เฟอร์ดินานด์ที่ 2 – อิซาเบลลาที่ 1 : พิธีสมรสครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์สู่การรวมชาติสเปน

วิวาห์ รวมชาติสเปน สเปน พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 2 สมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลลาที่ 1 สุลต่านมูฮัมเหม็ดที่ 12 แห่งกรานาดา
พระเจ้าเฟอร์ดินานและสมเด็จพระราชินีนาถรับการยอมแพ้ของสุลต่านมูฮัมเหม็ดที่ 12 แห่งกรานาดา, วาดโดย F. Pradilla (ภาพจาก Wikimedia Commons)

หนึ่งใน “พิธีวิวาห์” ที่นำความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาสู่ประวัติศาสตร์ยุโรปและโลก คือ การอภิเษกสมรสระหว่าง พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 2 (Ferdinand II) แห่งอารากอน (Aragon) และ สมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลลาที่ 1 (Izabella I) แห่งคาสตีล (Castile) ซึ่งนำไปสู่รวมชาติ “สเปน” ทำให้ราชอาณาจักรสเปนกลายเป็นชาติมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ใน ยุคแห่งการสำรวจและค้นพบ (Age of Exploration and Discovery) ก่อนที่อังกฤษหรือฝรั่งเศสจะเริ่มยุคสมัยแห่งการล่าอาณานิคมเสียอีก

เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 15 คาบสมุทรไอบีเรีย (Iberian Peninsula) หรือบริเวณประเทศสเปนและโปรตุเกสในปัจจุบัน ประกอบด้วย 5 ราชอาณาจักร ได้แก่ 1. คาสตีล 2. อารากอน 3. นาวาร์ (Navarre) 4. กรานาดา (Granada) และ 5. โปรตุเกส (Portugal)

เป็นเวลากว่า 700 ปีมาแล้วที่บริเวณคาบสมุทรไอบีเรียคือสมรภูมิระหว่างรัฐของชาวคริสเตียนและรัฐมุสลิมของ พวกมัวร์ (Moors) เป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของ การรวมชาติสเปน หรือ “Reconquista”

สงครามขับเคี่ยวอันยาวนานของชาวคริสต์และมุสลิมในไอบีเรียสิ้นสุดด้วยชัยชนะของอาณาจักรของชาวคริสเตียน แต่ความสำเร็จนั้นเริ่มต้นจากพิธีอภิเษกสมรสของราชธิดาของพระเจ้าจอนห์นที่ 2 (John II) แห่งคาสตีลกับพระราชโอรสของประเจ้าจอห์นที่ 2 (John II) แห่งอารากอน (ชื่อเดียวกันแต่คนละองค์)

ในเวลาต่อมาคู่สมรสนี้ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นสมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลลาที่ 1 (ครองราชย์ ค.ศ. 1474-1504) แห่งราชอาณาจักรคาสตีล และ พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 2 แห่งราชอาณาจักรอารากอน (ครองราชย์ ค.ศ. 1479-1516) นำไปสู่การปกครอง 2 ราชอาณาจักรร่วมกันของทั้ง 2 พระองค์

วิวาห์ “ลับ”

งานสมรสเกิดขึ้นอย่างไม่เป็นทางการใน ค.ศ. 1469 เนื่องจากพระเจ้าเฮนรีที่ 4 (Henry IV) กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรคาสตีล ผู้เป็นเชษฐา (พี่ชาย) ต่างมารดาของเจ้าหญิงอิซาเบลลาไม่เต็มพระทัยยกพระนางให้เจ้าชายเฟอร์ดินานด์ราชอาณาจักรอารากอน

การเมืองภายในคาสตีลช่วงเวลานั้นค่อนข้างยุ่งเหยิง เนื่องจากมีคำครหาเกี่ยวกับข่าวลือที่ว่าราชธิดาองค์เดียวของพระเจ้าเฮนรีที่ 4 คือ เจ้าหญิงฮวนนา (Joanna) เป็นลูกชู้ บรรดาขุนนางจึงเรียกร้องให้พระเจ้าเฮนรีที่ 4 ตั้งเจ้าหญิงอิซาเบลลาเป็นรัชทายาท ภายใต้เงื่อนไขว่ากษัตริย์จะเป็นผู้เลือกคู่ครองให้เจ้าหญิงเอง โดยตัวเลือกในเวลานั้นได้แก่ 1. เจ้าชายชาร์ล (Charles) โอรสของพระเจ้าชาร์ลที่ 7 แห่งฝรั่งเศส 2. พระเจ้าอัลฟองโซที่ 5 (Afonso V) แห่งโปรตุเกส และ 3. เจ้าชายเฟอร์ดินานด์ รัชทายาทแห่งอารากอนนั่นเอง

สำหรับพระเจ้าเฮนรีที่ 4 เจ้าชายเฟอร์ดินานด์เป็นตัวเลือกสุดท้าย แต่กลับเป็นความปรารถนาแรกของเจ้าหญิงอิซาเบลลา พระนางจึงหลบหนีจากที่พักเพื่อแอบเข้าพิธีสมรสอย่างลับ ๆ ณ เมืองบายาโดลิด (Valladolid) ของราชอาณาจักรคาสตีล ส่วนเจ้าชายเฟอร์ดินานด์ต้องปลอมตัวเพื่อลักลอบเข้ามายังดินแดนคาสตีล ทั้ง 2 พระองค์พบกัน 4 วันก่อนพิธี การสมรสนี้เกิดขึ้นวันที่ 19 ตุลาคม ค.ศ. 1469 โดยเจ้าหญิงอิซาเบลลามีอายุ 18 ปี และเจ้าชายเฟอร์ดินานด์มีอายุ 17 ปี

เฟอร์ดินานด์และอิซาเบลลา (ภาพจาก Wikimedia Commons)

หนึ่งในข้อตกลงในพิธีสมรสนี้คือ เจ้าหญิงอิซาเบลลาจะเป็นผู้ตั้งรัชทายาทได้ตามที่พระนางเห็นสมควร และทายาทของทั้ง 2 พระองค์จะเป็นผู้ปกครองราชอาณาจักรคาสตีลหากพระนางสิ้นพระชนม์ไปก่อนพระสวามี และหากทั้ง 2 พระองค์ครองราชย์ร่วมกันต่อจากพระเจ้าเฮนรีที่ 4 ราชอาณาจักรคาสตีลและอารากอนจะสานต่อการพิชิตรัฐสุลต่าลแห่งกรานาดา

เมื่อความทราบถึงพระเจ้าเฮนรีที่ 4 สร้างความโกรธเคืองแก่กษัตริย์อย่างมาก พระองค์จึงตั้งเจ้าหญิงฮวนนาเป็นรัชทายาททันที หลังพระเจ้าเฮนรีที่ 4 สวรรคตใน ค.ศ. 1479 จึงเกิดสงครามกลางเมืองในราชอาณาจักรคาสตีลระหว่างเจ้าหญิงฮวนนา โดยการสนับสนุนจากราชอาณาจักรโปรตุเกส และเจ้าหญิงอิซาเบลลา โดยการสนับสนุนจากราชอาณาจักรอารากอน ก่อนจบลงด้วยชัยชนะของเจ้าหญิงอิซาเบลลา เป็นผลให้ราชอาณาจักรคาสตีลและอารากอนมีกษัตริย์และราชินีองค์เดียวกันตั้งแต่นั้น

พิชิตคาบสมุทร ก่อนเป็นจ้าวสมุทร

ราชอาณาจักรคาสตีลและอารากอนในยุค พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 2 และ สมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลลาที่ 1 ไม่ได้รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน ทรงปกครองร่วมกัน 2 ราชอาณาจักรอย่างหลวม ๆ แม้จะมีรูปร่างหรืออาณาเขตใกล้เคียงกับประเทศสเปนในยุคต่อมาอย่างมาก แต่ยังไม่ถือว่าเป็นราชอาณาจักรสเปนอย่างสมบูรณ์ เพราะเวลานั้นนอกจากราชอาณาจักรโปรตุเกสแล้ว คาบสมุทรไอบีเรียยังมีราชอาณาจักรนาวาร์ทางตอนเหนือและรัฐสุลต่านแห่งกรานาดาทางตอนใต้อยู่ด้วย

อย่างไรก็ตาม การปกครองราชอาณาจักรคาสตีลและอารากอนร่วมกันถือเป็นจุดเริ่มต้นความสำเร็จในการรวบรวมดินแดนต่าง ๆ ในคาบสมุทรไอบีเรียก่อนสถาปนาเป็น “ราชอาณาจักรสเปน” (Kingdom of Spain) ในเวลาต่อมา

ค.ศ. 1492 ราชอาณาจักรคาสตีลและอารากอนประสบความสำเร็จในการพิชิตรัฐสุลต่าลแห่งกรานาดา สุลต่าลมูฮัมเหม็ดที่ 12 (Muhammad XII) ผู้ปกครองแห่งกรานาดาประกาศยอมจำนนต่อราชอาณาจักรคาสตีลและอารากอน เป็นการปิดฉากการเรียกคืนดินแดนจากพวกมัวร์และสิ้นยุคสมัยที่ชาวมุสลิมปกครองคาบสมุทรไอบีเรียด้วย

ต่อมาใน ค.ศ. 1511 หรือ 7 ปี หลังสมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลลาสิ้นพระชนม์ ราชอาณาจักรนาวาร์ก็ตกเป็นของ พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 2 แห่งอารากอนเช่นกัน ต่อมา เจ้าชายชาร์ล (Charles) ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระราชนัดดา (หลานตา-ยาย) ของของ พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 2 กับสมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลลาที่ 1 รัชทายาทสืบทอดราชสมบัติของทั้ง 2 พระองค์ ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ผู้ปกครองราชอาณาจักรสเปนอันประกอบด้วย คาสตีล, อารากอน, กรานาดา และนาวาร์ อย่างสมบูรณ์

ราชอาณาจักรสเปนที่รวมดินแดนต่าง ๆ ในคาบสมุทรไอบีเรียไว้อย่างสมบูรณ์ (ไม่รวมโปรตุเกส) จึงเกิดขึ้นในสมัยของพระเจ้าชาร์ลที่ 1 (Charles I, ครองราชย์ ค.ศ. 1516-1556) พร้อมเริ่มใช้คำว่า “ราชอาณาจักรสเปน” นอกจากนี้ พระองค์ยังเฉลิมพระอิสริยยศเป็นจักรพรรดิชาร์ลที่ 5 (Charles V, ครองราชย์ ค.ศ. 1516-1558) แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ด้วย

พระเจ้าชาร์ลที่ 1 แห่งสเปน (Carlos I of Spain) ในชุดเกราะแบบเยอรมัน, โดย Tiziano Vecellio (ภาพจาก The Worls of the Habsburgs : Kunsthistorisches Museum)

หลังการรวมชาติสเปน ราชอาณาจักรนี้กลายเป็นดินแดนที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่อง พวกเขามีกองเรือพาณิชย์และกองเรือรบที่ทันสมัยเป็นอันดับต้น ๆ ในยุคนั้นด้วย สเปนกลายเป็นชาติแรก ๆ ที่เริ่มสำรวจและครอบครองโลกใหม่ (ทวีปอมริกา) นำไปสู่สถานะจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่ที่พระอาทิตย์ไม่เคยลับขอบฟ้าก่อนจักรวรรดิอังกฤษ ทั้งนี้ ผู้อุปถัมภ์และส่งเสริม คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) ในการล่องเรือข้ามมหาสมุทรแอตเลนติกจนนำไปสู่การค้นพบทวีปอเมริกาก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นราชสำนักสเปนของพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 2 และสมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลลาที่ 1 นี่เอง

ความสำเร็จด้านต่าง ๆ ของราชอาณาจักรสเปนในยุคที่ครอบครองดินแดนโพ้นทะเลทั่วโลกเริ่มต้นจากการสมรสของ พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 2 และ สมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลลาที่ 1 อย่างไม่ต้องสงสัย ชาวสเปนยังเชื่อว่าเป็นเพราะพระเจ้าทรงเมตตาทั้ง 2 พระองค์และราชอาณาจักรสเปน ทำให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการรวมชาติสเปนและเกิดศรัทธาอย่างแรงกล้าในบรรดาคนต่างศาสนา (ชาวมุสลิมและชาวยิว) ให้เปลี่ยนความเชื่อมานำถือศาสนาคริสต์หลังการพิชิตดินแดนและปิดฉาก Reconquista อันยาวนาน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง : 

นุชธิดา ราศีวิสุทธิ์. (2562). สเปน จักรวรรดิที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน (Spain: The Empire on Which the Sun Never Set). กรุงเทพฯ : ยิปซี

สัญชัย สุวังคบุตร; อนันต์ชัย เลาหะพันธุ. (2562). ทรรปณะประวัติศาสตร์ยุโรป ในคริสต์ศตวรรษที่ 19. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : แสงดาว.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 กันยายน 2565