“มูเตลู” คำนี้มีที่มาจากไหน ใครเป็นคนเรียกคนแรก ทำไมถึงได้รับความนิยมมากในสังคมไทย?

มูเตลู สมชาย แซ่จิว
สมชาย แซ่จิว - ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจีน ในกิจกรรม Matichon’s Special Talk J47 ที่งานหนังสือ พ.ศ. 2567

ได้ยินคนรอบข้างหรือโลกโซเชียลมีเดียพูดมาเนิ่นนานกับคำว่า “มูเตลู” หรือ “สายมู” ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนที่ชื่นชอบและเชื่อในเรื่องของไสยศาสตร์ ความเชื่อที่มองไม่เห็น 

แล้วเคยสงสัยไหมว่า คำนี้มีที่มาอย่างไร ใครเป็นคนเรียกคนแรก?

เรื่องนี้ สมชาย แซ่จิว นักเขียนและผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจีน ได้อธิบายไว้สั้น ๆ เข้าใจง่าย ผ่านกิจกรรมทอล์กสบาย ๆ อย่าง “Matichon’s Special Talk J47” มูเก็ตติ้งที่ต้องเล่า ในงาน “สัปดาห์หนังสือนานาชาติ” ครั้งที่ 22 (BANGKOK INTERNATIONAL BOOK FAIR 2024) ที่ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ว่า

มูเตลู สมชาย แซ่จิว

คำว่า “มูเตลู” หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า “สายมู” มาจากหนังอินโดนีเซียเรื่อง Penangkal ilmu Teluh หรือภาษาไทย คือ มูเตลู ศึกไสยศาสตร์ ฉายใน ค.ศ. 1979 โดยในหนังมีเนื้อหาเกี่ยวกับผู้หญิงสองคนที่ใช้ไสยศาสตร์ในการแย่งผู้ชาย 

ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจีน กล่าวต่อไปว่า ไม่แน่ใจว่าใครเป็นคนนำชื่อหนังนี้ให้กลายมาเป็นคำว่ามูเตลูอย่างที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน แต่จากข้อสันนิษฐานน่าจะเป็นกลุ่ม LGBTQ+ หรือกลุ่มความหลากหลายทางเพศในไทย เพราะกลุ่มนี้มีความสามารถในการเลือกสรรหาคำใหม่ ๆ มาใช้และนิยาม

นอกจากพูดถึงที่มาของเรื่องมูเตลูแล้ว สมชายยังพูดถึงความสำเร็จของเครื่องราง สินค้าต่าง ๆ ที่ช่วยเรื่องดวง โชคลาภของคนที่บูชา ว่า เหตุใดสินค้าเหล่านี้ถึงได้รับความนิยมอย่างมาก

สมชายได้บอกไว้อย่างน่าสนใจว่า แต่เดิมการค้าขายหรือทำธุรกิจมักจะใช้แนวคิดเรื่อง 4P ได้แก่ Product, Price, Promotion และ Place ช่วยในเรื่องการตลาด แต่ของเหล่าสายมูก็มีจุดเด่นของตัวเอง ได้แก่ 4E Experience, Exchange, Everywhere และ Evangelism 

อย่าง Experience คือการแชร์ประสบการณ์ของกลุ่มที่บูชาของศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ว่าบังเกิดผลอย่างไรบ้าง เช่น ถูกหวย ได้พรตามปรารถนา, Exchage คือการพร้อมแลกเปลี่ยน ใช้โดยไม่สนราคา เพราะมีเรื่องของประการณ์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย, Everywhere คือ ไม่ว่าที่ไหนเหล่าสายมูก็พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสินค้า ทำให้เข้าถึงได้ง่าย อย่างสุดท้ายคือ Evangelism การทำให้มีกลุ่มก้อนที่นับถือ  

ทั้งหมดนี้ทำให้การ “มูเตลู” ได้รับความนิยมมากในประเทศไทย

ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับสายมู จาก สมชาย แซ่จิว นักเขียนและผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจีน ให้ทุกคนได้รู้จักและรับฟังแบบเต็มอิ่มอีกมากมาย ที่ Facebook : Matichon Book – สำนักพิมพ์มติชน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 เมษายน 2567