ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“สรง” ใน สรงน้ำ สรงน้ำพระ เป็นคำยืมมาใช้จาก “ภาษาเขมร”
คำว่า “สรง” เป็นคำกริยา หมายถึง อาบน้ำ รดน้ำ ประพรม สำหรับใช้กับพระสงฆ์หรือเจ้านาย เช่น สรงพระบรมอัฐิ คำนี้ปรากฏหลักฐานว่ามีการใช้ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น
ดังปรากฏหลักฐานในวรรณคดีเรื่อง อนิรุทธคำฉันท์ ซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งว่า “แล้วเสด็จโสรจสรง” หรือ “ลูบองคพระพลเทพา เพียงทิพยสุรา มาโสจมาสรงทุกขทน”
อันที่จริง คำนี้เป็นคำยืมมาจากภาษาเขมรโบราณว่า ស្រង / สฺรง ส่วน ภาษาเขมร (ปัจจุบัน) เขียนว่า ស្រង់ / สฺรง่ ออกเสียงว่า ซฺร็อง เป็นคำกริยาที่แปลว่า สรง เหมือนที่ไทยใช้ โดยในสมณศัพท์จะใช้ว่า สฺรง่ทึก (อ่านว่า ซร็อง-ตึ๊ก) แปลว่า อาบน้ำ
ในภาษาไทยใช้ สรง เป็นคำราชาศัพท์และสมณศัพท์ แปลว่า อาบ ชำระล้าง เช่น สรงพระพักตร์ แปลว่า ล้างหน้า หรือ สรงน้ำ แปลว่า อาบน้ำ รดน้ำ เช่น “เวลาสงกรานต์ ประชาชนพากันไป ‘สรง’ น้ำพระพุทธสิหิงค์ นอกจากสรงน้ำพระพุทธรูปแล้ว เรา สรงน้ำพระ (ภิกษุ) ที่เคารพนับถือด้วย”
เพราะน้ำเป็นสิ่งสำคัญที่สุดต่อชีวิตมนุษย์ ในสังคมไทยจึงใช้น้ำเป็นเครื่องหมายในการประกอบพิธีกรรมที่เกี่ยวกับชีวิตหรือเสริมสร้างความสิริมงคลต่าง ๆ เช่น อาบน้ำเมื่อเกิด รดน้ำเมื่อให้พร ใช้น้ำรดในพิธีแต่งงาน รดน้ำในพิธีศพ
คำว่า “สรง” จึงถูกนำมาใช้ในเชิงยกย่องเชิดชูระหว่างประกอบกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับน้ำเหล่านี้นั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม :
- “จำวัด-จำพรรษา-จำศีล” ทำไมต้องจำ “จำ” คำเขมรที่ยืมมาใช้ในภาษาไทย
- “อัปรีย์” แล้วทำไมต้องมี “สีกบาล” พ่วงต่อจนเป็น “อัปรีย์สีกบาล”?
- “ตำรวจ” มาจากไหน? ทำไมเรียก “ตำรวจ”? ฟังจาก “จิตร ภูมิศักดิ์”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ศานติ ภักดีคำ. (2553). เขมรใช้ ไทยยืม. กรุงเทพฯ : อมรินทร์.
สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. สรงน้ำ. 16 มกราคม 2554. (ออนไลน์).
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 เมษายน 2567