คุณเปรื่อง สุจริตกุล “เลดี้อินเวตติ้ง” ในร.6 สู่พระสนมเอกผู้ไม่เคยขัดพระราชหฤทัย

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบโดยแน่พระราชหฤทัยแล้วว่าพระนางลักษมณีลาวัณมิอาจประสูติพระราชโอรสธิดาได้แล้ว จึงทรงสู่ขอคุณ เปรื่อง สุจริตกุล ธิดาคนโตของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล) อธิบดีผู้พิพากษาศาลต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม กับท่านผู้หญิงไล้ สุธรรมมนตรี และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระสุจริตสุดา ตําแหน่งพระสนมเอก

คุณเปรื่อง สุจริตกุล เกิดเมื่อวันพุธที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2438 ท่านเป็นธิดาคนโต มีพี่น้องร่วมบิดา มารดา 10 คน หนึ่งในจํานวนน้องของท่านนี้คือสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และมีพี่น้องต่างมารดาอีก 8 คน เมื่อยังเล็กอยู่ท่านอยู่ในอุปการะของสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงส่งให้ไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนราชินี เจ้าพระยาสุธรรมมนตรีบิดาได้นําเข้าถวายตัวต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยได้รับราชการในหน้าที่ราชเลขานุการฝ่ายใน

Advertisement

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับนางสาวเปรื่อง สุจริตกุล เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2464 นับเป็นครั้งแรกที่พระมหากษัตริย์ทรงประกอบพระราชพิธีอภิเษกสมรส ซึ่งโปรดให้พระสุจริตสุดาแต่งกายแบบเจ้าสาวในประเทศอังกฤษ สวมเสื้อกระโปรงสีขาว มีผ้าโปร่งสีขาวคลุมศีรษะประดับดอกสมและถือช่อดอกไม้

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีที่พระราชวังพญาไท ทรงคล้องพระกรกับแขนคุณเปรื่อง สุจริตกุล ทรงพระดําเนินลอดใต้ “ซุ้มประสานคาบ” โดยมีดนตรีบรรเลงเพลงไบรเติลมาร์ช (Bridal march) ประกอบ

สมเด็จพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า (สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าในรัชกาลที่ 9) ได้ถวายน้ำมหาสังข์แต่องค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชทานแด่คุณเปรื่อง สุจริตกุล และในพระราชพิธีอภิเษกสมรสครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้าฝ่ายใน (ท.จ.) แด่พระสุจริตสุดา พระสนมเอก และโปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานเลี้ยงฉลองราชาภิเษกสมรสที่พระราชวังพญาไท ต่อมาอีก 2 ปี คือ พ.ศ. 2466 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษฝ่ายใน (ท.จ.ว.)

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคุ้นเคยกับครอบครัวของพระยาราชภักดี “เจ้าคุณปู่” และบิดาของพระสุจริตสุดา (เปรื่อง สุจริตกุล) คือเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี ได้เสด็จพระราชดําเนินมาทรงเยี่ยมถึงที่บ้านหลายครั้ง ด้วยสกุลสุจริตกุลเป็น “ราชินีกุล” คือเป็นพระประยูรญาติในสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเมื่อได้ทรงหมั้นกับพระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี พระคู่หมั้นพระองค์แรก ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระสุจริตสุดา แต่ครั้งยังเป็นนางสาวเปรื่อง สุจริตกุล ทําหน้าที่เป็น “เลดี้อินเวตติ้ง” มีหน้าที่ตามเสด็จพระคู่หมั้นในเวลาที่โปรดให้โดยเสด็จพระราชดําเนินไปในงานพระราชพิธีต่างๆ หรือเสด็จพระราชดําเนินเป็นการส่วนพระองค์

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระสุจริตสุดา (เปรื่อง สุจริตกุล) ในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2464 ที่วังพญาไท (ภาพจาก th.wikipedia.org)

ต่อมาเมื่อได้ทรงสถาปนาหม่อมเจ้าหญิงลักษมีลาวัณขึ้นเป็นพระนางเธอลักษมีลาวัณ ก็ได้โปรดให้นางสาวเปรื่อง สุจริตกุล เป็นเลดี้อินเวตติ้ง ตามเสด็จพระนางเธอลักษมีลาวัณต่อไป การมีเลดี้อินเวตติ้งซึ่งก็คือข้าราชสํานักฝ่ายในสมัยใหม่ที่เป็นผู้ตามเสด็จพระมเหสี หรือพระวรชายาในเวลาที่โปรดเกล้าฯ ให้โดยเสด็จร่วมพระราชพิธีอันเป็นพระราชนิยมแบบใหม่ในรัชกาลนั้น

พระสุจริตสุดา พระสนมเอกเป็นพระสนมเอกเพียงคนเดียวที่อยู่ในพระราชวังพญาไทร่วมกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวตลอดรัชกาล แต่มิได้ประสูติพระราชโอรสธิดา พระสุจริตสุดา พระสนมเอก ถวายพระราชปฏิบัติในฐานะพระสนมเอกอย่างสม่ำเสมอ ตลอดพระชนมชีพของพระองค์ ไม่เคยเป็นที่ขัดพระราชหฤทัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเลย

ถึงแม้ว่าบางครั้งพระสุจริตสุดา พระสนมเอกจะไม่ได้ขึ้นเฝ้าตามหน้าที่ เช่น ประทับร่วมเสวยในระยะหลัง ด้วยสุขภาพไม่สมบูรณ์แข็งแรง ก็ไม่ทรงกริ้ว ทรงแสดงถึงพระเมตตาและไว้วางพระราชหฤทัยเสมอ ตราบจนกระทั่งเสด็จสวรรคต แต่ท่านก็มิได้ประสูติพระราชโอรสธิดาดังที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคาดหวัง เมื่อสิ้นรัชกาลแล้วพระสุจริตสุดา พระสนมเอกได้ดําเนินชีวิตอย่างเป็นปกติสุข และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถอย่างสม่ำเสมอในการดํารงชีวิตและยามเจ็บป่วย

พระสุจริตสุดา พระสนมเอก เข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลศิริราชตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2524 และถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันอังคารที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2525 อายุ 86 ปี 3 เดือน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “พระราชชายานารีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” เขียนโดย เล็ก พงษ์สมัครไทย ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2554


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 มกราคม 2562