ถิ่นกำเนิดท้าวทองกีบม้า และจุดเริ่มต้นที่ทำให้พบฟอลคอนในสยาม

แผนที่ อยุธยา
แผนที่กรุงศรีอยุธยาในจดหมายเหตุ ลาลูแบร์ ฉบับภาษาอังกฤษ A Map of the City of Siam (ขนาด ๑๐ x ๑๔ ซม.) แผนที่ระบุที่ตั้งสถานที่สำคัญทั้งภายในและภายนอกกรุงศรีอยุธยาจำนวนทั้งสิ้น ๑๒ แห่ง (ภาพจากหนังสือ “กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรัง” ของธวัชชัย ตั้งศิริวาณิช สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2549)

หลายคนคงสงสัยว่า “ท้าวทองกีบม้า” ไม่ใช่ชาวสยาม แต่ทำไมได้มาตั้งรกรากที่สยาม ที่ที่นำไปสู่การพบเจอกับ ฟอลคอน

ท้าวทองกีบม้าเมื่อแรกกำเนิดในสยาม มีถิ่นกำเนิดอยู่ในหมู่บ้านโปรตุเกสรวมกับญาติพี่น้องชาวญี่ปุ่นอีกหลายคน หมู่บ้านนี้เป็นแหล่งรวมของชนชาติต่างๆ ที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก ตั้งอยู่ทางตอนใต้นอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา

เมื่อพิจารณาแผนที่กรุงศรีอยุธยาที่ทำขึ้นในสมัยนั้น พบว่าทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาใต้เกาะเมือง เป็นที่ตั้งของชุมชนชาวต่างประเทศขนาดใหญ่อยู่ในอาณาบริเวณเดียวกัน มีหมู่บ้านฮอลันดาและหมู่บ้านญี่ปุ่นเป็นหลัก และตรงข้ามฝั่งแม่น้ำคือหมู่บ้านโปรตุเกส การไปมาหาสู่ระหว่างชุมชนจึงเป็นเรื่องง่าย

ที่หมู่บ้านโปรตุเกสนี่เองที่ ท้าวทองกีบม้าและฟอลคอน ได้พบและรู้จักกัน

เหตุที่ท้าวทองกีบม้าและครอบครัวเลือกที่จะอาศัยอยู่ในหมู่บ้านโปรตุเกส แทนที่จะข้ามฟากอยู่ในหมู่บ้านญี่ปุ่นตามเชื้อชาติก็คงจะด้วยเหตุผลทางศาสนาเป็นหลัก เพราะครอบครัวเป็นคาทอลิกที่เคร่งครัดกันหมด น่าจะมีความอึดอัดใจหากต้องไปอยู่ในสภาพแวดล้อมของศาสนาอื่นในหมู่บ้านญี่ปุ่น

นอกจากนี้ กลุ่มชาวต่างชาติต่างศาสนายังได้รับสิทธิพิเศษที่ทางรัฐบาลสยามยกเว้นไว้สำหรับชาวคาทอลิก คืออนุญาตให้ดำเนินกิจกรรมทางศาสนาได้โดยสะดวก ที่หมู่บ้านโปรตุเกสจึงเป็นแหล่งรวมของชนชาติต่างๆ ทั้งมอญ ลาว เขมร ญวน จีน ญี่ปุ่น ที่เป็นคาทอลิก ยกเว้นชาวสยามซึ่งขณะนั้นยังแทบไม่มีใครเข้ารีตนับถือศาสนานี้

แม้แต่ชาวโปรตุเกสเองส่วนใหญ่ก็เป็นชาวโปรตุเกสเลือดผสมอินเดีย เมื่อเข้ามาตั้งถิ่นฐานในระยะแรก ก็ได้รับพระราชทานที่ดินแปลงใหญ่ในบริเวณที่ใกล้ตัวเมืองเป็นที่อยู่อาศัย และดำเนินชีวิตไปตามกฏหมายและประเพณีของตนเองได้ เป็นอิสระจากตุลาการศาลสยาม

ครอบครัวชาวญี่ปุ่นของท้าวทองกีบม้า จึงเป็นกลุ่มชนชาวญี่ปุ่นอีกครอบครัวหนึ่งที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านโปรตุเกสด้วยเหตุผลดังกล่าว

ภายหลังจากแต่งงานท้าวทองกีบม้าก็ย้ายเข้าไปอยู่ในทำเนียบหรูหราของฟอลคอน ปรากฏอยู่ในแผนที่ซึ่งทำขึ้นในสมัยอยุธยา ปัจจุบันที่อยู่บริเวณระหว่างจวนผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กับโรงเรียนจิรศักดิ์ กับบ้านอีกหลังที่เมืองลพบุรี ด้วยปรากฏหลักฐานว่าท้าวทองกีบม้าได้พาคลารา ทาสสาวชาวจีนหนีเรื่องชู้สาวฟอลคอนจากลพบุรี กลับมาอยู่บ้านในกรุงศรีอยุธยา และอีกบันทึกหนึ่งของหลวงเดอ แบส กล่าวว่า มีหมู่บ้านคริสตังที่ลพบุรี เพราะฟอลคอนได้สร้างโบสถ์ไว้ที่นั่น ทั้งยังมีเด็กหญิงชายที่ภรรยาฟอลคอนเลี้ยงไว้ที่ลพบุรีเข้ารีต

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ที่มา :

หนังสือ การเมืองในประวัติศาสตร์ “ขนมหวาน” ของ ท้าวทองกีบม้า “มาดามฟอลคอน”

“ขนมไทย” หรือ “ขนมเทศ”. โดย ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย และปรามินทร์ เครือทอง. สำนักพิมพ์มติชน 2546.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 มีนาคม 2561