ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2556 |
---|---|
ผู้เขียน | ภานุพงศ์ สิทธิสาร |
เผยแพร่ |
จดหมาย
เรียน บรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม
ตามที่คนเก่าคนแก่เล่าว่า คลองดำเนินสะดวกนี้เดิมทีเป็นป่าชัฏ คราวเมื่อจะขุดคลองก็อาศัยช้างเดินลุยป่าไปทำนองว่าจะใช้รอยตีนช้างวัดระยะเป็นสำคัญ เพราะสุดทางคือหลัก 8 ก็เกือบปากอ่าวแม่กลองเป็นที่น้ำอยู่แล้ว จากนั้นวิศวกรก็สั่งคนงานตามไปถางจนเป็นที่โล่งเตียนและเริ่มดำเนินการขุดคลองดำเนินสะดวกตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อขยายเส้นทางการคมนาคมทางน้ำ คลองดำเนินสะดวกนี้เป็นคลอง
ขุดขนาดกว้างราว 10-20 วา ยาว 840 เส้น (32 กิโลเมตร) มีหลักเขตตั้งเป็นระยะรายไป เริ่มที่หลัก 1 ตรงประตูน้ำบางยาง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร แล้วเว้นช่วงไปทุก 100 เส้น (4 กิโลเมตร) เนื่องไปจนสุดที่หลัก 8 ตรงประตูน้ำบางนกแขวก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อแรกนั้นส่วนใหญ่จะอาศัยแรงงานชาวจีนในการขุดโดยมาก (ภาษาจีนว่า “กุ๊ดฮึ้ง” คือ โกยดิน หรือ “ผงโถ้ว” คือ โกยดินขึ้นตลิ่ง) ถึงกับมีคลองสายหนึ่งเรียกว่าคลองขุดเจ๊ก เหตุเพราะพวกจีนเป็นคนขุด คลองนี้ในชั้นหลังเรียกว่าคลองท่าคา หรือตลาดน้ำท่าคาในปัจจุบันที่มีนักท่องเที่ยวไปกัน
แต่ตลาดที่จริงนั้นก็ต้องมีการนัดหมาย คือ ข้างขึ้น หรือข้างแรม 2 ค่ำ 7 ค่ำ และ 12 ค่ำ อย่างนี้ถึง
เรียกว่าเป็นตลาดนัด สืบมาในชั้นหลังคนตามพื้นถิ่นก็จะเรียกตัวเองตามหลัก อย่างเช่น บ้านอยู่หลัก 4 ก็เรียกตัวเองว่า “เป็นคนหลักสี่” ก่อนนี้ตลาดน้ำดำเนินสะดวกเมื่อขุดเสร็จใหม่ๆ คนจีนเรียกว่า “ซิงกั๊ง” หมายถึงคลองใหม่ หรือไม่ก็ “ตั้วกั๊ง” หมายถึงคลองใหญ่ อีกชื่อคือ “เหล่าตั๊กลัก” ซึ่งหมายถึงตลาด
เก่า คนไทยก็เรียกว่า ตลาดน้ำคลองลัดพลี ปัจจุบันเป็นคลองเล็กๆ หน้าวัดราษฎร์เจริญธรรม (วัดสุน) ส่วนตลาดน้ำดำเนินสะดวกในทุกวันนี้เมื่อก่อนเรียกว่า “อั้งเซียวล้า” หมายถึง ศาลาแดง
คลองดำเนินสะดวกนี้มีคลองสาขาแยกออกไปมาก ทั้งนี้ขุนนางตระกูลบุนนาคซึ่งมีสิทธิ์จับจองที่สองริมฝั่งคลองก่อน ก็มีดำริจะขุดคลองสาขาเพิ่มเติมเข้าไป ตรงนี้จึงเป็นการอำนวยประโยชน์ให้กับประชาราษฎร์ไปด้วย อย่างต้นตระกูลของผู้เขียนเดิมมาจากเมืองจีน (เป็นตึ่งนั้ง หมายถึง คนจีน) มาเมืองไทย (เซียมล้อ) ก็ไปทำนาปลูกข้าวอยู่ที่ลุ่มนครชัยศรี ต่อมาเกิดภัยแล้งติดต่อกัน เรือกสวนไร่นาพากันแห้งตายหมด จึงย้ายถิ่นมาตั้งอยู่บ้านวัดปรก (ตำบลจอมปลวก อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ในปัจจุบัน) แต่ก็ไม่แคล้วหนีจระเข้มาปะเสือ
เสือนี้คือพวกโจรผู้ร้าย เพราะเขตบ้านวัดปรกเป็นชุมชนคนจีนที่มาค้าขาย ปลูกพลู หมาก กระเทียม มีฐานะดีขโมยขโจรจึงชุมเสียยิ่งกว่ายุง เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงย้ายมาอยู่คลองบันไดอันเป็นคลองสาขาจากคลองศรีสุราษฎร์ และคลองศรีสุราษฎร์นี้ก็เป็นคลองแยกมาจากคลองดำเนินสะดวกอีกชั้นหนึ่ง คลองบันไดก่อนนี้เป็นป่ารก เมื่อทางการอนุญาตให้จับจองที่ทางทำกิน ประชาราษฎร์ก็เข้าจับจองโดยได้คนละ 10 ไร่
ต้นตระกูลของผู้เขียนทำได้ 20 ไร่ เพราะมีแรงงานชายอยู่ 2 คน ทุกเช้าก็จะมาถางที่เบิกร่องสวนเป็นขนัดไป (ปัจจุบันคลองที่อยู่หน้าบ้านนี้เรียกว่าคลองกำนัน) หะแรกก็ปลูกพริก หอม กระเทียม อยู่เป็นนิตย์ ข้าวก็ทำมันบนขนัดสวน ในข้อนี้พึงทราบได้ว่ามีการทำนาเช่นนี้มาช้านานแล้วมิใช่เพิ่งคิดทำ
ได้ในชั้นหลังอย่างที่มีการกล่าวอ้าง เพียงแต่เว้นว่างกันไปเมื่อยุคสมัยเปลี่ยน นอกจากพืชบริโภคในครัวเรือนก็ปลูกผลไม้ อย่างเช่นมะม่วงนี้ขึ้นชื่อนักหากปลูกมาแต่ดำเนินฯ คนบางกอกนิยมมากชมว่าอร่อยเพราะก่อนนี้อาม้าของผู้เขียนเมื่อยังเป็นเด็กก็คอยเก็บมะม่วงให้เตี่ยกับแม่เอาลงเรือแจวไปขายบางกอก
เรือแจวนี้ต้องมีฟางคลุมมะม่วงไปด้วย ถือเป็นการบ่มแดดในตัว พอออกจากคลองเล็กเจอคลองใหญ่
พบเรือบรรทุกของขนาดใหญ่ที่จะไปบางกอก ก็จ้างเรือให้โยงลากจูงไป ออกประตูน้ำบางยางแล้วก็ทั้งแจวทั้งจูงเรื่อยไปจนถึงปากน้ำภาษีเจริญ เข้าบางกอกมาค้าที่ตลาดคลองมหานาค ใช้เวลาสัก 3 วัน 2 คืน กลับบ้านก็ซื้อข้าวซื้อของกลับมาฝากลูกๆ นอกจากมะม่วงแล้ว ยังมีแตงโมอีกอย่างที่เป็นของขึ้นชื่อปลูกอยู่ริมคลองตลอดฝั่ง พอเก็บได้ก็ขนลงเรือพายออกคลองใหญ่ไปขายให้เรือสุพรรณ เรือสุพรรณนี้เป็นเรือมาจากสุพรรณตามชื่อ จะรับซื้อผลหมากรากไม้มาตามรายทาง อนึ่ง เรือสุพรรณนี้ก็มีข้าวสารมาขาย บางทีขายแตงโมแล้วก็ซื้อข้าวกลับมาด้วย อาม้าของผู้เขียนครั้งยังเด็กมากพอดีกับช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังเล่าว่าได้นำกล้วยไปขายพวกญี่ปุ่น
ประเพณีชีวิตที่เกิดขึ้นก็อย่างคนจีนในแดนไทยมีตรุษจีน (ก๊วยนี้) เทศกาลเดือน 5 (ไหว้บ๊ะจ่าง) เทศกาลไหว้ศาลเจ้าต่างๆ เพื่อขอพรให้ทำไร่ทำสวนได้ผลดี เทศกาลกินเจ และมีสิ่งเคารพองค์หนึ่งคือหลวงพ่อซำปอกง หรือหลวงพ่อโต คล้ายกับที่วัดพนัญเชิง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ชาวสวนเชื่อว่าท่านมีวาจาสิทธิ์ถึงกับมีเรื่องเล่าว่าท่านกับหลวงพ่อโสธรแข่งกันสร้างวัดว่าใครจะเสร็จก่อนกัน หลวงพ่อโสธรสร้างเสร็จมาบอกหลวงพ่อซำปอกง หลวงพ่อซำปอกงเลยชี้ไปที่ไพหารอุโบสถวัดหลวงพ่อโสธรว่าสร้างเสร็จก่อนแต่เบี้ยว ปรากฏว่าเบี้ยวตามอย่างที่ท่านพูดจริง เป็นเรื่องเล่ามาอย่างนี้ อภินิหารของท่านอีกอย่างคือยามเมื่อเดือนตรงกลางเดือน 12 หรือลอยกระทง ท่านว่าน้ำในคลองดำเนินสะดวกนี้เป็นยาทั้งสิ้น ชาวบ้านจึงตักใส่ภาชนะไว้ใช้อาบใช้ดื่มกินด้วยเชื่อว่าจะบันดาลให้หายโรคหายไข้มีสุขสวัสดี แต่ปัจจุบันคนก็ไม่ค่อยเชื่อกันแล้ว เพราะไม่ใคร่มีใครมาตักน้ำคืนเดือนตรงกันเสียเท่าไร ซ้ำยังว่างมงายอีก ชะรอยภายหน้าความเชื่อนี้จะสูญไปก็เป็นได้
นี่ก็เป็นตัวอย่างโดยสังเขปของประเพณีชีวิตคนไทยเชื้อสายจีนถิ่นดำเนินสะดวก ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเฟื่องว่าเป็นถิ่นเจริญ ผู้คนต่างอาศัยคลองสายนี้เป็นดังเส้นเลือดใหญ่ทั้งยังมีคลองสาขาที่เสมือนเส้นเลือดฝอยแตกแขนงอยู่มากมาย หล่อเลี้ยงชีวิตทุกชีวิตให้มีความสุขมาจนตราบปัจจุบัน
ภานุพงศ์ สิทธิสาร
บ้านริมคลองบางน้อย
หมายเหตุ : เนื้อหานี้มาจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลในจดหมายที่ส่งถึงกองบรรณาธิการ ศิลปวัฒนธรรม
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 มกราคม 2561