สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า กับ “คำฝากฝัง” ที่ไม่มีผู้ใดสนองแม้สักคน เพราะเหตุใด?

สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระภรรยาเจ้า รัชกาลที่ 5
สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า "สมเด็จย่า" ในรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9

สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า หรือ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระภรรยาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงเป็น “สมเด็จย่า” ในพระมหากษัตริย์ 2 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นขัตติยนารีผู้ทรงพร้อมด้วยน้ำพระทัยและพระราชจริยวัตรอันงดงาม เป็นที่รักและเคารพยิ่งของผู้ที่รับใช้ใกล้ชิด

แต่ทำไมเมื่อพระองค์ทรงมีรับสั่ง “ฝากฝัง” จัดการทั้งบุคคลและสิ่งของทั้งหลาย หากพระองค์เสด็จสวรรคตแล้ว กลับไม่มีผู้ใดสนองพระราชกระแสรับสั่งเลยสักคน?

สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงมีพระนามเดิมคือ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2405 เป็นพระเจ้าลูกเธอลำดับที่ 60 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม)

เมื่อสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเจริญพระชันษา 16 พรรษา ก็ทรงเป็นพระภรรยาเจ้าในรัชกาลที่ 5 ไล่เลี่ยกับที่พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี, พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี และพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี รับราชการเป็นพระภรรยาเจ้าในรัชกาลที่ 5 เช่นกัน

สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดารวม 10 พระองค์ ทว่าตลอดพระชนมชีพ ทรงประสบความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง นับตั้งแต่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร สิ้นพระชนม์ ยังความโทมนัสแก่รัชกาลที่ 5 และพระองค์อย่างยิ่ง ตามมาด้วยพระราชโอรสและพระราชธิดาพระองค์อื่นๆ

อ่านเพิ่มเติม : “เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ” มกุฎราชกุมารองค์แรกของไทย ที่ รัชกาลที่ 5 ทรงรักมาก

ด้วยเหตุนี้ ทำให้พระองค์ไม่ทรงประมาทต่อความตาย ทรงรับสั่ง “ฝากฝัง” เรื่องต่างๆ กับเชื้อพระวงศ์พระองค์อื่น รวมทั้งผู้รับใช้ใกล้ชิด แต่ก็ไม่มีใครสามารถสนองคำฝากฝังนั้นได้เลย

สมภพ จันทรประภา เขียนอธิบายเรื่องนี้ไว้ใน “สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ” ว่า

สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงเป็นผู้ไม่ทรงประมาทต่อมรณะ ทรงเตรียมพร้อมไม่พรั่นพรึง พระราชทรัพย์ทรงจัดการเรียบร้อย ข้าหลวงมหาดเล็กทรงฝากฝัง สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้ทรงเลี้ยงดูต่อไป พร้อมทั้งการทํานุบํารุงพระพุทธศาสนาที่เป็นการส่วนพระองค์

แม้แต่เครื่องทรงพระศพของพระองค์เองก็ทรงเลือกจัดเตรียมไว้นานมาแล้ว นับตั้งแต่พระภูษา ฉลองพระองค์ ทรงสะพัก ครั้งแรกทรงฝากไว้กับ คุณเจริญ โชติกะสวัสดิ์ ข้าหลวงคนสนิท ต่อมาเมื่อคุณเจริญถึงแก่กรรม ทรงฝากไว้กับ ม.จ.ไขศรี ปราโมช

ครั้น ม.จ.ไขศรี ถึงชีพิตักษัย ก็ทรงฝาก พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท ซึ่งเป็นพระราชธิดาเลี้ยง แต่ภายหลังพระองค์เจ้าเยาวภาฯ สิ้นพระชนม์ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า จึงทรงฝากฝังต่อไปยัง ม.จ.นาราวดี เทวกุล แต่ ม.จ.นาราวดี ก็ถึงชีพิตักษัยไปก่อน

องค์สุดท้ายที่ทรงฝากคือ ม.จ.พิจิตรจิราภา เทวกุล แต่ก็ถึงชีพิตักษัยไปก่อนเช่นกัน นับแต่นั้นมาก็ไม่ทรงฝากฝังมอบหมายกับผู้ใดอีกเลย

ส่วน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร พระราชธิดาเลี้ยงอีกพระองค์นั้น สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเคยตรัสด้วยทรงมีพระเมตตาว่า “องค์วาปี ฉันไม่ฝากหรอก เพราะจะกลัวผี”

อ่านเพิ่มเติม : พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร “ลูก” ในรัชกาลที่ 5 ผู้ทรงมีพระชนมายุยืนยาวที่สุด

สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงดำรงพระชนมชีพยาวนานถึง 6 แผ่นดิน เสด็จสวรรคตในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2498 สิริพระชนมายุ 93 พรรษา

เมื่อสวรรคตแล้ว พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร ที่พระองค์ไม่ทรงฝากด้วยทรงเห็นว่ากลัวผีนั้น คือผู้ที่ทรงทําพระธุระในเรื่องแต่งพระบรมศพ โดยไม่ได้ทรงใช้พระภูษาและฉลองพระองค์ตามที่สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าฝากไว้ แต่ทรงจัดหาและทำขึ้นใหม่มาถวาย เพราะที่ทรงฝากต่อๆ กันมานั้น เมื่อทรงเปิดออกมาก็พบว่า เก่าเก็บจนเปื่อยใช้การไม่ได้เสียแล้ว

คำตอบของประเด็นที่ว่า ทำไมจึงไม่มีผู้ใดสนอง “คำฝากฝัง” ของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเลย ก็เพราะพระองค์ทรงมีพระชนมายุยืนยาวกว่าผู้ที่ทรงฝากฝังไว้นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


 อ้างอิง :

สมภพ จันทรประภา. สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ. อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมราชวงศ์หญิง จีริก กิติยากร ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส 29 ตุลาคม พ.ศ. 2528

“มหามกุฎราชสันตติวงศ์ ๑๐ กันยายน ๒๔๐๕ วันพระราชสมภพสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า”. https://bit.ly/3QjBJEY


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 เมษายน 2567