ผลไม้ในสมัยรัชกาลที่ 5 มะม่วง-เงาะ-ทุเรียน ฯลฯ สวนที่ไหน? ที่ขึ้นชื่อ

สวนผลไม้ สวนฝั่งธนบุรี ลำคลอง
ภาพประกอบเนื้อหา-สวนฝั่งธนบุรีกับสายน้ำลำคลองในอดีต

สมัย รัชกาลที่ 5 สวนผลไม้ ที่จัดว่าเป็นสวนดี ได้แก่ “สวนใน” คือ สวนที่อยู่ตามบริเวณเมืองสมุทรปราการ, เมืองนครเขื่อนขันธ์, กรุงเทพฯ, เมืองธนบุรี, เมืองนนทบุรี และเมืองปทุมธานี ซึ่งใน ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2448) มีเนื้อที่ประมาณ 30,000 ขนัด ส่วน “สวนนอก” ได้แก่ สวนตามหัวเมืองต่างๆ ซึ่งสวนแต่ละพื้นที่ก็จะมีผลไม้ขึ้นชื่อของตนแตกต่างกันไป

หนังสือลัทธิธรรมเนียมต่างๆ ภาคที่ 3 เรื่องการทำสวน ซึ่งเจ้าพระยาภาสกรวงศ์เมื่อครั้งเป็นพระยาว่าพระคลังสวน เป็นผู้เรียบเรียงกล่าวถึง สวนผลไม้ และผลไม้ต่างๆ ในสมัย รัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2431 พอสรุปได้ว่า

ทุเรียน ทุเรียนสวนบางบน [แถวตำบลบางกอกน้อย บางขุนนนท์] ในคลองบางกอกน้อย เช่น ที่บางผักหนาม ผลโตพูใหญ่ สีเหลือง แต่เนื้อหยาบและมีรสมันมากกว่าหวาน ซื้อขายได้ราคา แต่มาภายหลังน้ำท่วมบ่อยๆ ต้นทุเรียนทนน้ำไม่ได้จึงตายแทบหมดบาง

ส่วนที่สวนบางล่าง [แถวตำบลวัดทอง คลองสาน ตำบลบางลำพู และบางคอแหลม] เช่นที่วัดทองล่าง ชาวสวนยกคันป้องกันไม่ให้น้ำท่วมต้นทุเรียน ประกอบกับบริเวณนั้นน้ำท่วมลดลงเร็ว ต้นทุเรียนจึงไม่ค่อยตายเหมือนสวนบางบน ส่วนคุณลักษณะของทุเรียนสวนบางล่างจะมีเนื้อละเอียด, สีเหลืองอ่อน และมีรสหวานมากกว่าทุเรียนบางบน

มะม่วง เฉพาะ “อกร่อง” ของสวนนอก คือสวนในแขวงเมืองสมุทรสาคร เช่นที่บางช้างรสชาติดีกว่ามะม่วงของสวนใน ส่วนมะม่วง “ไข่” หรือมะม่วงป่าที่เรียกว่า “กะล่อนเขียว” ซึ่งมาจากแขวงเมืองชลบุรีนั้นรสชาติหวานโอชายิ่งนัก นอกจากนั้นยังมีมะม่วงอีก 2 ชนิดคือ “กะล่อนทอง” มาจากเมืองเพชรบุรี แต่รสไม่ดีนัก จืดๆ ชืดๆ สู้มะม่วงอื่นไม่ได้ กับ “มะม่วงขี้ไต้” ซึ่งปลูกกันทั่วไป นอกจากรสชาติไม่ดีแล้วยังมีกลิ่นสมชื่อ

มะปราง ที่ตำบลท่าอิฐ เป็นมะปรางรสดีผลงาม ส่วนมะปรางปลูกที่อื่นถึงผลจะงามแต่ก็ช้ำและเป็นน้ำ ปอกริ้วไม่ได้ สําหรับมะปรางนั้นที่จริงมีถึง 5 อย่างคือ ถ้าหวานชืดๆ ไม่มีเปรี้ยวแกมเรียกว่า “มะปรางหวาน” ถ้ามีรสเปรี้ยวแกมแต่น้อยมีรสหวานมากเรียกว่า “มะยงชิด” ถ้ามีรสเปรี้ยวมากกว่าหวานเรียกว่า “มะยงห่าง” ถ้ามีรสเปรี้ยวแต่ยังมีรสหวานบ้างเล็กน้อยเรียกว่า “มะปรางเปรี้ยวธรรมดา” ถ้ามีรสเปรี้ยวจี๊ดเรียกว่า “กาวาง” คือเปรี้ยวแม้แต่กาก็กินไม่ได้ต้องวาง มะปรางพันธุ์นี้ผลใหญ่เท่าไข่ไก่

ลางสาด ปลูกกันที่ตำบลคลองสาน รสชาติหวานหอมดีกว่าที่อื่นๆ สำหรับพันธุ์ที่ปลูกนอกจากพันธุ์ของไทยแล้ว ยังมีพันธุ์มาจากเมืองชวาด้วย สำหรับพันธ์นี้มีผลโต พวงใหญ่ สีเนื้อขาวซีด แต่รสสู้พันธุ์ไทยไม่ได้ แต่คนนิยมเพราะถือว่าเป็นพันธุ์ต่างประเทศ ลางสาดพันธุ์นี้เรียกกันว่า ลางสาดกะหลาป่า

มังคุด มีปลูกตามสวนทั่วไป ในพงศาวดารกล่าวชื่อถึง สวนมังคุด คือแถบวังหลัง ซึ่งเป็นราชนิเวศน์ของรัชกาลที่ 1 แต่เมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 เหลือต้นมังคุดน้อยแล้วหรือจะว่าไม่มีเลยก็ได้ สมัยรัชกาลที่ 5 มีมังคุดไม่พอจำหน่าย ถึงกับต้องบรรทุกเรือเอามาขายจากเมืองสิงหปุระหรือสิงคโปร์ ถึงแม้ว่าจะมีมังคุดในหัวเมืองตะวันตกของเรามาก แต่ก็ไม่มีเข้ามาขายในกรุงเทพฯ คงซื้อขายกันในพื้นที่เท่านั้น

ส่วนไม้ล้มลุก เช่น อ้อย เมื่อก่อนอ้อยจีนที่ตำบลบางใหญ่ในคลองบางกอกน้อยจัดว่าเป็นอ้อยดีมีรสหวานดีกว่าที่อื่น ถึงกับร้องขายเป็นคำกลอนว่า ซื้ออ้อยจีนบางใหญ่ อ้อยไทยบางโควัด ข้าวหลามตัดวัดระฆังแม่เอ๊ย” ต่อมาอ้อยจีนที่บางใหญ่โทรมไป แต่กลับไปปลูกกันมากที่บางแวก บางเชือกหนังแทน ส่วนอ้อยไทยที่บางโควัดเป็นอ้อยที่มีรสหวาน และอ่อนนุ่ม กินดี

พุทรา “ลักกะตา” เป็นพุทราที่ได้มาจากเมืองกัลกัตตา เมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองอินเดีย ในปีแรกที่ให้ผลปรากฏว่ามีผลใหญ่ไม่เปรี้ยวหรือฝาด นิยมปลูกกันมาก แต่ภายหลังพุทราเหล่านั้นผลเล็กลง และรสชาติออกเปรี้ยวกับฝาดเกือบจะกลายเป็นพุทราไทยหมดแล้ว

ชิกโก หรือละมุดฝรั่ง ได้พันธุ์มาจากแหลมมลายู สิงคโปร์ และชวา ได้ปลูกกันต่อๆ มามีรสหวานเหมือนน้ำตาล แต่เนื้อเหมือนทราย ละมุดฝรั่งนี้มีอยู่ 2 พันธุ์ คือ พันธุ์ที่ให้ผลยาวใหญ่กับพันธุ์ผลกลมเล็ก ผลไม้ชนิดนี้ที่ท้องสำเพ็งมีขายอยู่เสมอแต่ราคาแพง คือผลใหญ่ราคาผลละเฟื้องบ้าง 6 ผล บาทบ้าง ผลเล็ก 4 ผล 5 ผลเฟื้อง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

เทพชู ทับทอง. กรุงเทพฯ แห่งความหลัง. ห้างหุ้นส่วนจำกัด อักษรบัณฑิต, ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 ธันวาคม 2564