“หม่อมหลวง” สกุลยศนี้ทำไมต้องเรียกและมีคำนำหน้าชื่อว่า “คุณ”

หม่อมเจ้าเราหินาวดี ดิศกุล ภาพประกอบ บทความ หม่อมหลวง
ภาพประกอบ- หม่อมเจ้าเราหินาวดี ดิศกุล หรือท่านหญิงเป้า ทรงกำลังทำงานในโรงขนม (ภาพจากหนังสือ "อาหารท่านหญิงเป้า")

ช่วงนี้หากใครเป็นคอละคร คงจะต้องรู้จัก “ขวัญฤทัย” หนึ่งในละครชุด “ดวงใจเทวพรหม” ที่ออนแอร์ทางช่อง 3 และเป็นภาคต่อของละครชุดชื่อดังที่แต่ก่อนฮิตกันทั่วบ้านทั่วเมืองอย่าง “สุภาพบุรุษจุฑาเทพ” แถมยังเป็นรุ่นลูกของ “คุณชายพุฒิภัทร” อีกด้วย แต่เมื่อดูไปได้สักพัก หลายคนก็เริ่มมีข้อสงสัยอยู่ไม่น้อยว่าทำไมตัวละครที่มีสกุลยศ “หม่อมหลวง” ถึงต้องเรียกแทนกันว่า “คุณ”

อย่างพระเอกในเรื่อง หม่อมหลวง ฉัตรเกล้า จุฑาเทพ (รับบทโดย ไมกี้ ปณิธาน) ก็เรียกกันสั้น ๆ ว่า “คุณฉัตร” หรือน้องสาว อย่างหม่อมหลวง ปกเกศ จุฑาเทพ (รับบทโดย แบม สราลี) คนก็เรียกกันว่า “คุณเกศ” แถมเป็นพี่น้องกัน ก็ยังห้อยคำว่า “คุณ” มาเรียกกันอีก แทนที่จะเรียกว่า “พี่ฉัตร” หรือ “น้องเกศ”

เรื่องนี้ลองไปหาข้อมูลมา พบในเอกสารฉบับหนึ่งของ ศาสตราจารย์ จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรม ชื่อว่า “ราชาศัพท์ที่มักใช้ไม่ถูกต้อง” ซึ่งอธิบายและชี้แจงการใช้คำราชาศัพท์ที่ถูกต้องให้ทุกคนได้เข้าใจกันง่าย ๆ โดยหยิบยกมาจากข้อสังเกตของหม่อมหลวง ปีย์ มาลากุล

ในนั้นอธิบาย “การเรียกตำแหน่งแบบลำลอง” ของ พระองค์เจ้า หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ และหม่อมหลวงไว้ว่า…

“๙. การเรียกตำแหน่งพระองค์เจ้า หม่อมเจ้า หม่องราชวงศ์ หม่อมหลวงอย่างลำลอง ถ้าเป็น ‘พระองค์เจ้า’ ใช้ ‘พระองค์ชาย-พระองค์หญิง’ ถ้าเป็น ‘หม่อมเจ้า’ ใช้ ‘ท่านชาย-ท่านหญิง’ ถ้าเป็น ‘หม่อมราชวงศ์’ ใช้ ‘คุณชาย-คุณหญิง’ ถ้าเป็น ‘หม่อมหลวง’ ใช้ ‘คุณ’ ทั้งชายและหญิง”

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คาดได้ว่า ทำไมตัวละครใน “ขวัญฤทัย” ถึงต้องมีคำว่าคุณนำหน้า และยังต้องเรียกกันว่าคุณ ถึงแม้ว่าจะเป็นพี่น้องกันก็ตาม

ทว่าในปัจจุบัน การเรียกแทนว่าคุณ ก็ไม่ได้จำกัดแค่ในชนชั้นเจ้านาย บรรดาเชื้อเจ้า และผู้ที่ได้รับพระราชทานตราจุลจอมเกล้าเหมือนในอดีต คนทั่วไปก็สามารถเรียกแทนกันว่าคุณได้ เพราะถือเป็นคำสุภาพใช้เรียกเพื่อให้เกียรติอีกฝ่าย และยศหม่อมหลวงก็ถือเป็นสกุลยศลำดับสุดท้าย ทั้งยังเป็นสามัญชนแล้ว จึงทำให้การเรียกคุณ ในยศหม่อมหลวงอาจไม่เป็นที่คุ้นหูหรือแพร่หลายนัก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

http://www.satriwit3.ac.th/files/130719099044311_13102722220855.pdf

http://legacy.orst.go.th/?knowledges=คำสรรพนามในภาษาไทยสะท้e


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 เมษายน 2567