เผยแพร่ |
---|
การก่อสร้างพระเมรุมาศ ย่อมยึดคติไตรภูมิในการก่อสร้าง โดยเปรียบเทียบว่า พระเมรุมาศนั้นคือ เขาพระสุเมรุ ศิลปวัฒนธรรมของนำเสนอเรื่อง สัณฐานจักรวาล ว่าคนโบราณมองเขาพระสุเมรุเป็นเช่นไร
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติ เล็กสุขุม ได้อธิบายถึงสัณฐานจักรวาล ในหนังสือ งานช่าง คำช่างโบราณ จัดพิมพ์โดย สนพ.มติชน ดังนี้
“คติความเชื่อของชาวพุทธ ว่าด้วยสภาวะของจักรวาลหนึ่ง มีแกนกลาง คือ เขาพระสุเมรุ ภูเขาศักดิ์สิทธิ์นี้แวดล้อมด้วยมหาสมุทรและเขาวงแหวนเจ็ดวง (สัตบริภัณฑ์)
ช่างเขียนวาดภาพสันนิษฐานจักรวาลสืบต่อกันมา ด้วยมุมมองจากระดับตา ใช้เชิงช่างช่วยในการออกแบบ คือแท่นกลางแทนเขาพระสุเมรุซึ่งสูงใหญ่ที่สุด และมีเขาเล็กกว่าขนาบข้าง ต่ำลดหลั่นลงมาข้างละเจ็ดแท่ง หมายถึงเขาวงแหวนเจ็ดวง
วรรณกรรมระบุไว้ว่า พ้นปริมณฑลของเขาสัตบริภัรฑ์ มี 4 ทวีป เช่น ชมพูทวีป เป็นอาทิ อันเป็นดินแดนเกิดของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ถัดออกไปจนสุดเขาจักรวาลคือกำแพงจักรวาล ช่างโบราณมักวาดป่าหิมพานต์ไว้ที่เชิงเขาพระสุเมรุ ดิ่งลงไปเป็นนรกขุมต่างๆ ย้อนขึ้นไปที่ยอดเขาพระสุเมรุคือสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และสวรรค์ชั้นที่อยู่เหนือขึ้นไปเป็นลำดับ อาทิ สวรรค์ชั้นดุสิต ซึ่งเป็นที่สถิตของพุทธมารดา พุทธบิดาของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ รวมทั้งพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ศรีอริยเมตไตรย ถัดขึ้นไปอีกคือ สวรรค์ชั้นรูปพรหม อรูปพรหมตามลำดับอันเป็นแดนแห่งความว่าง จนถึงที่สุดก็ขั้นถึงสภาวะแห่งนิพพาน”