ผู้เขียน | รัชตะ จึงวิวัฒน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เป็นธรรมชาติที่สิ่งมีชีวิตหลากหลายประเภทหลีกหนีไม่พ้นเรื่องความสัมพันธ์ทางกายภาพเชิงการสืบพันธุ์ นั่นจึงเป็นเหตุที่ทำให้วัตถุอันเกี่ยวกับเชิงกามารมณ์ปรากฏขึ้นมาในยุคโบราณ และพัฒนามาสู่สื่อใหม่ในยุคสมัยแห่งเทคโนโลยี แต่คำถามที่น่าสนใจคือการสร้างสรรค์วัตถุที่เกี่ยวกับอารมณ์เชิงสังวาสนี้มีหน้าตาอย่างไรในยุคแรก และพัฒนาการมาสู่แบบแผนในปัจจุบันอย่างไร
ราชบัณฑิตยสถานอธิบายศัพท์บัญญติของคำว่า “pornography” ในความหมายแง่ “ศิลปะ” ว่า “งานลามก” (2545) หากในเชิงวรรณกรรมแล้วมีความหมายว่า “เรื่องเร้ากามารมณ์” (2545) ขณะที่จอห์น ฟิลิป เจนกินส์ (John Philip Jenkins) ผู้เขียนอธิบายนิยามของคำ Pornography จากเว็บไซต์ Britannica อธิบายว่า คำว่า pornography มีรากมาจากศัพท์กรีกจากคำว่า “prostitute” (โสเภณี) และ “graphein” (การเขียน) ซึ่งเดิมทีนั้นใช้เป็นคำนิยามเกี่ยวกับงานศิลปะ หรือวรรณกรรมที่บรรยายหรือบอกเล่าชีวิตของโสเภณี
พจนานุกรมออกซ์ฟอร์ดฉบับเชิงจิตวิทยาอธิบายคำว่า pornography ว่า “การบรรยายด้วยภาพ, การเขียน หรือด้วยวัตถุอื่นๆ ซึ่งบอกเล่าถึงสิ่งที่เกี่ยวกับเรื่องทางเพศหรือกิจกรรมที่มีแนวโน้มส่อไปในเชิงกระตุ้นกามารมณ์อย่างชัดแจ้ง”
จะเห็นได้ว่าการนิยามความหมายที่เข้าข่ายของสิ่งที่ถูกจัดเป็น “pornography” นั้นแตกต่างกันออกไป การจะบ่งชี้ว่าวัตถุชิ้นไหนเป็นสิ่งเร้ากามารมณ์ หรืองานลามกย่อมขึ้นอยู่กับการนิยามในแต่ละบริบททางสังคม ในยุคกรีก-โรมันโบราณ รูปปั้นหรืองานศิลปะที่แสดงรูปทรงอวัยวะเพศชายเป็นสิ่งแพร่หลาย แต่สิ่งของในบริบทนั้นอาจไม่ได้มีบทบาทหน้าที่ในแง่การกระตุ้นกามารมณ์ในทางสังคมและจิตวิทยาเหมือนนิยามของ “สิ่งเร้ากามารมณ์” ในยุคใหม่
อย่างไรก็ตาม หากจะกล่าวในภาพกว้างในแง่วัตถุยุคโบราณที่แสดง “ลักษณะท่าทาง ‘เพศสัมพันธ์’ ซึ่ง ‘เร้ากามารมณ์’ ด้วย” ตามนิยามสมัยใหม่ วัตถุลักษณะนี้ที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “สิ่งเร้ากามารมณ์” ในยุคโบราณจะถูกผลิตออกมาผ่านงานศิลปะอย่างรูปปั้น, ภาพเขียน, ภาพวาดในผนังถ้ำต่างๆ ซึ่งเป็นรูปแบบของศิลปะที่มีข้อดีคือสามารถถ่ายทอดจินตนาการเข้าไปด้วยได้ ไม่ว่าจะเป็นขนาดของอวัยวะเพศ หรือท่วงท่าต่างๆ
งานยุคโบราณ
สำหรับงานเร้ากามารมณ์ในประเภทรูปปั้นที่เก่าแก่อันดับต้นๆ เชื่อกันว่า เป็นรูปปั้นที่ค้นพบในเยอรมนีเมื่อปี 2005 นักโบราณคดีเชื่อว่าเป็นรูปปั้นจากยุคหิน คาดการณ์ว่ารูปปั้นที่ค้นพบเมื่อครั้งนั้นมีอายุประมาณ 7,200 ปี เป็นรูปปั้นแสดงท่าทางการร่วมเพศระหว่างชายและหญิง ซึ่งรูปปั้นนี้ขัดแย้งกับทฤษฎีเดิมที่เชื่อกันว่า “เพศสัมพันธ์” เป็นสิ่งต้องห้ามจากการเอ่ยถึงในยุคนั้น และยังเป็นประติมากรรมขนาดเล็กในรูปทรงร่างกายเพศชายที่เก่าแก่ที่สุดในโลก (คลิกชมภาพที่นี่)
ทีมนักโบราณคดีค้นพบชิ้นส่วนประติมากรรมขนาดเล็กเป็นรูปทรงท่อนล่างของเพศชายก่อน และหนึ่งเดือนให้หลังถึงพบชิ้นส่วนที่เชื่อว่า เป็นรูปทรงของฝ่ายหญิงที่น่าเชื่อว่าเป็นชิ้นส่วนประติมากรรมที่เข้าคู่กันกับส่วนของเพศชาย จากการวิเคราะห์รูปทรงส่วนร่างของฝ่ายชายที่อยู่ด้านหลังฝ่ายหญิงและโน้มตัวไปด้านหน้า จึงมี 2 ข้อสันนิษฐานว่า อาจเป็นรูปปั้นท่าทางการเต้นระหว่างชายหญิง หรืออาจเป็นท่าทางมีเพศสัมพันธ์ ดร. แฮรอลด์ เสตาเบิล (Harald Stäuble) นักโบราณคดีในทีมที่ค้นพบให้สัมภาษณ์ว่า เขาเชื่อว่าน่าจะเป็นอย่างหลังมากกว่า
ก่อนหน้าการค้นพบครั้งนี้ นักโบราณคดีพบรูปปั้นดินที่มีรูปทรงเป็นร่างกายผู้หญิงซึ่งมีหน้าอกและบั้นท้ายขนาดใหญ่ อายุเก่าแก่อยู่ในช่วงระหว่าง 27,000 ปีก่อน นักวิชาการมักตีความรูปปั้นเชื่อมโยงกับความหมายในแง่การเจริญพันธุ์ กระทั่งการค้นพบประติมากรรมขนาดเล็กเมื่อปี 2005 ซึ่งเป็นรูปปั้นที่มีอวัยวะเพศฝ่ายชายอย่างชัดเจนที่สุด การค้นพบย่อมตามมาด้วยคำถามว่า แท้จริงแล้ว เรื่องทางเพศเป็นสิ่งต้องห้ามในยุคหินตามทฤษฎีที่มีมาก่อนหน้านี้หรือไม่
แต่นักวิชาการส่วนหนึ่งก็มองว่า สิ่งประดิษฐ์เชิง “อีโรติก” ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนเทคโนโลยีทางการประดิษฐ์
ขณะที่วัตถุโบราณที่เก่าแก่ที่สุดและแสดงให้เห็นถึงการร่วมเพศอย่างชัดเจนที่สุดเป็นภาพเขียนสีที่มีอายุประมาณ 2,000 ปี และหากเชื่อว่า วัตถุที่มีรูปทรงเหมือนอวัยวะเพศก็เข้าข่าย “กระตุ้น” ตามนิยามหนึ่งของคำว่า pornography แล้ว สิ่งที่กระตุ้นความต้องการทางเพศซึ่งเก่าแก่ที่สุดก็สามารถย้อนไปได้ถึงช่วงเวลาระหว่างยุคหินเก่า Paleolithic (History of Pornography, 2014)
หลังจากนั้นเป็นต้นมา มนุษย์ก็มีผลงานที่เกี่ยวข้องหรือเข้าข่ายการบรรยายเรื่องราวทางเพศอย่างต่อเนื่อง โดยมีสิ่งที่เรียกว่า “เทคโนโลยี” เป็นตัวแปรสำคัญ ทันทีที่มนุษย์ค้นพบสิ่งประดิษฐ์หรือกรรมวิธีใหม่ที่เข้าท่า งานเร้ากามารมณ์ก็ตามมาโดยพลันเสมอ
หากเอ่ยถึงการวาดภาพในถ้ำ ก็ตามมาด้วยภาพเรือนร่างของผู้หญิงบนผนังถ้ำ La Madeleine ในฝรั่งเศส อายุ 15,000 BC. เมื่อชาวสุเมเรียนเรียนรู้วิธีเขียนลงบนจารึกที่ทำจากดิน พวกเขาก็เขียนโคลงเกี่ยวกับช่องคลอด หรือเมื่อมาถึงยุคสื่อสิ่งพิมพ์ยุคแรกในช่วงศตวรรษที่ 16 ก็บรรจุท่าร่วมสัมพันธ์ทางเพศโดยอ้างอิงจากโคลงของปีเอโตร อาเรติโน (Aretino) นักเขียนที่ถูกเรียกว่าเป็นผู้ริเริ่มเรื่องเร้ากามารมณ์ยุคแรกๆ (หนังสือเล่มนี้ถูกโป๊ปสั่งแบน)
หลังศตวรรษที่ 15
มาจนถึงยุคประวัติศาสตร์สมัยใหม่ สิ่งของที่มีชื่อเสียงในศตวรรษที่ 15 คือสิ่งพิมพ์ที่เรียกว่า “อุปมานิทัศน์แห่งการร่วมเพศ” (An allegory on copulation) อันเป็นภาพชายหญิงร่วมเพศในท่าฝ่ายชายอยู่ด้านบน ฝ่ายหญิงอ้าขา ปลายเท้าชี้ฟ้า นอนอยู่ที่ปลายม้านั่งด้านหนึ่ง ปลายอีกด้านหนึ่งเป็นอวัยวะเพศชายในจินตนาการในลักษณะมีขา มีปีกด้านข้าง ห้อยกระดิ่ง กำลังปีนขึ้นมาอยู่อีกด้านหนึ่งของม้านั่ง ภาพนี้ถูกพิมพ์หลายพันชิ้นในช่วงระหว่าง 1460-1480 เชื่อว่าเป็นงานสิ่งพิมพ์อีกกลุ่มหนึ่งสายอิตาเลียนตอนเหนือแต่หลงเหลือมาถึงปัจจุบันไม่กี่ชิ้นเท่านั้น
ในศตวรรษที่ 18 มีเสียงร่ำลือกันว่า “แคทเธอรีนมหาราชินี” (Catherine the Great) ผู้ปกครองรัสเซียตกแต่งห้องหนึ่งด้วยเฟอร์นิเจอร์และงานศิลปะอีโรติก เรียกได้ว่า ทั้งศิลปินและผู้เสพศิลปะต่างก็นิยมงานที่เกี่ยวกับเรื่องเซ็กซ์กันด้วย แม้แต่ศิลปินอย่างเอดัว มาเนต์ (Édouard Manet) และเอ็ดการ์ เดอกาส์ ( (Edgar Degas) ศิลปินอิมเพรสชันนิสต์ระดับตำนานก็ยังมีผลงานเปลือยออกมาให้สังคมได้ตกตะลึงในช่วงศตวรรษที่ 19
นักวิชาการส่วนหนึ่งเชื่อว่า ช่วงกลางศตวรรษที่ 19 เป็นช่วงที่สิ่งเร้ากามารมณ์เริ่มเฟื่องฟูขึ้นมา แต่งานศิลปะในสายนี้ยังไม่มีสีสันมากเท่าไหร่ และมีปัญหาที่เรื่องราคายังแพงอยู่ แม้ว่าจะเริ่มมีภาพถ่ายอีโรติกเย้ายวนใจเกิดขึ้นแพร่หลายมาก แต่งานศึกษาพบว่า ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่สะสมก็ยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มศิลปินและผู้มีฐานะมั่งคั่ง
อย่างไรก็ตาม มโนทัศน์ของสิ่งเร้ากามารมณ์แบบยุคสมัยใหม่ที่เรารับรู้กันในทุกวันนี้ยังไม่เกิดขึ้นจนกระทั่งยุควิคตอเรีย ซึ่งตามมาด้วยกฎระเบียบจำกัดการจำหน่าย การเผยแพร่ แลกเปลี่ยนภาพและวัตถุที่เข้าข่ายสิ่งเร้ากามารมณ์ เมื่อปี 1857 อังกฤษเป็นประเทศแรกที่มีกฎหมายมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ตำรวจยึดและทำลายวัตถุที่เข้าข่าย ขณะที่ในสหรัฐอเมริกาการส่งวัตถุ “ลามก” ด้วยไปรษณีย์ภายในประเทศเพิ่งเป็นสิ่งกฎหมายในอีก 2 ทศวรรษต่อมา อย่างไรก็ตาม คำจำกัดความของสิ่ง “ลามก” นี้ยังไม่ถูกอธิบายอย่างชัดเจน
สำหรับบริบทความเข้มงวดของอังกฤษนี่เองทำให้สิ่งเร้ากามารมณ์กลับเฟื่องฟู และยิ่งเมื่อมาพร้อมกับนวัตกรรมภาพเคลื่อนไหวยิ่งทำให้เกิดสิ่งเร้ากามารมณ์ประเภทใหม่ๆ ที่หลากหลาย และหากพูดถึงกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งเร้าอารมณ์ เป็นที่รู้กันว่าเดนมาร์ก คือประเทศแรกที่ยกเลิกกฎหมายเซ็นเซอร์สิ่งเร้าอารมณ์ทั้งหลายในปี 1969 ซึ่งปีนี้เองเป็นช่วง “ยุคทอง” ของวงการสิ่งเร้าอารมณ์ด้วย มีผลงานอย่าง Blue Movie โดย แอนดี้ วอร์ฮอล (Andy Warhol) ตามมาด้วยผลงาน อาทิ The Last Tango in Paris, Mona และ Deep Throat (ที่จะกล่าวถึงในส่วนต่อไป)
สำหรับนวัตกรรมที่อิทธิพลสำคัญต่อโลก (สื่อโป๊) อย่างภาพยนตร์เริ่มจุดติดอย่างจริงจังในปีค.ศ. 1895 (พ.ศ. 2438) พี่น้องลูเมียร์ (Lumiere) ชาวฝรั่งเศสบันทึกภาพเคลื่อนไหวและนำออกฉายได้จนเป็นปรากฏการณ์สำคัญของโลก เมื่อนวัตกรรมใหม่เป็นที่รู้จักมากขึ้น มนุษยชาติก็ได้ทำความรู้จักกับภาพยนตร์เร้าอารมณ์ในปี ค.ศ. 1896 ทันที ภาพยนตร์เร้าอารมณ์เรื่องแรกที่เป็นที่รู้จักกันคือ Le Coucher de la Marie ภาพยนตร์สั้นจากฝรั่งเศสถูกฉายในกรุงปารีส
ขณะที่หนังอีโรติกสไตล์ซอฟต์คอร์ (Softcore) เรื่องแรกเป็นที่รู้จักในผลงานชื่อ Coucher de la Mariée เมื่อปี 1899
เมื่อพูดถึงสไตล์ของเนื้อหาเร้ากามารมณ์ก็ย่อมต้องบอกว่า จินตนาการมนุษย์มีมากแค่ไหน ผลผลิตก็กว้างขวางได้เท่านั้นเช่นกัน มีเรื่องราวแบบนุ่มนวล ก็มีรุนแรง ภาพยนตร์อีโรติกที่เรียกว่าฮาร์ดคอร์ (Hardcore) ในยุคแรกๆ ซึ่งเหลือรอดชีิวิตมาสู่สายตาสาธารณะคือ L’Ecu d’Or ou la Bonne Auberge มันถูกเผยแพร่เมื่อ 1908 ขณะที่ผลงานส่วนใหญ่ในสไตล์นี้ในช่วงแรกเริ่ม (มักถูกฉายในสถานเริงรมย์) ถูกเซ็นเซอร์หรือไม่ก็ถูกทำลายไปเป็นส่วนใหญ่ (Tom Head, The History of Pornography, 2019)
อ่านเพิ่มเติม : โฆษณาภาพยนตร์ในนสพ.รายวันครั้งแรกของไทย กับปริศนาของ “มาร์คอฟสกี”
เทคโนโลยีการบันทึกภาพลงบนคาสเซ็ตต์ ก็เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมสิ่งเร้ากามารมณ์อย่างมาก ในช่วงปลายยุค 50s แผ่นฟิล์มขนาด 8 มิลลิเมตรยกระดับอุตสาหกรรมเช่นกัน และในอีก 2 ทศวรรษต่อมา เมื่อมีม้วนวิดีโอคาสเซ็ตต์ (video cassette) ใช้งานร่วมกับกล้องบันทึกภาพ ยอดจำหน่ายสื่อแพลตฟอร์มนี้ก็เพิ่มมากขึ้น โดยสถิติพบว่า ยอดจำหน่ายวิดีโอคาสเซ็ตต์ 75 เปอร์เซ็นต์เป็นม้วนหนังโป๊ (David Kushner, “A BRIEF HISTORY OF PORN ON THE INTERNET”. 2019)
พัฒนาของสื่อเร้าอารมณ์เหล่านี้ก็เป็นเช่นเดียวกับสิ่งประดิษฐ์และของใช้อื่น คือเมื่อมีเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วดังที่กล่าวไว้แล้ว พัฒนาการของสื่อสิ่งเร้าก็มีกราฟการพัฒนาที่เคลื่อนที่อย่างรวดเร็วตามไปด้วย การถ่ายภาพด้วยฟิล์มเริ่มใช้ต้นทุนน้อยลง ราคาซื้อ-ขายก็ลดลงตามมา ภาพยนตร์ในสายโป๊เปลือยหรือเร้าอารมณ์ก็เริ่มเป็นที่แพร่หลายในกลุ่มชนชั้นกลางมากขึ้น ภาพยนตร์ปลุกใจเริ่มเป็นที่สนใจในตลาดกระแสหลัก
ช่วงปลายของศตวรรษที่ 19 นี่เองที่เริ่มพบเห็นสิ่งพิมพ์สไตล์ “นิตยสารปลุกใจเสือป่า” ซึ่งกลุ่มแรกที่รู้จักกันถูกผลิตในชื่อ Le Frisson ขณะที่นิตยสารชื่อก้องโลกอย่าง Playboy โดยฮิวจ์ เฮฟเนอร์ (Hugh Hefner) ก็ถูกผลิตออกมาในปี 1953 เกือบ 50 ปีหลังจากยุคเริ่มแรก ตามมาด้วยอีกหัวอย่าง Penthouse ในสหราชอาณาจักรช่วงปลายยุค 60s
พัฒนาการของสื่อเร้าอารมณ์เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ช่วงเริ่มแรกที่พวกมันคลอดออกมาก็เป็นเหมือนกับสิ่งเร้าที่รุนแรงอื่นๆ พวกมันทำให้คนในสังคมตกใจ แต่แล้วก็มีจุดเปลี่ยนอีกครั้งกับภาพยนตร์เมื่อปี 1972 ชื่อ Deep Throat โดยชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นหนังกามารมณ์ที่มีชั้นเชิง ไม่ได้ทำให้คนช็อกกับเรือนร่างของมนุษย์จากกิจกรรมทางเพศสัมพันธ์อย่างเดียวเท่านั้น ภาพยนตร์เพิ่มมิติด้วยพล็อตเรื่อง มีตัวละคร แม้ว่าจะใช้ดนตรีประกอบที่ยังไม่ค่อยเข้ากับบรรยากาศนัก แต่ก็ถือได้ว่าทดแทนด้วยอารมณ์ขันที่แฝงเข้ามา เรียกได้ว่า เป็นช่วงที่หนังปลุกเร้าอารมณ์มีมิติมากขึ้น
ช่วงกลางยุค 70s ในบริบทสังคมอเมริกันที่เต็มไปด้วยชนที่เรียกกันว่า “ฮิปปี้” (Hippie) บรรยากาศและความคิดเห็นทางสังคมต่อจารีตแบบเดิมที่คลายตัวลงเรื่อยๆ หลังจากการเคลื่อนไหวของเสรีชนเริ่มขยายตัว กระทั่งในปี 1973 ศาลสูงสุดลงมติจำกัดความคำว่า “ลามก” ให้ชัดเจนขึ้น
เวลาล่วงเลยมาถึงยุค 80s เทคโนโลยีที่เรียกว่า pay-per-view มีบทบาทในวงการสื่อ โดยให้ผู้ชมจ่ายเงินตามสิ่งที่รับชมไป สื่อเร้าอารมณ์ก็มีช่องสถานีแบบ pay-per-view โดยเฉพาะด้วย แต่ยังอาจไม่ได้รับความนิยมมากนักจนกระทั่งในยุค 90s ที่ตลาดเริ่มนิยม งานวิจัยเกี่ยวกับพัฒนาการของสื่อกามารมณ์ระบุว่า ช่องสถานีทำกำไรในปี 1992 ได้มากถึง 54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มขึ้นสู่ 367 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 1999
ย้อนกลับไปเล็กน้อยในช่วงต้นยุค 90s ระหว่างที่ช่องทางโทรทัศน์เป็นสื่อหลัก เทคโนโลยีระบบออนไลน์ที่ทุกวันนี้รู้จักกันในชื่อ “เว็บ” ผ่านระบบติดต่อสื่อสารที่เรียกว่า World Wide Web ถูกคิดค้นขึ้นและนำมาใช้งานเมื่อปี 1991 ในปี 1995 Penthouse เปิดเว็บไซต์ของตัวเองเป็นครั้งแรก (รวดเร็วไม่เบา)
และปีเดียวกันนั้นเอง เทคโนโลยีอีกอย่างที่ทำให้ผู้รับชมสิ่งเร้ากามารมณ์ได้รับความสุขมากขึ้นคือ video conference หรือเรียกกันว่าการประชุมทางไกล สามารถเห็นผู้สื่อสารฝ่ายตรงข้ามผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้โดยไม่ต้องอยู่ที่เดียวกัน เมื่อเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้น ปี 1997 มีกลุ่มหัวใสเปิดให้บริการโชว์ออนไลน์ที่เรียกว่า Video Fantasy มีผู้ใช้งานแบบลงทะเบียนเฉลี่ยประมาณ 2 หมื่นรายทีเดียว ขณะที่ผู้ให้บริการรายอื่นก็พลอยได้รับผลจากเทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้นยอดผู้ใช้งานต่อวันพุ่งไปหลักล้านกันเลยทีเดียว
หากจะบรรยายภาพการเติบโตของ “อุตสาหกรรม” สิ่งเร้ากามารมณ์แบบให้เห็นภาพเข้าใจง่าย สถิติรายได้จากการผลิตสื่อปลุกใจในปี 1985 อยู่ที่ประมาณ 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เมื่อผ่านมาสู่ยุค Y2K (2000s) รายได้พุ่งไปกว่า 6,500 เปอร์เซ็นต์ไปแตะที่ตัวเลข 4.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2009 เป็นยอดจากช่องทางออนไลน์ 2.48 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ยอดขายหนัง(โป๊) 1.24 พันล้าน สิ่งพิมพ์ทำรายได้ 740 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
การเปิดตัวของอินเทอร์เน็ต
ในช่วงกลางยุค 90s ที่อินเทอร์เน็ตเริ่มเข้ามามีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตอเมริกันชน เทคโนโลยีเป็นการก้าวกระโดดครั้งสำคัญที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมสิ่งเร้าอย่างใหญ่หลวงที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ก็ว่าได้
นิตยสารไทม์ (TIME) ฉบับเดือนกรกฎาคม 1995 ตีพิมพ์พร้อมเรื่องบนปกที่พาดหัวว่า CYBERPORN พร้อมตั้งคำถามเรื่องการควบคุมการไหลเวียนของข้อมูลในอินเทอร์เน็ต โดยอ้างอิงจากผลการศึกษาของนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่ตรวจสอบ “ภาพกว่า 9 ล้านชิ้น งานเขียน เรื่องสั้น และการดาวน์โหลดแอนิเมชั่น 8.5 ล้านครั้งโดยผู้ใช้บริการที่อยู่ในเมือง 2,000 แห่ง ใน 40 ประเทศ จังหวัด และเขตแดน” ผู้รวบรวมข้อมูลนามว่า มาร์ตี้ ริมม์ (Marty Rimm) ชี้ว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของภาพใน “กระดานข่าว” แหล่งที่มีภาพไหลเวียนในอินเทอร์เน็ตมากที่สุดในเวลานั้นเป็นภาพโป๊
ตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมา ข้อมูลจากองค์กรที่เรียกว่า SafeFamilies อ้างว่า มีเว็บไซต์สื่อโป๊มากกว่า 1.3 ล้านแห่ง ประกอบด้วยหน้าเว็บกว่า 260 ล้านหน้า รายงานข่าวจากบีบีซี เมื่อปี 2013 ประเมินว่า เนื้อหาในระบบอินเทอร์เน็ต 4-14 เปอร์เซ็นต์ เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับสิ่งเร้าอารมณ์นั่นเอง
แม้ภายหลังรัฐบาลและนักการเมืองในหลายรัฐพยายามออกกฎเพื่อหวังควบคุมการไหลเวียนของสื่อเร้ากามารมณ์ในยุคอินเทอร์เน็ต แต่ดูเหมือนว่าเป็นความพยายามที่ยากเกินไป มาถึงยุคปัจจุบัน แม้แต่นักเต้นระบำโป๊ที่มีความรู้เรื่องการเขียนภาษา HTML ระดับหนึ่งก็สร้างเว็บไซต์ส่วนตัว เปิดบริการให้แฟนได้เข้าชมผลงานแลกกับค่าบริการ 15 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน มีตัวอย่างนักเต้นระบำรายหนึ่ง (สงวนชื่อไว้ก่อน) เธอทำแบบนี้และสามารถหารายได้ 2.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
เรียกได้ว่า วิวัฒนาการของสิ่งเร้ากามารมณ์จากยุคโบราณมาสู่ยุคใหม่ ยุคแห่งเทคโนโลยีและโลกดิจิทัลนั้น สิ่งเหล่านี้อยู่คู่กับประวัติศาสตร์มนุษยชาติเสมอมา ในยุคนี้ก็พัฒนาไปจนถึงการใช้ตุ๊กตาผสมกับเทคโนโลยีเสมือนจริง ฯลฯ แต่คำถามที่สำคัญคือ “จะอยู่กับมันอย่างไร?”
อ่านเพิ่มเติม :
อ้างอิง :
Driver, Karen. “Archaeologist finds ‘oldest porn statue'”. The Guardian. Online. Published 4 APR 2005. Access 14 JUN 2019. <https://www.theguardian.com/world/2005/apr/04/arts.germany>
Goodman, John W. “history of pornography and how it affects the brain”. Academia. Online. Access 14 JUN 2019. <https://www.academia.edu/9698710/history_of_pornography_and_how_it_affects_the_brain>
Head, Tom. “The History of Pornography”. ThoughtCo. Online. Published 24 MAR 2019. Access 14 JUN 2019. <https://www.thoughtco.com/history-of-pornography-721217>
Kushner, David. “A BRIEF HISTORY OF PORN ON THE INTERNET”. Wired. Online. Published 9 APR 2019. Access 14 JUN 2019. <https://www.wired.com/story/brief-history-porn-internet/>
Lenz, Lyz. “A brief and incredible history of porn”. Daily Dot. Online. Published 17 OCT 2017. Access 14 JUN 2019. <https://www.dailydot.com/irl/history-of-porn/>
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 มิถุนายน 2562