พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร “ลูก” ในรัชกาลที่ 5 ผู้ทรงมีพระชันษายืนยาวที่สุด

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร (ภาพ : กรมศิลปากร)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดาทั้งหมด 77 พระองค์ (ไม่นับรวมที่ตกพระโลหิต 20 พระองค์) ในจำนวนนี้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร ทรงมีพระชันษายืนยาวกว่าทุกพระองค์ คือพระชันษา 91 ปี

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร เป็นพระราชธิดาพระองค์ที่ 68 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาพร้อม ประสูติเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2434

พระองค์ทรงมีพระเชษฐาและพระเชษฐภคินีร่วมพระชนนีคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไลย, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประไพพรรณพิลาส ทั้งสองพระองค์ทรงเป็น “ฝาแฝด” คู่เดียวในรัชกาลที่ 5 ประสูติเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2428 ทว่าพระองค์เจ้าประไพพรรณพิลาสสิ้นพระชนม์เมื่อพระชันษา 1 ปีกว่า และ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสมัยวุฒิวโรดม (ประสูติเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2431 สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2432)

อ่านเพิ่มเติม : “ประภาพรรณพิไลย-ประไพพรรณพิลาส” พระราชธิดา “ฝาแฝด” คู่เดียวในรัชกาลที่ 5

ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ เล่าไว้ในหนังสือ “ในกำแพงแก้ว” (สำนักพิมพ์มติชน) ว่า เมื่อสมโภชตามโบราณราชประเพณีแล้ว ทรงได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระบรมชนกนาถว่า “พระองค์เจ้าหญิงวาปีบุษบากร” และผู้คนในชั้นหลังก็นิยมออกพระนามโดยลำลองว่า “เสด็จพระองค์วาปีฯ”

ครั้งยังทรงพระเยาว์ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากรทรงได้รับการศึกษาในพระบรมมหาราชวัง เริ่มทรงพระอักษรครั้งแรกเมื่อพระชันษา 5-6 ปี โดยโรงเรียนของพระองค์คือพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ซึ่งเป็นพระที่นั่งองค์ใหญ่ที่ประดิษฐานพระสยามเทวาธิราชอยู่ในปัจจุบัน

เมื่อพระชันษา 7 ปี เจ้าจอมมารดาพร้อมถึงแก่อนิจกรรม รัชกาลที่ 5 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชธิดา 2 พระองค์ คือ พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไลย และพระองค์เจ้าวาปีบุษบากร ให้อยู่ในพระราชินูปถัมภ์ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ซึ่งต่อมาคือ สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทั้งสองพระองค์จึงทรงย้ายจากตำหนักที่ประทับเดิมมาอยู่ตำหนักสมเด็จพระพันวัสสาฯ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

อ. ธงทอง เล่าในหนังสือว่า พระองค์เจ้าวาปีบุษบากรทรงสนิทสนมคุ้นเคยกับ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 ประสูติแต่สมเด็จพระพันวัสสาฯ เป็นอย่างยิ่ง เนื่องด้วยเกิดปีเถาะเหมือนกัน โดยพระองค์เจ้าวาปีบุษบากรทรงแก่พระชันษากว่าราว 6 เดือน เมื่อสมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จฯ ไปทรงศึกษาต่อต่างประเทศ ก็ทรงส่งไปรษณียบัตรมาถวาย “พี่วาปี” ทุกครั้ง

พ.ศ. 2442 พระพลานามัยของสมเด็จพระพันวัสสาฯ ทรุดลง เนื่องด้วยทรงสูญเสียพระราชโอรส คือ สมเด็จเจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ ที่สิ้นพระชนม์กะทันหัน รัชกาลที่ 5 จึงมีพระราชดำริว่า ควรเสด็จฯ ไปรักษาพระองค์ที่ริมทะเล โปรดให้สร้างพระราชฐานขึ้นที่ศรีราชา และทรงให้สมเด็จพระพันวัสสาฯ แปรพระราชฐานไปประทับ ซึ่งพระองค์เจ้าวาปีบุษบากรก็ตามเสด็จฯ ด้วย

จากนั้นเมื่อสมเด็จพระพันวัสสาฯ เสด็จฯ กลับกรุงเทพมหานคร พระองค์ก็ทรงกลับมาพร้อมกัน แรกทีเดียวทรงอยู่ที่สวนหงส์ ในเขตพระราชวังดุสิต กับสมเด็จพระพันวัสสาฯ เมื่อเปลี่ยนรัชกาลแล้วสมเด็จพระพันวัสสาฯ ก็เสด็จฯ ออกไปประทับที่พระตำหนักวังสระปทุม พระองค์เจ้าวาปีบุษบากรจึงทรงย้ายไปประทับรวมกับเจ้าพี่เจ้าน้องที่สวนสุนันทา

เมื่อเกิดเหตุการณ์ “กบฏบวรเดช” พ.ศ. 2476 คราวนั้นพระองค์ทรงไปตากอากาศที่หัวหิน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่า ถ้าประทับอยู่หัวหินต่อไปก็จะทรงถูกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอ้างได้ว่าสนับสนุน จึงทรงรวบรวมเจ้านายฝ่ายหน้าและฝ่ายใน รวมทั้งพระองค์เจ้าวาปีบุษบากรให้ตามเสด็จไปสงขลา

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร (ภาพ : เฟซบุ๊ก วังวาริชเวสม์ https://www.facebook.com/varichaves/photos/a.577539408963380/578504615533526/?type=3)

“เสด็จพระองค์วาปีฯ” ประทับที่นั่นราว 6 สัปดาห์ เมื่อดูสถานการณ์คลี่คลายแล้ว ก็ทรงกลับไปประทับที่หัวหินอยู่พักหนึ่ง แล้วทรงเดินทางเข้ากรุงเทพมหานคร เพื่อพำนัก ณ วังวาริชเวสม์ ซึ่งเป็นวังสร้างใหม่ ตั้งอยู่ริมคลองสามเสน

พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร ทรงผ่านเหตุการณ์บ้านเมืองสำคัญๆ มาหลายครั้งหลายหน ผ่านการผลัดแผ่นดินจนเข้าสู่แผ่นดินที่ 5 คือ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นพระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 ที่ดำรงพระชนม์เป็นลำดับสุดท้าย

อ. ธงทอง กล่าวถึงพระองค์เจ้าวาปีบุษบากรไว้ใน “ในกำแพงแก้ว” ว่า

“เมื่อหลายสิบปีล่วงมาแล้ว วันนั้นเป็นเช้าวันที่ 15 ธันวาคม พุทธศักราช 2525 มีคนไปนิมนต์พระเถระผู้ใหญ่จากวัดเทพศิรินทราวาส 2 รูป คือ เจ้าพระคุณพระธรรมธัชมุนีและเจ้าพระคุณพระประสิทธิสารโสภณ รีบรุดมาที่พระตำหนักเล็กๆ ด้านหลังวชิราวุธวิทยาลัย เพื่อมาส่งเสด็จเจ้านายพระบรมวงศ์องค์หนึ่ง พระมาถึงพระตำหนักเวลาประมาณ 6 นาฬิกา 25 นาที ต่อมาอีกเพียง 15 นาที เจ้านายพระองค์นั้นก็เสด็จละโลกนี้ไป

ทรงเป็นเสมือนหนึ่งสายใยเส้นสุดท้ายที่ยึดโยงวันเวลาของประวัติศาสตร์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงกับยุคปัจจุบันให้เชื่อมต่อกันได้สนิท ด้วยทรงดำรงอยู่ในฐานะที่เป็นพระราชธิดาพระองค์สุดท้ายของพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ในสมัยรัชกาลที่ 9 อยู่เป็นเวลานาน เป็นพระกุลเชษฐ์แห่งพระมหาจักรีบรมราชวงศ์ และเมื่อสิ้นพระชนม์นั้น พระชันษายั่งยืนถึง 91 ปี”

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ธงทอง จันทรางศุ, ในกำแพงแก้ว. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : มติชน, 2566

มหามกุฎราชสันตติวงศ์ ๒๕ มิถุนายน ๒๔๓๔ วันประสูติพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 เมษายน 2567