วิวัฒนาการของตำแหน่ง “พระสนม” กับบรรดาศักดิ์..“พระสนม” ท่านแรกของไทยคือใคร?

ในราชสำนักฝ่ายในนอกจาก “พระภรรยาเจ้า” หรือ “พระมเหสีเทวี” แล้ว ยังมีสตรีฝ่ายในอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความสำคัญ คือ “พระสนม” ดังปรากฏเห็นได้ในภาพเขียนทศชาติชาดก เรื่องเตมิยชาดก ในสมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา เลขที่ 6 กรมศิลปากรจัดพิมพ์เผยแพร่ พ.ศ. 2542

นิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 รศ. นพ. จิรวัฒน์ อุตตมะกุล ค้นคว้าและนำเสนอเรื่องของ “ฐานันดรศักดิ์” ทั้งที่เกิดจากชาติกำเนิด หรือการแต่งตั้งสถาปนาสตรีชั้นสูง ของราชสำนักฝ่ายใน ในบทความชื่อ “อธิบายว่าด้วยเรื่อง ‘พระภรรยาเจ้า’” 

แต่ราชสำนักฝ่ายใน นอกจาก “พระภรรยาเจ้า” ยังมี “พระสนม” ที่มีบรรดาศักดิ์ต่างๆ อีกด้วย นิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนสิงหาคม 2564 จึงนำเสนอบทความต่อเนื่องของ รศ. นพ. จิรวัฒน์ อุตตมะกุล ที่ชื่อ อธิบายว่าด้วยเรื่อง ‘พระสนม, เจ้าจอม, เจ้าจอมมารดา และเจ้าคุณพระ ให้อ่านเป็นภาคจบที่สมบูรณ์

นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2564

เริ่มจากความหมายของคำว่า “พระสนม” จาก 2-3 แหล่งที่มา

อักขราภิธานศรับท์ ฉบับหมอบรัดเล พ.ศ. 2416 อธิบายคำว่า “สนม” ว่า “คือหญิงที่เปนเมียน้อยขุนหลวงๆ มีเมียเอกเป็นมะเหษี, เมียน้อยๆ ร้องเรียกนางสนม”

หนังสือสาส์นสมเด็จ ภาคที่ 55 ฉบับวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2486 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงให้คำจำกัดความของคำว่า สนม” ไว้ว่า

“คำว่า ‘สนม’ เห็นจะตรงกับคำที่ฝรั่งเรียกว่า Harem ภาษาอินเดียเรียกว่า ‘เชนานา’ ดูเหมือนเขียน Zenana ที่ไทยเราเรียกว่า พระสนม นักสนม สนมกรมใน ท้ายสนม กรมสนมทหารและสนมพลเรือน คำสนม ก็คงความเป็นนามศัพท์ว่า นางใน…”

และความหมายที่ผู้เขียน (รศ. นพ. จิรวัฒน์ อุตตมะกุล) ประมวลว่า ‘ภรรยาของพระเจ้าแผ่นดินที่มีชาติกำเนิดเป็นสามัญชนตั้งแต่หม่อมราชวงศ์ลงไป”

แล้ว “พระสนม” ท่านแรกของไทยคือผู้ใด

ถ้าประวัติของนางนพมาศและท้าวศรีจุฬาลักษณ์ในหนังสือนางนพมาศหรือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์แต่งขึ้นในสมัยสุโขทัยจริง พระสนมที่ปรากฏนามไว้เป็นลายลักษณ์อักษรท่านแรกของไทย ก็คือ นางนพมาศ หรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ พระสนมในสมเด็จพระร่วงเจ้าแห่งกรุงสุโขทัย

แต่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพมีพระวินิจฉัยว่า เอกสารดังกล่าว ในส่วนที่ไม่ใช่พิธี 12 เดือนอันเป็นตำราพราหมณ์ รวมทั้งประวัติของนางนพมาศหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์นั้น แต่งขึ้นใหม่เมื่อรัชกาลที่ 2 หรือที่ 3 ดังนั้นพระสนมที่ปรากฏนามไว้เป็นลายลักษณ์อักษรท่านแรกของไทย ก็ไม่น่าจะใช่นางนพมาศหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์  แต่ควรจะเป็นพระสนมเอกทั้งสี่ในสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ อันมีนามตามที่ปรากฏอยู่ในทำเนียบศักดินาพลเรือนว่า ท้าวอินทรสุเรนทร์ ท้าวศรีสุดาจันทร์ ท้าวอินทรเทวี และท้าวศรีจุฬาลักษณ์

นอกจาก “พระสนม” แล้ว บรรดาศักดิ์ของ “ภรรยา” พระเจ้าแผ่นดิน ที่ได้เห็นกันบ่อย ก็มีเจ้าจอม, เจ้าจอมมารดา ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ค่อนข้างคุ้นเคย ด้วยมีผู้ได้รับตำแหน่งดังกล่าวจำนวนมาก ในเอกสาร หรือบทความต่างๆ ก็ปรากฏชื่อเจ้าจอม และเจ้าจอมมารดา คนสำคัญอยู่เสมอ

ในที่นี้จึงขอกล่าวถึงบรรดาศักดิ์ของพระสนมที่มีน้อย นั่นก็คือ “เจ้าคุณพระ” ที่มีอยู่เพียง 2 ท่าน

ตำแหน่ง “เจ้าคุณพระ” เริ่มปรากฏเป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อมีพระบรมราชโองการให้เลื่อนบรรดาศักดิ์เจ้าคุณจอมมารดาแพ พระสนมเอกในรัชกาลที่ 5 ขึ้นเป็นเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2464

เจ้าคุณจอมมารดาแพ พระสนมเอกในรัชกาลที่ 5 สมัยรัชกาลที่ 6 มีพระบรมราชโองการให้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายถึงตำแหน่ง “เจ้าคุณพระ” ไว้ในสาส์นสมเด็จว่า

“…ที่มาเปลี่ยนเจ้าคุณจอมมารดาแพเป็นเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ในรัชกาลที่ ๖ ดูไม่แสดงศักดิ์สูงขึ้นกว่าเป็นเจ้าคุณจอมมารดาแพ เพราะความหมายแต่ว่า เป็นพระญาติเท่านั้น”

คำว่า “เจ้าคุณ” นั้น พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2542 และ 2554 ให้ความหมายไว้ว่า

  1. 1. บรรดาศักดิ์ฝ่ายในที่ทรงแต่งตั้ง 2. คำเรียกผู้มีบรรดาศักดิ์ตั้งแต่ชั้นพระยาขึ้นไป 3. คำเรียกพระภิกษุที่เป็นพระราชาคณะ

ส่วนคำว่า “พระ” นั้น พจนานุกรมฉบับนักเรียน ของ เปลื้อง ณ นคร ได้ให้ความหมายไว้ 8 ความหมาย คือ 1. พระพุทธเจ้า หรือเนื่องด้วยพระพุทธเจ้า 2. พระเจ้า พระเยซู นักบวช นักพรต 3. ตัวเอกในละคร 4. ใช้ประกอบหน้าคำอื่นแสดงความยกย่อง 5. อิสริยยศเจ้านาย 6. บรรดาศักดิ์สูงกว่าหลวง 7. ผู้ทรงคุณงามความดีเหมือนพระ 8. สรรพนามบุรุษที่ 3 ใช้แทนชื่อผู้เป็นใหญ่

ถ้าอาศัยความหมายตามที่พจนานุกรมทั้ง 3 ฉบับได้ให้ไว้นี้  คงไม่ได้ความหมายตรงกับแต่ตำแหน่ง “เจ้าคุณพระ” ของเจ้าคุณพระประยูรวงศ์

นายแพทย์จิรวัฒน์จึงอธิบายตำแหน่ง “เจ้าคุณพระ” ของเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ หมายถึงตำแหน่งอะไร ด้วยการเทียบกับตำแหน่ง “พระ” ของพระสุจริตสุดา

ด้วยในเวลาต่อมารัชกาลที่ 6 ทรงตั้งสามัญชน 2 ท่าน คือ คุณเปรื่อง สุจริตกุล เป็น “พระสุจริตสุดา” และ คุณประไพ สุจริตกุล เป็น “พระอินทราณี” ในตำแหน่งพระสนมเอกทั้ง 2 ท่าน  ซึ่งตำแหน่ง “พระ” ของพระสุจริตสุดา และพระอินทราณีนั้น หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายไว้ในนวนิยายเรื่อง “สี่แผ่นดิน” ผ่านบทสนทนาของพลอย และช้อยว่า

“วันหนึ่งช้อยออกมาเยี่ยมบ้าน…วันนั้นก็เป็นวันที่พลอยรู้สึกสนุกสบายใจเป็นพิเศษ เพราะช้อยมักมีข่าวแปลกๆ และความเห็นแปลกๆ มาเล่าให้พลอยฟังเสมอช้อยตอบหน้าตาเฉย ‘เพราะเดี๋ยวนี้ผู้หญิงก็เป็นคุณพระกันได้ เผื่อฉันได้เป็นพระเป็นพระยาขึ้นมาบ้าง จะได้ทำตัวถูก’ ‘ไฮ้! ช้อยเอาอะไรมาพูด’ พลอยร้องอย่างไม่เชื่อ ‘ช้อยนี่ยังไม่ทันแก่เท่าไหร่ก็ชักจะหลงจนเลอะไปเสียแล้ว ผู้หญิงที่ไหนจะเป็นพระเป็นพระยาได้ ฉันเคยเห็นเป็นแต่คุณเถ้าแก่หรือท้าวนาง คนธรรมดาอย่างสูงก็เป็นคุณหญิง หรือท่านผู้หญิง หรือมิฉะนั้นก็เป็นเจ้าจอมหม่อมห้าม ผู้หญิงที่ไหนจะเป็นพระเป็นพระยา ฉันไม่เชื่อหรอก’ ‘อ้าว! บอกให้จริงๆ กลับไม่เชื่อ’

ช้อยหัวเราะ ‘เดี๋ยวนี้มีคุณพระเป็นผู้หญิงตั้งสองคนแล้วละ’ แล้วช้อยก็เล่าข้อเท็จจริงที่ได้โปรดเกล้าฯ ตั้งให้สุภาพสตรีคนใดเป็น ‘คุณพระ’ และมีราชทินนามว่าอย่างไรบ้าง ‘แล้วทำหน้าที่ราชการอะไรล่ะ ช้อย?’ พลอยถาม เพราะยังไม่เข้าใจอยู่นั่นเอง ‘ข้าราชการอย่างผู้ชายธรรมดางั้นหรือ?’ ‘ไม่ใช่หรอก คนละอย่าง’ ช้อยตอบ ‘ถ้าจะเรียกอย่างสมัยเรา ก็เห็นจะเป็นเจ้าจอมกระมัง?’ แล้วทำไมท่านไม่เรียกว่า ‘เจ้าจอม’ ทำไมต้องตั้งเป็นคุณพระ

สมัยนี้ท่านโปรดใครก็โปรดจริงๆ ไม่เหมือนแต่ก่อน ท่านก็ต้องยกย่องของท่านให้สูงเป็นพิเศษ อย่างเจ้าจอมที่เราเคยรู้จักนั้นมันมีมากดาษดื่น และฟังดูมันคร่ำครึ ล้าสมัย สมัยนี้จึงต้องตั้งให้เป็นคุณพระ ให้ฟังดูผิดกว่าแต่ก่อน และบางทีเมื่อเริ่มเป็นคุณพระแล้ว จะเป็นอะไรต่อไปก็ได้ ถ้าเป็นเจ้าจอมอย่างแต่ก่อนแล้วก็ตายตัว อย่างดีก็เป็นเพียงเจ้าจอมมารดา ไม่มีทางจะรุ่งเรืองไปอย่างนั้นได้”

พระสุจริตสุดา (คุณเปรื่อง สุจริตกุล) พระสนมเอกในรัชกาลที่ 6 (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

เมื่อคุณพระอินทราณีมีครรภ์ ก็ได้รับสถาปนาขึ้นเป็น พระวรราชชายาเธอ พระอินทรศักดิศจี และเป็น สมเด็จพระบรมราชินี โดยลำดับ ในขณะที่พระสุจริตสุดา ท่านได้ดำรงอยู่ในฐานะนั้นจนสิ้นรัชกาล

ดังนั้น จากข้อมูลที่แสดงมานี้ คำว่า “พระ” ซึ่งเป็นคำนำหน้าชื่อ “สุจริตสุดา” อันเป็นพระสนมเอกนั้น จึงน่าจะเทียบได้กับคำว่า “เจ้าจอม” อันเป็นคำนำหน้าชื่อของพระสนมในรัชกาลก่อนๆ ตามที่กล่าวมาแล้ว

เมื่อนำคำว่า “พระ” ซึ่งเป็นคำนำหน้าชื่อ “สุจริตสุดา” อันเป็นคำที่แทนที่คำว่า “เจ้าจอม” มาเทียบกับคำว่า “เจ้าคุณพระ” ซึ่งเป็นคำนำหน้าชื่อ “ประยูรวงศ์” ก็คงจะเทียบได้ว่า “เจ้าคุณพระ” ก็คือ “เจ้าคุณจอม” อันเป็นตำแหน่งของพระสนมเอก เช่นเดียวกับเจ้าคุณจอมมารดานั่นเอง

“เจ้าคุณพระท่านแรก” แห่งกรุงรัตนโกสินทร์และของไทย  คือ “เจ้าคุณพระประยูรวงศ์”  ดังกล่าวไปแล้วข้างต้น และเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 ในหลวงรัชกาลที่ 10 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนา พลตรีหญิง ท่านผู้หญิงสินีนาฏ วงศ์วชิราภักดิ์ ขึ้นเป็น เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี นับเป็น “เจ้าคุณพระท่านที่ 2” แห่งกรุงรัตนโกสินทร์และของไทย

ส่วนบรรดาศักดิ์อื่นๆ ของพระสนม ไม่ว่าจะเป็นเจ้าจอม เจ้าจอมมารดา ฯลฯ มีที่มาอย่างไร ท่านผู้ใดได้บรรดาศักดิ์นั้นๆ เป็นบุคคลแรก ขอได้โปรดติดตามใน “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนสิงหาคม 2564


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 5 สิงหาคม พ.ศ.2564