ทำไม “เจดีย์จุฬามณี” ถึงเป็นชื่อเจดีย์ยอดนิยม?

ปรางค์ วัดจุฬามณี สร้างโดย สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
ปรางค์วัดจุฬามณี สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เพื่อใช้ในงานทรงผนวชของพระองค์ เปรียบได้กับเจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ทำไม “เจดีย์จุฬามณี” ถึงเป็นชื่อเจดีย์ยอดนิยม?

เจดีย์จุฬามณี คือชื่อเจดีย์ที่พบมากในประเทศไทย มีทั้งที่เป็นเจดีย์องค์ใหญ่ และเจดีย์องค์เล็ก เช่น พระจุฬามณีเจดีย์ ในพระวิหารน้อย วัดอรุณราชวรราม ทำเอาหลายคนสงสัยว่า ทำไมเจดีย์จุฬามณีถึงเป็นชื่อยอดนิยม?

เรื่องนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. สันติ เล็กสุขุม ราชบัณฑิต อดีตหัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เฉลยไว้ในหนังสือ “โบราณกาลปัจจุบัน” (สำนักพิมพ์มติชน) ว่า

Advertisement

เจดีย์จุฬามณี เป็นชื่อสำคัญ ได้ยินบ่อยมาก หมายถึงพระเจดีย์ที่ประดิษฐานพระจุฬา (จุก) เกศาของเจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อครั้งทรงปลงพระเกศาเพื่อออกผนวช พระอินทร์ได้อัญเชิญพระจุฬาขึ้นไปประดิษฐานในเจดีย์องค์นี้ ซึ่งอยู่บนสวรรค์ดาวดึงส์ศูนย์กลางจักรวาล เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จสู่มหาปรินิพพาน มีการถวายพระเพลิงพระบรมสรีระแล้ว พระอินทร์ก็อัญเชิญพระทาฐธาตุ คือ พระฑันตธาตุ (พระเขี้ยวแก้วเบื้องขวาบน) ของพระพุทธเจ้าไปประดิษฐานในเจดีย์องค์นี้เช่นกัน

เจดีย์จุฬามณี จึงเป็นพระมหาธาตุเจดีย์องค์แรกในพุทธศาสนา สถิต ณ ศูนย์กลางจักรวาล คือ สวรรค์ดาวดึงส์

พระอินทร์และสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในสมุดภาพไตรภูมิ (ภาพจาก สมุดภาพไตรภูมิฉบับหลวงสมัยกรุงธนบุรี เลขที่ 10 ปัจจุบันเก็บรักษาภายในหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพฯ)

ส่วนบรรดาเจดีย์ที่เรียกแตกต่างกันไป ทั้ง ธาตุ พระธาตุ พระมหาธาตุ พระศรีมหาธาตุ พระศรีรัตนมหาธาตุ ล้วนมีนัยของเจดีย์จุฬามณี การสร้างเจดีย์พระธาตุตามวัดต่างๆ ก็หมายถึงการจำลองศูนย์กลางจักรวาลมาไว้บนพื้นพิภพ เช่น วัดมหาธาตุประจำราชธานี เป็นต้น

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. สันติ บอกด้วยว่า เจดีย์มหาธาตุ หรือการจำลองเจดีย์จุฬามณี เท่ากับจำลองศูนย์กลางความศักดิ์สิทธิ์เสมือนสวรรค์ดาวดึงส์ของพระอินทร์ โดยเข้ากับคติอีกอย่างว่า พระราชามหากษัตริย์เป็นสมมติเทพ-เสมือนเป็นพระอินทร์ คติดังกล่าวเลือนรางมาก ปัจจุบันจับต้นชนปลายไม่ค่อยจะถูกกันแล้ว

“ยิ่งการสร้างเจดีย์ที่ปรับเปลี่ยนแบบอย่างตามยุคสมัย ความหมายเดิมยิ่งรวนเร กลายเป็นอื่นไปได้อย่างรวดเร็ว”

ภาพเขียน เจดีย์จุฬามณี
ภาพวาดเจดีย์จุฬามณี จากหนังสือพระมาลัย (ภาพจาก colenda.library.upenn.edu)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สันติ เล็กสุขุม. โบราณกาลปัจจุบัน. กรุงเทพฯ : มติชน, 2566.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2567