“เจ้าทิพเกษร” เจ้านายเชียงใหม่พระองค์แรก ที่ถวายตัวในรัชกาลที่ 5

เจ้าทิพเกษร เจ้าจอมมารดาทิพเกษร พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ
เจ้าจอมมารดาทิพเกษรและพระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ (ภาพ : Wikimedia Commons)

เจ้านายฝ่ายเหนือจากเชียงใหม่ ผู้เชื่อมสัมพันธ์ล้านนา-สยาม ที่มารับราชการในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่คนส่วนมากรู้จักกันดี คือ เจ้าดารารัศมี แต่ก่อนหน้าเจ้าดารารัศมี มีเจ้านายฝ่ายเหนือจากเชียงใหม่อีกพระองค์ที่มาถวายตัวรับราชการก็คือ “เจ้าทิพเกษร” หรือ “เจ้าจอมมารดาทิพเกษร” พระมารดาใน “พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ” ดอกเตอร์พระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี

เจ้าทิพเกษร (บ้างสะกด เจ้าทิพเกสร) สืบสายจากพระเจ้ามโหตรประเทศ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์ทิพย์จักร เมื่อเจริญวัยขึ้น เจ้าน้อยมหาพรหม พระโอรสในพระเจ้ามโหตรประเทศ ได้พาหลานตาคือ เจ้าทิพเกษร มาถวายตัวรับราชการในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อราว พ.ศ. 2419 ก่อนหน้าเจ้าดารารัศมีถวายตัวอย่างเป็นทางการราว 10 ปี

รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระเมตตาต่อเจ้าทิพเกษร โปรดให้เจ้าทิพเกษรเรียนรู้ขนบธรรมเนียมราชสำนักสยามที่สำนัก “เจ้าคุณจอมมารดาแพ” และโปรดให้มีผู้ดูแลเจ้าทิพเกษรเป็นอย่างดี

เจ้าทิพเกษรมีประสูติกาล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสรรควิไสยนรบดี (พระนามเดิมคือ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ) เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2427 ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 44 ในพระบรมชนกนาถ และทรงเป็นพระโอรสเพียงพระองค์เดียวในเจ้าจอมมารดาทิพเกษร

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงบันทึกไว้ในจดหมายเหตุรายวัน แต่ครั้งทรงพระเยาว์ ถึงพระนาม “ดิลกนพรัฐ” ว่า

“…เสด็จขึ้นเกือบค่ำ เสด็จลงสมโภชน้องชายลูกทิพย์เกษร ทูลหม่อมบนประทานชื่อว่า ดิลกนพรัฐ สมเด็จแม่ทรงแปลประทานเราว่า ศรีเมืองเชียงใหม่…”

อ่านเพิ่มเติม : “เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ” มกุฎราชกุมารองค์แรกของไทย ที่ รัชกาลที่ 5 ทรงรักมาก

หลังจากนั้น ใน พ.ศ. 2429 เจ้าจอมมารดาทิพเกษร ได้กราบบังคมทูลลาจากตำแหน่งเจ้าจอม ออกไปประกอบสัมมาอาชีพส่วนตัว และถึงแก่อสัญกรรมใน พ.ศ. 2445 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

หลังจากเจ้าจอมมารดาทิพเกษรถึงแก่อสัญกรรมแล้ว รัชกาลที่ 5 โปรดให้มีพิธีการกุศลปิดศพ ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา ดังนี้

“ด้วยตั้งแต่วันที่เจ้าจอมมารดาทิพเกษรถึงแก่อสัญกรรม ล่วงมาจนถึงวันที่ ๑๐ มิถุนายน รัตนโกสินทร ศก ๑๒๒ นี้ เปนวันบรรจบครบ ๑๐๐ วัน เจ้าจอมมารดาดารารัศมี ได้มีการบำเพ็ญกุศล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการนี้ที่อัฏฏวิจารณศาลาซึ่งเปนที่ไว้ศพนั้น มีกำหนดการแจ้งต่อไปนี้

วันที่ ๙ มิถุนายน เวลาค่ำ พระสงฆ์ฝ่ายคณะธรรมยุติกนิกายรวม ๑๐ รูป มีพระอวาจีคณานุสิชณน์เปนประธานสวดพระพุทธมนต์จบแล้ว สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เทศนากัณฑ์หนึ่ง

วันที่ ๑๐ มิถุนายน เวลาเช้า พระสงฆ์ที่สวดมนต์เมื่อวานนี้ฉัน แลมีเทศนากัณฑ์หนึ่ง พระธรรมโกษาจารย์เปนผู้เทศนา แล้วมีการบังสุกุลรายร้อย ๑๐๐ รูป ครั้นเวลาบ่าย ๔ โมงเศษ โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา เสด็จไปทรงบำเพ็ญพระกุศลทรงจุดเทียนนมัสการ พระพิมลธรรมถวายเทศนาศราทธพรตกัณฑ์หนึ่งจบแล้ว พระถานาปเรียญฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ๑๐ รูป สวดศราทธพรตจบแล้วพิธีกรรม ๔ รูป ขึ้นเตียงสวดปัฏฐานมาติกา เจ้าพนักงานชักม่านปิดศพเจ้าจอมมารดาทิพเกษร เปนเสร็จการ ฯ”

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“เจ้าหลวงเชียงใหม่ ตอนที่ 6/10 ‘เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 5 พระเจ้ามโหตรประเทศ’ (พ.ศ.2390-2397)”. เว็บไซต์สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

วิภา จิรภาไพศาล. “พระองค์เจ้าดิลกฯ ‘ดอกเตอร์พระองค์แรก’ แห่งราชวงศ์จักรี”

“การกุศลปิดศพ เจ้าจอมมารดาทิพเกสร”. ราชกิจจานุเบกษา.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 เมษายน 2567