ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อเข้าสู่เดือน “พฤษภาคม” หลายคนคงต่างเฝ้าคอยที่จะได้กินผลไม้เลิศรส ที่ได้ฉายานามว่า “ราชาแห่งผลไม้ไทย” เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของฤดูกาลแห่งการออกดอกออกผล ซึ่งทุเรียนก็มีมากมายให้ทุกคนเลือกสรรตามใจ เช่น ทุเรียนหมอนทอง, ทุเรียนก้านยาว, ทุเรียนหลงลับแล รวมไปถึง “ทุเรียนชะนี” ที่มีรสชาติหวานจัดจ้าน เย้ายวนใจ
แล้วเคยสงสัยไหมว่าทำไมต้องเรียกว่า “ทุเรียนชะนี” ?
ใน “หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นางจ่าง จุลละทรัพย์” ปรากฏข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับชื่อที่มาของ “ทุเรียนชะนี” ราชาแห่งผลไม้ไทย ไว้สั้น ๆ ภายในบทความ “คุณแม่ของข้าพเจ้า” ที่เขียนโดย พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี สมัย ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช และ เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ไว้ว่า…
“…สวนทุเรียนเก่านี้ ต้นทุเรียนใหญ่และสูงมาก บางต้นโอบไม่รอบ ความสูงเทียบได้กับต้นยาง คุณพ่อคุณแม่ได้ใช้ลวดผูกตรึงไว้ เพื่อป้องกันต้นทุเรียนล้ม เมื่อมีพายุพัดแรงบางต้นล้มลงมาแล้วก็ยังไม่ตายและยังออกลูกให้ได้อีกด้วย
ข้าพเจ้าได้เคยนับจำนวนทุเรียนต่อต้นมีประมาณ 100 ผล บางต้นมีถึง 300 ผล บางต้นต้องปลิดผลเล็ก ๆ ออก เพราะเกรงว่าต้นจะทานน้ำหนักไม่ได้ ทุเรียนสมัยนั้นมี อีกบ ทองย้อย ก้านยาว อีรวง อีกบนั้น แต่ก่อนก็ไม่ได้ดีเท่าใด
แต่ภายหลัง ปู่ขำ ทดลองผสมพันธุ์ใหม่ ที่เรียกว่า กบตาขำ จึงมีรสชาติดีขึ้น นอกจากนั้นยังมีญาติผู้ใหญ่อีกท่านหนึ่งผสมอีกบ กับ ก้านยาว เข้าด้วยกัน เป็นชะนี มีรสหวานมันเหมือนกับกินกบกับก้านยาวปนกัน
เขาเล่าให้ฟังมาว่า ญาติผู้ใหญ่ท่านนี้ชอบเลี้ยงชะนี จะไปสวนก็เอาชะนีโอบคอไปด้วย ชะนีเอามือเที่ยวลูบคลำดอกทุเรียน ในขณะที่ญาติผู้ใหญ่ผู้นั้นกำลังผสมอยู่ เมื่อลูกผสมออกมา จึงเรียกว่าอีชะนี…”
หมายเหตุ : ปรับย่อหน้าและเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ
อ่านเพิ่มเติม :
- “อีเนื้อแดง” ชื่อเดิมของทุเรียน “พวงมณี” มณีงาม ประดับวงการทุเรียนไทย
- ทุเรียนเมืองไทยมาจากไหน? ทำไมจึงเรียกว่าทุเรียน?
- ทำไมเรียก “ทุเรียน”? และการเล่าขานผลไม้ที่กลิ่นเหม็นเหมือน “ขี้ซำปอกง”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นางจ่าง จุลละทรัพย์. [ม.ป.ท.]:ศูนย์การพิมพ์พลชัย, 2528. สืบค้นเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2567. https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:1581.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 พฤษภาคม 2567