ทุเรียนเมืองไทยมาจากไหน? ทำไมจึงเรียกว่าทุเรียน?

ทุเรียน
ภาพประกอบบทความ จากห้องสมุดภาพมติชน

หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ (เล่มที่ 28 เรื่องที่ 4 ทุเรียน ) กล่าวว่า ลาลูแบร์ นักบวชนิกายเยซูอิต และหัวหน้าคณะราชทูตที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 รับสั่งให้เดินทางมากรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2230 ได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับผู้คน, สังคม และสิ่งแวดล้อมของเมืองไทย ภายหลังบันทึกนี้ตีพิมพ์ในกรุงปารีส (พ.ศ. 2336) โดยเนื้อหาตอนหนึ่งกล่าวถึง “ทุเรียน” ว่า

“ดูเรียน” (Durion) ชาวสยามเรียกว่า “ทูลเรียน” (Tourrion) เป็นผลไม้ที่นิยมกันมากในแถบนี้ แต่สำหรับข้าพเจ้า ไม่สามารถทนต่อกลิ่นเหม็นอันรุนแรงของมันได้ ผลมีขนาดเท่าผลแตง มีหนามอยู่โดยรอบ ดูๆ ไป ก็คล้ายกับขนุนเหมือนกัน มีเมล็ด [พู] มาก แต่เมล็ด [พู] ใหญ่ขนาดเท่าไข่ไก่ ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้กิน ภายในยังมีอยู่อีกเมล็ดหนึ่ง ถือกันว่า ยิ่งมีเมล็ด [พู] ในน้อย ยิ่งเป็นทูลเรียนดี อย่างไรก็ตาม ในผลหนึ่งๆ ไม่เคยปรากฏว่า มีน้อยกว่า 3 เมล็ด [พู] เลย

จากหลักฐานดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า มีการปลูกทุเรียนในภาคกลางของประเทศไทย ตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่ทุเรียนจะเข้ามาจากที่ไหน และโดยวิธีใด ไม่ปรากฏหลักฐาน หากมีผู้สันนิษฐานว่า เป็นการนำมาจากภาคใต้ของประเทศไทยนั่นเอง

ถ้าจริงดังนั้น เส้นทางนำเข้าทุเรียนจากทางใต้จะเป็นเช่นไร

องค์ บรรจุน เคยเสนอแนวคิดเช่นเดียวกันนี้ในบทความชื่อ “ทุเรียนเคยหอมจรุงที่มะริด ทวาย ตะนาวศรี มาสิ้นกลิ่นเสียทีที่เมืองจันท์” (ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2551) ไว้ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม)


 

…ทุเรียนเป็นพืชในวงศ์ (Family) นุ่น-ทุเรียน (Bombaceaceae) มีชื่อสามัญ (Common name) ว่า durian มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ (Scientific name) ว่า Durio zibethinus นักพฤกษศาสตร์ระบุว่าทุเรียนมีถิ่นกำเนิดแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ [1] แล้วแพร่กระจายทั่วไปทั้งภูมิภาคซึ่งมีสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น เช่น ประเทศในเอเชีย ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า อินเดีย ศรีลังกา และไทย…

แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นแหล่งปลูกทุเรียนคุณภาพและเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก แต่ทุเรียนไม่ใช่ผลไม้ไทย [2] มีผู้สันนิษฐานว่าทุเรียนจากมะริด ทวาย ตะนาวศรี แพร่เข้ามาในประเทศไทยด้วยกัน 2 เส้นทาง [3] ได้แก่

เส้นทางที่ 1

เข้ามากับกองทัพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ครั้งที่ยกทัพไปตีเมืองมะริด ทวาย และตะนาวศรี เมื่อ พ.ศ. 2330 แต่ตีไม่สำเร็จเพราะเส้นทางทุรกันดาร ขาดเสบียงอาหาร จนเมื่อกองตระเวนได้ออกหาอาหารมาเลี้ยงกองทัพพบทุเรียนป่าเข้า จึงลองนำมากิน และติดใจในรสชาติ จึงได้นำพันธุ์ทุเรียนป่าเข้ามายังกรุงเทพฯ

ดังนั้นในยุคต่อมาจึงพบว่ามีต้นทุเรียนอายุ 100-150 ปี ปลูกอยู่ตามบ้านเจ้านายเก่าๆ ในกรุงเทพฯ ซึ่งในเรื่องนี้สอดคล้องกับตำราแม่ครัวหัวป่าก์ ของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2451 กล่าวถึงย่านที่ปลูกทุเรียนขึ้นชื่อในกรุงเทพฯ ได้แก่ ย่านบางขุนนนท์ บางโคล่ และบางคอแหลม [4] แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่าจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ เมื่อปี 2460 และปี 2485 ทำให้ต้นทุเรียนเก่าแก่ล้มตายลงเป็นอันมาก ปัจจุบันจึงไม่หลงเหลือหลักฐานให้เห็นอีกต่อไป [5]

เส้นทางที่ 2

เชื่อว่าทุเรียนเข้ามาจากเมืองมะริด ทวาย และตะนาวศรีเช่นกัน แต่เข้าสู่ประเทศไทยผ่านทางภาคใต้ โดยนำเข้ามาทางเรือสินค้า เพราะในแถบนั้นได้มีการติดต่อค้าขายกันมายาวนาน ซึ่งอาจเป็นชาวโปรตุเกส ซึ่งเข้ามาค้าขายยังหัวเมืองมอญ มะริด ทวาย ตะนาวศรี ตั้งแต่เมื่อราว 300 ปีก่อน จึงทำให้ทุเรียนแพร่หลายอยู่ในแถบแหลมมลายูและจังหวัดนครศรีธรรมราช ก่อนที่จะได้นำเข้ามาแพร่หลายในกรุงเทพฯ [6]

หลักฐานการแพร่กระจายเข้ามาของทุเรียนจากมะริด ทวาย ตะนาวศรี ยังเหลือร่องรอยให้เห็นในเมืองไทย ได้แก่ บ้านบางตะนาวศรี ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี บางตะนาวศรีนอกจากจะมีชาวไทยและชาวมลายูปัตตานีแล้ว ยังมีชาวมอญอาศัยอยู่ร่วมกันอีกด้วย

ชาวมอญดังกล่าวมาจากตะนาวศรี ได้อพยพเข้ามาในสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยาสอมรินทร์ พ.ศ. 2302 ขณะที่กองทัพไทยตั้งรวมพลอยู่ที่แก่งตูม นอกเขตไทยต้นแม่น้ำตะนาวศรี เมื่อพม่ายกทัพจะมาตีชาวตะนาวศรีก็หนีมาเข้ากับกองทัพไทยและภายหลังสงครามสงบก็ได้อพยพตามเข้ามาด้วย [7] ชาวมอญตะนาวศรีนี้ได้ตั้งชุมชนขึ้นยังบางตะนาวศรี แขวงเมืองนนท์

สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีสวนผลไม้ขึ้นชื่อ เป็นที่นิยมของคนทั้งประเทศมีอยู่ 2 เมือง ได้แก่ “…อัมพวาสวนนอก บางกอกสวนใน…” เป็นแหล่งปลูกผลไม้รสดี อัมพวาคือ เมืองอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ในปัจจุบัน ซึ่งถือว่าเป็นสวนนอก อีกแห่งคือบางกอกสวนใน ได้แก่ สวนผลไม้ย่านฝั่งธนบุรี ถือเป็นสวนในเขตเมืองชั้นใน และจากคำบอกเล่าของชาวเมืองนนท์กล่าวว่า พื้นที่บางขุนนนท์ฝั่งธนบุรีกับสวนใหญ่เมืองนนทบุรีนั้นเป็นดินผืนเดียวกัน ปลูกผลไม้ได้รสชาติไม่แตกต่างกัน

ดังนั้น ผลไม้ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะทุเรียนเมืองนนท์ จึงถูกนำมาขายที่บางกอกในนาม “บางกอกสวนใน” ก่อนจะมามีชื่อเสียงเป็นของตนเองว่า “ทุเรียนเมืองนนท์” เมื่อสักร้อยปีมานี้เอง และเมืองนนท์ที่ขึ้นชื่อเรื่องทุเรียนนี้คือ บางตะนาวศรี หรือตำบลสวนใหญ่ในปัจจุบัน ที่คงจะได้นำพันธุ์ทุเรียนของตนติดตัวเข้ามาปลูกในเมืองไทยด้วยนั่นเอง

ทุกวันนี้ชื่อบางตะนาวศรีเลือนไป เหลือเพียงคนเก่าคนแก่ที่ยังรู้จักย่านบางตะนาวศรีและคลองบางตะนาวศรี ส่วนคนมอญบางตะนาวศรีนั้นกลืนกลายเป็นไทยไปหมด สิ่งที่ยังพอหลงเหลือคือเครื่องปั้นดินเผาบางตะนาวศรี แม้ไม่โด่งดังเท่าหม้อไหดินเผาของมอญปากเกร็ด แต่ชื่อเสียงเก่าก่อนยังถูกเล่าขานกันในเรื่อง “หม้อบางตะนาวศรี ขัดมันดีใช้ทนทาน…” [8] และ “…เลื่องลือทุเรียนนนท์…” [9]

ความสับสนถึงที่มาของคำว่า “ทุเรียน” นั้นยังไม่เป็นที่ยุติ แม้จะมีความชัดเจนว่าทุเรียนไม่ใช่ผลไม้ไทย เป็นผลไม้แถบมะริด ทวาย และตะนาวศรี ที่ภาษาอังกฤษก็เรียกว่า durian ตามภาษาของคนในภูมิภาคนี้ และที่แน่นอนคือ คำว่า ทุเรียน ก็ไม่ใช่ภาษาไทยอย่างแน่นอน

ผู้เขียนมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนกับอาจารย์เบ็น (Benedict Anderson) นักวิชาการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา ในงานเสวนาเขมร-มอญศึกษา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2550 อาจารย์เบ็นยืนยันว่า “ทุเรียน” เป็นภาษามลายู เนื่องจากในภาษามลายูออกเสียงว่า “ดือรี” แปลว่า หนาม

ผู้เขียนสอบถามเพื่อนชาวมลายูก็ได้ความรู้ใกล้เคียงกันคือ “ดือรี” แปลว่า หนาม ส่วนคำว่า “ดือรีแย” แปลว่า หนามเยอะ ซึ่งก็คือทุเรียนนั่นเอง [10] แต่โดยส่วนรวมและส่วนตัวแล้วทั้งผู้เขียนและชาวมอญทั้งหลายต่างก็เชื่อว่า “ทุเรียน” เป็นภาษามอญ ภาษามอญออกเสียงว่า “ตูเรน” (dUernj) ไม่สามารถหาความหมายแยกย่อยลงไปได้อีก

ผู้เชี่ยวชาญภาษามอญและบาลีสันสกฤตกล่าวว่า “ทุเรียน” ไม่มีในภาษาบาลีสันสกฤต แต่ถ้าจะพูดถึงผลไม้ชนิดนี้แล้ว ก็จะเป็นการสร้างชุดคำนิยามขึ้นมาว่า “ผลไม้ที่กินด้วยความ (ทุร) ยากลำบาก” ซึ่งคำในภาษามอญยืมคำบาลีสันสกฤตมาใช้มากเช่นเดียวกับภาษาไทย ภาษามอญคงได้เอาศัพท์ “ทุร” ในภาษาบาลีมาใช้เรียกผลไม้ชนิดนี้ตามวิธีคิดแบบบาลีสันสกฤต

ประกอบกับข้อมูลทางพฤกษศาสตร์ที่ระบุว่า ทุเรียนเป็นพืชพื้นเมืองแถบมะริด ทวาย และตะนาวศรี ซึ่งใน 3 เมืองนี้มีประชากรทั้งกะเหรี่ยง ทวาย มอญ และชนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยอีกมาก ทั้งยังเคยอยู่ในปกครองของมอญในอดีตดึกดำบรรพ์ ดังนั้นผู้เขียนจึงเชื่อว่า “ทุเรียน” เป็นคำในภาษามอญ อย่างไม่เคยสงสัย

เมื่อทราบชื่อเสียงเรียงนามประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ของทุเรียนแล้ว ก็เชื่อว่าต่อไปผู้คนคงจะกินทุเรียนอย่างเอร็ดอร่อยมากขึ้น อิ่มทั้งท้องและสมอง…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] วิเชียร ทองพันชั่ง. (2546). คู่มือการปลูกทุเรียน. น. 9.

[2] สรจักร ศิริบริรักษ์. (ปักษ์หลัง กรกฎาคม 2543). พลังผลไม้ ตอน น้อยหน่า น้อยโหน่ง ทุเรียนน้ำ และทุเรียน. คอลัมน์เภสัชโภชนา. พลอยแกมเพชร. 9 (204).น. 49.

[3] นฤมล มานิพพาน. (2537). การปลูกและขยายพันธุ์ทุเรียน : ราชาแห่งผลไม้. น. 26-27.

[4] ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์. (2546). แม่ครัวหัวป่าก์ เล่มที่ 1. น. 124-126.

[5] วิเชียร ทองพันชั่ง. (2546). คู่มือการปลูกทุเรียน. เล่มเดิม. น. 11.

[6] วิเชียร ทองพันชั่ง. (2546). คู่มือการปลูกทุเรียน. เล่มเดิม. น. 12.

[7] สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนนทบุรี. (2550). ประวัติจังหวัดนนทบุรี ช่วงก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www.province.prd.go.th/nonthaburi/pro_gernaral.php. วันที่สืบค้น 15 สิงหาคม 2550.

[8] พิศาล บุญผูก เป็นผู้ให้สัมภาษณ์, องค์ บรรจุน เป็นผู้สัมภาษณ์, ที่บ้านเลขที่ 77 หมู่ 1 ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๙.

[9] ทุเรียน หนึ่งในของดีที่ปรากฏอยู่ในคำขวัญประจำจังหวัดนนทบุรี ได้แก่ “พระตำหนักสง่างาม ลือนามสวนสมเด็จ เกาะเกร็ดแหล่งดินเผา วัดเก่านามระบือ เลื่องลือทุเรียนนนท์ งามน่ายลศูนย์ราชการ”

[10] อัศศิดิกร์ มะนอ เป็นผู้ให้สัมภาษณ์, นายองค์ บรรจุน เป็นผู้สัมภาษณ์, ที่สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2550.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 กันยายน 2565