“ดาวดึงส์” สวรรค์ชื่อคุ้นหู จากพุทธประวัติเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปเทศน์โปรดพระมารดา

สวรรค์ ดาวดึงส์
สวรรค์ชั้น “ดาวดึงส์” ที่ตั้งพระจุฬามณีเจดีย์ และมีพระอินทร์เป็นใหญ่ (ภาพจาก สมุดภาพไตรภูมิ ฉบับกรุงศรีอยุธยา-ฉบับกรุงธนบุรี เล่ม 1)

ไตรภูมิกถา หรือไตรภูมิพระร่วง วรรณกรรมในพุทธศาสนา กล่าวถึง “สวรรค์” ในระดับฉกามาพจรภูมิ (กามภูมิ) มี 6 ชั้นคือ 1. จาตุมหาราชิกา 2. ดาวดึงส์ 3. ยามา 4. ดุสิต 5. นิมมานรดี 6. ปรนิมมิตวสวัตตี

สวรรค์ชั้นที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักแพร่หลายคือ “ดาวดึงส์”

สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ คุ้นหู เพราะเป็นเหตุการณ์ในพุทธประวัติ (สมมติ) และจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถหลายแห่ง เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปเทศน์โปรดพระมารดาบนสวรรค์ดาวดึงส์ ทำให้เกิดประเพณีนิยมเพื่อต้อนรับการเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์สู่โลกมนุษย์ ที่รู้จักกันว่า “ตักบาตรเทโว” หลังวันออกพรรษา

สวรรรค์ชั้น “ดาวดึงส์” อยู่ไหน มีสภาพเป็นเช่นไร

สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ตั้งอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ (สิเนรุราชบรรพต) มีเมืองหลวงของพระอินทร์อยู่ตรงกลางชื่อว่า “สุทัศน์” กลางเมืองสุทัศน์ มีมหาปราสาทแก้วชื่อ “ไพชยนต์วิมาน” หรือ “ไพชยนต์ปราสาท” เป็นที่ประทับของพระอินทร์ ซึ่งภายในมีเทพธิดาและนางบริวาร 25 แสนนาง

เมืองสุทัศน์ มีเมืองบริวาร 32 เมือง ที่อยู่ใต้ปกครองของเทวดาใหญ่น้อย 32 องค์ เช่น พระวาณูกรรม, พระสุริยะ, พระจันทร์ ฯลฯ ซึ่งอยู่ใต้ปกครองของพระอินทร์อีกทอดหนึ่ง

นอกจากนี้ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ยังมีอุทยาน 6 แห่ง แต่ละแห่งมีต้นไม้ทิพย์ 1,000 และสระโบกขรณี 2 แห่ง ได้แก่

1. อุทยานนันทวัน ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเมือง เป็นที่พักผ่อนของเทพบุตรเทพธิดา

2. อุทยานปารุสกวัน ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเมือง ภายในเต็มไปด้วยต้นมะปราง ตามชื่อ ปารุส ที่แปลว่า มะปราง

3. อุทยานจิตรลดาวัน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมือง ในอุทยานมีไม้เถาสำคัญชื่อ “อาสาวดี” 1,000 ปีสวรรค์จึงจะออกผลครั้งหนึ่ง ภายในผลมีน้ำทิพย์ที่ดื่มแล้วทำให้มีฤทธิ์ เป็นที่โปรดปรานของพวกเทวดา

4. อุทยานมิสกวัน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมือง มีดอกไม้และเครื่องเล่นทั้งบนบกและในน้ำ

5. อุทยานมหาวัน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง เป็นที่พักผ่อนส่วนพระองค์ของพระอินทร์

6. อุทยานปุณฑริกะ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมือง เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ด้วยเป็นที่ตั้งพระเจดีย์จุฬามณี (บรรจุพระเกศา, พระทันตธาตุของพระพุทธเจ้า) และ “พระแท่นบัณฑุกัมพล” พระแท่นประจำตำแหน่งของพระอินทร์ ถ้าเกิดเหตุผิดปกติ พระแท่นจะแข็งกระด้าง เพื่อเตือนให้พระอินทร์เสด็จไปดูว่าเกิดสิ่งใด

โดยสรุปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ก็น่าอยู่ใช่น้อย ชื่อของสถานที่ต่างๆ บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ก็มีการนำมาใช้ตั้งเป็นชื่อของสถานที่สำคัญต่างๆ แล้วจะไปยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์อย่างไร

ในโลกความเป็นจริง ศาสนิกชนต่างทราบดีว่า นรก-สวรรค์ ที่เป็นรูปธรรมนั้นไม่มี มีแต่สวรรค์ในอก-นรกในใจเท่านั้น ทั้งหลายทั้งปวงจึงอยู่ในควบคุมจิตใจ และอารมณ์ของตนเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก ศาสตราจารย์ ดร. ผาสุข อินทราวุธ. “ดาวดึงส์ : สวรรค์ศาสนาพราหมณ์หรือศาสนาพุทธ?” ใน, ดำรงวิชาการ ปีที่ 3 ฉบับที่ 5 (มกราคม-มิถุนายน ) 2547.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2567