“พระพิบูลย์” วัดพระแท่น ที่ถูกสั่งคุมตัวจนมรณภาพ ที่มาชื่ออำเภอ “พิบูลย์รักษ์”

พระพิบูลย์
พระพิบูลย์ วัดพระแท่น จังหวัดอุดรธานี (ภาพจากศิลปวัฒนธรรม, กรกฎาคม 2556)

ปัจจุบันชื่อของ “พระพิบูลย์” วัดพระแท่น อำเภอพิบูลย์รักษ์ จังหวัดอุดรธานี เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในฐานะพระนักพัฒนา, พระนักบุญ, พระเกจิชื่อดัง ฯลฯ หนึ่งในความภาคภูมิใจของจังหวัดอุดรธานี ที่มาของชื่ออำเภอ “พิบูลย์รักษ์” ทว่าในอดีตพระพิบูลย์เคยถูกทางการคุมตัวยาวนาน ด้วยข้อหามีพฤติกรรมที่เข้าลักษณะเป็นผู้มีบุญ จนกระทั่งมรณภาพ ทั้งๆ ที่ผ่านมาในอดีต บรรดาการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้มีบุญของหัวเมืองอีสานทั้ง 9 กลุ่ม [1] ที่รู้จักกันโดยทั่วไป ไม่มีชื่อพระพิบูลย์แห่งวัดพระแท่นแต่อย่างใด

เหตุใดพระพิบูลย์จึงต้องถูกทางการเข้าคุมตัว เหตุผลหรือข้อหาของการถูกคุมตัวคืออะไร

ประวัติ “พระพิบูลย์”

พระพิบูลย์ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อพิบูลย์, หลวงปู่พิบูลย์ จากเอกสารต่างๆ ที่สืบค้น ไม่มีการบันทึกวันเดือนปีเกิด ทราบแต่เพียงมีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านพระเจ้า ตำบลมะอึ อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด บิดาชื่อนายสา แซ่ตัน เป็นชาวจีนเข้ามาตั้งรกรากในร้อยเอ็ด และแต่งงานอยู่กินกับนางโสภา จนมีบุตรคือเด็กชายพิบูลย์

เมื่อก้าวเข้าสู่วัยหนุ่ม นายพิบูลย์ได้แต่งงานมีครอบครัว แต่ไม่มีลูกสืบสกุล จึงไปขอลูกสาวเพื่อนบ้านที่คุ้นเคยมาเป็นลูกบุญธรรม เมื่อลูกสาวบุญธรรมเติบใหญ่ก็จัดแจงหาคู่ครองที่เหมาะสม พร้อมยกทรัพย์สมบัติให้สำหรับการตั้งตัว ต่อมานายพิบูลย์ก็ขอลาภรรยาออกบวช

ตั้งแต่ออกบวช พระพิบูลย์ก็มีวัตรปฏิบัติอย่างพระสงฆ์ในท้องถิ่นอีสาน หรือที่เรียกกันว่า “พระครองลาว” นั่นคือการรับจารีตของพระสงฆ์ในด้านต่างๆ มาจากล้านช้าง เช่น การห่มผ้าจีวรอย่างเรียบง่ายถือเอาตามความสะดวก ในเวลาปกติคือการจับชายผ้าจีวรพาดๆ บนบ่า หรือกรณีเป็นทางการคือการรัดหน้าอกด้วยผ้าเหลือง รวมทั้งมีความเป็นกันเองใกล้ชิดกับชาวบ้าน

เมื่อบวชได้ระยะหนึ่งก็ออกธุดงค์ไปร่ำเรียนวิชาคาถาอาคมพร้อมกับพระรูปอื่นๆ จากอาจารย์ผู้วิเศษนานหลายปี ภายหลังการบรรลุวิชา อาจารย์ได้มอบหมายให้พระพิบูลย์กลับมาสร้างวัดในพื้นที่ตามอาจารย์ชี้แนะ พระพิบูลย์นำพาชาวบ้านพัฒนาและบูรณปฏิสังขรณ์พื้นที่ และสร้างวัดขึ้นเรียกว่า “วัดพระแท่น” ด้วยเหตุที่ค้นพบแท่นพระขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่

พระพิบูลย์เป็นพระนักพัฒนา ผู้นำพาชาวบ้านตัดถนนในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงวัดพระแท่น เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับชุมชนและหมู่บ้านที่ขยายตัวมากขึ้น รวมทั้งนำชาวบ้านตั้งธนาคารข้าวเปลือก ธนาคารโค-กระบือ การซื้อจอบ-เสียมให้ชาวบ้านหยิบยืม และการชักชวนชาวบ้านให้นุ่งขาวห่มขาวเพื่อเข้าวัดถือศีล

พระพิบูลย์ยังมีชื่อในการใช้เวทมนตร์คาถาและอภินิหาร เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่ทุกข์ยากมาตลอด มีคำเล่าลือเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ด้านเวทมนตร์คาถาของพระพิบูลย์แผ่ไปพื้นที่ใกล้เคียงอย่างกว้างขวาง เช่น ปราบจระเข้ยักษ์ในลำน้ำปาว, ปราบอาคมขับไล่ภูตผีให้กับชาวบ้าน, ตามควายคืนให้กับชาวบ้าน, ใช้น้ำมนต์รักษาผู้เจ็บป่วย, ทำนายเหตุการณ์ล่วงหน้าถูกต้อง ฯลฯ ชาวบ้านจึงเกิดศรัทธา เดินทางเข้ากราบไหว้พระพิบูลย์อยู่ไม่ได้ขาด

พระพิบูลย์จึงถูกพระสงฆ์ที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐในมณฑลอุดรจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะมีพฤติการณ์คล้ายกับ “ผู้มีบุญ” ที่เคยเกิดขึ้นในเมืองอุบลราชธานี จนมีการคุมตัวพระพิบูลย์ในที่สุด

งานปฏิรูปงานคณะสงฆ์หัวเมืองอีสาน

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 (พ.ศ. 2445) ขึ้น เพื่อปกครอง ควบคุม และแก้ไขบรรดากฎเกณฑ์ ระเบียบแบบแผน และประเพณีทางศาสนาในท้องถิ่นต่างๆ ที่ไม่สอดคล้องกับแบบแผนของรัฐสยามที่กรุงเทพฯ รวมถึงการส่งพระสงฆ์ที่ผ่านการฝึกฝนด้วยจารีตอย่างกรุงเทพฯ เป็นตัวแทนออกไปปกครองและบริหารงานคณะสงฆ์ในภูมิภาคต่างๆ ทำให้เกิดความปั่นป่วนและการต่อต้านขึ้นในหลายพื้นที่ เช่น กรณีของ ครูบาศรีวิชัย ในหัวเมืองเหนือ, กรณี กบฏผีบุญ ระหว่าง พ.ศ. 2444-2445 ที่มีพระสงฆ์ท้องถิ่นในอีสานเข้าไปร่วมกับกลุ่มผีบุญในการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐ

สำหรับการบริหารงานคณะสงฆ์ในหัวเมืองอีสาน รัฐสยามได้จัดส่งพระท้องถิ่นเข้าไปเรียนวัตรปฎิบัติของสงฆ์ที่กรุงเทพฯ จากนั้นจึงค่อยส่งกลับไปเป็นผู้ปกครองดูแลในพื้นที่ เช่น พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) และ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) จากอุบลฯ ได้เป็นผู้ปกครองและดูแลทั้งที่มณฑลอุบล และมณฑลนครราชสีมา

ส่วนในมณฑลอุดรที่พระพิบูลย์อยู่นั้น พระสงฆ์ท้องถิ่นในมณฑลนี้ได้เรียนรู้วัตรปฏิบัติและจารีตสงฆ์อย่างกรุงเทพฯ ล่าช้ากว่ามาก

ใน พ.ศ. 2464 เมื่อมีการแต่งตั้ง พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ เป็น “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า” รัฐสยามจึงมีการแต่งตั้ง พระเทพเมธี (อ้วน ติสฺโส) ขึ้นเป็นผู้รักษาการเจ้าคณะมณฑลอุดรใน พ.ศ. 2465 และแต่งตั้งให้ พระครูสังฆวุฒิกร (จูม พนฺธุโล) เป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ (วัดที่ต่อมาเป็นสถานที่กักตัวพระพิบูลย์ยาวนานถึง 15 ปี) อยู่ในตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าคณะมณฑลเพื่อเรียนรู้งานไปด้วย หลังจากนั้นอีก 3 ปีต่อมา จึงได้รับตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลอย่างเป็นทางการ

พระพิบูลย์ ถูกคุมตัว

หลักฐานการคุมตัวพระพิบูลย์ มาจากเรื่องราวในฉบับใบลานของพระหนู [2] ซึ่งให้ข้อมูลว่า พระสงฆ์ผู้เป็นเจ้าคณะแขวงหนองหาน (ขณะนั้น วัดพระแท่น อยู่ในเขตปกครองอำเภอหนองหาน) พร้อมกับเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจำนวนหนึ่ง ได้คุมตัวพระพิบูลย์ขึ้นเกวียนเดินทางมุ่งสู่วัดโพธิสมภรณ์ อันเป็นวัดสำหรับเจ้าคณะมณฑลอุดร โดยขณะนั้นเจ้าคณะมณฑลอุดรคือ “พระครูสังฆวุฒิกร” (จูม พนฺธุโล)

เรื่องราวของพระพิบูลย์ถัดจากนี้ เป็นเรื่องที่คลุมเครือ ไม่ชัดเจน และหลายเหตุการณ์ไม่สามารถหาคำอธิบายได้ เริ่มจากความสับสนในประเด็นว่า พระพิบูลย์ถูกคุมตัวกี่ครั้ง? ถูกคุมตัวด้วยข้อหาใด? และถูกจับไปถ่วงน้ำจริงหรือไม่? อย่างไร? เพราะการมีเอกสารหลักฐานเพียงเล็กน้อย

เริ่มจากเรื่องพระพิบูลย์ถูกคุมตัว โดยทั่วไปกล่าวว่าพระพิบูลย์ถูกทางการคุมตัว 2 ครั้ง คือ

ครั้งที่ 1 ถูกคุมตัวไปที่วัดโพธิสมภรณ์ วัดของเจ้าคณะมณฑลอุดร ก่อนถูกคุมตัวไปไต่สวนต่อที่กรุงเทพฯ โดยไม่ได้ระบุว่าถูกนำตัวไปไต่สวนที่วัดใด หรือที่หน่วยงานใด ต่อมาถูกนำตัวไปถ่วงน้ำที่เกาะสีชัง เมื่อไม่มรณภาพ เจ้าหน้าที่ที่คุมตัวจึงปล่อยพระพิบูลย์เพราะเลื่อมใส การคุมตัวครั้งนี้ไม่สามารถระบุเวลาปีได้แน่นอน แต่คาดว่าคงจะปลายทศวรรษ 2460 เพราะใน พ.ศ. 2466 ได้มีการปฏิรูปงานคณะสงฆ์ในมณฑลอุดรขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

ครั้งที่ 2 พระพิบูลย์ถูกคุมตัว/กักตัวไว้ที่วัดโพธิสมภรณ์ เจ้าคณะมณฑลอุดรจัดให้พระพิบูลย์จำพรรษาที่กุฏิด้านท้ายวัดซึ่งเป็นพื้นที่ป่ารก จนพระพิบูลย์มรณภาพ รวมเวลานานถึง 15 ปี แม้มรณภาพแต่ศพของพระพิบูลย์ก็ต้องถูกเก็บไว้ที่วัดโพธิสมภรณ์ต่ออีกเกือบ 4 ปี จึงสามารถนำศพท่านไปบำเพ็ญกุศล การคุมตัวพระพิบูลย์ในครั้งนี้สามารถคาดการณ์ช่วงเวลาได้ว่า คงจะเกิดขึ้นในราว พ.ศ. 2474 เพราะจากหลักฐานบอกว่า พระพิบูลย์มรณภาพ พ.ศ. 2489 และ พ.ศ. 2493 คือปีที่สามารถนำศพพระพิบูลย์กลับไปบำเพ็ญกุศลที่วัดพระแท่นได้ จากนั้นอีก 11 ปี (พ.ศ. 2504) จึงมีการฌาปนกิจศพพระพิบูลย์ที่สนามพิบูลย์รังสรรค์ ตรงข้ามกับวัดพระแท่น

แต่ข้อมูลจากการสอบถาม พระครูมัญจาภิรักษ์ เจ้าอาวาสวัดพระแท่น และเจ้าคณะอำเภอพิบูลรักษ์ (ผู้ซึ่งถือเป็นผู้สืบปณิธานพระพิบูลย์ในการพัฒนาสังคมชุมชนรอบๆ วัดพระแท่นและใกล้เคียง) พระพิบูลย์ถูกคุมตัวถึง 3 ครั้ง

ครั้งแรก ถูกคุมตัวไปที่วัดโพธิสมภรณ์ และก็ปล่อยตัวกลับวัดพระแท่นในระยะเวลาไม่นานนัก

ครั้งที่ 2 ถูกคุมตัวไปที่วัดโพธิสมภรณ์ และถูกนำตัวเข้ากรุงเทพฯ ก่อนจับไปถ่วงน้ำที่เกาะสีชัง (โดยรายละเอียดเช่นดังที่กล่าวข้างต้น)

ครั้งที่ 3 พระพิบูลย์ถูกคุมตัว/กักตัวไว้ที่วัดโพธิสมภรณ์จนมรณภาพ

เหตุแห่งการคุมตัว

พระพิบูลย์ถูกคุมตัวด้วยข้อหาใด ผลจากการตรวจสอบเอกสารหลักฐานและการเก็บข้อมูลในพื้นที่ พอสรุปได้เป็น 2 ประเด็น

1. บทบาทของพระพิบูลย์คล้ายกับพระสงฆ์เมืองยโสธร ที่ถูกกล่าวหาว่ามีไปเข้าร่วมกับ “กลุ่มมีผู้บุญ” เมืองอุบลราชธานี นั่นคือพระครูอิน พระครูวิมล และพระครูอนันตนิคมเขต จึงถูกเพ่งเล็งจากคณะสงฆ์ในมณฑลอุดร แต่เหตุที่จะชี้ไม่ชัดเจนจนสามารถลงโทษขั้นรุนแรงระดับเป็น “กบฏผู้มีบุญ” เพราะไม่ได้มีการซ่องสุมกำลังคนเพื่อเข้าโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐหรือสถานที่ราชการ, ไม่ได้หลอกลวงเพื่อให้ผู้คนงมงาย แล้วแสวงหาผลประโยชน์ใส่ตน เป็นแต่มีการกระทำที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากนิยม จึงทำได้เพียงการตักเตือนในการคุมตัวครั้งแรก และคุมตัวไว้อย่างถาวรในครั้งที่สอง เพื่อไม่ให้พระพิบูลย์กลับไปดำเนินบทบาทในลักษณะเช่นเดิมได้อีก เพราะถือว่ามีการว่ากล่าวตักเตือนแล้วแต่ก็ยังปฏิบัติอยู่ดังเดิม

2. ความหมายของ “การสำรวมในความเป็นสมณเพศ” สำหรับพระพิบูลย์กับพระในมุมของรัฐสยามแตกต่างกันสิ้นเชิง พระพิบูลย์มีวัตรปฏิบัติเรียบง่ายตามอย่างครูอาจารย์อย่าง “พระครองลาว” ไม่ว่าการครองผ้าจีวรอย่างง่ายตามความสะดวก, การช่วยเหลือชาวบ้านผู้ตกทุกข์ได้ยาก, การนำชาวบ้านพัฒนาชุมชนรอบวัด ฯลฯ แต่สำหรับพระในมุมของรัฐ หรือเจ้าคณะมณฑลอุดร ต้องครองผ้าจีวรอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยในทุกโอกาส, วางตนเหมาะสมกับคฤหัสถ์, มีหน้าที่หลักพระสงฆ์คือศึกษาพระธรรมวินัย ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของพระพิบูลย์ได้ถูกนำกลับมาฉายซ้ำ และขยายการรับรู้อย่างกว้างขวาง ใน พ.ศ. 2540 อันเป็นปีที่มีการตั้งอำเภอ “พิบูลย์รักษ์” ซึ่งมีมาจากชื่อของ “พระพิบูลย์” ในฐานะพระนักพัฒนารุ่นบุกเบิก, พระนักบุญ, พระเกจิชื่อดัง หนึ่งในความภาคภูมิใจของจังหวัดอุดรธานี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เรียบเรียงโดยคัดย่อข้อมูลจาก เชิดชาย บุตดี. “พระพิบูลย์ : ผู้มีบุญหรือนักบุญแห่งอุดรธานี” ใน, ศิลปวัฒนธรรม, กรกฎาคม 2556


เชิงอรรถ :

[1] ทั้งเก้ากลุ่มคือ 1. กบฏบุญกว้าง พ.ศ. 2235 2.กบฏเชียงแก้ว พ.ศ.2334 3. กบฏสาเกียดโง้ง พ.ศ. 2362 4. กบฏบ้านสะอาด พ.ศ. 2438 5. กบฏผีบุญอีสาน พ.ศ. 2444-2445 6. กบฏหนองหมากแก้ว พ.ศ. 2467 7. กบฏหมอลำน้อยชาดา พ.ศ. 2479 8. กบฏผู้มีบุญโสภา พ.ศ. 2483 9. กบฏศิลา วงศ์สิน พ.ศ. 2502 โปรดดูใน สุวิทย์ ธีรศาศวัต และชอบ ดีสวนโคก. “กบฏผู้มีบุญโสภาแห่งบ้านสาวะถี จังหวัดขอนแก่น”. ใน มนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปีที่ 12 (1) พ.ค.-ต.ค. 37.

[2] ประวัติและบทบาทของพระพิบูลย์ ที่พระหนู-พระลูกวัดของวัดพระแท่นและได้จารขึ้นภายหลังมรณภาพนั้น ภายหลังสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุดรธานีปริวรรตเป็นฉบับภาษาไทย

เอกสารอ้างอิง :

กิติรัตน์ สีหบัณฑ์. 2533. การรวมคณะสงฆ์อีสานเข้ากับคณะสงฆ์ไทย พ.ศ. 2434-2468. วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

เติม วิภาคย์พจนกิจ. ประวัติศาสตร์อีสาน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, กรกฎาคม 2542.

ประจวบ แสนกลาง. 2531. บทบาทของพระสงฆ์ฝ่ายวิปัสสนาธุระที่มีต่อสังคมอีสานเหนือ: ศึกษากรณีสายพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต พ.ศ. 2436-2529. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

ประวัติและปฏิปทาพระธรรมเจดีย์(จูม พนฺธุโล). [ม.ป.ป.]. สืบค้น 5 กรกฎาคม 2555, จาก http://www.dhammajak.net

พระครูมัญจาภิรักษ์. เจ้าอาวาสวัดพระแท่น. สัมภาษณ์ (เมื่อ 18 กรกฎาคม 2555).

พระครูวิมลบวรกิจ. เจ้าคณะตำบลกุมภวาปี-ประจักษ์ศิลปาคม.สัมภาษณ์โดยนายพงษ์ศักดิ์ อัครวัฒนากุล (เมื่อ 2 กรกฎาคม 2555)

วัดพระแท่น.[ม.ป.ป.].ประวัติบูรพาจารย์วัดพระแท่นและประวัติพระครูมัญจาภิรักษ์. [ม.ป.ท.].

สารานุกรมไทย ภาคกลาง เล่ม 1. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542.

สารานุกรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 1. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542.

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุดรธานี.2542.การปริวรรตคัมภีร์ใบลาน.[ม.ป.ท.].

โสภา ชานะมูล. 2534. ครูบาศรีวิชัย “ตนบุญ” แห่งล้านนา (พ.ศ. 2421-2481).วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร มหาบัณฑิต คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

อำพล เจน. เรื่องขลังและพิสดารของหลวงพ่อพิบูลย์ ตอนที่ 1-5. 2552. สืบค้น 10 กรกฎาคม 2555, จาก http://www.ampoljane.com


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 ตุลาคม 2565