุ่งสู่นิพพาน แม้แต่ศีลและพรยังเน้นเรื่องความเป็นอยู่ที่ดีและความ “ร่ำรวย” อันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่อยู่เย็นเป็นสุขของชาวพุทธ

ตำนานพุทธศาสนาจึงมีเรื่องราวของพระสาวกผู้เกี่ยวข้อง หรือมีพุทธคุณเรื่องการส่งเสริมเรื่องการทำมาค้าขายและความร่ำรวย ซึ่งเรื่องเล่าหลัก ๆ ที่แพร่หลายกันมานานในสังคมไทยคือ ตำนานพระอรหันต์นามว่า พระสีวลี กับ นางกวัก นี่เอง

นางสุภาวดี เป็นธิดารูปงามของครอบครัววรรณะพราหมณ์ครอบครัวหนึ่ง พวกเขามีอาชีพเร่ขายสินค้าตามชนบททางเหนือของอินเดีย ระหว่างขับเกวียนอยู่นั้น นางสุภาวดีผู้เคยฟังเรื่องราวของและทราบกิตติคุณของพุทธสาวกหลาย ๆ รูป ได้สวดอ้อนวอนขอให้ตนและครอบครัวพบพระอรหันต์นามว่า “พระกัสสะปะ” ระหว่างการเดินทาง

และก็สมดังปรารถนา นางและครอบครัวได้พบและสดับฟังเทศนาธรรมจากพระกัสสะปะ จึงถวายตัวเป็นพุทธมามกะแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้านับแต่นั้น

ที่สำคัญคือ ก่อนจะกล่าวลา พระกัสสะปะยังให้พรแก่นางสุภาวดีบุตรีพราหมณ์ว่า “ขอให้คิดสิ่งใดก็สมปรารถนา การค้าประสบแต่ความเจริญรุ่งเรืองมากไปด้วยทรัพย์ศฤงคาร เงิน ทอง”

ในเวลาต่อมา ครอบครัวพราหมณ์ยังได้พบ พระสีวลี พระอรหันต์ผู้โดดเด่นเรื่องการดลบันดาลโชคลาภโดยตรง ดังปรากฏในพุทธประวัติว่า ท่านเป็นพระสาวกรุ่นแรกของพระพุทธเจ้า และเคยอยู่ในครรภ์มารดานานถึง 7 ปี 7 เดือน 7 วัน ก่อนกาลกำเนิด ซึ่งเลข 7 ถือเป็น “เลขมหามงคล” ในพระพุทธศาสนา

พระสีวลีเองได้ประทานพรให้ครอบครัวพราหมณ์เหมือนพระกัสสะปะ ทำให้อานุภาพเรื่องการทำมาค้าขายของครอบครัวนี้เพิ่มทวีคูณยิ่งขึ้นไปอีก ครอบครัวของนางสุภาวดีจึงประสบพบเจอแต่ความรุ่งเรืองด้านการค้าจนมีทรัพย์สมบัติมากมายมหาศาล

เชื่อได้ว่าครอบครัวนี้มั่งคั่งด้วยพรอันประเสริฐของพระอรหันต์ทั้ง 2 รูป โดยมีจุดเริ่มต้นคือ นางสุภาวดี ผู้อธิษฐานจิตถึงพระอรหันต์นั่นเอง

จึงเกิดเป็นรูปเคารพของนางสุภาวดี ในท่านางกวัก เป็นรูปผู้หญิงส่งยิ้ม ดวงตาดำขลับ หน้าตาละม้ายคล้ายสตรีชาวอินเดีย ในท่านั่งคุกเข่าแบบเทพธิดา พร้อมยกมือขวาทำท่ากวักมือเรียกผู้คน

ภาพลักษณ์ดังกล่าวกลายเป็นสัญลักษณ์หรือ “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” สำคัญประจำกิจการร้านรวงต่าง ๆ ของพ่อค้าแม่ขาย เพื่อใช้เป็นเครื่องรางของขลังส่งเสริมด้านการค้าขาย เราจึงมักเห็น “นางกวัก” อยู่บนหิ้งบูชาบนผนังร้านค้าและร้านอาหารทั่วไป

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ปีเตอร์ เอ. แจ็คสัน; วิราวรรณ นฤปิติ แปล. (2566). เทวา มนตรา เกจิ: ไสยศาสตร์สมัยใหม่กับทุน(ไทย)นิยม. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 เมษายน 2567