แยกท่าพระ กรุงเทพฯ เคยมีผลไม้? อร่อยขึ้นชื่อจนที่อื่นสู้ไม่ได้

แยกท่าพระ
ภาพประกอบบทความ

ถ้าพูดถึงผลไม้ที่หวานจนกินกับข้าวเหนียวมูนได้ คงหนีไม่พ้นที่จะคิดถึงผลไม้รสหวานอย่าง มะม่วง, ทุเรียน และขนุน (ที่ในบางพื้นที่นิยมกินกับข้าวเหนียว) แต่ “แยกท่าพระ” กรุงเทพฯ ในอดีตเป็นพื้นที่สวนผลไม้ และมีผลไม้ชนิดหนึ่งขึ้นชื่อ และหวานอร่อยกว่าพื้นที่อื่นๆ จนนำมากินกับข้าวเหนียวได้ นั่นคือ “มะไฟ” นับเป็นของดี แยกท่าพระ ที่ทุกวันนี้อาจหายากแล้ว

ภาษิต จิตรภาษา อดีตนักเขียนอาวุโสของนิตยสารศิลปวัฒนธรรม อธิบายเรื่อง “มะไฟแยกท่าพระ” ไว้ดังนี้

เมื่อตอนผมเด็กๆ นั้นมีเพลงร้องอยู่เพลงหนึ่งซึ่งเด็กๆ ชอบร้องกันคือ “มะไฟเดือนห้า มะฟ้าเดือนหก ฝนฟ้าไม่ตก ท้องขึ้นท้องพอง”.

และเพราะเด็กร้องนี่เอง เนื้อเพลงมันจึงเพี้ยนไปจนเอาส่ำมิได้, เพราะคำ “มะฟ้า” นั้นไม่รู้มันผลไม้อะไร. บางคนก็บอกว่า “ลูกหว้า” คือ “ลูกหว้าเดือนหก” เพราะลูกหว้ามันออกเดือนหก แต่เด็กมันร้องเพี้ยน.

แต่อย่างไรก็ตาม เดือน 5 นั้นเป็นฤดูของมะไฟ.

ท่านที่มีภูมิลำเนา (อ่าน พูม-ลำเนา ก็พอ, ไม่ต้องใส่ มิ) อยู่ในกรุงเทพฯ นี้ แลมีอายุในปูน 30-40 [เวลาตามการเขียนต้นครั้งแรก ปัจจุบันน่าจะเป็น 70-80] ท่านคงจำได้ว่าพอมะม่วงวายหรือ ยังไม่ทันวายดี ก็มีมะไฟแทรกเข้ามา ขาวตลาดไปหมด. และถิ่นที่ดก และรสดี-มีมากก็คือ “ท่าพระ”.

แหม-พูดแล้วน้ำลายไหล. เพราะอะไรหรือ.

ก็เพราะละแวกนั้มันละแวกสวนผลไม้ละซีครับ-แต่ก่อนนี้. ทุเรียนเอย มะม่วงเอย มังคุดเอย มะไฟเอย, ล้วนรสดีๆ ทั้งนั้นในละแวกนี้. ในระยะรัศมี 3 กิโลเมตรจากสี่แยกท่าพระออกไปนี่มันสวนผลไม้ที่ว่ามานี้ทั้งนั้น

บางท่านอาจจะว่า “เฮ้ย มันก็สวนผลไม้ทั้งนั้นละวะ-แต่ก่อน นี่น่ะ”.

มันก็จริง แต่ที่ผมว่านี่หมายถึงผลไม้เหล่านี้, และรสดีกว่าที่อื่น โดยเฉพาะมะไฟ

มะม่วง-มังคุด นั้น ที่อื่นอาจรสดีเท่า, แต่ที่นี่ไม่เลวกว่าที่อื่น.

ทุเรียนแม่น้ำอ้อมเมืองนนท์นั้นรสดี, แต่ที่นี่ก็ไม่แพ้ และโดยเฉพาะมะไฟ ที่นี่ยอดที่สุด.

มะไฟที่นี่, ท่าพระ-บางลำเจียก นี่, หวานไม่มีที่ไหนเท่า. พันธุ์เนื้อขาวลูกรี, หวานขนาดกินกับข้าวเหนียวได้เหมือนอย่างมะม่วง

ตลาดท่าพระรุ่งเรืองนั้นก็ไม่พ้นสวนมะไฟ.

จากถนนเพชรเกษมเข้ามาหาคลองบางหลวงนี้ก็สวนมะไฟทั้งนั้น, คละกันไปกับมะม่วง, ทุเรียน.

ตรงนี้มีคลอง 3 คลองเป็นทางระบายของสวนออกสู่ตลาดหน้าวัดกลาง ในคลองบางหลวงย่านตลาดพลู คือ

คลองต้นไทร ปากคลองไปออกตรงหน้าวัดมอญ (วัดราชคฤห์) .

คลองระหว่างคลองต้นไทรกับคลองบางลำเจียก, ปากคลองอยู่ตรงข้ามคลองสำเหร่ (อยู่ระหว่างวัดจันทารามกับวัดอินทาราม).

คลองบางลำเจียก ซึ่งปากคลองไปออกตรงหน้าวัดอินทาราม (ใต้).

แล้วส่วนมะไฟ และผลไม้ขึ้นชื่ออื่นๆ ของท่าพระหายไปเมื่อใด หายไปได้อย่างไร

คำตอบก็คือ เมื่อมีการตัดถนนเพชรเกษม ที่ดินจึงมีราคาขึ้นหลายเท่าตัว เกษตรกรที่เป็นเจ้าของสวน และไม่ได้เป็นเจ้าของสวนเองก็ค่อยๆ ไปจากพื้นที่แยกท่าพระ สวนผลไม้กลายเป็นอาคารพาณิชย์ และที่อยู่อาศัย

คลองทั้ง 3 ที่ว่าก็ถูกเบียดแคบ-ตื้นเขิน, และผลสุดท้ายก็ตันเพราะถูกถามเอาที่. มีเหลือมาทะลุถึงถนนเพชรเกษมอยู่คลองเดียวคือคลองต้นไทร.

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้คัดย่อจาก อนุสรณ์งานฌาปนกิจศพ คุณพ่อสันต์ จิตรภาษา 26 มกราคม 2554 ซึ่งรวบรวมบทความของ ภาษิต จิตรภาษา (พ.ศ. 2472-2554) นามปากกาของ สันต์ จิตรภาษา ที่เคยเขียนไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม และที่อื่นๆ


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มีนาคม 2565