วิวัฒนาการความเป็นมาของตำแหน่ง “พระภรรยาเจ้า”

เจ้านายสตรี “พระภรรยาเจ้า” ของพระเจ้าแผ่นดิน จิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ 1 ในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ในประวัติศาสตร์ของไทย ราชสำนักฝ่ายใน อาจไม่ค่อยมีการกล่าวถึงมากนัก แต่ก็มิอาจมองข้าม เพราะนี่คือที่รวมของสตรีชั้นสูง ผู้ถวายงานรับใช้ใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดิน บางครั้งก็ช่วยแบ่งเบาพระราชภาระทางการบ้านเมืองอีกด้วย และหากสามารถมีพระราชโอรสเป็นหลักในการสืบราชสันตติวงศ์แล้ว ก็จะมีบทบาทสำคัญในราชสำนัก

โดยมี “ฐานันดรศักดิ์” ตามสถานะชาติกำเนิด และการแต่งตั้งสถาปนา เป็นตัวจำแนกลำดับชั้นเช่นเดียวกับบรรดาขุนนางฝ่ายหน้า ซึ่ง รศ. นพ. จิรวัฒน์ อุตตมะกุล ค้นคว้าและเรียบเรียงไว้ในบทความชื่อ “อธิบายว่าด้วยเรื่อง พระภรรยาเจ้า  ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤษภาคม 2564

รศ. นพ. จิรวัฒน์ อุตตมะกุล อธิบายคำว่า “พระภรรยาเจ้า” โดยอ้างอิงพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในหนังสือประชุมบทละคอนดึกดำบรรพฉบับบริบูรน์ พร้อมด้วยเรื่องประวัติเจ้าคุนพระประยูรวงส์ และตำนานละคอนดึกดำบรรพ ที่ว่า

“เครื่องยสนักสนมเมื่อก่อนรัชกาลที่ 4 จะเปนหย่างไรฉันไม่รู้แน่ แต่เมื่อรัชกาลที่ 4 นั้น มี 5 ชั้นเปนลำดับกัน ล้วนเปนเครื่องไส่หมากกินทั้งนั้น

ชั้นที่ 4 ซึ่งเปนชั้นต่ำกว่าเพื่อน เปนหีบหมากเงินกาไหล่ทอง สำหรับพระราชทาน ‘นางหยู่งาน’ แต่โบรานดูเหมือนจะเรียกว่า ‘นางกำนัน’ ซึ่งซงไช้สอยในพระราชมนเทียร ได้แต่บางคนที่ซงพระเมตตาไนหมู่นางหยู่งาน แต่การที่ได้พระราชทานหีบหมากกาไหล่ยังไม่นับว่าเปนเจ้าจอม

ชั้นที่ 3 เปนหีบหมากทองคำ สำหรับพระราชทานนางหยู่งาน ซึ่งซงเลือกไว้ไช้ไกล้ชิดประจำพระองค์ ไครได้ พระราชทานหีบหมากทองคำ จึงมีสักดิ์เปน ‘เจ้าจอม’ เรียกว่าเจ้าจอมนำหน้าชื่อทุกคน ฉันเข้าไจว่าชั้นนี้เรียกว่า ‘เจ้าจอมหยู่งาน’

ชั้นที่ 2 เปนหีบหมากทองคำลงยาราชาวดี สำหรับพระราชทานเจ้าจอมมารดา หรือเจ้าจอมซึ่งซงพระเมตตายกย่องขึ้นเปนชั้นสูง ฉันเข้าไจว่าเรียก ‘พระสนม’ แต่ชั้นนี้ขึ้นไป

ชั้นที่ 1 เรียกว่า ‘พระสนมเอก’ ได้พระราชทานพานทอง เพิ่มหีบหมากลงยาที่กล่าวมาแล้ว เปนพานหมากมีเครื่องไนทองคำกับกระโถนทองคำไบหนึ่ง เปนเทือกเดียวกับพานทองเครื่องยสที่พระราชทานเจ้านายและขุนนางผู้ไหย่ แต่ขนาดย่อมกว่าพานทองเครื่องยสฝ่ายหน้า

ชั้นพิเสส สำหรับพระราชทาน พระมเหสี ซึ่งเรียกไนกดมนเทียรบาลว่า ‘พระภรรยาเจ้า’ มีทั้งหีบและพานเสวยหมากล้วนทำด้วยทองคำลงยาราชาวดี”

เจ้านายสตรี “พระภรรยาเจ้า” หรือ “พระมเหสีเทวี” สตรีชั้นสูงที่มีบทบาทสำคัญในราชสำนักสมัยอยุธยา ดังปรากฏเห็นได้ในภาพเขียนทศชาติชาดก เรื่อง เตมิยชาดก ในสมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา เลขที่ 6 กรมศิลปากรจัดพิมพ์เผยแพร่ พ.ศ. 2542

ขณะที่หนังสือธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า

“จะว่าด้วยเรื่องผู้หญิงมีศักดิ์ ตั้งแต่พระอัครมเหสีจนถึงนางห้ามเจ้ากรมต่างๆ ในเรื่องผู้หญิงนี้ ยากจะว่าให้แน่ลงไปได้ ด้วยในเมืองเราไม่ใคร่จะได้นับยศผู้หญิงตามสามี มักจะนับแต่ยศตามบิดา จึงจะกำหนดยากนัก โดยที่สุดจนเมียในหลวงมีชื่อเรียกต่างๆ จะกำหนดว่าอย่างไร เพียงใด ก็ไม่มีกำหนด

ด้วยตั้งแต่ตั้งกรุงเก่ามาจนถึงบัดนี้ห้าร้อยปีเศษ ยังไม่ได้ยินว่ามีการอภิเษกพระมเหสีอย่างไรสักครั้งหนึ่งเลย เป็นแต่มีอยู่ในหนังสือออกชื่อพระมเหสี แต่พระมเหสีนั่นจะเป็นขึ้นเมื่อไรก็ไม่รู้ เป็นแต่จะเรียกเมื่อไร ก็ไม่เห็นมีการแต่งตั้งกันจนสักครั้งเดียว

คำที่เรียกนั้นก็มีหลายอย่างในกฎมณเฑียรบาล…จะเทียบว่าเหมือนอย่างกวีนเมืองต่างประเทศ ให้ชัดตรงทีเดียวนั้นไม่ได้ แต่จะไปเทียบว่าเป็นอื่นๆ นอกจากกวีน ก็เห็นจะไปเทียบไม่ได้ เพราะความยกย่องของไทยนั้น ก็เข้าใจอย่างไพร่ๆ ว่าเป็นเมียหลวงของในหลวง แต่ไม่ได้กำหนดว่ามีเท่าใด”

นอกจากนี้ยังพระราชทานความหมายของ “เมียหลวง”

“ตามลัทธิข้างฝ่ายเรา พวกมีเมียมากที่ถือลูกเมียหลวงเมียน้อย ถือว่าเจ้านายองค์ใดมีพระราชโอรสพระราชธิดาด้วยพระเจ้าแผ่นดินเป็นเจ้าฟ้า เจ้าฟ้านั้นเป็นลูกเมียหลวง พระองค์เจ้าเป็นลูกเมียน้อย แม่ของลูกเมียหลวงก็ต้องเป็นเมียหลวงอยู่เอง ขุนนางก็เหมือนกัน มีเมียหลวงกี่คน ลูกก็เป็นลูกเมียหลวง เมียก็เป็นเมียหลวง จะมีกี่คนๆ ก็ได้ไม่มีกำหนด”

หากในบางรัชกาล ราชสำนักก็ไม่มีการสถาปนาพระภรรยาพระองค์ใดเป็น “พระมเหสี”

ดังเช่นในช่วงต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ไม่ได้ทรงสถาปนาภรรยาเอก (ท่านผู้หญิงนาค) ขึ้นเป็นพระมเหสี

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็ไม่ได้ทรงสถาปนาพระภรรยาเจ้าพระองค์ใด ไม่ว่าจะเป็นเจ้าฟ้าบุญรอด หรือเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ให้ดำรงตำแหน่งพระมเหสีอย่างเป็นทางการ

ส่วนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นไม่มีพระภรรยาเจ้า

จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีการกำหนดคำนำหน้าพระนามเป็นครั้งแรก  เช่น สมเด็จพระนางนาฏบรมอัครราชเทวี, สมเด็จพระนางเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี แต่ก็ไม่ได้ทรงประกาศสถาปนาพระมเหสีอย่างเป็นทางการ

สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตำแหน่งของพระภรรยาเจ้าหรือพระฐานันดรศักดิ์ของพระมเหสีเทวี มีทั้งหมด 5 ลำดับ คือ

  1. พระบรมราชินีนาถ มีพระภรรยาเจ้าที่ดำรงพระฐานันดรศักดิ์นี้ 1 พระองค์ คือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ
  2. พระบรมราชเทวี มีพระภรรยาเจ้าที่ดำรงพระฐานันดรศักดิ์นี้ 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี
  3. 3. พระราชเทวี มีพระภรรยาเจ้าที่ดำรงพระฐานันดรศักดิ์นี้ 1 พระองค์ คือ พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี
  4. 4. พระอรรคชายาเธอ มีพระภรรยาเจ้าที่ดำรงพระฐานันดรศักดิ์นี้ 3 พระองค์ คือ พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์
  5. พระราชชายา มีพระภรรยาเจ้าที่ดำรงพระฐานันดรศักดิ์นี้ 1 พระองค์ คือ เจ้าดารารัศมี พระราชชายา
เจ้าดารารัศมี พระราชชายา พระภรรยาเจ้าในรัชกาลที่ 5 (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ตำแหน่งของพระภรรยาเจ้า “พระราชเทวี (พระราชเทพี)” และ “พระอัครชายา” เป็นการใช้ตามอย่างสมัยสุโขทัยและอยุธยา ตำแหน่ง “พระบรมราชินีนาถ” และ “พระบรมราชเทวี” เทียบได้กับตำแหน่งพระอัครราชมเหสีหรือพระอัครมเหสีตามอย่างโบราณ ส่วนตำแหน่ง “พระราชชายา” ที่มักเข้าใจว่าใช้ครั้งแรกในการสถาปนาเจ้าจอมมารดาดารารัศมีขึ้นเป็นเจ้าดารารัศมี พระราชชายา

แต่จริงๆ ก่อนหน้านั้นมีเจ้านายฝ่ายในทรงได้รับตำแหน่งดังกล่าวมาแล้ว 3 พระองค์ คือ พระราชชายา (เทวี) เจ้าจอมสมบุญ พระสนมเอกในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช, พระราชชายา พระองค์เจ้าแมงเม่า กรมหมื่นพิมลภักดี ในสมเด็จพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี พระราชชายา (นารี) ในรัชกาลที่ 2 เมื่อสิ้นสุดรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ธรรมเนียมที่ว่าพระภรรยาเจ้าเท่านั้นที่จะมีพระฐานันดรศักดิ์แห่งพระมเหสีเทวีได้สิ้นสุดลงด้วย

สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนา คุณประไพ สุจริตกุล ธิดาของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล) ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี และโปรดให้ออกพระนามในภายหลังว่า สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา, ทรงสถาปนา คุณเครือแก้ว อภัยวงศ์ ธิดาของพระยาอภัยภูเบศร (เลื่อม อภัยวงศ์) ขึ้นเป็น พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี

สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

นับเป็นรัชกาลแรกที่ “ภรรยา” ของพระเจ้าแผ่นดินที่เป็นสามัญชนได้รับสถาปนาให้ดำรงพระฐานันดรศักดิ์แห่งพระมเหสีเทวี ไม่จำเป็นที่ต้องเป็นพระภรรยาเจ้าตามอย่างธรรมเนียมแต่โบราณอีกต่อไป

ตัวอย่างที่ยกมาเกือบทั้งหมดจะเป็นพระภรรยาเจ้าในสมัยรัตนโกสินทร์ ส่วนในสมัยสุโขทัย และสมัยอยุธยา ตลอดข้อวิเคราะห์อื่น ขอได้โปรดติดตามจากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤษภาคมนี้ เพราะตำแหน่งของพระภรรยาเจ้า และการสถาปนาพระภรรยาเจ้า ก็เหมือนเรื่องราวอื่นในบ้านเมืองที่มีการเคลื่อนไหว มีการเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของบ้านเมืองในขณะนั้นด้วย


ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2564 ชวนท่านผู้อ่านติดตามอ่าน อธิบายว่าด้วยเรื่อง “พระภรรยาเจ้า” โดย รศ.นพ.จิรวัฒน์ อุตตมะกุล วางจำหน่ายแล้ววันนี้ หรือสามารถสั่งซื้อได้ที่ line : @matichonbook (มี @)

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2564