“หลวงพ่อพระใส” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์จากล้านช้าง สู่พระคู่เมืองหนองคาย 1 ปีสรงน้ำได้ 1 หน

หลวงพ่อพระใส จ. หนองคาย วัดโพธิ์ชัย หลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย
หลวงพ่อพระใส จ. หนองคาย วัดโพธิ์ชัย พิธีอัญเชิญหลวงพ่อพระใส

หลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย แห่งเมืองหนองคาย 1 ปีสรงน้ำได้ 1 หน

“หลวงพ่อพระใส” เป็นพระพุทธรูปที่ประดิษฐานที่วัดโพธิ์ชัย จ. หนองคาย และอยู่คู่บ้านคู่เมืองมาเป็นระยะเวลาหลายชั่วอายุคน ใครที่ผิดหวัง เสียใจ หรือหาที่พึ่งทางใจ ล้วนแวะเวียนไปกราบท่าน เพื่อให้ท่านช่วยเหลือเกื้อกูล เพราะเล่าสืบกันมาว่าท่านมากด้วยอภินิหาร ดังจะเล่าให้ฟัง

จากตำนานเล่าขานมาเนิ่นนาน เชื่อกันว่าพระธิดาสามพี่น้องแห่งกษัตริย์ล้านช้าง (คาดว่าเป็นธิดาของพระไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์แห่งหลวงพระบาง) เป็นผู้ร่วมสร้าง “หลวงพ่อพระใส” พร้อมด้วย พระสุกและพระเสริม ขึ้นเป็นพระพุทธรูปประจำตัว เนื่องจากต้องการสืบทอดพระพุทธศาสนาให้คงไว้

พระสุกคือพระประจำพี่ใหญ่ พระเสริมประจำคนกลาง และพระใสประจำองค์เล็ก…

(ภาพจาก เฟซบุ๊ก : วัดโพธิ์ชัย พระอารามหลวง จังหวัดหนองคาย)

ขณะสร้างพระพุทธรูป 3 องค์ เล่ากันว่ามีอภินิหารน่าอัศจรรย์ใจเกิดขึ้น ชาวบ้านกับวัดต่างช่วยกันสร้างและสูบเตาหลอมทองกันกว่า 7 วัน แต่ไม่เป็นผล ทองไม่ยอมละลาย จนวันที่ 8 อยู่ ๆ ก็มีชีปะขาวจากที่ใดไม่ทราบโผล่มา พร้อมอาสามาช่วยเหลือ 

ชาวบ้านและพระเณรเห็นดังนั้นจึงปล่อยให้หลอมทองไป ส่วนพวกตนก็กลับไปทำหน้าที่อื่น ๆ เวลาผ่านไป ชาวบ้านเห็นกลุ่มชีปะขาวมากมายกำลังแข็งขันกันหลอมทอง แต่พระกลับเห็นชีปะขาวแค่คนเดียว

อย่างไรก็ตาม เมื่อทุกคนกลับมาอีกครั้งก็ไม่เห็นผู้ใด หลงเหลือแค่เพียงทองทั้งหมดถูกเทลงไปในเบ้าหลอมทั้ง 3 เบ้าเรียบร้อยแล้ว

หลังจากเสร็จสิ้นสมบูรณ์ พระสุก พระเสริม พระใส ก็ถูกนำไปประดิษฐานที่เมืองหลวงอาณาจักรล้านช้าง พระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ ถือเป็นพระพุทธรูปที่ชาวเมืองรักและหวงแหนมาก เพราะเมื่อใดที่เกิดสงคราม ก็จะถูกย้ายไปไว้ที่ภูเขาควายเพื่อความปลอดภัย และเมื่อสถานการณ์ปกติจึงจะนำกลับมาไว้ที่เดิม

ต่อมาพระสุก พระเสริม พระใส ก็ถูกอัญเชิญมาประดิษฐานที่เวียงจันทน์ แต่ไม่ทราบว่าเมื่อใด

(ภาพจาก เฟซบุ๊ก : วัดโพธิ์ชัย พระอารามหลวง จังหวัดหนองคาย)

กระทั่งสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ได้เกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์ที่เมืองเวียงจันทน์ขึ้น รัชกาลที่ 3 ทรงส่งสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพเป็นแม่ทัพไปปราบ และเมื่อสงครามสงบลงก็ได้อัญเชิญพระสุก พระเสริม พระใส มาที่ วัดโพธิ์ชัย จ. หนองคาย

แต่บางตำนานก็เล่าว่าพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 3 พระองค์ไม่ได้อัญเชิญมาจากเวียงจันทน์ แต่เป็นที่ภูเขาควาย โดยนำพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ใส่แพไม้ไผ่ล่องมาตามน้ำและเกิดเหตุอัศจรรย์ใจ เพราะพระสุกได้แหกแพลงมา บริเวณนั้นจึงได้ชื่อว่า “เวินแท่น”

อย่างไรก็ตาม ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขุนวรธานีและเจ้าเหม็นอัญเชิญพระเสริมไปที่กรุงเทพฯ และจะประดิษฐานที่วัดปทุมวนาราม แต่ขุนวรธานีต้องการอัญเชิญพระใสกลับไปด้วย

แต่ด้วยเหตุใดไม่ทราบ เมื่อชักลากพระใสที่ประดิษฐานบนเกวียนผ่านตรงหน้าวัดโพธิ์ชัย เกวียนก็หักโค่นลงมาครั้งแล้วครั้งเล่า ชาวบ้านจึงคาดว่าเป็นเพราะอำนาจอิทธิฤทธิ์ของเหล่าเทวดา พญานาค ที่ยื้อยุดฉุดหลวงพ่อพระใสไว้ เนื่องจากเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของบรรดาผู้มีบุญ 

ปัจจุบัน หลวงพ่อพระใสยังคงประดิษฐานที่ วัดโพธิ์ชัย จ. หนองคาย และมีงานประเพณีสมโภชหลวงพ่อพระใสเป็นประจำทุกปีในวันสงกรานต์ โดยจะอัญเชิญหลวงพ่อพระใสขึ้นราชรถ แห่ตามเมืองเพื่อให้ประชาชนได้สักการะบูชาสรงน้ำ ในแต่ละปีก็จะเกิดปาฏิหาริย์เหตุการณ์ฝนฟ้าครึ้ม มีฝนตกโปรยปรายลงมาเพื่อให้บ้านเมืองชุ่มฉ่ำตลอดวัน 

คาดว่าเป็นเพราะความศักดิ์สิทธิ์ของ “หลวงพ่อพระใส” นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

พระมหาสมนึก โสภณปญฺโญ (เจริญชัย). ความเชื่อและพิธีกรรมแก้บนหลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย. วิทยานิพนธ์ปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. 2560.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 เมษายน 2567