ผู้เขียน | รัชตะ จึงวิวัฒน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
สำหรับเหล่าผู้สนใจศึกษา “หนังผู้ใหญ่” (หรืออาจเรียกกันตรงๆ ว่า “หนังโป๊” นี่แหละ) คงคุ้นเคยกับหนังจากญี่ปุ่นหรือมหาอำนาจจากตะวันตก แต่หากมองไปที่เพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์ ในยุค 70s-80s เป็นช่วงที่ผลิต “หนังวาบหวิว” กันแพร่หลาย แม้ว่าจะเป็นที่รับรู้กันว่าเป็นประเทศที่มีผู้เคร่งศาสนากันพอสมควร
หนังโป๊ที่แพร่หลายและโด่งดังในฟิลิปปินส์ช่วงนั้นเรียกกันว่า “บอมบา” (Bomba) บทความออนไลน์จาก South China Morning Post บรรยายว่า เป็นคำที่มาจากคำว่า “bold” แปลโดยคร่าวมาเป็นคำไทยอาจใกล้เคียงกับการสื่อความว่า “อื้อฉาว” ลักษณะของหนังปลุกใจกลุ่มนี้ผสมผสานระหว่างหนังโป๊ซอฟต์คอร์ (Soft-core) กับฮาร์ดคอร์ (Hard-core) ขณะที่ดาราผู้แสดงในหนังชนิดนี้ก็กลายมาเป็นคนดังที่ดันถ่ายภาพขึ้นปกนิตยสารและสื่อสิ่งพิมพ์กระแสหลักในประเทศได้ด้วย
ช่วงยุค 70s-80s รายงานข่าวเผยว่า หนังโป๊ที่เรียกกันว่า “บอมบา” ผลิตกันหลายร้อยเรื่องทีเดียว มีชื่อเรียกตั้งแต่ “จุดสุดยอดของความรัก” (Climax of Love), ภรรยาผู้ไม่ซื่อสัตย์ (Unfaithful Wife), ราตรีแห่งพฤศจิก (Scorpio Nights) และ ทาสขาว (White Slavery) ซึ่งหนังเหล่านี้ล้วนถูกโบสถ์คาทอลิกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง อย่างไรก็ตาม ดาราที่มีชื่อเสียงจากหนังโป๊ประเภทนี้มีชื่ออย่าง “Yvonne”, แอนนา มารี กูตีร์เรซ (Anna Marie Gutierrez) และเป๊ปซี พาโลมา (Pepsi Paloma) ชื่อจริงคือเดเลีย สมิธ [Delia Smith]) ล้วนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวฟิลิปปินส์ในช่วงนั้นไป
ผู้คนต่างจ่ายเงินราคาถูกเพื่อแลกกับความบันเทิงในโรงภาพยนตร์ รายงานข่าวเผยว่ากลุ่มผู้ชมมักเป็นนักเรียนและคนที่สนใจภาพยนตร์ทั่วไป ไปจนถึงชายหนุ่มที่ต้องการความตื่นเต้นในราคาที่เข้าถึงได้ แม้ว่าคุณภาพการผลิตของหนังเหล่านี้จะ “ย่ำแย่” ก็ตาม บางเรื่องที่ฉายในโรงภาพยนตร์แค่ตัดฉากเพศสัมพันธ์วาบหวิวซึ่งถูกตัดทอนจากระเบียบการเซ็นเซอร์เรื่องอื่นมาทำเป็นเรื่องใหม่ บางเรื่องมีฉากเซ็กซ์มาตอนสุดท้ายเหมือนเป็นโบนัส (จากการที่ต้องทนชมมาตลอดก็ว่าได้)
เนื้อเรื่องที่เป็นมาตรฐานสำหรับ “บอมบา” ส่วนใหญ่จะมุ่งเล่าเกี่ยวกับผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิด ไม่ว่าจะเป็นการข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศ ผู้หญิงในเรื่องถูกฉายภาพเป็นเหยื่อซะเป็นส่วนมาก หากไม่เป็นในกรอบที่กล่าวข้างต้น ก็อาจฉีกเป็นหญิงห้าว ผู้กล้าแหวกม่าน หรือเป็นโสเภณีที่ทุกข์ทรมานเพราะพวกเธอทำให้สังคมที่ชายเป็นใหญ่สั่นคลอน
หนังโป๊ชนิดนี้เริ่มเสื่อมความนิยมลงเมื่อมีเทคโนโลยีอย่างวิดีโอเข้ามาในช่วงยุค 90s บทความเรื่อง “บอมบา : จุดกำเนิดแห่งยุค” ( Bomba: The Birth of a Genre) โดยลุยจิ คอนติ (Luigi Conti) วิเคราะห์ว่า ที่หนังปลุกใจกลุ่มนี้เป็นที่นิยมในฟิลิปปินส์ได้นั้น มีสาเหตุจากหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือการปฏิวัติแนวคิดเรื่องทางเพศในช่วงต้นยุค 60s มาจนถึงต้นยุค 70s ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เมื่อผนวกเข้ากับระเบียบเรื่องการควบคุมเนื้อหาในฟิลิปปินส์ที่เริ่มผ่อนคลายลงในปี ค.ศ. 1967 ก็เป็นเครื่องเสริมกำลังเข้าไปอีก
รายงานข่าวเผยว่า ในช่วงยุค 60s คุณภาพหนังเหล่านี้ไม่ค่อยดีนัก ผู้กำกับภาพยนตร์ในฟิลิปปินส์ช่วงนั้นพยายามผลิตหนังด้วยต้นทุนต่ำและผลิตให้เร็ว มีตัวอย่างคือภาพยนตร์แอ็กชั่นแนวสายลับแบบ “เจมส์ บอนด์” จากฮอลลีวูด ขณะที่กรอบประเพณีเรื่องทางเพศในฟิลิปปินส์ก็เริ่มผ่อนคลายลงด้วย เห็นได้จากภาพถ่ายของดารานักแสดงที่เริ่มออกแนวหวือหวาทางเพศมากขึ้น
หนังเรื่องที่เป็นจุดออกสตาร์ทของยุค “บอมบา” คาดว่าคือเรื่อง “Uhaw” ในยุค 70s รายงานข่าวจากสื่อดังนิยามผลงานชิ้นนี้ว่าเป็น “หนังโป๊” ประเภทซอฟต์คอร์ เล่าเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงที่มีพฤติกรรมสำส่อนทางเพศหลังจากสามีของเธอกลายเป็นคนสิ้นสมรรถภาพทางเพศเพราะประสบอุบัติเหตุทางทะเล คอนติ เล่าว่า ภาพยนตร์ค่อยๆ ไต่ระดับเรื่องโดยเริ่มจากการกระตุ้นอารมณ์ แล้วค่อยเพิ่มดีกรีด้วยภาพเสื้อเปียกน้ำบนเรือนร่างนักแสดง แล้วค่อยมีเนื้อหาแบบหนังโป๊แบบซอฟต์คอร์
หนังบางเรื่องที่ประสบความสำเร็จมีชื่ออย่าง ราตรีแห่งพฤศจิก (Scorpio Nights) ในปี 1985 นำแสดงโดยกูตีร์เรซ ซึ่งรายงานข่าวเผยว่า หนังเรื่องนี้กลายเป็น “หนังคัลท์” (Cult) แบบย่อมๆ ไปด้วย
เมื่อมาถึงช่วงกลางยุค 80s ราว 1983-1986 “บอมบา” เริ่มมีเนื้อหาออกเป็นฮาร์ดคอร์มากขึ้นกระทั่งคอราซอน อากีโน (Cory Aquino) ขึ้นเป็นประธานาธิบดีเมื่อปี 1986
นักแสดงที่เป็นที่กล่าวขานกันต่อมามีชื่ออย่าง เป๊ปซี พาโลมา นักแสดง-นักเต้นลูกครึ่งอเมริกัน-ฟิลิปีโน (ค.ศ. 1966-1985) เธอแสดงในภาพยนตร์อย่าง The Victim (1982) และ Room 69 (1985) เธอเริ่มเข้าสู่วงการแผ่นฟิล์มตั้งแต่อายุ 14 ปี แต่ช่วงเวลาที่อยู่ในวงการก็ไม่นานนัก มีรายงานว่า เธอถูกพบว่าฆ่าตัวตายอยู่ในที่พักส่วนตัว สาเหตุของการเสียชีวิตมีหลากหลาย ทั้งความเชื่อมโยงกับนักแสดงในวงการ ปัญหาการเงิน หรือแม้แต่ความสัมพันธ์กับแม่ของเธอ แต่ปมที่หลายคนคิดว่ามีน้ำหนักคือความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ที่เธอถูกข่มขืนเมื่อ 1982
ก่อนหน้าที่พาโลมา เสียชีวิตไม่กี่สัปดาห์ จูเลีย เวกา (Julia Vega) นักแสดงสาวอีกรายก็เสียชีวิตขณะอายุไม่ถึง 20 ปีด้วยซ้ำ
อ้างอิง :
SCMP Reporter. “When ‘bomba’ sex films were a staple of Philippine cinemas and their female stars graced magazine covers”. South China Morning Post. Online. 17 FEB 2019. <https://www.scmp.com/culture/film-tv/article/2185832/when-bomba-sex-films-were-staple-philippine-cinemas-and-their-female>
Filipiknow. “The Life and Curious Death of Pepsi Paloma”. <https://filipiknow.net/pepsi-paloma/>
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2562