ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
หลวงพ่อโต วัดบวรฯ พระพุทธรูปองค์ใหญ่กลางเมืองเพชรบุรี ก่อนอัญเชิญมาประดิษฐานที่กรุงเทพฯ
พระพุทธรูปสำคัญของวัดบวรนิเวศวิหารองค์ที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดคือ พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา พระพุทธรูปสำคัญของหัวเมืองเหนือ ซึ่งสร้างขึ้นในคราวเดียวกับพระพุทธชินราช และพระเหลือ แห่งวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก
พระศรีศาสดา ปัจจุบันประดิษฐานที่วิหารพระศาสดา ส่วนพระพุทธชินสีห์ประดิษฐานที่พระอุโบสถ
หากแต่ด้านหลังของพระพุทธชินสีห์ ยังมีพระพุทธรูปสำคัญอีกองค์หนึ่ง นั่นคือ หลวงพ่อโต วัดบวรฯ พระพุทธรูปสำคัญที่มีอายุเก่าแก่มากอีกองค์หนึ่งของไทย

ตามประวัติ หลวงพ่อโตเคยประดิษฐานอยู่ที่วัดสระตะพาน จังหวัดเพชรบุรี ต่อมาสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 2 ทรงอัญเชิญมายังกรุงเทพฯ
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า เมื่ออัญเชิญหลวงพ่อโตมาประดิษฐานที่กรุงเทพฯ องค์พระพุทธรูปน่าจะชำรุดทรุดโทรมมาก หักพังได้มาเป็นส่วน ๆ แล้วเอามาประกอบเข้าเป็นองค์พระ โดย “ลักษณะเป็นฝีมือช่างกรุงเทพฯ โดยมาก สังเกตพอรู้ได้แต่เป็นเค้าว่าเดิมเห็นจะเป็นลักษณะพระขอม”
หลวงพ่อโตมีชื่อเรียกหลากหลายชื่อ ทั้ง หลวงพ่อโต, พ่อโต, พระศรีสรรเพชญ์สัตตะพันพาน, พระสุวรรณเขมา และพระสุวรรณเขต
หลวงพ่อโต, พ่อโต เรียกตามลักษณะขององค์พระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่มาก คือขนาดหน้าตัก 9 ศอก กับ 21 นิ้ว หรือเกือบ 5 เมตร
สำหรับชื่อเรียกพระศรีสรรเพชญ์สัตตะพันพาน มาจากตำนานการสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ โดย อ. ล้อม เพ็งแก้ว ปราชญ์แห่งเมืองเพชรบุรี ตรวจสอบข้อมูลพบว่า วัดสระตะพาน จังหวัดเพชรบุรี เป็นวัดใหญ่กลางเมือง ปัจจุบันเป็นวัดร้าง ตำแหน่งที่ตั้งอยู่ใกล้กับศาลหลักเมืองเดิม ชื่อวัดสระตะพานเป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกขานกัน แต่เมื่อตรวจสอบกับโฉนดที่ดินที่ทำไว้เมื่อ พ.ศ. 2460 พบว่าเรียกชื่อวัดเป็น วัดสัตตพาน
อ. ล้อม อธิบายว่า ตามตำนานการสร้างหลวงพ่อโตต้องใช้พานเจ็ดพันใบหลอมหล่อเป็นองค์พระพุทธรูป (สัตตะ = 7, พัน = จำนวน 1,000) ดังนั้น ชื่อวัดสัตตพาน ก็สอดคล้องกับชื่อเรียกพระศรีสรรเพชญ์สัตตะพันพาน ซึ่งคำพระศรีสรรเพชญ์ก็เป็นนามเรียกพระพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นพระศาสดาแห่งพระพุทธศาสนา

ส่วนชื่อเรียกพระสุวรรณเขมา และพระสุวรรณเขต เกี่ยวข้องกับก้อนแร่กายสิทธิ์ที่ซ่อนอยู่ในเม็ดพระศกของพระพุทธรูป
โดย 3 ก้อนแร่กายสิทธิ์ในตำนานความเชื่อโบราณของไทย ประกอบด้วย เหล็กไหล, เจ้าน้ำเงิน และสุวรรณเขต (หรือขีด)
เล่ากันว่า เมื่ออัญเชิญหลวงพ่อโตมายังกรุงเทพฯ แล้วนั้น นายช่างวังหน้ากราบทูลสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพว่า เม็ดพระศกขององค์พระพุทธรูปใหญ่เกินไป ดูไม่งดงามตามความนิยมในสมัยนั้น จึงเลาะเม็ดพระศกเดิมออกเพื่อทำใหม่ และการเลาะเม็ดพระศกในคราวนั้นก็พบสุวรรณเขตซ่อนอยู่
เชื่อกันว่า สุวรรณเขตมีคุณสมบัติพิเศษคือ หากนำสุวรรณเขตไปขีดลงบนโลหะอื่นใด โลหะนั้นก็จะกลายเป็นทองคำไปทันที
หลวงพ่อโตเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดบวรฯ มานานหลายปี ก่อนที่ในสมัยรัชกาลที่ 4 จะทรงอัญเชิญพระพุทธชินสีห์มาประดิษฐานในพระอุโบสถอีกองค์หนึ่ง
อ่านเพิ่มเติม :
- ตำนานสร้าง “พระศรีศาสดา” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง “พระพุทธรูปผู้พิทักษ์พระพุทธชินสีห์”
- พระเทพโมลี (สิน) เจ้าอาวาส “วัดบวรนิเวศวิหาร” เมื่อแรกสถาปนา
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ล้อม เพ็งแก้ว. (สิงหาคม, 2532). หลวงพ่อโต วัดบวรฯ ใน, “ศิลปวัฒนธรรม”. ปีที่ 10 : ฉบับที่ 10.
บุศยารัตน์ คู่เทียม. (กันยายน-ตุลาคม, 2549). ย้อนอดีต…วัดบวรนิเวศวิหาร ใน, “ศิลปากร”. ปีที่ 49 : ฉบับที่ 5.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. (2548). ตำนานพระพุทธรูปสำคัญ. กรุงเทพฯ : มติชน.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 ตุลาคม 2567