ศาสนาและการเมืองที่วัดจุฬามณี ที่พิษณุโลก การเลียนแบบปรางค์พระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี?

(รูปที่ 1) ปรางค์วัดจุฬามณี สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เพื่อใช้ในงานทรงผนวชของพระองค์ เปรียบได้กับเจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

จุฬามณี คือชื่อพระเจดีย์ที่อยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อันเป็นที่บรรจุพระเกศาของพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งทรงผนวช และเป็นที่บรรจุพระทาฒธาตุที่พระอินทร์อัญเชิญมาจากมวยผมของโทณพราหมณ์ ซึ่งซ่อนไว้ในคราวแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ โดยนัยดังกล่าวพระจุฬามณีจึงเป็นพระมหาธาตุเจดีย์นั่นเอง

การที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงสร้างวัดจุฬามณีใน พ.ศ. 2007 เพื่อใช้ในพิธีผนวชในปีถัดมานั้น [1] ปรางค์ประธานของวัดย่อมเกี่ยวข้องกับพระเจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์อย่างมิต้องสงสัย นัยต่างๆ ของการเสด็จออกผนวชในครั้งนี้ ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม ได้ศึกษาวิจัยไว้บ้างแล้ว รวมทั้งรูปแบบของปรางค์ประธานองค์ดังกล่าว

งานวิจัยดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าปรางค์วัดจุฬามณี (รูปที่ 1) เป็นปรางค์ที่เกิดจากการผสมผสานแรงบันดาลใจหลายแหล่งเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งแบบอย่างที่สืบทอดมาจากปรางค์สมัยอยุธยาตอนต้น แบบอย่างที่สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์กับศิลปะจีน-ล้านนา และเหนืออื่นใดคือความจงใจเลียนแบบจากปรางค์พระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี (รูปที่ 2) ซึ่งเป็นหัวข้อที่จะกล่าวถึงในบทความนี้

รูปที่ 2 ปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี มหาธาตุเจดีย์อันเก่าแก่ และมีความสำคัญของกรุงศรีอยุธยา

องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมและลวดลายประดับหลายอย่าง ที่แสดงความจงใจเลียนแบบจากปรางค์พระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี เช่น การทำประตูหลอกที่ด้านทั้งสามของเรือนธาตุ (รูปที่ 3) ชุดลวดบัวเชิงที่สลักนูนออกมาจากผนังเรือนธาตุ (รูปที่ 4) ลวดลายประดับอื่นๆ เช่น กลีบบัวบางแบบ หงส์ที่ประดับชั้นเชิงบาตร (รูปที่ 4) ลายกรวยเชิงบางแบบ เป็นต้น [2]

บทความชิ้นนี้จะวิเคราะห์เบื้องหลัง ว่าเหตุใดงานสร้างวัดจุฬามณีจึงเลือกใช้ปรางค์เป็นตัวแทนของพระเจดีย์จุฬามณี และเหตุใดจึงต้องเลียนแบบองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม และลวดลายปูนปั้นบางอย่างจากปรางค์พระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี

วัดจุฬามณี: ศาสนาและการเมือง 

มีผู้สันนิษฐานว่าการเสด็จออกผนวชของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ น่าจะเป็นพระราชกรณียกิจที่พระองค์ทรงกระทำเลียนแบบสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไทย เช่น

จารึกวัดป่ามะม่วง ภาษาเขมร ระบุข้อความอันเป็นอุดมคติไว้ว่า สมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไทย “…ทรงอธิษฐานอย่างนี้ว่า ผลบุญที่อาตมาบวชในศาสนาของพระพุทธ พระผู้เป็นเจ้าในครั้งนี้ อาตมาไม่อยากได้จักรพรรดิสมบัติ พรหมสมบัติ อาตมาอยากขอมอบอาตมา ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า เพื่อนำสัตว์ทั้งปวงข้ามไตรภพนี้…” [3]

รูปที่ 3 ประตูหลอกของปรางค์วัดจุฬามณี ปกติที่ด้านทั้งสามของพระปรางค์ยกเว้นทางเข้าจะประดับด้วยพระพุทธรูป แต่ที่ปรางค์แห่งนี้ประดับด้วยประตูหลอก ซึ่งสะท้อนให้เห็นความจงใจเลียนแบบประตูหลอกของปรางค์พระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี อย่างไรก็ตามลวดลายปูนปั้นที่ใช้ประดับกลับเป็นลวดลายที่นิยมในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

ความต้องการเป็นพระพุทธเจ้าอันเป็นเรื่องในอุดมคตินี้ ได้เห็นในการเสด็จออกผนวชของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถด้วย ทั้งการให้คนจำนวน 5 คน ออกบวชก่อนที่พระองค์จะทรงผนวช [4] ประหนึ่งว่ามีความหมายถึงปัญจวัคคีย์ทั้งห้า การปลงพระเกศาแล้วนำพระเกศาเหล่านั้นบรรจุอยู่ในปรางค์ (เจดีย์) วัดจุฬามณี [5] อันเทียบได้กับการบรรจุพระเกศาของพระพุทธเจ้าในพระเจดีย์จุฬามณีเมื่อคราวทรงผนวช และโดยนัยดังกล่าวนี้ก็อาจถือได้ว่าพระปรางค์วัดจุฬามณีนี้เป็นมหาธาตุเจดีย์องค์หนึ่งนั่นเอง [6]

อย่างไรก็ตาม ศาสนาและการเมืองเป็นเรื่องที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เช่นกรณีเสด็จออกผนวชของสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไทย จากพระราชกรณียกิจที่ดำเนินนโยบายศาสนาควบคู่กับการเมืองมาโดยตลอด ทำให้สันนิษฐานได้ว่าเหตุที่พระองค์เสด็จออกผนวชอาจเนื่องมาจากต้องการบิณฑบาตเมืองพิษณุโลกคืนจากสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 แห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งการดำเนินนโยบายดังกล่าวก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ทำให้เมืองพิษณุโลกกลับมาอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรสุโขทัยอีกครั้งหนึ่ง แม้อาจจะเป็นการปกครองที่มีเงื่อนไขบางอย่างแฝงอยู่ก็ตาม [7]

ข้อสันนิษฐานเบื้องต้นนี้ผนวกเข้ากับหลักฐานจากอาณาจักรล้านนา ทำให้สันนิษฐานได้ว่าการเสด็จออกผนวชของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ อาจมีเป้าหมายอยู่ที่การขอบิณฑบาตเมืองศรีสัชนาลัยคืนจากอาณาจักรล้านนาของพระเจ้าติโลกราช เพราะก่อนที่พระองค์จะทรงผนวช เมืองศรีสัชนาลัยได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรล้านนาแล้ว ระหว่างที่พระองค์ทรงผนวชจึงได้ส่งพระโพธิสมภารเถระไปเจรจาขอบิณฑบาตเมืองศรีสัชนาลัยคืน แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ [8]

ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าการเสด็จออกผนวชของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แม้มีอุดมคติของความเป็นพระพุทธเจ้าอยู่ด้วย แต่เป้าหมายหลักอย่างหนึ่งย่อมขึ้นอยู่กับเรื่องของการเมืองนั่นเอง

หากการบวชในครั้งนี้แฝงเร้นไว้ด้วยความต้องการทางการเมืองแล้ว เป็นสิ่งที่น่าคิดต่อไปว่าการเลือกใช้ปรางค์เป็นตัวแทนของพระเจดีย์จุฬามณี และการเลียนแบบองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมและลวดลายประดับบางอย่างของพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี อาจจะมีนัยแฝงเอาไว้ด้วย

รูปที่ 4 ชุดลวดบัวเชิง และฐานเชิงบาตรประดับด้วยแถวหงส์ประดับปรางค์วัดจุฬามณี การถากศิลาแลงในส่วนของชั้นประดับชุดลวดบัวเชิงให้นูนออกมาจากผนังเรือนธาตุ และรูปปูนปั้นรูปหงส์สะท้อนให้เห็นถึงการจงใจเลียนแบบพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี เช่นกัน

ปรางค์ : สัญลักษณ์ของกรุงศรีอยุธยา

ปรางค์ เป็นเจดีย์แบบหนึ่งที่สืบทอดรูปแบบมาจากปราสาทในวัฒนธรรมเขมร นิยมสร้างกันตั้งแต่ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เช่น ปรางค์พระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี เรื่อยมาจนถึงสมัยอยุธยาตอนต้น เช่น วัดพุทไธสวรรย์ วัดราชบูรณะ เป็นต้น

เป็นที่น่าสังเกตว่าเมืองต่าง ๆ ทางภาคกลางที่อยู่ในเครือข่ายการปกครองของกรุงศรีอยุธยา มักทำพระมหาธาตุเจดีย์อันเป็นหลักของเมืองให้อยู่ในทรงปรางค์ เช่น วัดมหาธาตุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี, วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดราชบุรี, วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น

นอกจากนี้พระมหาธาตุเจดีย์ประจำเมืองเชลียงและเมืองพิษณุโลก ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นโดยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ [9] ก็เป็นเจดีย์ทรงปรางค์ด้วยกันทั้งสิ้น

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ปรางค์หรือเจดีย์ทรงปรางค์เป็นที่นิยมในสมัยอยุธยา คงสืบเนื่องมาจากมรดกทางวัฒนธรรมของเขมรที่เคยแพร่กระจายสู่ทางภาคกลางของประเทศไทย เมื่อสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีผู้คนในแถบนี้จึงเลือกรับสถาปัตยกรรมแบบเขมรมาปรับปรุงให้กลายเป็นแบบอย่างของตน

ความสำคัญดังกล่าวของปรางค์สะท้อนให้เห็นว่า ผู้คนในกรุงศรีอยุธยามีความคุ้นเคยและมีสำนึกร่วมกันว่าพระปรางค์คือทรงของมหาธาตุเจดีย์ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ อันถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของราชธานี

อนึ่งการสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ประจำเมืองเชลียงและพิษณุโลกให้อยู่ในทรงปรางค์ ย่อมเปรียบเหมือนเป็นสัญลักษณ์ของธงชัยที่กรุงศรีอยุธยาที่ได้ปักไว้ในเมืองทั้งสองด้วย [10]

พระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี : มหาธาตุเจดีย์สำคัญของกรุงศรีอยุธยา

หลักฐานทางประวัติศาสตร์สื่อให้เห็น ว่าการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีนี้ เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของบ้านเมืองสองแว่นแคว้น ซึ่งเอกสารจีนของหวังต้าหยวนเรียกว่าเสียนกับหลอฮู แม้เสียนยังไม่เป็นที่ยุติว่าหมายถึงบ้านเมืองใด เช่น สุพรรณบุรี เพชรบุรี สุโขทัย หรืออโยธยา แต่หลอฮูเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าหมายถึงลพบุรี [11]

และจากเหตุการณ์ที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงขึ้นครองราชย์ที่กรุงศรีอยุธยาได้โปรดให้สมเด็จพระราเมศวรเสด็จไปครองเมืองลพบุรี [12] ย่อมแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเมืองลพบุรีได้เป็นอย่างดี จึงเปิดโอกาสให้สามารถคิดต่อไปได้ว่าเมื่อคราวสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีเรื่อยมาในสมัยอยุธยาตอนต้นเป็นอย่างน้อย ผู้คนส่วนหนึ่งของราชธานีแห่งใหม่นี้ย่อมมีความสัมพันธ์กับเมืองลพบุรีอย่างมิต้องสงสัย

จึงมีความเป็นไปได้ที่กลุ่มคนที่มีความสัมพันธ์กับเมืองลพบุรีได้นำเอาคติความเชื่อถือที่มีต่อองค์พระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี ซึ่งสร้างขึ้นก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มาสู่บ้านเมืองแห่งใหม่ด้วย และในที่สุดได้ก่อให้เกิดความสำนึกร่วมที่มีต่อพระศรีรัตนมหาธาตุองค์ดังกล่าวในฐานะที่เป็นมหาธาตุเจดีย์ที่ศักดิ์สิทธิ์ มีความเก่าแก่และมีความสำคัญ

ความสำคัญของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรีนี้ ยังสะท้อนออกมาในรูปศิลปกรรมด้วย เช่น วัดในสมัยอยุธยาตอนต้นที่ใช้ปรางค์เป็นประธานของวัด เป็นต้นว่า วัดพุทไธสวรรย์ วัดพระราม วัดมหาธาตุ และวัดราชบูรณะ อย่างน้อยก็มีแผนผังที่แสดงให้เห็นการถ่ายทอดมาจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี [13] นอกจากนี้ความสำคัญของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี ยังสืบมาอย่างต่อเนื่องถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย ดังเห็นได้จากสิ่งก่อสร้างหลายอย่างที่มีอายุอยู่ในสมัยดังกล่าวนี้ด้วย

ความสำคัญของพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี ผนวกกับมรดกทางวัฒนธรรมของเขมรที่แพร่หลายอยู่ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ทำให้ผู้คนในกรุงศรีอยุธยาคุ้นเคยกับปรางค์ และเกิดความรู้สึกร่วมกันว่าเป็นทรงเจดีย์อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะราชธานีของตน ดังนั้นปรางค์จึงนิยมสร้างขึ้นในขอบเขตของอาณาจักรอยุธยา วัดมหาธาตุที่เป็นหลักของเมืองสำคัญที่อยู่ภายใต้การปกครองของกรุงศรีอยุธยา จึงใช้พระปรางค์เป็นที่สำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

ด้วยเหตุนี้พระจุฬามณีเจดีย์ที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสร้างขึ้น จึงทำเป็นทรงปรางค์

สุดท้ายนี้จึงอธิบายได้ว่า เหตุที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเมื่อทรงสร้างวัดจุฬามณีได้ใช้ปรางค์เป็นตัวแทนของพระเจดีย์จุฬามณี เป็นเพราะปรางค์เป็นแบบอย่างของเจดีย์คู่บ้านคู่เมือง และเป็นสัญลักษณ์แห่งกรุงศรีอยุธยา

ส่วนความจงใจเลียนแบบองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม และลวดลายประดับบางอย่างจากปรางค์พระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี คงเนื่องมาจากความศักดิ์สิทธิ์ ความสำคัญ และเป็นมหาธาตุเจดีย์อันเก่าแก่ที่มีอยู่ในสำนึกของคนกรุงศรีอยุธยา เป็นเหตุให้สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงประสงค์ที่จะถ่ายทอดสำนึกที่มีต่อพระศรีรัตนมหาธาต ุลพบุรี มาสู่พระจุฬามณีเจดีย์ที่พระองค์ทรงสร้างขึ้น

 


เชิงอรรถ :

[1] “พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์,” ใน คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัด และพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์. (พระนคร : คลังวิทยา, 2515), หน้า 450.

[2] สันติ เล็กสุขุม. ปรางค์และลายปูนปั้นประดับ วัดจุฬามณี พิษณุโลก. (สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2539), หน้า 14-106.

[3] กรมศิลปากร. “ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง ภาษาเขมร,” ใน จารึกสมัยสุโขทัย. (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2527), หน้า 237.

[4] “จารึกศิลาวัดจุฬามณี,” ใน ประชุมพงศาวดารภาคที่ 1. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพนาวาโท พระศรการวิจิตร (ช้อย ชลทรัพย์) ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ วันที่ 10 พฤษภาคม 2499. (มปท. : กองการพิมพ์สลากกินแบ่งรัฐบาล, 2499), หน้า 140.

[5] พระวิเชียรปรีชา (น้อย). พงศาวดารเหนือ. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพนายชุมพร ศรีสัชชนกุล 21 มกราคม 2516. (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พิฆเณศ, 2516), หน้า 41-42.

[6] สันติ เล็กสุขุม. ปรางค์และลายปูนปั้นประดับ วัดจุฬามณี พิษณุโลก. หน้า 5.

[7] พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. “บทบาทของพระมหาธรรมราชาลิไท ศาสนาและ/หรือการเมือง,” ใน ศาสนาและการเมืองในประวัติศาสตร์สุโขทัย-อยุธยา. (กรุงเทพฯ : มติชน, 2545), หน้า 116-119.

[8] พระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค). พงศาวดารโยนก. (พระนคร : คลังวิทยา, 2516), หน้า 335.

[9] ดูความเห็นว่าพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เชลียง สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ใน สันติ เล็กสุขุม. ปรางค์และลายปูนปั้นประดับ วัดจุฬามณี พิษณุโลก. หน้า 16. สำหรับพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ระบุว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถให้ฉลองพระศรีรัตนมหาธาตุเมื่อ พ.ศ. 2025 ดังนั้นจึงสันนิษฐานได้ว่าพระองค์โปรดให้สร้างพระปรางค์องค์นี้ ซึ่งสอดคล้องกับรูปแบบศิลปะที่ปรากฏในวัดนี้ด้วย

[10] คำอธิบายนี้ ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม ได้แสดงความเห็นกับผู้เขียนเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2545

[11] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. อยุธยา ประวัติศาสตร์และการเมือง. (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2542), หน้า 151-152.

[12] พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) เล่ม 1. (กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2504), หน้า 1-2.

[13] สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะอยุธยา งานช่างหลวงแห่งแผ่นดิน. (กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2542), หน้า 44-47.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2560