ญาคูสีทัด พระผู้นำการสร้างงานพุทธศิลป์ในพื้นที่สองฝั่งโขง

รูปเหมือน ญาคูสีทัด ที่ วัดพระพุทธบาทบัวบก อำเภอ บ้านผือ จังหวัด อุดรธานี
รูปเหมือนญาคูสีทัดที่วัดพระพุทธบาทบัวบก อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, พฤษภาคม 2557)

“ญาคูสีทัด” มีการเรียกชื่อท่านต่างๆ กันออกไปหลากหลาย เช่น หลวงปู่สีทัด, หลวงพ่อสีทัด พระอาจารย์สีทัด, พระครูสีทัด แม้แต่ชื่อ “สีทัด” ก็เขียนว่า “ศรีทัตถ์” และ “สีทัด” ส่วนคำว่า “ญาคู” คือคำเรียกสมณศักดิ์แบบล้านช้างสำหรับพระเถระที่ได้รับการฮดสรง [1] มาแล้ว 3 ครั้ง

การเรียกชื่อว่า “ญาคูสีทัด” สะท้อนถึงความเป็น “พระครองลาว” ของญาคูสีทัด

Advertisement

ประวัติ ญาคูสีทัด

ญาคูสีทัด ญาณสัมปันโน (พ.ศ. 2408-2483) ชื่อเดิม สีทัด สุวรรณมาโจ เป็นคนบ้านท่าอุเทน คุ้มวัดโพนแก้ว ตำบลท่าอุเทน อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม บิดาคือนายมาก สุวรรณมาโจ มารดาคือนางดา สุวรรณมาโจ มีพี่ชาย 1 คน และน้องสาว 1 คน ลักษณะเด่นของเด็กชายสีทัดคือมีใบหูยาว ใบหน้าเรียวเหมือนใบโพธิ์ จมูกโด่ง แขนขากลม นิ้วก้อยยาวเกือบเสมอนิ้วนาง นอกจากนี้เด็กชายสีทัดยังเป็นผู้ฝักใฝ่ในธรรมะและพระรัตนตรัยตั้งแต่เด็กๆ

เมื่ออายุครบ 20 ปี หรือ พ.ศ. 2428 นายสีทัดก็เข้ารับการอุปสมบทเป็นภิกษุที่วัดโพนแก้ว [2] และได้เล่าเรียนพระธรรมวินัยกับพระอาจารย์ขันธ์ ในเวลาต่อมาพระสีทัดได้ไปศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยกับ “พระอาจารย์ตาดำ” ที่วัดศรีสะเกษ (ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ห่างจากวัดโพนแก้วเพียงไม่กี่ร้อยเมตร) ในการเล่าเรียนที่วัดศรีสะเกษได้เรียนวิชามูลกัจจายนสูตร (การเรียนหลักภาษา) ไม่ว่าจะเป็น สมัญญาภิธาน สนธิ นาม อาขยาต และสมาส ฯลฯ (โดยตำราที่ใช้คือใบลานที่เป็นอักษรธรรมอีสาน และอักษรขอม)

ต่อมาพระสีทัดก็ยังได้เรียนการแปลคัมภีร์ทั้ง 5 คือ 1. พระวินัย 2. ปาจิตตีย์ 3. จุลลวรรค 4. มหาวรรค 5. ปริวารวรรค จนมีความรู้แตกฉาน ทั้งนี้รูปแบบการเล่าเรียนของพระสีทัดดังกล่าวคือส่วนหนึ่งของรูปแบบการเรียนหนังสือในอดีตของ “พระครองลาว” (พระที่ได้รับอิทธิพลจากล้านช้าง) 

พระสีทัดยังมุ่งออกจาริกธุดงค์ไปในที่ต่างๆ แถบสองฝั่งโขงอยู่บ่อยครั้งเพื่อแสวงหาความสงบสำหรับการปฏิบัติธรรมและปฏิบัติกัมมัฏฐานของตน การออกจาริกธุดงค์นี้ทำให้ญาคูสีทัดได้พบเจอสถานที่ต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อพระพุทธศาสนาและต่อความเชื่อของผู้คนสองฝั่งโขง ที่ในเวลาต่อมา ญาคูสีทัดได้นำพาพระสงฆ์และชาวบ้านสร้างงานพุทธศิลป์ที่สำคัญๆ ไว้หลายแห่งในพื้นที่ฝั่งซ้าย-ขวาของแม่น้ำโขง

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับประวัติของญาคูสีทัดคือ ญาคูสีทัดมีการลาสิกขาจากเพศบรรพชิตถึง 2 ครั้ง และอุปสมบท 3 ครั้ง นั่นเอง ซึ่งโดยทั่วไปการลาสิกขาบ่อยๆ ย่อมถูกมองได้ว่าเป็นผู้โลเลและไม่มั่นคงต่อการปฏิบัติวัตรในพระธรรมวินัย ความเคารพและศรัทธาย่อมน้อยลงตามไปด้วย

แต่สำหรับญาคูสีทัดที่นำพาพระสงฆ์และชาวบ้านก่อสร้างพุทธศิลป์ไม่ว่าจะเป็นสิม (อุโบสถ) หอแจก (ศาลาการเปรียญ) พระธาตุ พระพุทธรูป ฯลฯ ในพื้นที่สองฝั่งโขง เมื่อพิจารณาว่าเวลาร้อยกว่าปีก่อน ที่จำกัดด้วยเทคโนโลยี และการคมนาคม การสร้างงานแต่ละแห่งต้องใช้ทุนทรัพย์ และเวลากันเป็นปีๆ ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย ความสำเร็จที่เกิดขึ้นย่อมพิสูจน์ศรัทธามหาชนที่มีต่อ “ญาคูสีทัด” ผลงานพุทธศิลป์สำคัญของท่าน ได้แก่

พระธาตุท่าอุเทน

พ.ศ. 2453 (นับตามปฏิทินเดิม) ญาคูสีทัดได้นำพาพระสงฆ์ และชาวบ้านเริ่มก่อสร้าง “พระธาตุท่าอุเทน” โดยเบื้องต้นมีการขุดหลุมและก่ออูบมุง [3] เตรียมไว้สำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ รวมถึงบรรจุแก้ว แหวน เงิน ทองและของมีค่าต่างๆ ระหว่างการก่อสร้างพระธาตุท่าอุเทนนั้น มีข่าวกระจายตัวออกไปอย่างกว้างขวางทั้งในเมืองท่าอุเทน เมืองนครพนม เมืองหนองคาย เมืองสกลนคร เมืองมุกดาหาร และข้ามแม่น้ำโขงไปถึงเมืองหินปูน ในประเทศลาว ฯลฯ

พระสงฆ์ พ่อค้า และชาวบ้าน ที่ทราบข่าวจำนวนมากเดินทางมาที่วัดท่าอุเทนด้วยตนเองเพื่อบริจาคทรัพย์ในการช่วยสร้างพระธาตุ ขณะบางส่วนที่ก็อาสาช่วยเหลือเป็นแรงงานช่วยในงานก่อสร้าง, ทำอาหารการกิน, ช่างฝีมือ ฯลฯ ทำให้การสร้างพระธาตุท่าอุเทนไม่มีการว่าจ้าง หรือมีบอกกล่าวเพื่อเรี่ยไรทรัพย์สมบัติจากชาวบ้านแต่อย่างใด แทบทั้งหมดทั้งการบริจาคทรัพย์ หรือการใช้แรงงานล้วนเกิดจากศรัทธา

พระธาตุท่าอุเทนที่มีฐานของกว้างด้านละ 6 วา 3 ศอก และสูง 33 วา องค์พระธาตุก่อเป็น 3 ชั้น ใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้นถึง 6 ปี จึงแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2459

พระธาตุพุทธบาทบัวบก

หลังก่อสร้างพระธาตุท่าอุเทนแล้วเสร็จ (พ.ศ. 2459) คาดญาคูสีทัดคงออกจาริกธุดงค์เหมือนเช่นที่เคยประพฤติปฏิบัติมา และนำไปสู่การสร้างพระธาตุที่วัดพระพุทธบาทบัวบก (ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี)

ตามประวัติของการสร้างพระธาตุพุทธบาทบัวบกได้ให้รายละเอียดไว้ว่า ญาคูสีทัดเห็นความชำรุดทรุดโทรมของอูบมุงที่สร้างครอบรอยพระพุทธบาท จึงได้นำพาพระสงฆ์และชาวบ้านบูรณปฏิสังขรณ์ โดยการรื้ออูบมุงหลังเดิมออกแล้วลงมือสร้างพระธาตุองค์ใหม่ ที่มีฐานกว้างด้านละ 9.50 เมตร (5 วา 1 ศอก) และสูงประมาณ 45 เมตร (25 วา) ขึ้นทดแทน

การก่อสร้างพระธาตุพุทธบาบัวบกเริ่ม พ.ศ. 2463-2473 ต้องใช้เวลามากถึง 10 ปี เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ที่ตั้งของวัดพระพุทธบาทบัวบก ตั้งอยู่บนลานหินในภูเขาท่ามกลางป่า ห่างไกลชุมชน ถนนหนทางไม่สะดวกต่อการคมนาคมขนส่ง การขนส่งวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือ อิฐ หิน ปูน และทราย ฯลฯ จึงใช้เวลานานมากกว่าปกติ กล่าวกันว่าอิฐที่ใช้ในการก่อสร้างพระธาตุต้องเผาที่บ้านติ้ว (ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่เชิงเขาก่อนขึ้นสู่วัดโดยห่างจากวัดประมาณ 5 กิโลเมตร) แล้วค่อยลำเลียงใส่เกวียนขึ้นไปที่วัดพระพุทธบาทบัวบก

การสร้างพระสุกองค์จำลอง 

ก่อนหน้าที่ญาคูสีทัดจะมีสร้างพระสุกองค์จำลองนั้น มีประวัติเล่าว่าในรัชกาลที่ 3 หลังเกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์ขึ้น หลังการปราบปรามแล้วเสร็จ แม่ทัพสยามได้นำพระศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของล้านช้างมาด้วย 3 องค์ คือ พระสุก, พระใส และพระเสริม ขณะที่นำพระทั้งสามองค์ล่องมาในแม่น้ำโขง ได้เกิดพายุลมแรงทำให้พระสุกจมหายไปในแม่น้ำโขง โดยอัญเชิญพระใสไปประดิษฐานที่วัดโพธิ์ชัย เมืองหนองคาย ส่วนพระเสริมนำไปประดิษฐานที่วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ที่กรุงเทพ ฯ

เอกสารแผ่นพับของวัดศรีคุณเมืองได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ญาคูสีทัดนำพาพระสงฆ์และชาวเมืองหนองคายสร้างพระสุกองค์จำลองขึ้นใน พ.ศ. 2420 [4] และยกย่องญาคูสีทัดในฐานะบุรพาจารย์รูปหนึ่งของวัดเช่นกัน เพราะถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญรูปหนึ่งต่อวัดศรีคุณเมือง โดยญาคูสีทัดนี้เองที่เป็นผู้เปลี่ยนชื่อวัดนี้ จากเดิมที่ชื่อ “วัดป่าขาว” เปลี่ยนเป็น “วัดศรีคุณเมือง” ตามชื่อของอุบาสิกาผู้อุปัฏฐากวัดนี้มาโดยตลอดนั่นคือ “นางคูณ ทวีพาณิชย์”

วัดพระบาทโพนสัน

วัดพระบาทโพนสัน อยู่ห่างจากแม่น้ำโขงไม่ถึง 10 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ในเมืองท่าพระบาท แขวงบอลิคำไซ ประเทศลาว วัดแห่งนี้ยังเกี่ยวข้องกับ “ตำนานพระเจ้าเลียบโลก” ว่า พระพุทธเจ้าทรงเสด็จมาประทับเพื่อฉันภัตตาหาร แต่พญานาคเห็นว่าพื้นลานหินดังกล่าวไม่ราบเรียบจึงขดตัวเพื่อดันพื้นดินให้สูงขึ้นเป็นกองดินให้พระพุทธเจ้าฉันภัตตาหารบนเนินดินนั้น ซึ่งภาษาถิ่นอีสานและภาษาลาวเรียก “กองดิน” ที่สูงๆ ว่า “โพน” และออกเสียงคำว่า “ฉันข้าว” ของพระสงฆ์ว่า “สันเข้า” จึงเรียกติดปากกันว่า “พระบาทโพนสัน” ที่หมายถึง “บริเวณที่พระพุทธเจ้าเสด็จฉันภัตตาหารบนกองดิน”

แม้วัดพระพระบาทโพนสัน ญาคูสีทัดไม่ได้มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการสร้างพระธาตุโพนสัน แต่ได้สร้างงานพุทธศิลป์และเสนาสนะจำนวนหนึ่งในวัดพระบาทโพนสัน เช่น สร้างอูบมุงครอบรอยพระบาท, สร้างกุฏิสงฆ์, สร้างสิม (อุโบสถ), สร้างองค์พระประธาน ฯลฯ ดังข้อความที่ปรากฏในประวัติวัดพระบาทโพนสัน ที่ “เกดมะนี โพคำ” นำเสนอไว้ว่า

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2476 ในบริเวณพระพุทธบาทโพนสันนี้ [อ้าง] อิงตามเกจิ อาจารย์  นักปราชญ์ทั้งหลาย ผู้ตำอิด [คนแรก] ที่ลงมาสร้างสาบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระบาทคือ พระอาจารย์สีทัด ญาณะสัมปัญโญ [ประวัติฉบับวัดพระธาตุท่าอุเทนใช้ “ญาณสัมปันโน”] พ่อแม่สีทัดเป็นผู้นำซ่อมแปงปฏิสังขรณ์ พร้อมด้วยลูกเต้าสิดโยม และประชาชนในแถบอ้อมข้าง…ผลงานที่พ่อแม่สีทัดได้สร้างบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระบาทโพนสัน เช่น สร้างอูบมุงกวม [ครอบ] รอยพระบาท สร้างกุฏิจำนวน 2 หลัง สร้างสิม พระประธานปูนซีเมนต์ขนาดหน้าตัก 2 เมตร สูง 3 เมตร… (พระธาตุท่าอุเทน, 2554: 42)

นอกจากนี้ ใน พ.ศ. 2479 พระอริยคุณาธาร (พระมหาเส็ง ปุสฺโส) เจ้าอาวาสวัดเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น ได้ติดตามเจ้าคณะมณฑลอุดรคือ “พระเทพกวี”(จูม พนฺธุโล) ไปตรวจงานคณะสงฆ์ที่จังหวัดหนองหนองคาย เมื่อถึงเขตอำเภอโพนพิสัย คณะของเจ้าคณะมณฑลอุดรก็พักจำวัดที่วัดโพนเงิน ซึ่งเป็นวัดติดริมแม่น้ำโขง และอยู่ตรงข้ามกับวัดพระบาทโพนสัน รุ่งขึ้นเจ้าคณะมณฑลอุดรพร้อมคณะได้ข้ามฟากแม่น้ำโขงไปที่วัดพระบาทโพนสัน และมีโอกาสสนทนาธรรมกับญาคูสีทัดที่กำลังก่อสร้างอูบมุงครอบรอยพระบาท ดังคำกล่าวของพระอริยคุณาธารดังนี้

เมื่อ พ.ศ. 2479 ข้าพเจ้า [พระอริยคุณาธาร] ได้มีโอกาสติดตามเจ้าคณะมณฑลอุดร ไปตรวจการคณะฯ ทางริมฝั่งแม่น้ำโขง ในเขตจังหวัดหนองคาย ไปถึงบ้านโพนแพง อำเภอโพนพิสัย พักแรมที่วัดโพนเงิน ตรงข้ามกับพระพุทธบาทโพนสัน ในเขตประเทศลาวครั้งนั้นพระอาจารย์สีทัตถ์ กำลังก่อสร้างอุโมงค์ (กะตึบ) คร่อมพระพุทธบาทอยู่ที่นั่น วันรุ่งเช้า เจ้าคณะมณฑลข้ามฟาก (แม่น้ำโขง) ไปเขตประเทศลาว ข้าพเจ้าจึงขอโอกาสสนทนากับพระอาจารย์สีทัตถ์ (ทองทิว สุวรรณทัต, ม.ป.ป.)

การพยายามควบคุมตัว ญาคูสีทัด

ข่าวคราวเกี่ยวกับการสร้างพระธาตุท่าอุเทนของญาคูสีทัดนอกจากจะมีผลดี ในการทำให้มีพระสงฆ์ พ่อค้า และชาวบ้านจากเมืองต่างๆ มาช่วยเหลือและสนับสนุนในการก่อสร้างองค์พระธาตุท่าอุเทนแล้ว แต่อีกด้านหนึ่งจากข่าวลือดังกล่าว ก็ทำให้ญาคูสีทัดเกือบถูกทางการเข้าควบคุมตัวด้วยข้อหาซ่องสุมผู้คน และทำตัวเป็นผู้วิเศษ

ในระหว่างที่ก่อสร้างพระธาตุท่าอุเทนไปได้ประมาณ 2 ปีเศษ ใน พ.ศ. 2456 พระครูสมุหวรคณิสรสิทธิการ ได้รับมอบหมายจากคณะสงฆ์ที่กรุงเทพฯ ให้เดินทางไปตรวจงานด้านคณะสงฆ์ที่หัวเมืองอีสาน เมื่อพระครูสมุหวรคณิสรสิทธิการเดินทางถึงเมืองหนองคายก็ได้รับทราบข่าวลือเกี่ยวกับญาคูสีทัดว่าเป็นผู้มีอิทธิพล รวมทั้งมีการประพฤติตัวเป็นผู้วิเศษทั้งการล่องหน ย่อแผ่นดิน และหายตัว ฯลฯ และได้ซ่องสุมผู้คนจำนวนมากเพื่อจะขบถต่อกรุงเทพฯ

พระครูสมุหวรคณิสรสิทธิการจึงล่องเรือไปยังเมืองนครพนมเพื่อจะให้มีการดำเนินการควบคุมตัวญาคูสีทัดลงไปสอบสวนที่กรุงเทพฯ เมื่อถึงเมืองท่าอุเทนที่บริเวณท่าวัดกลาง (ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดท่าอุเทนมากนัก) ก็มีเจ้าหน้าที่บ้านเมืองของเมืองท่าอุเทน และเจ้าหน้าที่ฝ่ายสงฆ์ไปให้การต้อนรับ เพื่อจะไปควบคุมตัวญาคูสีทัด แต่เมื่อใกล้จะถึงวัดท่าอุเทนพระครูสมุหวรคณิสรสิทธิการก็เกิดเปลี่ยนใจไม่กล้าที่จะเข้าไปจึงแวะเข้าพักที่ว่าการเมืองท่าอุเทน โดยให้เหตุผลว่า “กลัวญาคูสีทัดจะสั่งให้ผู้คนทำร้ายตน”

พระยาอดุลยเดช (อุ้ย นาครทรรพ) ผู้ซึ่งเป็นเจ้าเมืองนครพนมในระหว่างที่ญาคูสีทัดนำชาวบ้านและพระสงฆ์สร้างพระธาตุท่าอุเทน ยศในขณะนั้นคือ “พระพนมนครานุรักษ์”

พระครูสมุหวรคณิสรสิทธิการจึงสั่งให้มีโทรเลขถึง “พระพนมนครานุรักษ์” (อุ้ย นาครทรรพ) เจ้าเมืองนครพนม เพื่อให้นำเจ้าหน้าที่บ้านเมืองมาช่วยควบคุมตัวญาคูสีทัดแทนตนเอง พระพนมนครานุรักษ์เดินทางถึงเมืองท่าอุเทนจึงชี้แจงทำความเข้าใจกับพระครูสมุหวรคณิสรสิทธิการว่า

“ท่านญาคูสีทัดไม่ได้คิดซ่องสุมผู้คนเพื่อก่อขบถแต่ประการใด ญาคูสีทัดท่านต้องการสร้างพระธาตุเจดีย์ จึงมีผู้คนจากเมืองต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียงมาช่วยเหลือ โดยหวังในบุญกุศลเท่านั้น อีกประการหนึ่ง ญาคูสีทัดเองก็เป็นผู้ตั้งอยู่ในศีลธรรม รักความสงบ ข่าวลือเกี่ยวกับญาคูสีทัดว่าเป็นผู้วิเศษ หายตัว ล่องหนได้นั้น ก็เป็นแต่เพียงข่าวลือ ซึ่งอาจเกิดจากผู้ที่อิจฉาท่านญาคูสีทัด” (เมธี ดวงสงค์,ม.ป.ป.: 68-70)

หลังได้คำชี้แจงยืนยันถึงความบริสุทธิ์ของญาคูสีทัดจากเจ้าเมืองนครพนม ประกอบกับพระครูสมุหวรคณิสรสิทธิการคงประเมินแล้วว่าเจ้าเมืองนครพนมคงไม่เห็นด้วยสำหรับการที่จะควบคุมตัวญาคูสีทัดเป็นแน่ จึงล่องเรือไปตรวจงานด้านคณะสงฆ์ต่อที่เมืองนครพนมต่อไป

ฝ่ายญาคูสีทัด เมื่อได้รับทราบข่าวสารว่า มีพระครูฯ จากกรุงเทพฯ จะนำเจ้าหน้าที่บ้านเมืองมาควบคุมตัวลงไปสอบสวนที่กรุงเทพฯ ก็ไม่ได้ตื่นตระหนก และมีพระสงฆ์ที่เคยไปศึกษาพระปริยัติธรรมแบบกรุงเทพฯ มาก่อนทั้งที่เมืองอุบลราชธานีและที่กรุงเทพฯ ได้แก่ 1. พระอาจารย์ปาน จากเมืองโพนพิสัย 2. พระอาจารย์ยอดแก้ว จากเมืองคำชะอี 3. พระอาจารย์ปิ่น จากเมืองคำชะอี ซึ่งมาช่วยงานก่อสร้างพระธาตุ อาสาที่จะออกหน้าแทนญาคูสีทัดสำหรับการปุจฉาวิสัชนาในข้อสงสัยต่างๆ โดยไม่ต้องให้เดือดร้อนถึงญาคูสีทัด คณะสงฆ์ที่อาสาตนนั้น (เพิ่งอ้าง: 71-72)

ทั้งหมดนั่นทำให้ ญาคูสีทัด ไม่ถูกควบคุมตัวเหมือนกับ ครูบาศรีวิชัย แห่งล้านนา หรือพระพิบูลย์ แห่งเมืองอุดรธานี     

ญาคูสีทัดมรณภาพที่วัดพระบาทโพนสัน แขวงบอลิคำไซ ในประเทศลาว ใน พ.ศ. 2483 รวมอายุทั้งสิ้น 75 ปี โดยก่อนมรณภาพญาคูสีทัดสั่งเสียว่าภายหลังการฌาปนกิจ ให้นำเถ้ากระดูกของตนโปรยลงแม่น้ำโขงทั้งหมด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] ฮดสรง เป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญสำหรับการเลื่อนสมณศักดิ์ของพระสงฆ์แถบอีสานในอดีตนั้นต้องผ่านการ “ฮดสรง” หรือ “พิธีเถราภิเษก” โดยชาวบ้านและพระสงฆ์ในชุมชนของตนก่อน แต่ผู้คนในปัจจุบันบางส่วนไม่ได้เคร่งครัด/ไม่ทราบว่า พระครองลาวในอดีตมีการฮดสรงเพื่อเลื่อนสมณศักดิ์ ก็มีเรียกขานพระสงฆ์ที่ควรแก่การเคารพนับถือในอดีต (รวมถึงในปัจจุบัน) ว่า “ญาคู” โดยมุ่งหมายไปที่การให้ความเคารพในแง่ว่าเป็นพระ ครู หรืออาจารย์

[2] บริรักษ์ และเกดมะนี โพคำ ให้ข้อมูลว่า เมื่ออายุครบ 20 ปี ญาคูสีทัดได้เดินทางข้ามโขงไปอุปสมบทกับสมเด็จลุน ที่วัดอินแปง เมืองศรีโคตะบอง ประเทศลาว

[3] อูบมุง หรืออุปมง คือ ศาสนสถานของพุทธศาสนาแบบล้านช้างที่มีลักษณะเป็นอาคารทึบ มักสร้างเป็นอาคารปูน ไม่มีหน้าต่าง มีเพียงประตูแคบๆ และมักใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาท หรือพระพุทธรูป หรือใช้เป็นที่เก็บวัตถุมีค่าสำคัญ นอกจากนี้ยังมีการใช้เป็นที่สถานที่ที่พระสงฆ์ใช้เพื่อบำเพ็ญเพียรในระหว่างการเข้าพรรษาอีกด้วย ทั้งนี้อูบมุงไม่ได้สร้างประจำทุกวัด มักสร้างในวัดที่ใหญ่หรือวัดที่สำคัญประจำเมือง โปรดดูใน ธวัช ปุณโณทก. (สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 15. กรุงเทพฯ: สยามเพรส แมนเนจเม้นท์) หน้า 5354.

[4] พ.ศ. 2420 ตัวเลขนี้น่าจะคลาดเคลื่อน เพราะตามข้อมูลญาคูสีทัดเกิดใน พ.ศ. 2408 ย่อมเป็นไปได้น้อยมากที่ญาคูสีทัดในวัยเพียง 12 ปี จะมีบารมีขนาดนำพาพระสงฆ์และชาวบ้านสร้างองค์พระสุกจำลองได้ สำหรับช่วงเวลาที่น่าจะเป็นใกล้เคียงความจริงที่สุดคือ ในกลางทศวรรษ 2470 คือ น่าจะเกิดขึ้นภายหลังจากที่มีการสร้างองค์พระธาตุพุทธบาทบัวบกแล้วเสร็จ

เอกสารอ้างอิง :

ชนะ วสุรักคะ. (2553, ตุลาคม 3). หลวงปู่ศรีทัตถ์ ญาณสัมปันโน พระเถราจารย์สร้าง 3 พระธาตุ ใน ข่าวสด [Online]. Available: http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROaWRXUXd   OVEF6 TURjMU13PT๐= (2556, กรกฎาคม 4)

ทองทิว สุวรรณทัต. (ม.ป.ป.). พระอาจารย์สีทัตถ์.[Online]. Available http://www.dharma-gateway. com/monk/monk_biography/lp-seetud/lp-seetud-hist.htm (2556, กรกฎาคม 10)

ธวัช ปุณโณทก. (2542). อูบมุง. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 15. หน้า 5354.กรุงเทพฯ: สยามเพรส แมนเนจเม้นท์.

บริรักษ์.(2532). ประวัติพระอาจารย์สีทัตถ์ สุวรรณมาโจ. กรุงเทพฯ: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

ปราโมทย์ มาตย์เมือง. มัคนายกวัดพระธาตุท่าอุเทน. สัมภาษณ์ เมื่อ 10 สิงหาคม 2556.

พระโสภณวิหารการ. (ม.ป.ป.). นมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 9 ส เสริมมงคลชีวิต. อุดรธานี: ม.ป.ท.

ไผท ภูธาร.(2556). ญาครูสีทัตถ์ วัดพระธาตุท่าอุเทน. ใน เพชร มณีกุล (บก.). เปิดตำนาน พระอภิญศักดิ์สิทธิ์ พระเถระผู้มีฤทธิ์แห่งลุ่มน้ำโขง. หน้า 90-113. กรุงเทพฯ: ทีเอส อินเตอร์พริ้นท์.

พ่อตู้วี พลบุนมี. มัคนายกวัดพระบาทโพนสัน. สัมภาษณ์ เมื่อ 27 พฤษภาคม 2556.

มนต์จันทร์ วงศ์จตุรภัทร. (2542). เส้นทางท่องเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท. ใน อรุณศักดิ์ กิ่งมณี. (บก.). นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท หน้า 11-32. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์.

เมธี ดวงสงค์. (ม.ป.ป.). ภูมิ – ประวัติศาสตร์ อำเภอท่าอุเทน: เรื่องไทญ้อ และประวัติพระธาตุท่าอุเทน.นครพนม: [ม.ป.ท.].

วรสันต์ กิติศรีวรพันธุ์. (ม.ป.ป.). บูรพาจารย์ไทญ้อ ระเบียบการทำบุญ.นครพนม: [ม.ป.ท.].

วัดพระธาตุท่าอุเทน. (2554). สมโภชพระธาตุท่าอุเทน พุทธศักราช 2454-2554.กรุงเทพฯ: อนันตะ.

วัดศรีคุณเมือง. (ม.ป.ป.). ประวัติหลวงพ่อพระสุก หลวงพ่อเสริม หลวงพ่อใส. เอกสารแผ่นพับ


หมายเหตุ : บทความนี้คัดย่อและเรียบเรียงจาก เชิดชาย บุตดี. “บทบาทญาคูสีทัดต่องานพุทธศิลป์ในพื้นที่สองฝั่งโขง” ใน, ศิลปวัฒนธรรม พฤษภาคม 2557


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2565