ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ใครที่เคยอ่าน “สี่แผ่นดิน” นวนิยายของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อาจพอคุ้น “สมเด็จที่บน” ที่ชาววังต่างยำเกรง แต่ใครที่ไม่เคยได้ยินคำนี้มาก่อน อาจสงสัยว่าพระองค์คือใครกัน?
สมเด็จที่บน ก็คือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นั่นเอง
สาเหตุที่ชาววังกล่าวถึงพระองค์เช่นนี้ เพราะ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ ประทับ ณ พระที่นั่งสุทธาศรีอภิรมย์ (ปัจจุบันไม่ปรากฏให้เห็นแล้วเนื่องจากมีการรื้อถอน) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “ที่บน” หรือ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ที่ชาววังเรียกอย่างลำลอง
“สำนักสมเด็จที่บน” ขึ้นชื่อเรื่องการทำดอกไม้ สาวชาววังที่สังกัดสำนักนี้จะมีฝีมือการทำงานดอกไม้ที่ประณีต งดงาม มีรายละเอียดชวนตื่นตา
ผลงานดอกไม้จากสำนักสมเด็จที่บนก็เช่น พวงมาลัยโซ่ที่ใช้คล้องคอม้า ในวันเปิดพระบรมรูปทรงม้า รวมถึงการจัดดอกไม้บนโต๊ะอาหาร การจัดดอกไม้ประดับห้องเสวยเมื่อมีพระราชพิธีสำคัญ หรืองานเลี้ยงต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง
เมื่อมีพระราชพิธีหรือโอกาสสำคัญเช่นนี้ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ จะทรงคัดเลือกดอกไม้ให้เข้ากับแต่ละงาน และทรงเป็นผู้ตกแต่งดอกไม้อย่างวิจิตรด้วยพระองค์เอง
ข้าหลวงประจำสำนักสมเด็จที่บน มักเป็นกุลสตรีจากตระกูลผู้ดีชั้นหนึ่ง มีความรู้สูง แต่เล่ากันว่ามักหยิ่ง ไว้เนื้อไว้ตัว และแต่งกายเนี้ยบ เมื่อกราบทูลลาออกไปมีครอบครัว ก็มักไปเป็นภรรยาของขุนนางระดับสูงหรือข้าราชการอนาคตไกล เห็นได้จากการเป็นคุณหญิงหรือท่านผู้หญิง
ข้าหลวงภายใต้พระเมตตาของ “สมเด็จที่บน” ส่วนมากมาจากราชนิกุลและตระกูลขุนนางเก่าแก่หรือมีบทบาทสำคัญ เช่น ราชสกุลสุทัศน์, ตระกูล ณ นคร, ตระกูล ณ ระนอง, ตระกูลสุจริต, ตระกูลบุณยรัตพันธุ์, ตระกูลโชติกเสถียร เป็นต้น
อ่านเพิ่มเติม :
- ความอิจฉา ริษยา และความไม่ลงรอยกัน ในพระราชสำนักฝ่ายใน
- พระราชวังบ้านปืน ต้นเหตุระหองระแหงของรัชกาลที่ 5-สมเด็จพระบรมราชินีนาถ
- ทำไม “สมเด็จพระพันปีหลวง” พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 5 ทรงนอนตอนเช้า และทรงตื่นในเวลาค่ำ?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
“สำนัก” แหล่งเรียนรู้วิถีกุลสตรีชาววังของ “ฝ่ายใน” สมัยรัชกาลที่ 5
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 พฤษภาคม 2567