“เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ” มกุฎราชกุมารองค์แรกของไทย ที่ รัชกาลที่ 5 ทรงรักมาก

มเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเครื่องแบบเต็มยศนายร้อยโท นายทหารพิเศษ แห่งกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ลูก ใน รัชกาลที่ 5
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเครื่องแบบเต็มยศนายร้อยโท นายทหารพิเศษ แห่งกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ (ภาพ : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

รู้หรือไม่ว่า “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร” หรือพระนามเดิม “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ” พระราชโอรสองค์โตใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เป็น “มกุฎราชกุมาร” องค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี ทั้งยังเป็นพระราชโอรสอีกพระองค์หนึ่งที่ทรงสนิทชิดเชื้อกับพระราชบิดา

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศเป็นพระราชโอรสองค์โตในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดี แรม 12 ค่ำ เดือน 7 ปีขาน สัมฤทธิศก จ.ศ. 1240 หรือเทียบให้ตรงกับวันเดือนปีปัจจุบัน คือ วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2421 

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศถือเป็นพระราชโอรสอีกพระองค์หนึ่งที่ รัชกาล 5 ทรงรักและห่วงใยอย่างมาก 

เหตุที่พูดเช่นนั้น เป็นเพราะว่าเมื่อพระองค์เจริญพระชันษาได้ 3 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงซื้อที่นาและสวนทางทิศตะวันออกของพระนคร เพื่อพระราชทานแก่พระองค์ และโปรดฯ ให้สร้างวังขึ้น

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีลงสรงสนานเฉลิมพระปรมาภิไธย สถาปนาพระอิสริยยศ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เป็น สมเด็จพระบรมโอรสธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ณ วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2429 

การสถาปนาดังกล่าว เริ่มต้นครั้งแรกในรัชสมัยนี้ จึงทำให้พระองค์เป็นสยามมกุฎราชกุมารองค์แรกของไทย

นอกจากนี้แล้ว พระองค์ยังเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของพระราชบิดา เพราะหลายครั้งหลายหนพระองค์ได้เสด็จไปทรงประกอบพระราชกรณียกิจแทน ไม่ว่าจะเป็น เสด็จออกรับฎีกาที่ราษฎรทูลเกล้าฯ ถวาย หรือพระราชพิธีหรือพิธีสำคัญต่าง ๆ รวมถึงเสด็จพระราชดำเนินติดตามพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไปหลายพื้นที่ 

ครั้งรัชกาลที่ 5 ทรงมีแผนจัดการทหารบกและทหารเรือให้มีระเบียบแบบแผน ก็โปรดฯ มอบตำแหน่งผู้บัญชาการทั่วไป ให้เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พร้อมให้ตราพระราชบัญญัติตั้งกรมทหารควบคู่ไปด้วย เนื่องจากพระองค์ยังทรงพระเยาว์ 

เมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์จึงทรงสนิทกับพระราชบิดาเป็นอย่างมาก โดยครั้งหนึ่ง พระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์ลงหนังสือพิมพ์วชิรญาณถึงพระราชบิดาไว้ว่า…

“รักใครจะรักแม้น ชนกนารถ

รักบ่ออยากจะคลาศ สักน้อย

รักใดจะมิอาจ เทียมเท่า ท่านนา

รักยิ่งมิอยากคล้อย นิราศแคล้วสักวัน”

ทว่าความสุขกลับอยู่ได้ไม่นานเท่าที่ควร เพราะเมื่อวันศุกร์ ขึ้น 9 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเมีย ฉศก จุลศักราช 1256 ซึ่งตรงกับวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2437 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ก็สวรรคต เนื่องด้วยพระโรคไข้รากสาดน้อย ซึ่งขณะนั้นพระองค์มีพระชันษาเพียง 16 ปี เท่านั้น

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงเสียพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง จนปรากฏข้อความในพระราชหัตถเลขาว่า

“…ลูกชายอันเป็นที่รักยิ่ง เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ มกุฎราชกุมาร อันฉันได้ตั้งใจประคับประคองป้องกันทำนุบำรุงมาโดยลำดับ จนถึงได้ตั้งแต่งไว้ในที่สำคัญเช่นนี้ มามีอันตรายโดยเร็วพลัน ให้ยังเกิดทุกข์โทมนัสอันแรงกล้า ในเวลาเมื่อกำลังที่จะเจริญด้วยไวยแลอายุ ทั้งความรู้ที่ได้เล่าเรียนอันเป็นที่มั่นหมายใจว่าคงจะเปนผู้ที่มีความรู้แลอัธยาไศรยสามารถอาจจะปกป้องวงษ์ตระกูลสืบไว้ 

การซึ่งได้คิดได้จัดเพื่อจะให้เปนความเจริญแก่ลูกอันเปนที่รัก กับทั้งหวังว่าจะให้เปนประโยชน์แก่ท่านทั้งหลายทั้งปวง โดยที่จะให้เปนผู้อุดหนุนแลป้องกันอันตราย มาลี้ลับดับไปโดยเร็วพลันเช่นนี้ จึ่งเปนที่ทุกข์ร้อนอันยิ่งใหญ่ ไม่สามารถที่จะพรรณาได้…”

ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระบรมศพพระองค์ ไว้ที่ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ไว้ทุกข์ 1 เดือน และทรงให้มีพระราชกุศลทุก ๆ 7 วันนับตั้งแต่สวรรคต

จากนั้นจึงพระราชทานเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมณฑป วัดบวรสถานสุทธาวาส หรือวัดพระแก้ววังหน้า ก่อนจะนำพระบรมอัฐิไปประดิษฐาน ที่ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สยามมกุฎราชกุมาร. https://bit.ly/3JKpQUR.

สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ตอนที่ 1 1.2 พระราชพิธีโสกันต์ ทรงผนวช และพระราชกรณียกิจ. https://bit.ly/3QpDksZ.

สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ตอนที่ 1 1.3 เสด็จสวรรคต. https://bit.ly/49XjCvu.

https://www.silpa-mag.com/history/article_29388


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 เมษายน 2567