“เจ้าจอมมารดาแข” เจ้าจอมมารดาท่านแรกในรัชกาลที่ 5

รัชกาลที่ 5 พระสวมี เจ้าจอมมารดาแข
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์แข พึ่งบุญ หรือ “เจ้าจอมมารดาแข” สืบเชื้อสายจาก พระองค์เจ้าไกรสร ซึ่งถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ในสมัยรัชกาลที่ 3 เจ้าจอมมารดาแขเป็นเจ้าจอมมารดาท่านแรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเป็นพระมารดาใน “พระองค์เจ้าผ่อง” ถึงอย่างนั้น ท่านก็ไม่ได้เป็นที่โปรดปรานนัก เรื่องนี้มีสาเหตุเพราะอะไร?

เจ้าจอมมารดาแข เกิดในราว พ.ศ. 2390 เป็นธิดา “หม่อมนก” พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงรักษรณเรศ (พระองค์เจ้าชายไกรสร) พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

กรมหลวงรักษรณเรศ ทรงประพฤติผิดร้ายแรงต้องพระราชอาญา ถูกถอดพระยศลงเป็น “หม่อมไกรสร” และถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เชื้อสายของกรมหลวงรักษรณเรศเฉพาะ “หม่อมเจ้า” ถูกถอดยศตามพระบิดา ส่วนระดับหม่อมราชวงศ์ หม่อมหลวง ไม่ถือว่าเป็นเจ้า จึงยังคงเดิม

เจ้าจอมมารดาแข เดิมมีตำแหน่งเป็นพระพี่เลี้ยงในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ เล่ากันว่า เมื่อท่านตั้งครรภ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชบิดาในเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ไม่ทรงทราบ

กระทั่งประสูติพระธิดา คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าผ่องอำไพ หรือ “พระองค์เจ้าผ่อง” พระราชธิดาพระองค์แรกในรัชกาลที่ 5 ที่ประสูติก่อนเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2410 (เมื่อแรกประสูติ พระองค์เจ้าผ่องจึงทรงมีพระอิสริยศักดิ์เป็นหม่อมเจ้า) เจ้าจอมมารดาเที่ยงในรัชกาลที่ 4 ได้อุ้มหม่อมเจ้าผ่องขึ้นถวายให้รัชกาลที่ 4 ทอดพระเนตร

เมื่อรัชกาลที่ 4 ตรัสถามว่าพระธิดาพระองค์นี้เป็นลูกของใคร เจ้าจอมมารดาเที่ยงไม่ได้ทูลตอบทันที กลับกราบทูลเลี่ยงๆ ให้รัชกาลที่ 4 ทอดพระเนตรเองว่า พระพักตร์เหมือนผู้ใด จึงตรัสว่า “เหมือนแม่เพย” คือ สมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ พระอัครมเหสี ซึ่งทรงเป็นพระบรมราชชนนีในรัชกาลที่ 5

อย่างไรก็ดี เมื่อรัชกาลที่ 4 ทรงทราบว่าหม่อมเจ้าผ่องเป็นธิดา “เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์แข” ก็โปรดฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ทำขวัญเท่ากันกับพระเจ้าลูกเธอ

นับว่า พระองค์เจ้าผ่อง ทรงเป็นพระราชนัดดาพระองค์แรกที่รัชกาลที่ 4 ทรงทันได้เห็น

ส่วนเหตุที่รัชกาลที่ 5 ไม่โปรดปรานเจ้าจอมมารดาแข เป็นเพราะเมื่อครั้งพระองค์เจ้าผ่องทรงพระเยาว์ได้ประชวรหวัด รัชกาลที่ 5 เสด็จเยี่ยม แต่เมื่อตรัสถามพระอาการพระองค์เจ้าผ่องถึง 3 ครั้ง เจ้าจอมมารดาแขก็มิได้ทูลตอบ จึงทรงพระพิโรธ มิได้ตรัสด้วยอีกต่อไป

จากนั้น รัชกาลที่ 5 ก็โปรดให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร หรือ “ทูลกระหม่อมแก้ว” พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงยกย่องเสมือนพระบรมราชชนนี ด้วยทรงเลี้ยงดูพระองค์ตั้งแต่ครั้งทรงพระเยาว์ เป็นผู้ทรงอภิบาลพระองค์เจ้าผ่อง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. “หม่อมห้ามนางใน: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าผ่องอำไพ”. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2538.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 มีนาคม 2567