ชีวิตของมาดามฟอลคอน หลังสามีถูกประหาร

ท้าวทองกีบม้า
ภาพ : Instagram susiroo

มาดามฟอลคอน มีชีวิตเป็นสุข กระทั่งเมื่อสิ้นท่านเจ้าพระยาวิชเยนทร์ (ถูกสั่งประหารคืนวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2231) ราชสำนักส่งเจ้าพนักงานมายึดบ้านเรือน ทรัพย์สินที่มีทั้งหมด ไม่เว้นแม้เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ชีวิตของมาดามฟอลคอนมิใช่แค่คืนสู่สามัญเช่นก่อนที่เธอจะสมรสกับท่านเจ้าพระยา หากเป็นชีวิตที่ตรากตรำและคับแค้นยิ่ง

เพราะนอกจากจะสิ้นเนื้อประดาตัวแล้ว ขุนหลวงสรศักดิ์พระราชโอรสของสมเด็จพระเพทราชายังหมายปองในตัวเธอด้วย โดยได้พยายามหว่านล้อม ข่มขู่ และทรมานให้เธอยินยอม แต่ มาดามฟอลคอน ปฏิเสธหนักแน่น และพยามยามขอความช่วยเหลือจากนายพล เดส์ฟาร์จ นายทหารฝรั่งเศสที่เธอและสามีเคยอุปการะ และมอบทรัพย์สินให้กว่า 10,000 ลีร์ ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา หากความหวังสุดท้ายของเธอก็พึ่งไม่ได้ สุดท้ายเธอก็ถูกกุมขัง

จนเวลาผ่านไปขุนหลวงสรศักดิ์เลิกสนใจในตัวมาดามฟอลคอน เธอจึงใช้ชีวิตทำงานในห้องเครื่องต้นอย่างสงบขึ้น ขนมที่มีไข่และน้ำตาลเป็นส่วนประกอบตามอย่างโปรตุเกส เช่น ทองหยอด ฝอยทอง ทองพลุ ขนมผิง ฯลฯ หลายคนอาจเข้าใจผิดว่าเป็นฝีมือของมาดามฟอลคอน ที่ได้ตำแหน่งเป็น “ท้าวทองกีบม้า” แต่จริงๆ ขนมทั้งหลายนั้นเข้ามาในสยามโดยชาวโปรตุเกสก่อนหน้าเป็นร้อยปี หากมาดามฟอลคอนเป็นผู้เผยแพร่ให้ออกจากคอนแวนต์สู่สาธารณชน

ชีวิตของเธอพลิกฟื้นขึ้นอีกครั้งหลังจากที่สามีเสียชีวิตไป 20 ปี เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กลับมารับราชการในราชสำนักฝ่ายใน ทำหน้าที่ดูเครื่องเงินเครื่องทอง เป็นหัวหน้าพนักงานภูษามาลา ซึ่งเธอปฏิบัติหน้าที่ด้วยดีและซื่อสัตย์จนเป็นที่โปรดปรานของพระองค์ ถึงกับทรงสั่งให้หานายยอร์ชบุตรของเธอมาเข้าเฝ้า และโปรดให้รับใช้ใกล้ชิด ทั้งได้โปรดเป็นครูสอนภาษาไทยด้วยพระองค์เอง

แม้ชีวิตจะระหกระเหินเพียงใด ในยามที่ทุกข์ยาก มาดามฟอลคอนยังได้รับการจุนเจือเล็กๆ น้อยๆ จากผู้ที่เธอเคยเกื้อกูล อุปการะตามหลักของศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิก เมื่อปัจฉิมวัยก็ได้ใช้ชีวิตสงบสุขอีกครั้ง ตามเจตนารมณ์ของพระผู้เป็นเจ้า

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากเอกสารประกอบการเสวนาของสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2557


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 เมษายน 2561